23 พ.ค. 2023 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Fed จะตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. อีกหรือไม่?

หลังจากที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยมาติดต่อกัน 10 ครั้งแล้วตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ในการประชุม Fed เดือนมิถุนายนนี้
นักวิเคราะห์หลายคนต่างก็จับตาดูว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดกันเป็นครั้งที่ 11 หรือจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยแต่เพียงเท่านี้…
📌 Fed จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยได้จริงหรือ?
จากการประชุม Fed เมื่อครั้งก่อน ได้จุดประกายความหวังขึ้นมาว่า Fed จะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยไว้เพียงเท่านี้ แต่แล้วตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาเมื่อปลายสัปดาห์ ก็ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจดีกว่าที่คาดอีกด้วย
เช่น การค้าปลีกฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่หดตัวมา 2 เดือน แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคก็ยังคงจับจ่ายใช้สอยกันอยู่แม้ว่าจะอยู่ในช่วงที่ต้องรัดเข็มขัดกันแน่น
จำนวนคนที่ขอรับสิทธิประโยชน์การว่างงานในสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต
ทำให้ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นักลงทุนมองว่ามีโอกาสสัก 36% ที่ Fed อาจจะขึ้นดอกเบี้ยอีกสัก 0.25% ในเดือนหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่ก่อนหน้านี้มองว่าจะมีโอกาสเพียง 15.5% เท่านั้น
แต่แล้วเมื่อวันศุกร์ คุณเจอโรม พาวเวล ประธาน Fed ก็ได้อภิปรายกับคุณ Ben Bernanke อดีตประธาน Fed โดยเขาให้น้ำหนักว่าในขณะนี้ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนว่าอุปสงค์นั้นจะลดลงไปเท่าไหร่ จากการที่เงื่อนไขการปล่อยกู้เข้มงวดขึ้น และความล่าช้าของกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงิน ทำให้ในเย็นวันศุกร์นั้นเองที่นักลงทุนมองว่าจะมีโอกาสเหลือเพียง 18.6% เท่านั้น ที่ Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน
นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญต่างก็เห็นด้วยว่า Fed ไม่น่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนมิถุนายนแล้ว เพราะว่า การที่ Fed ดูไม่ได้ส่งสัญญาณของการเตรียมการขึ้นดอกเบี้ย
1
นั่นก็น่าจะเป็นสัญญาณกลายๆ ที่บอกให้นักลงทุนมั่นใจว่าจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ย หากไม่มีข้อมูลทางเศรษฐกิจอะไรที่น่าประหลาดใจโผล่ขึ้นมา ทำให้มองว่าช่วงของนโยบายแบบ Hawkish คงกำลังใกล้ถึงคราวต้องหยุดลงแล้ว
📌 3 สิ่งที่ Fed จับตามอง
แต่แน่นอนว่าการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ก็ไม่ใช่สิ่งที่ตายตัว เปลี่ยนแปลงไม่ได้เสียทีเดียว การที่ Fed จะเลือกคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่เท่านี้ หรือจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีก ก็จำเป็นต้องพิจารณาจาก 3 ประเด็นหลักๆ คือ
1) เพดานหนี้สาธารณะ
แม้ประธานาธิบดีไบเดนได้ยืนยันว่าสหรัฐฯ จะไม่มีทางผิดนัดชำระหนี้ แต่อย่าลืมเผื่อใจว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ขึ้นมาจริงๆ ก็อาจจะสร้างผลกระทบร้ายแรงมหาศาลต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ซึ่งทำให้ Fed อาจจำเป็นรอให้วิกฤติคลี่คลายก่อนที่จะดำเนินการทำอะไร
2) เงื่อนไขในตลาดการเงินที่ซับซ้อนขึ้น
การล่มสลายของ Silicon Valley Bank, Signature Bank และ First Republic ยิ่งกลายเป็นตัวเร่งให้เงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อมีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น และยังทำให้แพลนของ Fed ในการที่ต้องการจะสร้างเสถียรภาพทางราคานั้นยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้น
3) ความล่าช้าของการส่งผ่านนโยบายการเงิน
การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ไม่ใช่ว่าขึ้นดอกเบี้ยวันนี้ แล้วมีผลต่อเศรษฐกิจพรุ่งนี้ทันที แต่ต้องใช้เวลาสักพักในการส่งผ่านนโยบายการเงิน ซึ่งคำว่าสักพักนั้นอาจจะนานเป็นเดือนๆ เลยก็ได้ ถึงจะเห็นผลเต็มๆ ของการขึ้นดอกเบี้ย นั่นหมายถึงว่า Fed จำเป็นจะต้องใช้เวลาหยุดดูผลของการขึ้นดอกเบี้ยที่แล้วๆ มา ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะทำอะไรต่อไป
และอย่าลืมว่าการตัดสินใจของ Fed ขึ้นกับข้อมูลเป็นหลัก นั่นหมายถึงว่า Fed ต้องดูตัวเลขทางเศรษฐกิจ ที่จะออกมาก่อนการประกาศผลการประชุม Fed ในวันที่ 14 มิถุนายนนี้ อย่างใกล้ชิด โดยตัวเลขหลักๆ ที่ต้องดูคือ
  • ดัชนีราคาจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (Personal Consumption Expenditures price index) เดือนเมษายน
  • ตัวเลขการจ้างงาน เดือนพฤษภาคม
  • ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) และ ดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index) เดือนพฤษภาคม
ถ้าตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอในตลาดแรงงาน และเงินเฟ้อลดลง ก็อาจจะช่วยให้ Fed หยุดการขึ้นดอกเบี้ยได้
แต่ถ้าตัวเลขเหล่านี้ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจแข็งเกร่ง และดูแทบไม่มีแนวโน้มจะชะลอตัว ก็หมายถึงว่า Fed ยังคงมีพื้นที่เหลือพอให้ขึ้นดอกเบี้ยได้อีก…
แล้วคุณล่ะ คิดว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งหรือไม่?
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
โฆษณา