Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
GEO-HIS | ภูมิประวัติศาสตร์
•
ติดตาม
14 ก.ค. 2023 เวลา 01:00 • ประวัติศาสตร์
รู้หรือไม่...ในวันทลายคุกบาสตีย์-ปฏิวัติฝรั่งเศส มีปืนใหญ่จากอยุธยาเข้าร่วมด้วย
" ปืนใหญ่กรุงศรีอยุธยา " ขึ้นชื่อเลื่องลือในเรื่องของคุณภาพเป็นอย่างมากในภูมิภาคนี้
ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ค.ศ. 1632 - 1688) ที่มีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติอย่างกว้างขวาง มีบันทึกของฝรั่งว่ารอบกำแพงเมืองมีปืนใหญ่อยู่ราว 700-800 กระบอก
แม้อยุธยาจะมีอำนาจทางบก แต่ตรงข้ามกับอำนาจทางทะเลที่ถูกฮอลันดาส่งเรือรบมาปิดท่าเรือ ปิดอ่าวถึง 2 ครั้ง
กรุงศรีอยุธยาจึงสานสัมพันธ์กับฝรั่งเศสให้มาถ่วงดุลอำนาจฮอลันดา ฝรั่งเศสขณะนั้นเป็นสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (ค.ศ. 1643 - 1715) มีความรุ่งเรืองทั้งการทหาร การปกครอง และศิลปะ
เมื่ออยุธยาได้ส่งคณะทูตโดยมีออกพระวิสุทสุนธร (ปาน) หรือ โกษาปาน เดินทางไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสให้แน่นแฟ้นขึ้น
หนึ่งในเครื่องราชบรรณาการจำนวนมากที่ส่งให้ราชสำนักฝรั่งเศสคือ " ปืนใหญ่จำนวน 2 กระบอก"
เป็นปืนใหญ่ยาว 6 ฟุต (ราว 1.8 เมตร) ถือว่ามีขนาดเล็ก ฝังลายเงินแบบไทย กลึงด้วยมือให้เงา (ไม่เข้าไฟหล่อ) มีปลอกเงินและฐานติดล้อ
การส่งปืนใหญ่ไปเป็นเครื่องราชบรรณาการนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า อยุธยาสามารถผลิตปืนใหญ่ดีๆ ได้ไม่แพ้ฝรั่งเศส ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการผลิตปืนใหญ่เช่นกัน มีอารยะเท่าเทียม
ออกพระวิสุทสุนทร (ปาน) และคณะ นำเครื่องราชบรรณาการมาวางเรียงรายต่อเบื้องพระพักตร์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ณ พระราชวังแวร์ซายส์ ที่มุมขวาล่างมีปืนใหญ่จากกรุงศรีอยุธยาอยู่ 2 กระบอก (ภาพจาก หนังสือมองประวัติศาสตร์ไทยผ่านศัสตราวุธ)
ปืนใหญ่ดังกล่าวถูกนำไปเก็บในโรงพยาบาลทหารผ่านศึก หรือ แซงวาลิด (Les Invalides) ที่ต่อมาจะเป็นพิพิธภัณฑ์ทหาร (คลังสรรพาวุธขนาดย่อมๆ)
เวลาผ่านไปกว่า 7 ทศวรรษ กรุงศรีอยุธยาได้ล่มสลายลง ขณะที่ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ในสงครามเจ็ดปีต่ออังกฤษ เศรษฐกิจตกต่ำ แต่ราชสำนักยังคงฟุ่มเฟือยทั้งที่ประชาชนอดอยาก
13 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 ทหารและประชาชนชาวปารีสได้บุกเข้าแซงวาลิด และนำสรรพาวุธจำนวนหนึ่ง รวมถึงปืนใหญ่จากอยุธยาทั้ง 2 กระบอกนั้นมาโจมตีและพังคุกบาสตีย์ (Bastille) ในวันถัดมา
2
14 กรกฎาคม 1789 ทหารและประชาชนได้เข้าทลายคุกบาสตีย์ เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติฝรั่งเศสและถือวันนี้เป็นวันชาติฝรั่งเศส ในภาพคาดว่าปืนใหญ่ 2 กระบอก ทางด้านขวาล่าง เป็นปืนใหญ่กรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ภาพ Siege of the Bastille ของ Claude Cholat)
เนื่องจากปืนใหญ่อยุธยาที่ใช้ทลายคุกนั้นมีขนาดเล็ก จึงสามารถเคลื่อนย้ายง่าย ประกอบกับการทำงานแบบปืนคาบศิลา ซึ่งสมัยนั้นประชาชนพกกันมาก จึงใช้ปืนใหญ่นี้เป็นกัน
ภายหลังจลาจลสงบลงอย่างน้อยในปี 1792 - 1793 ตัวปืนใหญ่ได้ถูกนำไปเก็บที่แซงวาลิดดังเดิม
ต่อมาเมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้สงครามนโปเลียนในปี 1815 กองทัพอังกฤษและปรัสเซีย (เยอรมนี) ที่บุกเข้าปารีสได้เข้าไปในแซงวาลิด และยึดวัตถุโบราณมากมาย รวมถึงปืนใหญ่อยุธยาไว้ นำไปที่อังกฤษและปรัสเซีย ฝ่ายละกระบอก
รายละเอียดข้อมูลของปืนใหญ่อยุธยาภายหลังการทลายคุกบาสตีย์นั้น ยังมีผู้ศึกษาน้อย และข้อมูลจากนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้ยังมีที่ขัดกันอยู่บ้าง
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ทราบแน่ชัดเกี่ยวกับสถานะของปืนใหญ่ในตอนนี้คือ กระบอกหนึ่งถูกเก็บไว้โดยทางการอังกฤษ ที่ Royal Artillery Museum ในลอนดอน ด้วยสภาพสมบูรณ์ แต่ฐานติดล้อหายไป
ส่วนอีกกระบอกที่ปรัสเซียยึดไปนั้น หายสาบสูญไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ปืนใหญ่จากกรุงศรีอยุธยา สมัยพระนารายณ์มหาราช ที่ต่อมานำไปใช้ทลายบัสตีย์ ถูกยืมไปจัดแสดงในนิทรรศการ Visitors to Versailles 1682-1789 ที่พระราชวังแวร์ซายส์ ปี 2017 (ภาพจาก Antoine Leduc บน Facebook)
หมายเหตุ : ในเอกสารต่างประเทศ เรียกปืนใหญ่ราชบรรณาการจากกรุงศรีอยุธยานี้ว่า ปืนใหญ่สยาม
อ้างอิง :
ไกรฤกษ์ นานา. (2566). ทหารใช้ “ปืนใหญ่พระนารายณ์” ถล่มป้อมบาสตีย์ ในการปฏิวัติฝรั่งเศส ?. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2566,
จาก
https://www.silpa-mag.com/history/article_10839
Antoine Leduc. (2560). À la suite de l’exposition « Sciences et curiosités à la cour de Versailles » en 2010. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2566,
จาก
https://www.facebook.com/antoine.leduc.5/posts/pfbid0dfHWnUBwCgzTuARZTHS4N2NdxMDvrTFZn8TFWR9xKeRrT1GtHu9wGbVfzFem2Csrl?locale=th_TH
Kornkit Disthan. (2560). ปืนใหญ่สยามนำการปฏิวัติฝรั่งเศส. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2566,
จาก
https://m.facebook.com/HistoryKrungsriAyutthaya/photos/a.848161005257838/1497718146968784/?type=3
The Royal Artillery Museum. (2563). 17th Century Muzzle Loading Siamese Gun. สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2566,
จาก
https://royalartillerymuseum.com/news/object-of-the-month-february
ประวัติศาสตร์
ฝรั่งเศส
ประวัติศาสตร์ไทย
1 บันทึก
10
2
1
10
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย