Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ธเนศเล่าขาน "ทานทางปัญญา"
•
ติดตาม
22 พ.ค. 2023 เวลา 09:33 • การศึกษา
แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2479
แผนการศึกษาชาติ พ.ศ.2479 ฉบับนี้มีสาระสำคัญพอจะสรุปได้คือ
1. ชั้นประถมศึกษาที่เป็นการศึกษาภาคบังคับนั้น ตัดลงเหลือเพียง 4 ปีเท่านั้น คือบังคับให้เรียนจนจบชั้นประถมปีที่ 4 ไม่มีประถมปีที่ 5-6 อีกต่อไป
2. ลดชั้นมัธยมสามัญลงเหลือเพียง 6 ปี มัธยมปีที่ 1-3 ถือเป็นชั้นมัธยมต้น มัธยมปลายที่ 4-6 ถือเป็นมัธยมปลาย ผู้ที่สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 6 ถือว่าเป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมบริบูรณ์ แล้วออกไปประกอบการอาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางราชการหรืออาชีพอย่างอื่นได้
3. ตั้งชั้นเตรียมอุดมศึกษาขึ้น มีหลักสูตร 2 ปี สำหรับผู้ที่ปรารถนาจะไปศึกษาต่อในชั้นอุดมศึกษาโดยเฉพาะ แบ่งออกเป็น 2 แผนก คือแผนกอักษรศาสตร์ และแผนกวิทยาศาสตร์
4. เน้นเรื่องการแบ่งแรงในการจัดให้มีสถานศึกษาในแผนการศึกษาชาติไว้ชัดเจนว่า “รัฐใช้วิธีแบ่งแรง คือรัฐจัดตั้งขึ้นเองบ้าง ยอมให้เทศบาล(ประชาบาล) จัดตั้งขึ้นบ้าง และยอมให้คณะหรือเอกชนจัดตั้งตามความปรารถนาของตนบ้าง”
เหตุผลของการตัดชั้นมัธยมศึกษาลงเหลือเพียง 6 ชั้น เนื่องมาจากกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้นมีความเห็นว่าตามแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2475 มีระยะเวลาในการศึกษาสามัญยาวเกินสมควร นักเรียนต้องเสียเวลาในการเรียนสายสามัญถึง 12 ปี และยังจะต้องไปเข้าเรียนต่อในสายวิสามัญอีก ซึ่งเมื่อรวมเข้าด้วยกันแล้วจะเห็นได้ว่า แผนการศึกษาที่กำหนดไว้เดิมนั้นมีเวลานานเกินไป จึงได้ลดชั้นมัธยมบริบูรณ์ จากชั้นมัธยมปีที่ 8 ลงมาเหลือเพียงมัธยมปีที่ 6
ฉะนั้นนักเรียนในส่วนภูมิภาค ทุกจังหวัดจึงมีโอกาสได้เรียนถึงชั้นมัธยมบริบูรณ์ได้ในจังหวัดของตน โดยไม่ต้องขวนขวายมาเรียนต่อในจังหวัดพระนครและตามจังหวัดใหญ่ๆ ที่เปิดสอนถึงชั้นมัธยมปีที่ 8 ผลที่เกิดจากแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2479 นี้คือการยุบเลิกชั้นมัธยมปีที่ 7-8 ในทุกๆโรงเรียนทั่วพระราชอาณาจักร และมีการจัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาขึ้นในบริเวณที่ดินของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เพียงโรงเรียนเดียว รับผู้ที่มีความประสงค์ที่จะเข้าศึกษาในชั้นอุดมศึกษา
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาตั้งขึ้นครั้งแรกเพียงโรงเรียนเดียวแบ่งเป็น 2 แผนก คืออักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ต่อมาภายหลังมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาชั้นอุดมศึกษาแห่งอื่นๆ จึงได้ตั้งชั้นเตรียมอุดมศึกษาขึ้นบ้าง เช่นเตรียมธรรมศาสตร์ เตรียมนายร้อย และเตรียมนายเรือ เป็นต้น
นักเรียนที่สำเร็จชั้นมัธยมบริบูรณ์ที่ต้องการจะเรียนต่อในชั้นอุดมศึกษาประเภทใด ต้องไปเข้าโรงเรียนเตรียมของสถาบันการศึกษานั้นๆ เป็นเวลา 2 ปีเสียก่อน ในการจัดชั้นเรียนชั้นเตรียมอุดมศึกษานี้ รัฐบาลมีหลักการให้จัดตั้งขึ้นทั้งที่เป็นโรงเรียนของรัฐและของราษฎร์ ในชั้นต้นรัฐจะเป็นผู้จัดก่อน เพื่อเป็นตัวอย่าง
เมื่อโรงเรียนราษฎร์แห่งใดมีความสามารถพอที่จะจัดตั้งชั้นเตรียมอุดมศึกษาได้แล้ว รัฐก็จะค่อยๆ ยุบโรงเรียนของรัฐลง ปล่อยให้โรงเรียนราษฎร์จัดทำต่อไป แต่นโยบายนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการก็พอดีเกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้น จึงต้องระงับไป
สำหรับโรงเรียนประถมศึกษาที่มีชั้นประถมปีที่ 5-6 ก็ถูกตัดเหลือเพียง ชั้นประถมปีที่ 4 ส่วนชั้นประถมปีที่ 5 และ6 นั้น รัฐบาลมีโครงการที่จะจัดตั้งเป็นโรงเรียนประกอบอาชีพขึ้นแทน ซึ่งต่อมาภายหลังมีการเปิดโรงเรียนประเภทการช่างขึ้น ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคตามความเหมาะสมของสภาพแห่งท้องถิ่น เช่น โรงเรียนช่างไม้ ช่างปูน ช่างทอ และโรงเรียนเกษตรกรรม เป็นต้น
แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้นิยมเรียนเท่าไรนัก โรงเรียนอาชีพเหล่านี้จึงตั้งไม่ใคร่ติด กระทรวงศึกษาธิการมอบการจัดการศึกษาชั้นประถมให้เป็นหน้าที่ของโรงเรียนประชาบาลและโรงเรียนราษฎร์ แบ่งเบาภาระไปจากโรงเรียนรัฐบาล โดยยุบชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลออกปีละชั้นจนหมด เว้นแต่ในที่ๆยังไม่มีโรงเรียนราษฎร์หรือโรงเรียนประชาบาล จึงจะให้คงมีชั้นประถมอยู่ต่อไปก่อน
เรื่องการเปลี่ยนแปลงอื่นๆที่น่าจะมากล่าวไว้ในที่นี้อีกได้แก่ การเปลี่ยนแปลงกิจการลูกเสือ เพื่อให้เข้าแบบมาตรฐานสากล มีการแบ่งลักษณะออกเป็นเหล่าเสนา และเหล่าสมุทรเสนา หลักสูตรของวิชาลูกเสือก็เปลี่ยนแปลง ไปตามกาลสมัย ตลอดจนเครื่องแบบ
เมื่อสถานการณ์ของโลกตึงเครียดขึ้นก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง กระทรวงศึกษาธิการได้รับความร่วมมือจากกระทรวงกลาโหมจัดตั้งยุวชนทหารขึ้นสำหรับนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมปลาย โดยมีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนได้รู้จักวิชาทหาร และปลุกใจให้รักชาติบ้านเมือง ส่วนนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นอุดมศึกษานั้นเป็นยุวชนนายทหาร กิจการยุวชนทหารดำเนินมาจนสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง จึงได้ยุบเลิกไป
เรื่องหลักสูตรก็มีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสมัยประชาธิปไตย เน้นหนักไปทางหน้าที่พลเมือง เพื่อให้เป็นพลเมืองที่รู้จักหน้าที่ที่มีต่อประเทศชาติ รู้จักสิทธิและหน้าที่ต่างๆอันพึงมีตามกฏหมาย ให้มีความรู้เรื่องความเคลื่อนไหวของโลกปัจจุบันและความเป็นมาของประเทศต่างๆโดยทั่วๆไป
ประมวล/สรุปจาก..พงศ์อินทร์ ศุขขจร(ประวัติการศึกษาไทย, 2512)
Cr. เจ้าของภาพ
https://www.blockdit.com/tanes009
ประวัติศาสตร์
เรื่องเล่า
แผนการศึกษาชาติ
1 บันทึก
1
2
1
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย