Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
พลการเมือง
•
ติดตาม
23 มิ.ย. 2023 เวลา 04:43 • ประวัติศาสตร์
เล่าเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 วันนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง?
24 มิถุนายน พ.ศ.2475 สยามเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือกฏหมาย มาเป็นระบอบที่กษัตริย์ทรงสถิตอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ในช่วงเวลานั้นสังคมและเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง สยามซึ่งเป็นประเทศเล็กๆก็ไม่อาจพ้นจากความผันผวนของโลกได้
"คณะราษฎร" จึงได้ถือกำเนิดขึ้น เพื่อหวังเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองในอนาคต
[] กุมภาพันธ์ พ.ศ.2469
คณะบุคคลซึ่งเรียกตนเองว่า "คณะราษฎร" ได้ประชุมกันในกรุงปารีส เห็นว่าบ้านเมืองจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นประธาน
คณะราษฎรแบ่งเป็นหลายสาย แยกย้ายกันหาสมาชิกที่จะเข้าร่วมก่อการปฏิวัติ ผู้เข้าร่วมมีทั้งทหาร ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป หลายปีก็รวบรวมได้ราว 115 คน
[] ช่วงปลายปี พ.ศ.2472
ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทในสหรัฐอเมริกาล่ม และเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก
[] พ.ศ.2473-2474
สยามเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจโลก จนต้องลดงบประมาณ มีการยุบ-รวมกระทรวง ปลดข้าราชการ ตลอดจนลดค่าตอบแทนของข้าราชการพลเรือนและลดงบประมาณทางทหาร
[] วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2474
ความไม่ลงรอยเรื่องการตัดงบประมาณ จนทำให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ลาออกความขัดแย้งภายในกระทรวงกลาโหมนี้ เพิ่มโอกาสให้กับคณะราษฎร
[] มีนาคม - มิถุนายน พ.ศ.2475
แกนนำคณะราษฎรใช้บ้านพระยาทรงสุรเดชที่ถนนประดิพัทธ์ และบ้านของ ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ที่ถนนเศรษฐศิริ เป็นที่ประชุมวางแผนรวม 7 ครั้ง
[] 6 เมษายน พ.ศ.2475
มีงานมหกรรมสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 150 ปี
[] ปลายเมษายน พ.ศ.2475
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เสด็จแปรพระราชฐานฤดูร้อน ไปประทับยังวังไกลกังวล ที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยทรงมอบหมายให้ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่กรุงเทพฯ
[] 12 มิถุนายน พ.ศ.2475การประชุมคณะราษฎรที่บ้าน ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี เห็นชอบแผนควบคุมสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร เป็นองค์ประกัน ในวันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน
ต่อมาได้สืบทราบว่า วันเสาร์ถึงวันจันทร์ กรมพระนครสวรรค์ฯ มักจะไม่ประทับในวัง แผนจึงเลื่อนออกไปเป็นวันอังคารที่ 21 มิถุนายน ต่อมาก็เลื่อนเป็นวันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน
[] 22 มิถุนายน พ.ศ.2475
มีรายงานว่า บรรดาฝ่ายทหารเรือยังไม่พร้อมที่จะทำการยึดอำนาจในวันที่ 23 มิถุนายน ดังนั้นวันปฏิบัติจึงเลื่อนไปวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน แทน
[] 23 มิถุนายน พ.ศ. 2475
พระยาทรงสุรเดช ไปพบ พ.ท.พระเหี้ยมใจกล้า ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อย และไปพบผู้บังคับกองพันทหารราบที่รู้จักอีกสองคน เพื่อขอร้องให้นำทหารไปฝึกหน้าลานพระบรมรูปทรงม้าเวลา 6 โมงเช้า โดยอ้างว่าเพื่อจะนำไปฝึกต่อสู้กับรถถัง
1
[] ช่วงเย็นของวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2475
กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงรู้ระแคะระคายมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าจะมีผู้ก่อการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาล แต่ไม่ทรงเชื่อ
[] เวลา 3.00 น. ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475
หลวงสินธุสงครามชัย ผู้ก่อการสายทหารเรือ มีตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการโรงเรียนนายทหาร เริ่มเคลื่อนไหว โดยนำกำลัง 400 นายเศษ พร้อมอาวุธครบมือ ซึ่งงัดมาจากคลังอาวุธ มุ่งหน้าไปลานพระบรมรูปทรงม้า.และสั่งให้ทหารเรือประจำเรือยามฝั่ง และเรือปืนต่าง ๆ ติดเครื่องยนต์ ล่องในลำน้ำเจ้าพระยา เพื่อรอทำการปฏิวัติ
[] เวลา 4.00-4.30 น. ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475
นายควง อภัยวงศ์ และนายประยูร ภมรมนตรี เข้าตัดสายโทรศัพท์และโทรเลข ที่กรมไปรษณีย์โทรเลข การสื่อสารทั้งหมดระหว่างพระบรมวงศานุวงศ์และสมาชิกฝ่ายบริหารอาวุโสจึงถูกตัดขาด
[] เวลา 5.00 น. ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475
บรรดาผู้ก่อการสายทหารบกประมาณ 10 คนที่นัดหมายไว้ก็มากันพร้อมหน้า ประชุมชี้แจงแผนกันครั้งสุดท้าย ที่บริเวณทางรถไฟสายเหนือตัดกับถนนประดิพัทธ ห่างจากบ้านพักของพระยาทรงสุรเดชราว 200 เมตร
[] เวลาราว 5.15 น. ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475
ผู้ก่อการมุ่งหน้าไปกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ และแยกย้ายทำหน้าที่
- พระยาพหลฯ พระยาทรงฯ และพระประศาสน์ฯ เข้าไปในกองรักษาการณ์ แล้วเอ็ดใส่ผู้บังคับการกองรักษาการณ์“เวลานี้เกิดกบฏกลางเมืองขึ้นแล้ว มัวแต่หลับนอนอยู่ได้ เอารถเกราะรถรบ เอาทหารออกไปช่วยเดี๋ยวนี้”
- พันเอก พระยาพหลฯ เป็นผู้ใช้กรรไกรตัดเหล็กตัดโซ่กุญแจคลังกระสุน จากนั้นจึงลำเลียงออกมา
-พันโท พระประศาสน์ฯ ตรงไปยังโรงเก็บรถพร้อม ร.อ.หลวงทัศนัยฯ เร่งระดมให้ทหารนำรถถังและรถเกราะออกมาโดยเร็ว
- หลวงพิบูลสงคราม ไปคุมเชิงที่บ้านของผู้บังคับกรมทหารม้าคอยขัดขวางไม่ให้ออกมาสั่งการทหารได้
- ร.อ.หลวงรณสิทธิชัย ไปปลุกให้ทหาร ด้วยคำสั่งว่า “ไม่ต้องล้างหน้า แต่งเครื่องแบบทันที”
ทั้งหมดออกมาจากกรมในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงแล้วมุ่งตรงไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า
[] เวลา 6.00 น. ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475
หลวงสินธุสงครามชัย ยึดบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าสำเร็จ และตั้งหน้าตั้งตารอด้วยความกระวนกระวายใจว่ากำลังทหารบกจะมาตามนัดหรือไม่
[] เวลา 6.05 น. ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475
ขบวนรถเกราะและรถบรรทุกทหารก็แล่นเข้ามา นักเรียนนายร้อยที่นำโดยผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยก็มาถึงตรงตลอดเวลานัดหมาย เริ่มการเข้าควบคุมพระที่นั่งอนันตสมาคมและบริเวณโดยรอบ เป็นกองบัญชาการ
[] เวลา 6.05-7.00 น. ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475พระประศาสน์พิทยายุทธนำทหารไปทูลเชิญกรมพระนครสวรรค์วรพินิตมาเป็นองค์ประกัน แล้วไปจับกุมพระยาสีหราชเดโชชัย เสนาธิการทหารบก
ทหารฝ่ายผู้ก่อการตระเวนจับกุมบุคคลสำคัญมาเป็นตัวประกันเกือบ 40 คน อาทิ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
แต่กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน บิดาแห่งการรถไฟ ทรงหลบหนีไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหินได้
นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งรับหน้าที่เขียนแถลงการณ์ ซึ่งพิมพ์ที่โรงพิมพ์ของตัวเอง ชื่อนิติสาสน์ ได้ลอยเรืออยู่ในคลองบางลำภูข้างวัดบวรนิเวศฯ แจกจ่ายใบปลิวและแถลงการณ์ “ประกาศคณะราษฎร”
[] เวลา 7.00 น. เศษ ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475
พระยาพหลฯ อ่านประกาศท่ามกลางทหารว่า
"บัดนี้คณะราษฎรอันประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน ได้พร้อมใจกันเข้ายึดอำนาจการปกครองไว้แล้วโดยเด็ดขาด เพื่อทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเยี่ยงนานาอารยประเทศทั้งหลาย..."
พระยาพหลพลพยุหเสนา
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงทราบเรื่องในเช้าวันนั้น พระองค์กำลังทรงกีฬากอล์ฟอยู่ บุคคลสำคัญที่มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายความเห็นแก่รัชกาลที่ 7 ที่พระตำหนัก ส่วนใหญ่ถวายความเห็นให้ทรงสู้
[] เวลา 16.00 น. ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475
คณะราษฎรนำโดยนายปรีดี จัดให้มีการประชุมระหว่างคณะราษฎร เสนาบดี และปลัดทูลฉลองขึ้น ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อชี้แจงจุดประสงค์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และให้กระทรวงการต่างประเทศแจ้งต่อสถานทูตต่างๆ ในกรุงเทพฯ
[] เวลา 17.45 น. ของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475
ธงไตรรงค์ถูกชักขึ้นไปบนยอดโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม เสมือนสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของคณะราษฎร เสียงไชโยโห่ร้องจากทหารและประชาชนนับหมื่นคนที่ไปชุมนุมกันอยู่ ก็ดังกึกก้องขึ้นทั่วบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า
[] คืนของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475สถานีวิทยุประกาศให้คนไทยและชาวโลกรับทราบอย่างเป็นทางการว่า“บัดนี้ประเทศสยามได้เกิดการปฏิวัติแล้ว ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ใช้กันมาหลายร้อยปีได้อวสารลงแล้ว สยามตื่นตัวและกำลังจะก้าวไปข้างหน้าแล้ว”
วิทยุคืนนั้นปิดการกระจายเสียงด้วยเพลง “มหาชัย” แทนที่จะเป็นเพลง “สรรเสริญพระบารมี”
[] เวลา 5 ทุ่มเศษของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475
มีเสียงปืนกลดังรัวขึ้น ต่อมาพบว่าเป็นฝีมือของ ร.ท.ขุนศรีศรากร ที่รัวปืนกลขึ้นฟ้าด้วยความเครียด นึกว่าฝ่ายรัฐบาลจะโจมตีคณะราษฎรในคืนนั้น
[] เวลา 10.00 น. ของวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2475
หลวงศุภชลาศัยได้รับหน้าที่เป็นผู้ถือหนังสืออัญเชิญพระเจ้าอยู่หัวกลับพระนคร ได้เดินทางถึงพระราชวังไกลกังวลโดยเรือหลวงสุโขทัย
แต่ทางพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธ ด้วยทรงให้เหตผุลว่า เรือหลวงสุโขทัยนั้นคับแคบเกินไป ซึ่งทางหลวงศุภชลาศัยก็ได้ส่งโทรเลขกลับไปยังพระนคร ขอรถไฟมาแทน
[] เวลาราว 13.00 น. ของวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2475
ฝ่ายผู้ก่อการส่งโทรเลขกลับมา ว่าจะจัดขบวนรถไฟหลวงลงมาให้ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติกลับพระนคร โดยรถไฟขบวนพิเศษ ที่ทางพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้รักษาพระนครและหัวหน้าคณะราษฎรจัดถวาย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบคณะราษฎรว่า
ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ กับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละไม ไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าก็ได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงตามทำนองนี้...
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
[] เวลาราว 1.00 น. เศษ ของวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2475
ขบวนรถไฟพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มาถึงพระนครหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ดวงประทีป รายงานว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสู่พระนครในท่ามกลางความมืดและเยือกเย็น … ผู้ได้เห็นยังยืนยันว่ายังทรงร่าเริงอยู่อย่างปรกติ”
[] ช่วงเช้าของวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2475
ผู้แทน 7 คนได้เดินทางเข้าเฝ้า ณ วังศุโขทัย นำเอกสารสำคัญขึ้นทูลเกล้าฯ 2 ฉบับคือ พ.ร.บ. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 ซึ่งร่างโดยนายปรีดี พนมยงค์และพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2475
แต่ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดนิรโทษกรรมอย่างเดียว ทรงขอตรวจร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวก่อน ซึ่งพระองค์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยในวันรุ่งขึ้น
จากนั้นคณะราษฎรได้ปล่อยตัวประกันทั้งหมดโดยกเว้น กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เนื่องจากผู้ก่อการเห็นว่ามีพระราชอำนาจมากเกินไป และกราบทูลขอให้พระองค์เสด็จออกนอกประเทศแทน พระองค์เสด็จไปยังเกาะชวาและไม่เคยเสด็จกลับมาสยามอีกเลย
[] เวลา 5.00 น. ของวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกแก่ประชาชนชาวสยาม โดยทรงเติมคำว่า "ชั่วคราวลงไป" เพื่อหาโอกาสให้มีการตั้งคณะร่างรัฐธรรมนูญในภายหลัง
[] คืนของวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475
เพลงปิดรายการวิทยุกระจายเสียงที่เคยเป็นเพลง “มหาชัย” ก็เปลี่ยนกลับมาเป็นเพลง “สรรเสริญพระบารมี” ดังเดิม
[] เวลา 14.00 น. ของวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2475
หลังการตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราว 70 คน มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นครั้งแรก พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการราษฎร หรือนายกรัฐมนตรีคนแรก มีการตั้งคณะอนุกรรมการ ที่มีจำนวนรวม 7 นาย ขึ้นมาทำหน้าที่ร่าง "รัฐธรรมนูญใหม่"
เรายังมีบทความให้ความรู้ดีๆอย่างนี้อีกมาก หากสนใจ สามารถคลิกอ่านเพิ่มเติมด้านล่าง และอย่าลืมกดติดตาม เพื่อจะไม่พลาดบทความใหม่ๆ จาก พลการเมือง ด้วยนะครับ 👍❤️
===========================
ติดตามคอนเทนต์จากพลการเมืองไปด้วยกัน !Blockdit :
https://www.blockdit.com/polganmueang
Facebook :
https://www.facebook.com/polganmueang
Youtube :
https://www.youtube.com/c/พลการเมือง
===========================
อ้างอิง/ดูเพิ่มเติม
กุหลาบ สายประดิษฐ์. เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475. คณะกรรมการจัดสร้างกำแพงประวัติศาสตร์ฯ, 2541.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. 2475 การปฏิวัติสยาม. สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น, 2535.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. "ประวัติการเมืองไทย 2475-2500" มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 4. พ.ศ. 2549
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. สำนักพิมพ์อมรินทร์วิชาการ, 2540.
นรนิติ เศรษฐบุตร. 2564. หัวมุมที่ถนนประดิพัทธ์ตัดทางรถไฟสายเหนือ. จาก
http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=หัวมุมที่ถนนประดิพัทธ์ตัดทางรถไฟสายเหนือ
ศิลปวัฒนธรรม. 2564. เปิดบันทึก ‘หลวงศุภชลาศัย’ ตัวแทนคณะราษฎรเข้าเฝ้าร.7 ถึงกับประหม่า ขาสั่น ชาไปทั้งตัว. จาก
https://www.silpa-mag.com/history/article_55854
เสทื้อน ศุภโสภณ. ชีวิตและการต่อสู้ของพระยาทรงสุรเดช. คณะอนุกรรมการจัดพิมพ์หนังสือ โครงการ 60 ปี ประชาธิปไตย, 2535.
ประวัติศาสตร์
การเมือง
ประวัติศาสตร์การเมืองไทย
1 บันทึก
4
1
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย