8 ก.ค. 2023 เวลา 01:10 • ประวัติศาสตร์

10 เกร็ดความรู้ ไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่คุณอาจยังไม่เคยรู้

แม้ไทยจะเป็นชาติเล็กๆ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก็มีหลายเหตุการณ์ที่น่าสนใจ เกิดขึ้นกับผู้คน องค์กร และการเมืองของประเทศแห่งนี้
1
บางเหตุการณ์ยังเข้าไปมีส่วนสำคัญเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในหน้าประวัติศาสตร์โลกและการทหารอีกด้วย
เราจึงเลือกนำเสนอในหัวข้อ "10 เกร็ดความรู้ ไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน"
(1) ความหวงแหนอังกอร์ของฝรั่งเศส
ในช่วงล่าอาณานิคม ฝรั่งเศสต้องการครอบครองนครวัดอย่างมาก เพื่อนำไปเทียบเทียมกับสิ่งที่ยิ่งใหญ่อย่างพีระมิดและทัชมาฮาล ที่อังกฤษได้ครองไป
ประกอบกับการเร่งล่าอาณานิคมเพื่อกู้เกียรติภูมิของประเทศหลังแพ้สงครามกับปรัสเซีย (เยอรมนี) ในปี 2414
ฝรั่งเศสหมายมั่นให้อังกอร์ โดยเฉพาะนครวัด เป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศส และประโคมโฆษณาให้เป็นสิ่งมหรรศย์ของโลก
นครวัดจำลองในปารีส ช่วงงาน Exposition colonail ปี 2474 (ภาพจาก roots.gov.sg)
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้นในยุโรป เยอรมนีส่งกองทัพบุกโปแลนด์ เป็นผลให้อังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามต่อเยอรมนี
ในช่วงแรกเยอรมนีเป็นฝ่ายได้เปรียบและสามารถยึดครองภาคพื้นยุโรปได้เป็นส่วนใหญ่ รวมถึงประเทศฝรั่งเศสด้วย
เมื่อรัฐบาลปารีสล่มสลาย เยอรมนีได้จัดตั้งรัฐหุ่นเชิดขึ้นในฝรั่งเศส (ฝรั่งเศสวิชี : Vichy France) ซึ่งมีอำนาจในการบริหารอาณานิคมอินโดจีน
รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ใช้โอกาสนี้ในการเจรจาขอปรับปรุงเขตแดนตามแนวแม่น้ำโขง พร้อมทั้งปลุกกระแสชาตินิยมเรียกร้องดินแดนที่เสียไปคืนจากฝรั่งเศส
จอมพล ป. พิบูลสงคราม กล่าวปราศรัยเรียกร้องดินแดนคืน ต่อหน้าบรรดาประชาชน นิสิต นักศึกษา ที่มาสนับสนุน (ภาพจาก หนังสืออนุสรณ์ครบรอบ 100 ปี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม 14 กรกฎาคม 2540)
จนเกิดเป็นสงครามฝรั่งเศส-ไทย หรือกรณีพิพาทอินโดจีน (คนไทยนิยมเรียกว่า สงครามอินโดจีน) ในปี 2483-2484
ญี่ปุ่นซึ่งใช้โอกาสนี้เช่นกันบุกไปตั้งฐานทัพในตอนบนของเวียดนาม (เพื่อปิดล้อมทำสงครามกับจีน) ได้เข้ามาไกล่เกลี่ย เป็นผลให้ฝรั่งเศสยกดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง และเขมรส่วนในให้ไทย
แต่ปัญหาคือ ดินแดนเสียมราฐ ที่ไทยได้มาเป็นจังหวัดพิบูลสงคราม กินพื้นที่ไปถึงปราสาทส่วนนอกของเมืองอังกอร์ด้วย
ปราสาทแห่งนั้นคือ "ปราสาทบันทายศรี"
ปราสาทบันทายศรี (ภาพจาก siemreap.net)
แม้บันทายศรีจะเป็นปราสาทขนาดเล็ก แต่ก็มีลวดลายศิลปะขอมที่สวยงาม ชัดเจน และสมบูรณ์เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นปราสาทสีชมพูแห่งเดียวในกัมพูชา เริ่มสร้างขึ้นในปี 1510
ด้วยเหตุนี้อินโดจีนฝรั่งเศส (ภายใต้ฝรั่งเศสวิชี) จึงหวงแหนปราสาทแห่งนี้มาก ในการเจรจาไกล่เกลี่ย ฝรั่งเศสขอให้ล้อมรอบดินแดนปราสาทบันทายศรีให้เป็นของฝรั่งเศส ฝ่ายญี่ปุ่นที่เข้ามาไกล่เกลี่ยก็เห็นชอบ
ปราสาทบันทายศรีจึงไม่ได้อยู่ในอำนาจอธิปไตยของไทย แม้จะอยู่ในเขตประเทศไทยก็ตาม จนไทยส่งคืนดินแดนดังกล่าวให้ฝรั่งเศสหลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม
(2) กองทัพพายัพกับการเมืองไทยในอนาคต
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ขยายสู่ทวีปเอเชีย ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในหลายจังหวัดของไทยเมื่อเช้าวันที่ 8 ธันวาคม 2484
เกิดการปะทะกันในช่วงสั้นๆ รัฐบาลจอมพล ป. จึงอนุญาต ให้ญี่ปุ่นยกทัพผ่านไปยังอาณานิคมอังกฤษในพม่าและมลายู
ต่อมาไทยลงนามเป็นพันธมิตรทางการทหารกับญี่ปุ่น รัฐบาลได้จัดตั้ง "กองทัพพายัพ" ประกอบด้วยกองพลต่างๆ ของกองทัพบกจากหลายภูมิภาค เพื่อบุกเชียงตุงและเมืองปั่นในพม่า ที่ครั้งหนึ่งไทยเคยไปตีในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่ไม่สำเร็จ
จนเมื่อสามารถยึดเมืองเชียงตุงมาได้ จึงได้จัดการปกครองในรูปแบบคล้ายจังหวัดขึ้นเป็น สหรัฐไทยเดิม
กองทัพพายัพของไทย เดินทัพผ่านประตูเมืองเชียงตุง (ภาพบนหนังสือพิมพ์ศรีกรุง 6 กันยายน 2485)
แผนที่ประเทศไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ภาพของ Minkeslandian บนเว็บไซต์ deviantart.com)
แผนที่โลกในสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี 2485 ฝ่ายอักษะยังได้เปรียบในสงคราม เป็นหนึ่งในสาเหตุที่รัฐบาลจอมพล ป. ประกาศเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น (ภาพจาก วิดีโอ World War ll on All Fronts: Every day บนช่องยูทูบ EmperorTigerstar)
เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในปี 2488 ทำให้ไทยต้องคืนดินแดนดังกล่าวให้อังกฤษ กองทัพพายัพจึงต้องถอนกำลังกลับ
ทหารในกองทัพพายัพต้อง "เดินเท้า" กลับกรมกองเอง เพราะทางการนำรถไฟไปใช้ขนทหารญี่ปุ่นซึ่งเป็นเชลยศึก
จึงเกิดประโยคที่ว่า "เดินนับไม้หมอนรถไฟ" ทหารต้องเผชิญกับความเหนื่อยล้าจากสงคราม ขาดแคลนเสื้อผ้า เสบียง และยารักษาโรค
นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับโจรผู้ร้ายและโรคภัย ไม่มีเงินเดือนหรือเบี้ยเลี้ยง กำลังใจของทหารจึงเสื่อมโทรมลงอย่างมาก ทหารหลายนายเสียชีวิตระหว่างทาง ขณะที่เสรีไทยได้เดินสวนสนามอย่างสง่างามในพระนคร
ไปรบ ไปเป็นกองทัพ สงครามเลิกขากลับ เดินนับไม้หมอนจนตาลาย ญี่ปุ่นนั่งได้ ทหารไทยย่ำต๊อก
บันทึกของ พลตรีถาวร ช่วยประสิทธิ์ ทหารผ่านศึกกองทัพพายัพ
จอมพลผิน ชุณหะวัณ ข้าหลวงทหารประจำสหรัฐไทยเดิม และผู้นำรัฐประหาร 2490 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม)
นายปรีดี พนมยงค์ แกนนำเสรีไทย / หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช แกนนำเสรีไทยในสหรัฐฯ / หม่อมเจ้า ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน แกนนำเสรีไทยในอังกฤษ อนึ่ง เสรีไทยในอังกฤษไม่มีแกนนำที่ชัดเจนนัก (ภาพจาก หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / Library of Congress / หนังสือมหามกุฎราชสันตติวงศ์ พระนามพระราชโอรสธิดา พระราชนัดดา)
การสวนสนามของกองกำลังเสรีไทย / นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รับความเคารพจากขบวนเสรีไทย เบื้องหลังมี หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ในฐานะนายกรัฐมนตรี 25 กันยายน 2488 (ภาพต้นฉบับจาก หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) / ภาพจาก สถาบันปรีดี พนมยงค์)
เหตุการณ์เดินนับไม้หมอนของกองทัพพายัพ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่นายทหารระดับสูงขุ่นเคืองใจต่อรัฐบาลพลเรือนและเสรีไทย โดยเฉพาะกับนักการเมืองสายปรีดี ที่ขัดแย้งกับจอมพล ป. เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ระหว่างสงคราม จอมพล ป. ได้สร้างแนวคิดเชิดชูตัวบุคคล สนับสนุนการทหารในสงคราม ช่วงปลายสงครามยังเพิ่มอำนาจแก่กองทัพบกในการดำเนินการโครงการใหญ่ๆ เช่น โครงการย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์
มีข้อสังเกตุว่า แม้ต่อมานักการเมืองที่เป็นเสรีไทยจะสามารถควบคุมรัฐสภาได้จนจอมพล ป. ลาออกในปี 2487 สงครามจบลงในปี 2488 มีการปฏิรูปการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นผ่านรัฐธรรมนูญ 2489
แต่อิทธิพลของลัทธิทหารที่จอมพล ป. สร้างขึ้นยังคงอยู่ ไม่ถูกปฏิรูปตามไปด้วย จนเมื่อกองทัพสัมพันธมิตรออกจากประเทศไป และเสรีไทยได้แยกย้ายสลายตัวลง รัฐประหารจึงเกิดขึ้นในปี 2490 ปูทางให้ทหารเข้ามามีบทบาททางการเมืองไปอีกยาวนาน
นายพลอดีตกองทัพพายัพหลายท่านที่ต่อมาจะมีบทบาทสำคัญทางการเมือง เช่น จอมพลผิน ชุณหะวัณ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นต้น
(3) กรุงเทพฯ : สถานที่ทดสอบ B-29 ก่อนนำไปโจมตีครั้งใหญ่บนหมู่เกาะญี่ปุ่น
"B-29" เป็นหนึ่งในเครื่องบินทิ้งระเบิดที่มีชื่อเสียงที่สุด หลายคนอาจเคยเห็นในภาพถ่ายประวัติศาสตร์สงครามมหาเอเชียบูรพาต่างๆ
B-29 กำลังบินขึ้นจากฐานบินในอินเดียเพื่อมาทิ้งระเบิดที่กรุงเทพฯ 5 มิถุนายน 2487 (ภาพจาก National Archive)
เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดหนัก 4 เครื่องยนต์ใบพัด มีขนาดใหญ่และทันสมัยที่สุดในช่วงนั้น จนได้รับฉายาว่า Superfortress (ป้อมปราการลอยฟ้า) บินได้ไกล เป็นไปตามที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ ต้องการ และได้เข้าประจำการในในช่วงปี 2486
เมื่อญี่ปุ่นเริ่มพ่ายแพ้และล่าถอยทีละเกาะในแปซิฟิก แผนการของสหรัฐในการโจมตีใหญ่ต่อญี่ปุ่นด้วย B-29 เริ่มเป็นไปได้ง่ายขึ้น
ก่อนเริ่มการโจมตีครั้งใหญ่ต่อญี่ปุ่น สหรัฐฯ ต้องการทดสอบโจมตีเสียก่อน สถานที่ทดสอบนั้นคือ สะพานพระพุทธยอดฟ้า ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย
ในวันที่ 5 มิถุนายน 2487 เครื่องบิน B-29 จำนวน 77 ลำ บินจากอินเดียมายังพระนคร ทิ้งระเบิดใส่สะพานพระพุทธยอดฟ้า และฐานที่มั่นต่างๆ ของญี่ปุ่น
การโจมตีครั้งนี้มุ่งเป้าไปเฉพาะจุดยุทธศาสตร์ สิ่งปลูกสร้างของพลเรือนจึงได้รับความเสียหายไม่มากนัก
หลังจากนั้นก็มีการส่ง B-29 มาบอมบ์กรุงเทพฯ อีกหลายครั้ง เน้นโจมตีจุดยุทธศาสตร์เช่นเดิม
ด้วยความที่ B-29 บินได้สูงกว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่นก่อนๆ สัมพันธมิตรจึงสามารถบินมาทิ้งระเบิดในเวลากลางวันได้แทบจะเสรี เนื่องจากปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานยิงไม่ถึง
สะพานพุทธยอดฟ้าถูกระเบิดได้รับความเสียหาย (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ถ่ายโดย Peter Williams-Hunt พ.ศ. 2489)
หลังการทดสอบโจมตีกรุงเทพฯ เป็นที่น่าพอใจ สหรัฐฯ ได้นำ B-29 ไปโจมตีทิ้งระเบิดเมืองต่างๆ ทั่วหมู่เกาะญี่ปุ่น
โดยการโจมตีทิ้งระเบิดที่ญี่ปุ่นนี้จะเป็นการทิ้งระเบิดปูพรมทั่วทั้งเมืองติดต่อกันหลายวัน เพื่อกดดันให้ยอมแพ้
นอกจากนี้ B-29 ยังเป็นเครื่องบินรุ่นเดียวกันกับที่นำไปใช้ทิ้งระเบิดปรมณูที่เมืองฮิโระชิมะ และนะงะซะกิ จนญี่ปุ่นยอมแพ้ในเวลาต่อมา
(4) การล็อบบี้สัมพันธมิตรโดยเสรีไทย ไม่ให้มาบอมบ์โบราณสถาน
ภาพถ่ายทางอากาศเจดีย์ภูเขาทอง ไม่ได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิด แต่ฐานทรุด เนื่องจากญี่ปุ่นนำปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานไปติด (ภาพจากหอจดหมายเหตุเเห่งชาติ ถ่ายโดย Peter Williams-Hunt พ.ศ. 2489)
แม้วัดวาอาราม พระบรมหาราชวัง และวังต่างๆ จะไม่ใช่จุดยุทธศาสตร์ แต่ก็ถูกลูกหลงจากระเบิดฝ่ายสัมพันธมิตรบ่อยครั้ง เนื่องจากไม่ชำนาญภูมิประเทศ
ในช่วงปลายสงคราม ขบวนการเสรีไทยในประเทศได้ประสานกับกลุ่มเสรีไทยนอกประเทศจนขบวนการมีเอกภาพ และสามารถประสานติดต่อกับสัมพันธมิตรได้สะดวกยิ่งขึ้น
เสรีไทยในประเทศจึงแจ้งพิกัดที่ชัดเจนต่อสัมพันธมิตรไม่ให้มาทิ้งระเบิดใส่วัดวาอาราม วังและโบราณสถานต่างๆ ในไทย
นอกเสียจากว่าโบราณสถานและสถานที่สำคัญเหล่านั้นจะตั้งอยู่ใกล้จุดยุทธศาสตร์ เช่น พื้นที่รอบๆ โรงไฟฟ้าว้ดเลียบ อย่างวัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) โรงเรียนสวนกุหลาบ โรงเรียนเพาะช่าง พาหุรัด เป็นต้น
การทิ้งระเบิดใส่โรงไฟฟ้าวัดเลียบ ส่งผลให้ไฟดับทั่วพระนครนานหลายเดือน (ภาพจาก awm.gov.au)
ทำให้ในช่วงสงคราม โบราณสถานส่วนมากไม่โดนระเบิด หรือหากโดนลูกหลงส่วนใหญ่ก็ได้รับความเสียหายไม่มากนัก และอยู่รอดปลอดภัยมาถึงปัจจุบัน
(5) ออกแบบและพิมพ์ธนบัตรใช้เองครั้งแรก เรียกกันว่า " แบงก์กงเต๊ก "
ธนบัตรแบบพิเศษ 1 บาท (นิยมเรียกกันว่า แบงก์กงเต๊ก) (ภาพจาก Siambanknote.com)
แม้ว่าประเทศไทยจะมีการใช้ธนบัตรมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นที่นิยมใช้ในรัชกาลถัดมา
แต่ธนบัตรที่ใช้นั้นล้วนแล้วแต่สั่งพิมพ์จากบริษัท โทมัส เดอ ลารู จำกัด ในอังกฤษ เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงมากในการพิมพ์ธนบัตร
อีกทั้งการออกแบบธนบัตรก็ออกแบบโดยชาวต่างชาติ เนื่องจากไม่มีประสบการณ์และองค์ความรู้เพียงพอในการผลิตธนบัตร
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้นในยุโรป ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าธนบัตรของไทย
รัฐบาลจึงวางแผนที่จะผลิตธนบัตรใช้เองในประเทศ โดยมอบหมายให้กรมแผนที่ทหารบกเป็นผู้พิมพ์ และให้พระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานันท์) ช่างกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบ
โดยธนบัตรที่จะใช้แก้ปัญหาไปก่อน จะเรียกว่า "ธนบัตรแบบพิเศษ มีมูลค่า 1 บาท" จึงเป็นธนบัตรแบบแรกที่ออกแบบโดยคนไทย ผลิตในไทย และมีการใช้ลายไทยครั้งแรก
พระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานันท์) ผู้บุกเบิกงานสถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่ยุคแรกๆ และยังเป็นอาจารย์วิชาลายไทยและสถาปัตยกรรมไทยคนแรกของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ภาพจาก พื้นที่ระหว่างบรรทัด มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มกราคม 2565)
ต่อมาเมื่อสงครามมาถึงประเทศไทย ไทยได้ประกาศสงครามกับอังกฤษ การสั่งทำและนำเข้าธนบัตรจึงต้องยุติลง ทำให้เกิดการขาดแคลนธนบัตรในประเทศ
ไทยหันมาสั่งพิมพ์และนำเข้าธนบัตรจากญี่ปุ่นแทน แต่เมื่อคาดการณ์ว่าสงครามอาจทวีความรุนแรงขึ้น สินค้ารวมถึงธนบัตรก็อาจยากที่จะนำเข้ามา
ในปี 2485 รัฐบาลจึงอนุมัติให้กรมแผนที่ทหารบกพิมพ์ธนบัตรแบบพิเศษ มูลค่า 1 บาท และใช้กระดาษจากโรงงานกระดาษกาญจนบุรี
กระบวนการทุกอย่างเป็นไปด้วยความเร่งรีบ เพราะความขาดแคลนธนบัตรอย่างหนัก และที่สั่งพิมพ์จากญี่ปุ่นไปก็ยังมาไม่ถึง
ผลที่ได้คือ ธนบัตรแบบพิเศษ มูลค่า 1 บาท เนื้อกระดาษมีคุณภาพต่ำ ขาดง่าย สีไม่สวยงาม และง่ายต่อการปลอมแปลง
ธนบัตรแบบพิเศษนี้จึงเป็นที่รังเกียจของประชาชน อีกทั้งเนื้อกระดาษที่บาง ฉีกขาดง่าย จึงนิยมเรียกกันว่า แบงก์กงเต๊ก
เพราะเหมือนกับกระดาษในพิธีกงเต๊ก ที่ทำแบบหยาบๆ นำมาเผาเพื่อให้เป็นเงินในภพภูมิของผู้ล่วงลับไป ตามความเชื่อของชาวจีน
เมื่อธนบัตรจากญี่ปุ่นมาถึง รัฐบาลจึงรีบเก็บ ทำลาย และยกเลิกการใช้ธนบัตรแบบพิเศษดังกล่าวในปี 2486 รวมระยะเวลาใช้ราว 1 ปี 9 เดือน
หลังจากนั้นไทยก็ไม่ได้ผลิตธนบัตรเองอีกเลยจนถึงปี 2512 เป็นต้นมา
(6) เปลี่ยนชื่อประเทศกลับมาเป็น Siam ในภาษาอังกฤษ
หลายคนทราบกันดีว่าจอมพล ป. เป็นผู้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม (Siam)" มาเป็น "ไทย (Thailand)" ในปี 2482
แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง จอมพล ป. จึงยุติบทบาททางการเมืองไประยะหนึ่ง
ในปี 2488 รัฐบาลนายทวี บุญเกตุ ได้ประกาศให้ชื่อประเทศไทยในภาษาอังกฤษกลับมาเป็น "Siam" และคนสัญชาติ "Siamese"
โดยให้เหตุผลว่าเป็นชื่อในภาษาต่างประเทศที่นิยมเรียกกันมาช้านาน ส่วนในภาษาไทยก็ยังเรียกว่าประเทศไทยตามเดิม
นายทวี บุญเกตุ (ภาพจาก หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีความเห็นว่า การเปลี่ยนชื่อกลับมาเป็น Siam ในภาษาอังกฤษ ก็เพื่อแสดงให้สัมพันธมิตรเห็นว่า ใช่ว่าประชาชนจะเห็นด้วยกับนโยบายรัฐนิยมฉบับต่างๆ ของรัฐบาลจอมพล ป.
สอดคล้องกับเสรีไทยที่ชี้แจงต่อสัมพันธมิตรว่าการประกาศสงครามต่อสหรัฐฯ และอังกฤษ เป็นการตัดสินใจจากอำนาจเผด็จการของจอมพล ป. อันขัดต่อรัฐธรรมนูญและเจตนารมณ์ของประชาชน
เมื่อจอมพล ป. กลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯ อีกครั้งในปี 2491 ก็ให้กลับมาใช้ชื่อประเทศไทยในภาษาอังกฤษว่า "Thailand" ตามเดิม
(7) รัชกาลที่ 8 กับการรักษาเอกราชในเชิงสัญลักษณ์
รัชกาลที่ 8 ทรงเป็นประธานในพิธีสวนสนามของทหารสัมพันธมิตร นำโดยลอร์ด หลุยส์ เมานต์แบตเทน 19 มกราคม 2489 (ภาพจาก คลิปวิดีโอ Lord Mountbatten and King of Siam watching military parade in Bangkok. ของ britishpathe.com / ภาพที่ 3 จาก สถาบันปรีดี พนมยงค์)
หลังจบสงคราม อังกฤษมีความพยายามจะส่งทหารเข้ามาในไทยเพื่อปลดอาวุธของญี่ปุ่น และเรียกร้องจากไทยหลายอย่างจนเกรงกันว่าอังกฤษจะเอาไทยมาอยู่ใต้อาณัติ
แม้ไทยจะเจรจา และให้สหรัฐฯ มาไกล่เกลี่ยจนสามารถยุติสถานะสงครามกับอังกฤษได้ อีกทั้งรัฐบาลได้ตอบกลับไปว่าไทยจะดำเนินการปลดอาวุธญี่ปุ่นเอง
แต่ฝ่ายอังกฤษ นำโดยลอร์ด หลุยส์ เมานต์แบทเทน แม่ทัพสูงสุดของกองกำลังสัมพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แข็งขืนและส่งกองทัพเข้ามา
เมื่อถึงช่วงถอนทัพ ลอร์ดหลุยฯ ให้จัดการพิธีสวนสนามบนถนนราชดำเนิน เพื่อเป็นการอำลา แต่ก็ตีความเป็นนัยได้ว่าอังกฤษสามารถยึดครองไทยได้
หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้เขียนเล่าในหนังสือ "ชีวลิขิต" เชิงว่า..
"" เมื่อในหลวงอนันทมหิดลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงมีพระราชกระแสว่า ถ้ายอมลอร์ดหลุยฯ ขึ้นรับความเคารพโดยลำพังก็เท่ากับประเทศไทยถูกอังกฤษยึดครอง
(เมื่อสื่อถ่ายทอดภาพออกไป ประชาคมโลกจะคิดเช่นนั้น)
จึงแสดงพระประสงค์จะเข้าร่วมพิธีสวนสนามด้วย แม้ลอร์ดหลุยฯ จะดูไม่ค่อยพอใจแต่ก็ทำอะไรไม่ได้
1
ภาพที่ฉายออกไปทั้งโลกได้เห็นคือ ในหลวงรัชกาลที่ 8 ทรงเป็นประธานพิธีสวนสนาม ประทับบนพระแท่นพิธี อยู่สูงกว่าลอร์ดหลุยฯ เพราะพระองค์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐมีสถานภาพสูงกว่า
ส่วนกองทัพขบวนเสรีไทยที่มาร่วมสวนสนามด้วย คาดกันว่าเป็นแนวคิดของปรีดี ""
จึงนับเป็นความสำคัญต่อเกียรติภูมิของประเทศ แสดงให้เห็นว่าไทยยังมีอธิปไตยสมบูรณ์ ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจชาติใด
(8) อาชญากรสงครามชาวไทย
จอมพล ป. พิบูลสงคราม กำลังเดินทางจากเรือนจำไปศาล 18 ตุลาคม 2488 (ภาพจาก หนังสือประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ. 2475-2500)
หลังสงครามจบลง ฝ่ายสัมพันธมิตรมีความต้องการนำตัวบุคคลสำคัญชาวไทยที่สนับสนุนสงครามจำนวน 8 คน มาขึ้นศาลอาชญากรรมสงครามที่โตเกียว
แต่ทางรัฐบาลไทยได้ขอและให้ดำเนินการพิจารณาคดีในไทยแทนที่โตเกียว และได้ตรา "พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พุทธศักราช 2488" ขึ้นมา
คนที่ถูกจับกุมล้วนแล้วแต่เป็นนายทหารระดับสูง นักการเมืองผู้สนับสนุน หรือนักโฆษณาการชวนเชื่อให้แก่รัฐบาล รวมถึงจอมพล ป. ด้วย
จอมพล ป. จึงถือเป็นนายกฯ คนเดียวของไทยที่ถูกจับกุมเพื่อจะดำเนินคดี
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาคดีกลับติดปัญหาข้อกฎหมายอย่างหนัก อันเนื่องมาจากพ.ร.บ.อาชญากรสงคราม ประกาศใช้ภายหลังการกระทำต่างๆ ของจอมพล ป. และพวกพ้อง กฎหมายจึงไม่สามารถบังคับเอาผิดย้อนหลังได้
มีการตั้งข้อสังเกตุว่านี่เป็นแผนของเสรีไทย ที่ไม่ส่งตัวไปพิจารณาคดีที่โตเกียว และออกกฎหมายมาทีหลังเพื่อใช้หลักทางนิติศาสตร์ที่ว่ากฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลัง
เนื่องจากหากมีอาชญากรสงครามในไทย อังกฤษซึ่งต้องการให้ไทยอยู่ใต้อาณัติหลังสงคราม อาจใช้เหตุนี้เป็นข้ออ้างให้ไทยเป็นประเทศแพ้สงครามได้ง่ายขึ้น
ประเทศไทยจึงเป็นประเทศอักษะเพียงไม่กี่ชาติที่ไม่มีอาชญากรสงครามเลยสักคน
(9) "ประศาสน์ ชูถิ่น" บุคคลภายนอกคนสุดท้ายที่เข้าเยี่ยมพบฮิตเลอร์ และ 225 วันในคุกรัสเซีย
ในปี 2556 สารคดีเรื่อง Inside Hitlers Reich Chancellery ของ The History Channel ได้เผยแพร่ข้อมูลชุดหนึ่ง เกี่ยวกับบุคคลภายนอกผู้เข้าพบอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นคนสุดท้าย
ภาพสมุดบันทึกผู้เข้าเยี่ยมพบท่านผู้นำ ที่คนสุดท้ายเป็นนักการทูตชาวไทย (ภาพจาก สารคดี Inside Hitlers Reich Chancellery ของ The History Channel ปัจจุบันใช้ชื่อว่า History)
เป็นสมุดเยี่ยมพบสำหรับบุคคลสำคัญ และนักการทูตต่างๆ ที่เข้าเยี่ยมพบท่านผู้นำฮิตเลอร์
ในลายเซ็นท้ายสุดของบันทึก มีลายเซ็นชาวไทยอยู่ แต่สารคดีอธิบายเพียงว่าเป็นนักการทูตชาวไทยเท่านั้น ไม่ได้ขยายความใดๆ ต่อ
1
จนในปี 2559 เกิดคำถามว่าเขาคือใคร? และเข้าพบเพื่ออะไร? ในเว็บบอร์ด Axis History Forum และ Pantip ของไทย (ชาวไทยใน Pantip เกือบทั้งหมดตอบแต่เรื่องไร้สาระตลกโปกฮา)
ชาวเน็ตใน Axis History Forum ได้แกะลายเซ็นตวัดๆ ไปเรื่อยๆ จนได้คำว่า "Prasat Chuthin" จึงทราบว่าคือ พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น)
"พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น)" เป็นหนึ่งใน 4 ทหารเสือคณะราษฎร กลุ่มบุคคลสำคัญผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม 2475
พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ในเครื่องแบบเต็มยศตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำจักรวรรดิไรช์ที่สาม (ภาพจาก หอจดหมายเหตุ)
ในเดือนธันวาคม 2481 จอมพล ป. ได้แต่งตั้งเขาให้เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำจักวรรดิไรช์ที่ 3 (นาซีเยอรมนี) ที่กรุงเบอร์ลิน
การต้องถูกย้ายไปพร้อมครอบครัวเช่นนี้เป็นนัยว่าต้องลี้ภัยทางการเมือง เนื่องจากพระประศาสน์ฯ เป็นคนใกล้ชิดกับพระยาทรงสุรเดช ซึ่งก่อกบฏในปีเดียวกันนั้นเอง
อนึ่ง พระประศาสน์ฯ เคยได้รับการศึกษาในวัยเด็กที่เยอรมนี จึงสามารถใช้ภาษาเยอรมันได้เป็นอย่างดี
ในช่วงท้ายของสงคราม กรุงเบอร์ลินถูกโจมตีอย่างหนัก ทำให้ชีวิตของพระประศาสน์ฯ ลำบากอย่างยิ่ง อีกทั้งบุตรสาวคนโตยังเสียชีวิตจากสงคราม จนต้องส่งภริยาและบุตรสาวคนน้องกลับไทย
20 เมษายน 2488 พระประศาสน์ฯ ได้เข้าเยี่ยมพบฮิตเลอร์ในบังเกอร์หลบภัยของทำเนียบรัฐบาลนาซี กลางกรุงเบอร์ลินที่กำลังถูกถล่มอย่างหนักหน่วงจากปืนใหญ่โซเวียต
การเข้าพบครั้งนี้คาดว่าไปอวยพรวันเกิดแก่ฮิตเลอร์ ทั้งนี้ยังมีทูตจากอัฟกานิสถาน และญี่ปุ่น ที่เข้าเยี่ยมพบด้วย และยังมีทูตของอีกประเทศหนึ่งซึ่งชาวเน็ตใน Axis History Forum ก็ไม่ทราบว่าคือใคร มาจากประเทศไหน
เนื่องจากตัว T ของคำว่า Thailand เป็นลำดับสุดท้าย พระประศาสน์ฯ จึงเข้าพบฮิตเลอร์และเซ็นในบันทึกเป็นคนท้ายสุด
ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่า พระประศาสน์ฯ เป็นบุคคลภายนอกคนสุดท้ายที่เข้าเยี่ยมพบฮิตเลอร์ก็ว่าได้ ก่อนที่ฮิตเลอร์จะก่ออัตวินิบาตกรรมในอีก 10 วันต่อมา
หลังจากที่เยอรมนีประกาศยอมแพ้สงคราม พระประศาสน์ฯ ได้ถูกทหารโซเวียตควบคุมตัวไปอยู่ที่คุกเชลยศึกกรุงมอสโก โซเวียตรัสเซีย
เมื่อสงครามในฝั่งเอเชียจบลง ประเทศไทยที่ต้องการเข้าร่วมสหประชาชาติ หนึ่งในนโยบายนั้นคือการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับสหภาพโซเวียต เพื่อกันไม่ให้โซเวียตคัดค้านการขอเข้าเป็นสามชิก UN ของไทย
จนมีการแต่งตั้งทูตไทยประจำสหภาพโซเวียตขึ้น มีการเจรจากันจนพระประศาสน์ฯ ได้ถูกปล่อยตัวกลับไทย
รวมระยะเวลาถูกขังอยู่ในคุกเชลยศึก ราว 225 วัน (7 เดือนครึ่ง) เหตุการณ์ทั้งหมดพระประศาสน์ฯ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ "225 วันในคุกรัสเซีย"
225 วันในคุกรัสเซีย (ภาพจาก TU Digital Collections)
พระประศาสน์ฯ ได้บันทึกตั้งแต่ช่วงออกเดินทางจากไทยจนไปถึง และอธิบายความเกรียงไกรของเยอรมนีในช่วงต้นสงคราม การเข้าพบฮิตเลอร์ การถูกทิ้งระเบิดที่หัวเมืองต่างๆ ของเยอรมนี จนถึงการล่มสลายของเบอร์ลิน
จะพบว่า พระประศาสน์ฯ ได้บันทึกเพียงแต่การเข้าพบฮิตเลอร์ครั้งแรกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2482 เท่านั้น มิได้บันทึกใดๆ เลยเกี่ยวกับการเข้าพบฮิตเลอร์ในเดือนเมษายน 2488
ข้าพเจ้าเกือบจะรู้สึกว่าเขาเป็นชาวเยอรมันคนแรกที่อ่อนโยน และมธุรสวาจาที่เขาแสดงออกมาแก่ข้าพเจ้าก็ประหนึ่งแทบจะไม่น่าเชื่อว่า เขาจะได้เคยเป็นผู้ประกาศก้องโลกอย่างเด็ดขาดต่อชุมนุมนาซีนับแสนมาแล้ว เขาเป็นผู้ดีในสายตาข้าพเจ้าจริงๆ
พระประศาสน์พิทยายุทธ เมื่อเข้าพบฮิตเลอร์ครั้งแรก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2482 จากหนังสือ 225 วันในคุกรัสเซีย
บันทึกลายเซ็นผู้มาเยี่ยมพบท่านผู้นำ จึงเป็นหลักฐานชั้นต้นชิ้นเดียวที่ยืนยันว่าพระประศาสน์ฯ เป็นบุคคลภายนอกคนสุดท้ายที่เข้าพบฮิตเลอร์
หนังสือ 225 วันในคุกรัสเซีย ยังอธิบายถึงการถูกขังอยู่ในคุกมอสโกไว้อย่างละเอียด ตั้งแต่เรื่องอาหารที่แม้จะมีพอกิน แต่ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาวะที่สกปรก ความแออัด การกลั่นแกล้ง ที่แย่ที่สุดคือ อุณหภูมิหนาวจัด -40 °C ตลอดจนการรอคอยและได้มาซึ่งอิสรภาพ
ในงานพระราชทานเพลิงศพปี 2491 ของนางประศาสน์พิทยายุทธ์ (เนาว์ ชูถิ่น) ภริยาของพระประศาสน์ฯ 225 วันในคุกรัสเซียก็ได้เป็นหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพด้วย
(10) หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่รอการค้นพบ
หอจดหมายเหตุจังหวัดจันทบุรี เมื่อบูรณะในปี 2547 จึงได้พบกับเอกสารเกี่ยวประวัติศาตร์สมัยต่างๆ ของจันทบุรี ตั้งแต่สมัยจัดระเบียบหัวเมือง สงครามโลกครั้งที่ 1 - 2 ไปจนถึงสงครามเย็น จากนั้นจึงเริ่มนำมาเผยแพร่ในปี 2560 (ภาพจาก กรมศิลปากร)
การศึกษาค้นคว้าในหัวข้อ "ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2" แม้มีผู้ศึกษามากมาย และมักอ้างอิงจากเอกสารต่างๆ จากฝั่งไทย ไม่ว่าจะจากจดหมายเหตุ เอกสาร ประกาศของรัฐ บันทึกของคนในเหตุการณ์ รวมถึงหลักฐานชั้นรองต่างๆ
หรืออาจมาจากบันทึกของนายพลระดับสูงของญี่ปุ่นที่มาประจำการในไทย และเอกสารของชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และอังกฤษ
แต่ก็ยังมีข้อมูลอีกมากที่ยังไม่ได้รับการศึกษาค้นคว้าจากนักประวัติศาสตร์ไทย เช่น จดหมายเหตุของญี่ปุ่น จีน ยุโรป ประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ในท้องถิ่น
เนื่องจากอุปสรรคทางภาษาและการเข้าถึง อาจมีข้อเท็จจริงที่น่าสนใจรอเราอยู่มากมายให้มาศึกษาค้นคว้า ตีความ วิพากษ์ถกเถียง และสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้แก่สังคมต่อไป
หมายเหตุ : นับแต่ปี 2483-2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้คร่าชีวิตคนไทยไปราว 7,600 คน เป็นทหารราว 5,600 นาย พลเรือนราว 2,000 คน คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งขณะนั้นมีประชากรอยู่ราว 15 ล้านคน
ระหว่างสงครามญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงเศรษฐกิจไทยจนเกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างหนัก ประชาชนยังได้รับความเดือดร้อนทั้งจากอุทกภัยใหญ่ปี 2485 และภัยสงครามที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การโจมตีทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้ขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคและยารักษาโรค
สงครามได้สร้างความเสียหายอย่างหนัก นอกจากความเสียหายทางกายภาพแล้ว ทางเศรษฐกิจและสภาพจิตใจของคนในสังคมก็ยับเยินไม่แพ้กัน
บรรณานุกรม :
R.G. Grant. (2003). World War II. United State : DK.
ดิเรก ชัยนาม. (2549). ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: ศรีปัญญา.
โครงการหอมรดกไทย สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม. (2542). ไทยกับสงครามมหาเอเซียบูรพา. สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2566,
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2552). ลัทธิชาตินิยมไทย/สยามกับกัมพูชา: และกรณีศึกษาปราสาทพระวิหาร. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
สังคีต จันทนะโพธิ. (พิมพ์ครั้งแรก). บุกป่าฝ่าดง... รถไฟแผ่นดินล้านนาไทย. กรุงเทพฯ: วันชนะ.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2561). ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ. 2475-2500. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
เสมเสวนา SEM Talk. (2563). เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ตอนที่ 5 สงครามโลกครั้งที่ 2 และบทบาทเสรีไทย. สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2566,
1
TOM YARBOROUGH. (2021). WHY THE ROYAL THAI AIR FORCE BOTH FOUGHT AND SUPPORTED AMERICA DURING WORLD WAR II. Retrieved June 30, 2023,
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2566). ประวัติ ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์. สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2566,
ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2566). ธนบัตรหมุนเวียนมิได้มีเพียง 16 แบบ. สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2566,
ศิลปวัฒนธรรม. (2563). 7 กันยายน 2488 ไทยเปลี่ยนชื่อประเทศอีก! กลับไปใช้ชื่อ “Siam” ในภาษาอังกฤษ. สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2566,
โพยม จันทรัคคะ. (2557). ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้. สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2566,
ศาสตราจารย์ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช. (2561). ชีวลิขิต. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: วิญญูชน.
กล้า สมุทวณิช. (2565). คดี “โมฆ (อาชญากร) สงคราม” อันเป็นต้นกำเนิด “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตอนที่ 1. สืบค้นเมื่อ มิถุนายน 2566,
Axis History Forum. (2566). The Thailand Ambassador was Hitler's Last Visitor?. สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2566,
TU Digital collections. (2566). 225 วันในคุกรัสเซีย. สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2566,
โฆษณา