20 พ.ค. 2023 เวลา 05:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

จุดเริ่มต้น เส้นทางความขัดแย้งของสองขั้วมหาอำนาจ ที่ยังไม่รู้จบ

ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งมิติการค้า การลงทุน และการเมือง
โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2561 ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีนโยบายปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมากถึง 25% พร้อมทั้งออกมาตรการที่พยายามดึงให้บริษัทต่าง ๆ กลับมาลงทุนในสหรัฐฯ
ขณะเดียวกันก็ออกกฎหมายที่จำกัดการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีและสินค้าที่มีนัยต่อความมั่นคง และขึ้นบัญชีดำทางการค้า (Entity list) กับบริษัทจีนหลายราย โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยี
ขณะที่จีนก็ตอบโต้ด้วยการเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ที่มูลค่าผลกระทบเทียบเท่ากัน พร้อมทั้งแบนบางสินค้าของบริษัทสัญชาติอเมริกัน
มาถึงสมัยของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่แม้สถานการณ์โควิด-19 บังคับให้ต้อง “พักรบชั่วคราว” แต่เมื่อโควิดซาลง ความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศก็เริ่มปะทุให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ มากขึ้น
ล่าสุดในปี 2565 ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวัน ซึ่งเป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่ความตึงเครียดบริเวณช่องแคบไต้หวันที่รุนแรงสุดในรอบหลายปี รวมถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่สหรัฐฯ และจีนต่างออกมาเคลื่อนไหวในทิศทางที่ตรงข้ามกัน
ขณะที่ สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรรัสเซียในหลายด้าน ขณะที่จีนกลับยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้ากับรัสเซีย โดยเฉพาะด้านพลังงาน
ความขัดแย้งในมิติการค้าและการลงทุนด้านเทคโนโลยี ยังมีทิศทางรุนแรงขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะหลังจากในปี 2565 ที่สหรัฐฯ ได้ประกาศ “สงครามเซมิคอนดักเตอร์” กับจีนอย่างเต็มตัว ผ่านหลายมาตรการที่กีดกันและตัดช่องทางจีนไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของเทคโนโลยี AI เช่น
-สหรัฐฯ บังคับให้บริษัทของสหรัฐฯ และบริษัทต่างชาติที่ใช้เครื่องจักรของสหรัฐฯ ในการผลิตและส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้กับจีน จะต้องยื่นขอใบอนุญาต
-ห้ามองค์กรและชาวอเมริกัน เข้าทำงานร่วมกับบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของจีน เว้นแต่จะได้รับอนุญาต
-ผ่านร่างกฎหมาย CHIPS and Science Act ซึ่งตั้งงบประมาณไว้ที่ 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ ท่ามกลางการออกกฎหมาย Inflation Reduction Act เพื่อสนับสนุนการลงทุนในสหรัฐฯ
-การริเริ่ม “Chip 4 Alliance” ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์
ด้านจีนก็แก้เกมด้วยการเดินหน้าพัฒนาการผลิตเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วยตนเองมากขึ้น โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมาประกาศว่าจะเตรียมเงินกว่า 1 ล้านล้านหยวน หรือราว 1.43 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ
ขณะที่ล่าสุดเมื่อเดือน มี.ค. 2566 จีนสั่งทบทวนการนำเข้าชิปจาก Micron Technology ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปหน่วยความจำรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ
ฟาก EU ก็ออกมาเคลื่อนไหวต่อประเด็นนี้ ด้วยการดำเนินการสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของตนเองและลดการพึ่งพาต่างประเทศ โดยได้ผ่านร่างกฎหมาย “European Chips Act” เพื่อหวังให้การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของ EU เพิ่มขึ้นเป็น 20% ของกำลังการผลิตของทั้งโลก ภายในปี ค.ศ. 2030 จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 10% ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 43 พันล้านยูโร
คำถามคือ แล้วความขัดแย้งดังกล่าวจะนำมาสู่อะไร?ติดตามตอนต่อไปที่มา : Krungthai COMPASS
โฆษณา