Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เมืองไทยไดอารี่ by Supawan
•
ติดตาม
24 พ.ค. 2023 เวลา 10:03 • ท่องเที่ยว
นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
1
ผู้เขียนเข้าเป็นนิสิตน้องใหม่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2513 หรือกว่า 50 ปีที่แล้ว .. เมื่อเรียนจบและเริ่มชีวิตการทำงาน เคยแวะเวียนไปเยี่ยม “บ้านเก่า” ที่จุฬาฯมาบ้างเป็นครั้งคราว
วันนี้เป็นอีกวันที่มีโอกาสกลับไปเดินในรอบรั้ว “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ..
.. สิ่งแรกที่เลือกทำคือ ไปกราบพระมิ่งขวัญที่ชาวจุฬาฯเคารพสักการะอย่างสูง คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชเจ้า พระผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า พระผู้ทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ พระบรมราชานุสาวรีสองรัชกาล
1
ผู้เขียนเงยหน้าขึ้นมองพระพักตร์ของสองล้นเกล้าฯ .. ความรู้สึกเต็มตื้นในฐานะนิสิตเก่า กับพระคุณของสถานศึกษาที่ได้เข้ามาเล่าเรียน ได้นำความรู้ไปประกอบสัมมาอาชีพจนเกษียณอายุนั้น เอ่อล้นท่วมท้นในหัวใจ
“น้ำใจน้องพี่สีชมพู ทุกคนไม่รู้ลืมบูชา
พระคุณของแหล่งเรียนมา จุฬาลงกรณ์...”
ผู้เขียนเดินเลาะเลียบใต้ร่มเงาของต้นจามจุรีที่เรียงราย พร้อมแว่วเสียงเพลงเบาๆที่คุ้นเคยมานานดังก้องอยู่ในห้วงคำนึง ..
ณ อุทยานนี้งามด้วยจามจุรี เขียวขจีแผ่ปกพสกจุฬาฯ
ไพศาลตระหง่านสาขา ใต้ร่มพฤกษาจุฬาฯร่มเย็น
จามจุรีนี้เป็นฉัตรกั้น ปลอบขวัญเตือนใจเมื่อเห็น ...
สองเท้าพาผู้เขียนมาหยุดอยู่ตรงหน้า “สำนักงานและพิพิธภัณฑ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ซึ่งตั้งอยู่ที่ตึกจักรพงษ์ ใกล้กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ฝั่งเดียวกับหอประชุมใหญ่
ณ ชั้นที่สองของหอประวัติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย .. นิสิตน้องใหม่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นปี 2513 ซึ่งมีวาระครบรอบ 50 ปีของการเป็นนิสิต ในปี 2563 .. ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้จัดทำนิทรรศการถาวรเพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณ และรวบรวมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ แสดงเรื่องราวต่างๆที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เคยมีพระราชกรณียกิจเกี่ยวข้องกับทางมหาวิทยาลัยจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน
.. รวมถึงพระอัจฉริยภาพของ “เจ้าฟ้านักปราชญ์” ผู้เป็นแบบอย่างของการแสวงหาความรู้ และการฝึกฝนพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่มีคุณต่อประเทศไทยและพสกนิกรอย่างอเนกอนันต์เสมอมา
พระรูปหล่อครึ่งพระองค์ของพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ในฉลองพระองค์ชุดครุยบัณทิตอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระโอษฐ์แย้มพระสรวล .. ตั้งโดดเด่นกลางห้องนิทรรศการ นำความตื้นตันมาสู่ผู้เขียน .. ภาพที่ยังแจ่มชัดในความทรงจำ พรั่งพรูมาสู่ห้วงคำนึงราวกับฉากผ่านของภาพยนตร์ในอดีต
ภายในพิพิธภัณฑ์ฯ ส่วนที่หนึ่ง .. “รอยพระบาทยาตรายังจารึก”
.. ในส่วนนี้จัดแสดงวีดิทัศน์เกี่ยวกับเรื่องราวของ “เจ้าฟ้านิสิตพระองค์แรกของจุฬาฯ” นำเสนอความประทับใจของนิสิตจุฬาฯรุ่น 2513 ที่มีโอกาสร่วมกิจกรรมในด้านต่างๆกับพระองค์ท่าน
เมื่อต้นปี จามจุรีงามล้น เครื่องหมายของสิ่งมงคล
ทุกคนเริ่มต้นสนใจ เริ่มเวลารับชาวจุฬาฯน้องใหม่
เบิกบานสำราญฤทัย น้องเรามาใหม่หลายคน ..
เช่นเดียวกับนิสิตน้องใหม่ทุกคน .. พระองค์ท่านเข้าร่วมกิจกรรมในแบบของ “น้ำใจน้องพี่สีชมพู”
.. ตลอดทางเดินตามถนนด้านในรอบสระน้ำและหอประชุมใหญ่ ทรงร้องเพลงบูมจุฬา ฯ แสดงลิเก เสวยขนมที่รุ่นพี่ถวาย ลอดซุ้มที่ทำขึ้นจากกิ่งก้านและใบจามจุรี ซึ่งชาวจุฬาฯถือว่า เป็นเกียรติเป็นศรีสง่าสำหรับนิสิตทุกคน
.. ทรงมาร่วมในพิธีรับน้องในหอประชุม ซึ่งมีพิธีบายศรีสู่ขวัญ รับน้องใหม่ที่อบอุ่นประทับใจมาก
สิ่งของส่วนพระองค์ระหว่างทรงศึกษาในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทรงพระราชทานเพื่อจัดแสดงในนิทรรศการนี้
สิ่งของพระราชทาน .. บัตรประจำตัวนิสิต
เครื่องใช้ส่วนพระองค์
นิทรรศการส่วนที่สอง .. รัตนเทพจริยา ยิ่งปราชญ์ ปวงแฮ
กิจกรรมดนตรีไทย .. เป็นกิจกรรมที่ทรงร่วมแสดงกับนิสิตสมาชิกในชมรมดนตรีไทย สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในระยะเวลาที่ทรงเป็นนิสิต .. ทรงซอด้วง และทรงขับร้องเพลงไทยเดิม
ซอด้วงพระราชทาน .. ที่ฐานของตู้จัดแสดง สามารถกดปุ่มฟังเสียงดนตรีที่ทรงร่วมบรรเลงกับชมรมดนตรีไทยสโมสรนิสิตจุฬาฯ รวมทั้งฟังพระสุรเสียงที่ทรงขับร้องได้
ทรงเป็นนักกลอนที่มีพระอัจฉริยะภาพสูง และนำทีมน้องใหม่คณะอักษรศาสตร์ในการคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันกลอนน้องใหม่ ของชมรมวรรณศิลป์ สโมสรนิสิตจุฬาฯ
ตลอดเวลาที่ผ่านมา .. ทรงพระนิพนธ์เรื่องราวต่างๆไว้เป็นจำนวนมาก .. รวมถึง เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วรรณคดี พุทธศาสนา และบทพระราชนิพนธ์ในภาษาฝรั่งเศส อันแสดงถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านภาษา วรรณคดี ประวัติศาสตร์ไทย
.. ในภาพเป็นตู้จัดแสดง พระนิพน์ต่างๆ ในระหว่างที่ทรงศึกษาในระดับปริญญาตรี
รวมถึง .. ภาพลายพระหัตถ์ถึงอาจารย์ และรุ่นพี่ในคณะอักษรศาสตร์ .. เมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้
พระราชกรณียกิจในฐานะสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และในฐานะนิสิตนั้น มีมากมาย มากล้น เป็นที่ประจักษ์ .. หากแต่ด้วยพระอัจฉริยะภาพ และพระวิริยะอุตสาหะ ..
1
.. ในพุทธศักราช 2520 ทรงสำเร็จการศึกษา รับพระราชทานปริญญาบัตร อักษรศาสตรบัณทิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.98 เป็นลำดับที่หนึ่งของบัณฑิตคณะอักษรศาสตร์ รับพระราชทานเหรียญทองคะแนนยอดเยี่ยม สาชาวิชาประวัติศาสตร์
ในพุทธศักราช 2524 ทรงสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรมหาบัณฑิตสาชาวิชาบาลีสันสกฤต พระราชนิพนธ์เรื่อง “ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร ผ่านการประเมินระดับ ดีมาก
นิทรรศการส่วนที่สาม .. “เราล้วนรักจามจุรีนี้หนักหนา”
พสกนิกรชาวจุฬาฯทุกคนประจักษ์ว่า พระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายตลอดเวลา .. แต่กระนั้นยังคงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ในการทรงมีพระราชกรณียกิจ และทรงพระราชดำริที่เป็นคุณประโยชน์แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนานัปการ .. อันสะท้อนถึงความผูกพันกับสถาบันการศึกษาแห่งนี้
.. ทรงทำกิจกรรมที่เปี่ยมคุณประโยชน์ อาทิ เสด็จพระราชดำเนินมาร่วมงานวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประจำ
ทั้งยังมีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงร่วมบรรเลงดนตรีร่วมกับ “วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” และ “วงสายใยจามจุรี”
ในวาระ 70 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย เมื่อพุทธศักราช 2530 ได้พระราชทานบทพระราชนิพนธ์ “สายธารแห่งสำนึก” เพื่อลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกในโอกาสดังกล่าว มีความตอนหนึ่งว่า ..
“ในจุฬาฯ ฉันได้เรียนวิชาความรู้ที่ได้นำมาปฏิบัติงานจนทุกวันนี้ ... แม้ในปัจจุบัน เมื่อต้องการความรู้เพิ่มเติมเพื่อนำไปทำงานใดๆ ก็ยังได้ความเอื้อเฟื้อจากคณาจารย์และเพื่อนๆ เป็นผลจากความเป็นไปในจุฬาฯ เมื่ออดีตที่เราอยู่กันเหมือนครอบครัวใหญ่ มีรุ่นพี่ รุ่นน้อง สนิทสนมและมีน้ำใจต่อกัน ..”
นับจากวันที่ทรงเป็นนิสิตใหม่ครั้งแรก จนถึงวันนี้เป็นเวลารวม 50 ปี .. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินเยือนถิ่นศึกษาดั้งเดิมอยู่เป็นประจำในโอกาสสำคัญต่าง ๆ และทุกครั้งจะทรงได้รับการยกย่องเทิดทูนจากดวงใจของชาวจุฬาฯ อย่างมิรู้เสื่อมคลาย
ข้าพระพุทธเจ้าฯ ขอพระราชทานพระราชานุญาต กราบถวายบังคมแทบพระบาท “ทูลกระหม่อม” ในการเขียนบทความนี้ ด้วยความสำนึกในพระกรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
Ref :
https://www.youtube.com/watch?v=gfwx-W-eoZE
** ผู้สนใจ สามารถติดต่อ ขอเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการต่างๆ ที่จัดแสดง ณ อาคารจักรพงษ์ หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาฯ ได้ในวันทำการ จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9:00 - 16:00 น.
2 บันทึก
50
3
25
2
50
3
25
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย