18 พ.ค. 2023 เวลา 13:35 • ดนตรี เพลง

[รีวิวอัลบั้ม] - (Subtract) - Ed Sheeran

ความเศร้า(อย่างสีเหลือง?)
-ซุปตาร์พี่หมีแห่งเกาะอังกฤษ Ed Sheeran เป็นหนึ่งศิลปินที่ “ให้ตายเหอะ” ผมแทบจะเฉยชาและไม่เคยคาดหวังคุณพี่คนนี้ในเวอร์ชั่นปัจจุบันจริงๆ สืบเนื่องการยึดป็อปแบบสูตรสำเร็จใน 3 อัลบั้มที่ผ่านมา เป็นมาตรฐานที่ไม่สร้างความแตกต่างเอาเสียเลย จนแอบแซวทิ้งท้ายในรีวิว Equal ไว้ว่า ถ้าชุดต่อไปเป็น “ลบ” มาตรฐานจะดรอปลงเหวรึเปล่าเนี่ย ซึ่งพี่แกก็ปิดซีรี่ย์คณิตศาสตร์ด้วย Subtract จริงๆด้วย
-เป็นภาคสุดท้ายของซีรี่ย์คณิตศาสตร์ที่น่าจะพอเสียที ในเมื่อทั้ง Divide และ Equal ที่ไม่รู้ว่าจะทำทำไม การใส่สูตรหารและเท่ากับของสองอัลบั้มกลับปรับค่ากลางให้เข้าถึงกลุ่มมหาชนมากจัดจนน่าเบื่อสิ้นดี และไม่มีใครน่าจะซื้อซีรี่ย์คณิตศาสตร์ของแกอีกต่อไปแล้ว ในโลกนักฟังเพลงที่อยากเจอความเซอร์ไพรส์ในคอนเทนท์ที่อยู่บนปลายจมูก หรือไม่ก็อยากเจอกับพวกม้ามืดที่คาแรคเตอร์ที่ชัดและแตกต่าง
-อย่างน้อยการจบซีรี่ย์คณิตศาสตร์ในรอบนี้ พี่หมีก็ฟังความรู้สึกตัวเองอย่างจริงจังเสียที นี่จึงทำให้ไม่ได้เกิดข้อครหาแห่งความดรอปฮวบฮาบตามชื่ออัลบั้มซะทีเดียว อาจจะเป็นเพราะชีวิตจริงของพี่แกเริ่มเจอความเจอความโชคร้ายที่มาเป็นแพ็คเกจเลย จนระลึกได้ถึงการเติบโตที่ต้องตั้งรับความโชคร้ายที่นอกเหนือจากความรักอันแสน innocent
-แน่นอนว่าแกเจอเรื่องลบๆไม่น้อยไปกว่าใคร ตั้งแต่การสูญเสียเพื่อนสนิท Jamal Edwards ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันตั้งแต่ Day 1 ความวิตกกังวลที่มีต่อภรรยา Cherry Seaborn ซึ่งตรวจพบเป็นมะเร็งในช่วงตั้งครรภ์ ไหนจะต้องดีลกับคดีความก็อปเพลง (ซึ่งตอนนี้ก็ชนะไปแล้ว)
-มู้ดเพลงโดยรวมเป็นขั้วลบที่ไม่เน้นความดาร์คหม่นจัด เย็นยะเยือกตัดขั้วหัวใจ ยังมีความป็อปที่พอให้เข้าหาได้แหละ นับว่ามู้ดยังคงสอดรับกับหน้าปก(อย่างสีเหลือง?) เป็นการเตรียมตัวเตรียมใจในการเผชิญความไม่แน่นอนต่อจากนี้ ไปพร้อมๆกับการพยายามดีลตัวเองไม่ให้ถลำลึกไปมากกว่านี้ ซึ่งก็มีผลต่อการปรับค่าเพลงไม่ให้หม่นดาวน์จนเกินไปเนี่ยแหละ
-การดึงตัว Aaron Dessner มาร่วมโปรดิวซ์ ซึ่งแกเคยเป็นตัวละครสำคัญในการรีแบรนด์ Taylor Swift เข้าสู่โลกอินดี้-โฟล์คมาแล้วในอัลบั้มพี่สาวน้องสาว folklore และ evermore ตอนที่ผมรู้ข่าวคราว ไม่ได้รู้สึกคาดหวังว่ามาตรฐานจะต้องตามเพื่อนสาวอะไรมากมายนัก อย่างน้อยก็แตะความเป็นอินดี้ มีอะไรแปลกๆคาดเดาไม่ได้หน่อยก็ดี เพราะสูตร folk-pop ของ Aaron ก็ไม่ตายตัวอยู่แล้ว
-ผลลัพธ์ที่ได้ ยังคงเป็นท่วงทำนองที่คาดเดาได้อยู่ดี เป็นความ chamber pop ที่ชวนระลึกถึงเพลงประกอบโฆษณากล้องถ่ายภาพที่โปรโมทแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติในบางที แต่อย่างน้อยบทเพลงเซ็ตเครื่องหมายลบชุดนี้ยังพอมีแง่มุมชีวิตให้น่าคิดตามไม่มากก็น้อย
-โดยเฉพาะเพลง End of Youth ที่ว่าด้วย การเป็นผู้ใหญ่มักเจ็บปวดเสมอ คอนเทนท์นี้ผมซื้อนะ รสชาติแห่งความเยาว์สิ้นสุดลง ไอ้ความ depress ความจริงอันน่าเจ็บปวด เมื่อเราได้รู้ซึ้ง ความเป็นผู้ใหญ่จะบังเกิดโดยอัตโนมัติ เป็นความ emotional ที่เข้าใจง่ายและเหมาะเหม็งกับการเป็น centerpiece มากพอที่จะบอกมวลรวมความรู้สึกและแง่คิดของอัลบั้มนี้
-การเล่นตีมบรรยากาศล่องเรือฝ่าคลื่นกระแสน้ำ เป็นวิธีที่พี่หมีเอ็ดไม่เคยทำในอัลบั้มไหนๆเหมือนกันนะ โดยปกติแล้ว 4 อัลบั้มที่ผ่านมาจะเป็นสไตล์เพลย์ลิสท์ที่ไม่ได้เจือด้วยบรรยากาศใดๆ แต่อัลบั้มนี้ดันมีเว้ยเห้ย อย่างน้อยก็สร้าง visual ไม่ได้วนเวียนแค่ตัวโน้ต audio อย่างเดียว
-ตั้งแต่แทร็คเปิด Boat ก็เปรียบเปรยได้เข้าท่า เล่นกับความเงียบ กลั่นอารมณ์ความดาวน์เบื้องต้นจากการที่แกนั่งอยู่ริมทะเล ก็ไม่ช่วยให้ปลอดโปร่งได้เลย การส่งไม้ต่อให้ Salt Water ก็คงคอนเซ็ปท์ความดาวน์ด้วยการมโนภาพการุณยฆาตด้วยการโดดลงทะเลไปเลย ท่อนฮุกใช้ภาษาแอบโรแมนติก แต่เมื่อจินตนาการตามบริบทแล้ว น่าจะโรแมนติกไม่ลง
-Eyes Closed ซิงเกิ้ลแรกที่มาด้วยความมินิมอลที่เน้นความมืดแปดด้านของคนที่ยังคงเห็นและระลึกถึงเพื่อน Jamal ที่ตายไปตลอดเวลา แม้ตัวไม่อยู่ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ยังไม่เคยหายไปในมโนสำนึก ทำตัวไม่ถูก ไม่รู้จะดีลยังไง
-Life Goes On ก็ยังคงตั้งคำถามถึงการใช้ชีวิตโดยปราศจากมิตรรักอย่างต่อเนื่อง รู้เว้ยว่าความตายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญ แต่มันไวไปหน่อยมั้ยที่จะไปโดยไม่ล่าซักคำ ชีวิตต้องไปต่อ แล้วไงวะ ? ผมคิดว่ามีแนวโน้มปล่อยเป็นซิงเกิ้ลตามระเบียบด้วยความ emotional acoustic และวลีในท่อนฮุกที่เข้าใจง่ายตั้งแต่แรกฟัง
-พูดถึงความกังวลที่มีต่อภรรยาสุดที่รักในเพลง Borderline พี่หมีเอ็ดเค้นเสียงสู๊งงงงมาพร้อมกับการโหมโรงดนตรีคลาสสิคที่เพิ่มน้ำหนักความ emotional ได้น่าขนลุกพอตัว ฟังแล้วก็สงสารกับการพยายามภาวนาให้เมียแกอาการดีขึ้น แทนที่จะได้บุญกลับได้บาปที่นับวันยิ่งแย่ลง ในขณะที่ Vega ที่ขอภาวนาให้ Cherry หายจากมะเร็ง ในระหว่างการรักษา ต้องผ่านความยากลำบากเป็นแน่นแท้ แต่อย่างน้อยการผ่านความยากลำบากไปด้วยกันคงทำให้พวกเขาได้เห็นแสงแห่งความหวังเปล่งประกายในที่สุด
-Curtains หนึ่งเพลงที่แตกต่างในแง่ของการเพิ่มบทบาทของกีตาร์ไฟฟ้าแบบบางๆมาตัดรส mellow ที่ผ่านมาบ้าง แต่ก็ mellow อยู่ดี (555) เป็นการเปิดม่านรับแสงสว่างให้ลดทอนความหม่นในใจลงไปบ้าง เช่นเดียวกับการพยายามพลิกมุมมองเติมเชื้อไฟในเพลง Spark ที่เดินเพลงด้วยท่วงทำนอง upbeat ได้อย่างหนักแน่นและเจิดจ้า
-การได้เห็นลูกสาวร่าเริงไปกับบทเพลงเก่าของ Dusty Springfield ในเพลง Dusty อันเป็นโมเมนต์ที่บรรเทาทุกข์อันหนักอึ้งให้คุณพ่อได้บ้าง หรือการรับสภาพในชีวิตแต่งงานที่บางทีก็มีเฉดสีทับซ้อนเสีย ไอ้ความทุกข์ที่ไปเจอมากลับทำให้เฉดสีที่เราเคยรับรู้กลับถูกตีค่าเป็นตาบอดสีได้ในเพลง Colourblind
-ทั้งนี้พี่เอ็ดเลือกจบอัลบั้มนี้ดุจสำนวน Love heal us all ตามแบบฉบับพ่อบ้านที่พร้อมจับมือภรรยาฟันฝ่าอุปสรรคไปพร้อมๆกัน ไม่ว่าจะเป็น Sycamore ที่พรรณนาความรักที่เผชิญภาวะขึ้นๆลงๆจนหาคำตอบไม่ได้ว่า ปริศนาความรักจะจบลงตรงไหน ขอให้ได้พบพานกับความสงบสุข พร้อมกับการได้เห็นลูกสาวตัวน้อยมีความสุขก็เป็นพอ No Strings ที่ขับเคลื่อนด้วยรักอย่างไม่มีเงื่อนไข และปิดท้ายด้วยความรักโอบกอดดุจขุนเขาในเพลง The Hills of Aberfeldy
-พอได้ฟังประมาณ 3-4 รอบ ผมมั่นใจในความดีขึ้นกว่า 3 ผลงานก่อนหน้านั้นอย่างแน่นอน แต่ก็อดที่จะรู้สึกเบื่อและเลี่ยนไปกับการนำเสนอที่ห้อมล้อมด้วยท่วงทำนองเครื่องสายอย่างจำเจมากเช่นกัน ต่อให้มีขุนพลที่เคยรีแบรนด์ Taylor Swift ให้กลายเป็นนักร้องอินดี้ท่านนึงจนเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงไปแล้วก็ตาม กลับกันสำหรับพี่หมีเกาะอังกฤษนั้นยังติดอยู่กับกรอบความเกรงใจบางอย่างในการที่ไม่อยากเสียฐานแฟนเพลงมหาชน กลัวคนฟังขมขื่นไปกับบทเพลงจนเกินไป ทั้งๆที่คอนเทนท์หนักพอที่จะขยี้ไปทางอึมครึมหน่อยก็ได้
-ผมได้มีโอกาสดูสารคดี The Sum of It All ใน Disney Hotstar เผื่อจะได้เปิดมุมมองของอัลบั้มได้มากกว่านี้ มันจะมีซีนนึงใน Chapter 2 ที่นำฟุตเทจตอนแสดงสดเพลง Bloodstream จากอัลบั้มชุด Multiply ซึ่งเอามาแทรกเพื่อบอกเล่าช่วงที่ Ed กำลังพยายามดีลกับความเศร้าหลังสูญเสียเพื่อน Jamal แล้วต้องออกไปแสดงต่อหน้าคนนับหมื่นโดยที่ต้องทิ้งความรู้สึกเศร้าๆไปก่อนเพื่อให้โชว์ราบรื่นให้ได้มากที่สุด
-ผมอยากจะบอกว่า นักตัดสารคดีเห็นภาพ Subtract Era ได้ตรงจริตผมเหลือเกิน ฟีลแสดงสดเพลง Bloodstream คือการเขย่า confusion ดีๆเลย ต่อให้มันเป็นเพลงที่พูดถึงช่วงเวลาพี่หมีเคยลองเล่นยา แต่ vibe เพลงมันแอบอึมครึม โคตรได้ฟีลความเป็น Subtract มากกว่าหลายเพลงในนั้นเสียอีก มันคือการบอกโดยนัยถึงการอยากลืมความเจ็บปวดที่ดันเป็นบังเอิญกับสิ่งที่แกเผชิญอยู่ ณ ตอนนั้น
-ผมเสียดายที่ทำไม Subtract ไม่สอดแทรกความอึมครึมลงไปบ้าง ไม่ใช่แค่ใส่ความบัลลาด chamber pop อย่างสีเหลืองมารัวๆ จนได้ความเลี่ยนในแบบที่ใหม่ซ้ำเดิม ยิ่งเพิ่มจำนวนแทร็คตอกย้ำความโรแมนติกแบบไม่มีอะไรจะเสีย โดยเฉพาะช่วงท้ายอัลบั้ม มันยิ่งห่างไกลจากความเรียลมากเท่านั้น
-เอาเป็นว่าผมน่าจะมีจริตไม่ตรงกับแกเยอะอยู่ก็เป็นได้ ด้วยภาพที่คาดหวังไม่ตรงกัน ด้วยสถานะการเป็นพ่อคนที่อยากทำเพลงเพื่อตอบโจทย์คนทุกเพศทุกวัยก็เป็นได้ สำหรับคนที่ฟังเพลงท่วงทำนองตึงๆ ห้อมล้อมด้วยความไม่ชอบมาพากลเจออัลบั้มนี้เข้าไป หลับใส่แน่นอน
-นี่จึงไม่ใช่งานที่ดีที่สุดของพี่หมีเอ็ด แต่เป็นสัญญาณที่ดีมากในการปิดซีรี่ย์คณิตศาสตร์ที่ไม่ชวนให้ตื่นเต้นเท่าไหร่นัก ผมเคยแปลข่าวที่พี่แกอาจเบนเข็มไปสู่วงการลูกทุ่งคันทรี่ ผมเองก็สนับสนุนนะ ในเมื่อแจ้งเกิดจากการเป็นไอ้หนุ่มกีตาร์โปร่งที่คล่องแคล่ว การทำเพลงสายเอื้อนก็ยืนพื้นความเป็นอคลูสติคอยู่แล้ว คอยดูครับว่ารสชาติหนุ่มป็อปขนมหวานแปรเปลี่ยนเป็นหนุ่มใหญ่วิสกี้ด้วยรสชาติใดกันแน่
ผมยอมที่จะเห็นพี่ทำอะไรเชยๆมากกว่าโมเดิร์นอีกนะ
Top Tracks : Boat, Life Goes On, End of Youth, Borderline, Spark
Give 6.5/10
Thx 4 Readin’
See Y’all
โฆษณา