Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วินทร์ เลียววาริณ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
19 พ.ค. 2023 เวลา 05:00 • หนังสือ
วันนี้เป็นวันครบรอบ ๑๐๐ ปีวันตายของหมอพร บุคคลสำคัญคนหนึ่งของไทย
ใครคือหมอพร?
อยากรู้ก็ต้องอ่าน
คนไข้คนหนึ่งถามเขาว่า “หมอชื่ออะไร?”
“ผมชื่อหมอพร”
หมอพรรักษาโรคชาวบ้านโดยไม่ถือตัว ไม่มีใครรู้ว่าเขามาจากไหน กิริยาท่าทางของหมอพรสุภาพ รักษาเก่ง คนไข้มักหายดี
2
หมอพรไม่เก็บค่ารักษา เรียกเพียงค่ายกครูตามธรรมเนียมเท่านั้น เขามักไปรักษาผู้ป่วยตามถิ่นต่าง ๆ เสมอ คนไข้ที่ยากจนหรือไม่สามารถมาหาหมอ เขาก็ไปรักษาถึงที่ การรักษาที่ได้ผลกับความเมตตาเอื้ออารีทำให้ชื่อเสียงของหมอพรแพร่หลายออกไป คนไข้มาหาเขาไม่เว้นแต่ละวัน
2
หมอพรรู้ว่า หากชาวบ้านรู้ชื่อจริงของเขา ก็คงไม่มีใครกล้ามาหา
เขาไม่ใช่ชาวบ้าน เขาเป็นโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน
1
เขาคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พระเจ้าลูกยาเธอลำดับที่ ๒๘ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
1
ก่อนที่เขาจะมาเป็นหมอพรของชาวบ้าน เขาเป็นนายทหารเรือ
เหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ สยามถูกกองทัพเรือฝรั่งเศสบดขยี้รังแก มิใช่เป็นเพียงภาพที่ฝังใจคนไทยทั้งแผ่นดิน หากฝังในพระทัยของเจ้าชายน้อยพระองค์หนึ่ง พระชันษาสิบสามพรรษา ทอดพระเนตรเห็นพระบิดาโศกเศร้าพระทัยใหญ่หลวง
4
เจ้าชายน้อยพระองค์นี้คือกรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ประสูติเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๒๓ ทรงศึกษาที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ
3
ครั้นมีโอกาสที่จะไปศึกษาต่อในยุโรป ทรงเลือกศึกษาวิชาการทหารเรือที่ประเทศอังกฤษ ทรงรู้ว่ากองทัพเรืออังกฤษแกร่งที่สุดในโลก ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะนำความรู้มาปรับปรุงกองทัพเรือสยาม เพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ
1
ทรงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายเรืออังกฤษ ต่อจากนั้นศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยทหารเรือ โรงเรียนปืนใหญ่ และโรงเรียนตอร์ปิโด รวมเวลาศึกษาในราชนาวีอังกฤษหกปีเศษ ได้รับยศเป็นเรือเอก
1
เสด็จกลับสยามในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ รับพระราชทานยศเป็นนายเรือโท และพระอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม ดำรงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ และเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ
ในโลกของกองทัพเรือ พระองค์ทรงเป็นครูสอนนักเรียนนายเรือ ปรับปรุงหลักสูตรโรงเรียนนายเรือ เพิ่มเติมวิชาวิทยาศาสตร์สายต่าง ๆ เช่น ดาราศาสตร์ เรขาคณิต ตรีโกณมิติ พีชคณิต อุทกศาสตร์ เป็นต้น
1
ทรงเจ็บแค้นพระทัยกรณี ร.ศ. ๑๑๒ มาก จนทรงให้นักเรียนนายเรือที่ใกล้ชิดพระองค์สักคำว่า ‘ร.ศ. ๑๑๒’ และ ‘ตราด’ บนหน้าอกทุกคน รวมทั้งพระองค์ด้วย
ทรงโน้มน้าวพระทัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงเห็นความสำคัญของการปรับปรุงและวางรากฐานของกองทัพเรือ จนโปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชวังเดิมในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๙
แล้วจู่ ๆ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ กรมหมื่นชุมพรฯมีเหตุให้ออกจากราชการ เป็นนายทหารกองหนุนอยู่ชั่วคราว “เนื่องจากพระพลานามัยไม่แข็งแรง”
1
มีเรื่องเล่าว่า เกิดความบาดหมางระหว่างรัชกาลที่ ๖ กับกรมหมื่นชุมพรฯ ประกอบกับช่วงเวลานั้นเกิดเหตุทหารเรือนายหนึ่งเมาสุราในร้านอาหารแห่งหนึ่งที่ตำบลบ้านหม้อ แล้วทะเลาะวิวาทกับมหาดเล็กหลวงจนเรื่องล่วงรู้ไปถึงพระกรรณ รัชกาลที่ ๖ ทรงพระพิโรธ
ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า “ปรากฏชัดว่าได้ฝึกสอนนักเรียนนายเรือในหนทางไม่ดี ทำให้มีจิตร์ฟุ้งสร้านจนนับว่าเสื่อมเสียวินัย และนายของทหารสมควรลงโทษเป็นตัวอย่าง”
เหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้กรมหมื่นชุมพรฯทรงถูกให้ออกจากราชการ
1
หลังออกจากราชการ ทรงเปลี่ยนวิถีชีวิตจากทหารเป็นหมอ เนื่องจากทรงสนพระทัยวิชาการแพทย์มานานแล้ว ทรงเคยศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณจากตำราไทยอย่างจริงจัง เข้าป่าเพื่อเก็บสมุนไพรต่าง ๆ มาทำยา ศึกษากับแพทย์พื้นบ้านที่เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร
ทรงฝากพระองค์เป็นศิษย์พระยาพิษณุประสาทเวช หัวหน้าหมอหลวง นอกจากนี้ยังทรงศึกษาวิชาแพทย์ตะวันตกกับพระอาจารย์แพทย์อื่น ๆ อีกหลายคน เช่น หมอโบโตนี ชาวอิตาเลียน หมอมิตตานี ชาวญี่ปุ่น
ต่อมาก็แปลงวังของพระองค์เป็นโรงพยาบาล ห้องทำงานของพระองค์กลายเป็นห้องทดลอง มีกล้องจุลทรรศน์ ห้องเคมีสำหรับทรงทดลองสกัดยาต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง ทรงรักษาคนไข้ด้วยวิชาแพทย์แผนโบราณผสมสมัยใหม่ เมื่อรักษาคนไข้ ทรงฉลองพระองค์เรียบง่าย สวมเสื้อราชปะแตน นุ่งผ้าม่วง ถือไม้เท้าและกระเป๋าล่วมยา
1
จากเรือรบกลายเป็นสถานพยาบาล จากพังงาเรือกลายเป็นเครื่องมือแพทย์ จากผู้บัญชาการกองทัพเรือกลายเป็นหมอพรของชาวบ้าน
กรมหมื่นชุมพรฯเป็นหมอพรนานหกปี ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สยามประกาศสงครามกับเยอรมนี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรมหมื่นชุมพรฯกลับไปรับราชการกองทัพเรืออีกครั้ง ดำรงตำแหน่งจเรทหารเรือ และหนึ่งปีต่อมาทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ
1
ในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ทรงเดินทางไปจัดหาซื้อเรือที่อังกฤษ ชื่อ เรือหลวงเรเดียนท์ (HMS Radiant) ระวางขับน้ำ ๑,๐๔๖ ตัน ทหารประจำเรือ ๑๓๕ นาย
1
เรือลำนี้ได้รับพระราชทานนามว่า เรือรบหลวงพระร่วง
ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ทรงได้รับเลื่อนเป็นกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
1
ตั้งแต่เกิดความขัดแย้งกับชาติมหาอำนาจตะวันตกในรัชสมัยรัชกาลที่ ๔-๕ กรมหลวงชุมพรฯทรงเห็นว่ากองทัพเรือต้องพร้อมรับศึกแห่งกระแสล่าอาณานิคม สยามจำเป็นต้องมีฐานทัพเรือที่แข็งแกร่งเพื่อป้องกันตัวเอง
2
ทรงสำรวจไปทั่ว และพบว่าพื้นที่อำเภอสัตหีบเป็นอ่าวน้ำลึกขนาดใหญ่ ปกป้องด้วยเกาะแก่งบังคลื่นลม เหมาะต่อการฝึกซ้อมยิงตอร์ปิโด อีกทั้งตำแหน่งที่จะวางฐานทัพเรือมิดชิด เรือภายนอกที่แล่นผ่านไม่สามารถมองเห็นฐานทัพได้
1
ในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ จึงได้ทูลเกล้าฯขอพระราชทานที่ดินในอำเภอสัตหีบ เพื่อสร้างเป็นฐานทัพเรือ เป็นจุดกำเนิดของฐานทัพเรือสัตหีบ
กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์เป็นผู้วางรากฐานกองทัพเรือ และพัฒนากองทัพเรือตามแบบตะวันตก ใน พ.ศ. ๒๔๖๖ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ต่อจากจอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
2
ทรงเอาพระทัยใส่ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใต้บังคับบัญชาตลอดเวลา เหล่าทหารเรือรักพระองค์มาก เรียกขานพระนามอย่างไม่เป็นทางการว่า ‘เสด็จเตี่ย’
3
ไม่มีใครรู้แน่ว่าสมญานี้มาจากไหน ข้อสันนิษฐานแรกคือเสด็จไปรักษาคนไข้ในย่านชาวจีนบ่อย ๆ คนจีนจึงเรียกพระองค์ว่า ‘เตี่ย’ เป็นที่มาของนาม ‘เสด็จเตี่ย’
ทว่ามีข้อแย้งว่า หมอพรในวัยสามสิบกว่ายังน่าจะเยาว์เกินไปที่เรียกว่า ‘เตี่ย’ (บิดา)
ข้อสันนิษฐานอีกข้อหนึ่งคือ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ช่วงฝึกภาคทางทะเลบนเรือหลวงพาลีรั้งทวีป ทอดพระเนตรเห็นนักเรียนนายเรือขัดดาดฟ้าเรืออย่างเก้งก้าง
จึงตรัสกับพวกนักเรียนเหล่านั้นว่า “อ้ายลูกชายมานี่ เตี่ยจะสอนให้” แล้วทรงขัดดาดฟ้าให้นักเรียนนายเรือดูเป็นแบบอย่าง ประหนึ่งบิดาสอนบุตร
1
กรมหลวงชุมพรฯทรงอุทิศเวลาทั้งพระชนม์ชีพเพื่อกองทัพเรืออย่างแท้จริง
1
ไม่ว่าจะเป็นเสด็จเตี่ยของเหล่าทหารเรือ หรือหมอพรของชาวบ้าน กรมหลวงชุมพรฯก็ทรงงานวางรากฐานแผ่นดิน ทั้งยามศึกและยามสงบ
1
ยามศึกคือรบ
ยามสงบคือดูแลรักษาราษฎร
การใช้ชีวิตของพระองค์สอนเราว่า คนไทยทุกคน ไม่ว่าเป็นเจ้าแผ่นดินหรือราษฎร ต้องเป็นทั้ง ‘ทหาร’ และ ‘หมอ’ ในฐานะ ‘ทหาร’ เราทุกคนมีหน้าที่ปกป้องแผ่นดินจากอริราชศัตรูจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ในฐานะ ‘หมอ’ เราดูแลรักษาทุกข์สุขของพวกเรากันและกัน
3
1
หมายเหตุ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ พระชนมายุ ๔๒ ชันษา เป็นต้นราชสกุลอาภากร
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ กองทัพเรือประกาศขนานพระนามพระองค์ว่า พระบิดาของทหารเรือไทย
1
(ย่อความจาก เสด็จเตี่ย หนังสือประวัติศาสตร์ที่เราลืม เล่ม ๑ / วินทร์ เลียววาริณ)
6 บันทึก
61
4
32
6
61
4
32
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย