Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เมืองไทยไดอารี่ by Supawan
•
ติดตาม
19 พ.ค. 2023 เวลา 00:37 • ท่องเที่ยว
สายลมแห่งกาลเวลา (5) .. ในรายทางสู่ วัดราชบพิธ และสุสานหลวง
เราเดินมุ่งหน้าไปยังวัดราชบพิธ .. ผ่านบางสถานที่ ที่น่าสนใจ และอยากนำมาเล่าค่ะ
อาคารกรมแผนที่ทหารหลังเดิม
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญ .. เป็นรูปแบบอาคารเป็นแบบนีโอคลาสคิค ออกแบบโดยนายเอส. คาร์ดู และนายไอ. ดี. คาสตร์ ตัวตึกสร้างยาวขนานกับถนนเป็นตึก 2 ชั้น หลังคามุงกระเบื้องลอน
ที่หลังคามีแผ่นปูนปั้นเป็นระยะประดับลวดลายสลับกัน .. โดยเป็นตราพระเกี้ยวสลับกับลายช้างสามเศียรช่องหนึ่ง และลายช้างและปืนไขว้อยู่ภายในแผ่นปูนปั้นอีกช่องหนึ่งสลับกันไป
ตัวตึกส่วนล่างเว้นเป็นช่องว่างกว้างพอให้รถผ่านเข้าออก .. ทางเข้าใหญ่นี้ประดับด้วยเสากลมหัวเสาแบบโรมัน แผ่นปูนปั้นที่ตรงทางเข้าออกนี้เป็นตราพระเกี้ยวอยู่กึ่งกลาง ถัดลงมาเป็นลายพวงดอกไม้อยู่ภายในช่องสี่เหลี่ยมเรียงต่อกันเป็นแนวล่างสุด
อาคารทางปีกซ้ายหรือทิศตะวันออกของประตูทางเข้าใหญ่สร้างสูงเป็นพิเศษ คือ สูง 3 ชั้นเพียงช่องเดียว มีป้ายชื่อกรมแผนที่ทหาร ประดับที่ระเบียงชั้น 2 ช่องหน้าต่างของชั้นที่ 3 เป็นช่องหน้าต่างกระจกกรอบไม้วงโค้งใหญ่ เหนือหน้าต่างประดับด้วยปูนปั้นพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ภายในวงกลม
อาคารส่วนอื่นเป็นอาคาร 2 ชั้น มีการตกแต่งสวยงามกลมกลืนกันคือผนังชั้นล่างเซาะร่องคล้ายการเรียงหิน หน้าต่างของชั้นล่างเป็นหน้าต่างวงโค้งบานใหญ่ติดกระจกเดินกรอบไม้ หนาต่างชั้นที่ 2 เป็นบานไม้ประดับปูนปํ้น ที่เหนือขอบหน้าต่างเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วบานหนึ่งสลับกับปูนปั้นรูปโค้งวงกลมบานหนึ่งเรียงสลับกันไปตลอดแนว ปัจจุบันอาคารได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนสีใหม่จากสีขาวเป็นสีส้ม
http://www.resource.lib.su.ac.th/rattanakosin/index.php?option=com_content&view=article&id=83
อนุสาวรีย์หมู และสะพานปีกุน
อนุสาวรีย์หมู หรือมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า อนุสาวรีย์สหชาติ .. เป็นอนุสาวรีย์รูปหมู ตั้งอยู่ริมคลองคูเมืองเดิม ในส่วนของคลองหลอด อยู่ที่เชิงสะพานปีกุน ฝั่งตรงข้ามวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ริมถนนถนนราชินี แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร ออกแบบโดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
.. สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2456 เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระชนมายุครบ 50 พรรษา ซึ่งพระองค์พระราชสมภพในปีกุน
ในวันเฉลิมพระชนมายุของพระองค์ในปีนั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงร่วมกับพระยาพิพัฒน์โกษา (เศเลสติโน ซาเวียร์) และพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ซึ่งเกิดปีเดียวกันกับพระองค์ ร่วมกันจัดสร้างสะพานปีกุน และ อนุสาวรีย์สหชาติขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ของพวกท่าน
เมื่อแรกสร้างนั้นใช้แท่งศิลาขนาดใหญ่มาซ้อนกันเป็นฐาน ตัวหมูที่ตั้งอยู่ด้านบนแท่งศิลา หล่อด้วยโลหะ ในปัจจุบันฐานศิลาถูกเปลี่ยนมาเป็นปูนซีเมนต์ และก่อยกให้สูงขึ้นกว่าเดิมลักษณะเป็นภูเขา
สะพานปีกุน .. เป็นสะพานสำหรับคนเดินข้ามคลองคูเมืองเดิม เชื่อมระหว่างถนนอัษฎางค์และถนนราชินี ตรงหน้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามและกระทรวงมหาดไทย ฝั่งถนนอัษฎางค์ และหน้าวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ฝั่งถนนราชินี โดยมีอนุสาวรีย์หมูอยู่บนฝั่งคลองด้านตะวันตกใกล้เชิงสะพาน
.. เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ราวสะพานมีลักษณะเป็นเหล็กกลมทอดไปตามยาว คั่นด้วยเสาคอนกรีตเป็นระยะ ลักษณะที่น่าสนใจ คือ เสาที่เชิงสะพานทั้งสองฝั่ง มีทั้งหมด 4 ต้น เป็นเสาคอนกรีตเซาะร่องหัวเสาเป็นรูปถ้วยประดับช่อมาลามีวงรูปไข่ 4 วงทุกเสา มีความหมายถึง ต้นเสา หมายถึง เทียนประทีปพระชันษาเป็นตะเกียงไม่มีแสง จะได้หมายความถึง 4 รอบพรรษานี้ เมื่อขาดพระราชสวามีไปก็คล้ายดวงชวาลาที่อับแสง ขาดความรุ่งโรจน์
Ref : Wikipedia
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาi .. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2412 โดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ และเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง
สถาปัตยกรรมของวัด .. มีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก คือ ลักษณะภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในออกแบบตกแต่งอย่างตะวันตก
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง และมีมหาสีมาอันเป็นเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8 เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพง 8 ทิศ
“ราชบพิธ” หมายถึง พระอารามที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง บพิธ คำนี้มาจากภาษาบาลีคือ ปวิธะ ที่แปลว่าสร้าง ส่วน “สถิตมหาสีมาราม” หมายถึง พระอารามซึ่งมีสีมากว้างใหญ่ เป็นมหาสีมาล้อมรอบอาณาเขตของวัด
วัดราชบพิธฯ นับเป็นพระอารามหลวงสุดท้าย ที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาล
วัดราชบพิธฯ เป็นวัดสำคัญที่พระสันตะปาปาสองพระองค์เคยเสด็จเยือน ได้แก่ สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2527 และสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
พระพุทธอังคีรส
พระพุทธอังคีรสเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหินอ่อนจากประเทศอิตาลี ..
พระนาม "พระพุทธอังคีรส" แปลว่ามีรัศมีซ่านออกจากพระวรกาย หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อต้นรัชกาลที่ 5 กะไหล่ทองคำเนื้อแปดหนัก 180 บาท เป็นทองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เมื่อยังทรงพระเยาว์
เดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงนำไปประดิษฐานที่พระปฐมเจดีย์ แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้นำมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดราชบพิธ เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2415
ที่ฐานพุทธบัลลังก์กะไหล่ทองเนื้อหกหนัก 48 บาท ภายในบรรจุพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีสุลาลัย และสมเด็จพระบรมมาตามหัยยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตน์ราชประยูร
.. ซึ่งราชสกุลต่างๆ ที่มีส่วนแห่งพระบรมอัฐิ พระอัฐิ เก็บรักษาไว้และเชิญมาถวายแด่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เจ้าอาวาสในขณะนั้น จึงโปรดให้บรรจุลงใต้ฐานพระพุทธอังคีรส นอกจากนี้ยังมีพระบรมราชสริรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชสริรางคารพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระราชสริรางคาร สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
อนึ่ง เมื่อที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2562 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานในพิธีบรรจุพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
.. ซึ่งเป็นส่วนที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ทรงเก็บรักษาไว้ถวายสักการบูชา ต่อมาได้ตกทอดเป็นพระมรดกมาสู่หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล พระนัดดา ผู้เป็นพระโอรสใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ และได้ทรงอัญเชิญมาถวายแด่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร)
.. จึงโปรดให้สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน อคฺคชิโน) ปฏิบัติกรณียกิจแทนพระองค์ในการเชิญพระผอบศิลาบรรจุพระบรมอัฐิเข้าประดิษฐานในคูหาบนฐานพุทธบัลลังก์ ลงในฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส ประธานพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
ในวันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2563 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถวาย เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ แด่พระพุทธอังคีรสเนื่องในศุภมงคลสมัย ๑๕๐ ปี แห่งการสถาปนาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
สุสานหลวง
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารมีสุสานหลวงตั้งอยู่นอกเขตกำแพงมหาสีมาของวัดด้านทิศตะวันตก ติดกับถนนอัษฎางค์ ริมคลองคูเมืองเดิม .. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่บรรจุพระอัฐิ (กระดูก) และพระสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) ไว้นั้นเพื่อเป็นพระบรมราชูทิศพระราชกุศลแก่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระองค์
รูปแบบสถาปัตยกรรม มีลักษณะต่างๆกัน .. ทั้งพระเจดีย์ พระปรางค์ วิหารแบบไทย แบบขอม (ศิลปะปรางค์ลพบุรี) และแบบโกธิค โดยตั้งอยู่ในสวนซึ่งมีต้นลั่นทมและพุ่มพรรณไม้ต่างๆ ปลูกไว้อย่างสวยงาม
อนุสาวรีย์ที่สำคัญคือ เจดีย์สีทอง 4 องค์ เรียงลำดับจากเหนือไปใต้ ซึ่งมีชื่อสอดคล้องกันดังนี้
สุนันทานุสาวรีย์ .. บรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ บรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระราชธิดา
รังษีวัฒนา .. บรรจุพระสรีรางคารพระราชโอรส พระราชธิดาอันประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และพระราชนัดดา เช่น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก รวมทั้ง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ด้วย
เสาวภาประดิษฐาน .. บรรจุพระสรีรางคารพระราชโอรส พระราชธิดาอันประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระราชนัดดา เช่น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
สุขุมาลนฤมิตร์ .. บรรจุพระสรีรางคารสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และพระนัดดา
นอกจากนี้ยังมีอนุสาวรีย์ที่สำคัญอื่นๆ ประดิษฐานอยู่ในสุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามด้วย เช่น
อนุสาวรีย์รูปปรางค์ 3 ยอด บรรจุพระสรีรางคารพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา และพระประยูรญาติ พระโอรสและธิดา รวมทั้งสมาชิกสายราชสกุลยุคล
อนุสาวรีย์พระราชชายาเจ้าดารารัศมี บรรจุพระสรีรางคารเจ้าดารารัศมี พระราชชายา และพระราชธิดา
อนุสาวรีย์เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ หรือ "วิหารน้อย" บรรจุสรีรางคารเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5 และพระธิดา รวมทั้งเจ้าจอมมารดาโหมด ในรัชกาลที่ 5 และพระโอรส พระธิดา ตลอดจนสมาชิกสายราชสกุลอาภากร และราชสกุลสุริยง
สุสานหลวงในปัจจุบันมีจำนวนอนุสาวรีย์ทั้งหมด 34 องค์ และมีการจัดตั้งกองทุนสุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารขึ้นมาดูแลรักษาสุสานหลวงให้มีความงดงามเพื่อชนรุ่นหลังได้เข้าชมต่อไป
Ref : Wikipedia
บันทึก
3
1
3
3
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย