25 พ.ค. 2023 เวลา 12:10 • การเกษตร

วิเคราะห์ ‘พืชเศรษฐกิจ’ ที่น่าสนใจ ชี้ ผลไม้ไทยต้องพัฒนา

ECONOMY: วิเคราะห์ ‘พืชเศรษฐกิจ’ ที่น่าสนใจ ชี้ ผลไม้ไทยต้องพัฒนา หลังประเทศผู้นำเข้าสำคัญบางประเทศได้พยายามพัฒนาเพื่อผลิตสินค้าเหล่านี้เอง แนะส่งเสริมผลไม้ที่นักท่องเที่ยวนิยม ชูส้มโอ มะพร้าว ทุเรียน มะม่วง ดาวรุ่งหลังโควิด
พืชเศรษฐกิจ นับเป็นสิ่งที่ทำให้คนไทยมีอาหารเลี้ยงปากท้อง และยังเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญ เพราะพื้นที่ในประเทศไทยมีความเหมาะสมด้านเกษตร มีความอุดมสมบูรณ์ด้านแหล่งอาหาร โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางที่เปรียบเสมือน “อู่ข้าว อู่น้ำ” นอกจากข้าวแล้ว ยังขึ้นชื่อในเรื่องของ ผลไม้ หรือ พืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ในเขตพื้นที่ 10 จังหวัด ที่สร้างรายได้มูลค่านับหลายล้านบาท อาทิ ส้มโอ มะพร้าว มะม่วง ที่คาดว่าจะเป็นดาวรุ่งนิยมสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยว
The Reporters ได้สัมภาษณ์พิเศษ นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 จังหวัดชัยนาท สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วิเคราะห์ความน่าจะเป็นเกี่ยวกับพืชเศรษฐกิจภาคกลาง ที่คาดว่าจะได้รับความนิยมและสามารถส่งออกได้ โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ พืชไร่ พืชสวน และพืชเศรษฐกิจในอนาคต
นางอังคณา ระบุว่า สำหรับพืชในพื้นที่ที่ได้รับความนิยมจากตลาด ได้แก่ “พืชไร่” เช่น ข้าวหอมปทุมธานี ข้าวพันธุ์ กข 43 ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการดีเหมาะกับผู้ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด “พืชสวน” เช่น ผลไม้ที่มีอัตลักษณ์ประจำถิ่น หรือเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เช่น ทุเรียน จ.นนทบุรี ส้มโอขาวแตงกวา จ.ชัยนาท รวมถึงผลไม้ที่เป็นที่นิยมและมีคุณภาพซึ่งได้ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐาน GAP อย่าง มะม่วงน้ำดอกไม้ จ.อ่างทอง และ จ.สุพรรณบุรี ตลอดจนพืชสมุนไพรอินทรีย์ที่ผลิตเพื่อแปรรูปเป็นยาสมุนไพร
ทั้งนี้ เป็นเพราะภาคกลางของไทยมีพื้นที่ทำการเกษตรที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับมีระบบชลประทานที่ดี สามารถปลูกพืชได้หลากหลายชนิดจนสามารถเป็นตัวชูโรงรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ผลไม้ส่งออกขึ้นชื่อของไทยอย่าง ทุเรียน ที่จีนนิยมนำเข้าจากไทย รวมทั้งกล้วยหอมทอง ที่ไทยส่งออกไปยังตลาดจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เวียดนาม โดยที่ประเทศผู้นำเข้าสำคัญบางประเทศได้พยายามพัฒนาเพื่อผลิตสินค้าเหล่านี้เองในประเทศของตนมากขึ้น ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมการรับมือทั้งในด้านการควบคุมและพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน รวมถึงการใช้นวัตกรรมในการจัดการสินค้า
นางอังคณา กล่าวอีกว่า ภาพรวมเห็นว่าทุเรียนมีหลากหลายสายพันธุ์ อยู่ที่ความนิยมของตลาด เช่น รสชาติ เนื้อสัมผัส สีสัน ที่มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพันธุ์ สภาพอากาศ ลักษณะดินที่ปลูก น้ำ สภาพแวดล้อมต่างๆในการดูแล รวมถึงการบริหารจัดการ โดยแต่ละพื้นที่นั้นมีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป แต่ถ้าประเทศไทยสามารถรักษาคุณภาพมาตรฐานไว้อย่างดี
คาดว่ายังคงรักษาตำแหน่งแชมป์ไทยในการส่งออกทุเรียน และยังสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดต่างประเทศได้ ทั้งนี้ประเทศไทย จึงต้องเน้นการพัฒนานวัตรกรรมทั้งก่อนการเก็บเกี่ยว และหลังเก็บเกี่ยว รวมถึงมาตรฐานการส่งออก เช่น ควบคุมการเก็บเกี่ยวผลอ่อน-แก่ การแพ็คสินค้า วิธีการขนส่ง เครื่องมือการจัดส่ง การแปรรูป เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาอย่างคงเส้นคงวา ให้สามารถส่งผลต่อการขยายตลาดผลไม้ได้
นางอังคณา กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีวิธีการจัดการผลไม้อย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่การปลูกโดยส่งเสริมการประชาสัมพันธ์การใช้ข้อมูล Agri–Map ให้ทราบว่าพื้นที่ปลูกนั้นมีความเหมาะสมระดับใด ทั้งด้านกายภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้ผลผลิต ตลอดจนจุดรับซื้อผลผลิตใกล้เคียง เพื่อเกษตรกรจะสามารถตัดสินใจวางแผนการผลิตของตนได้
นอกจากนี้ยังได้มีการบูรณาการข้อมูลการผลิตและการพยากรณ์ผลผลิตเพื่อวางแผนจัดการผลผลิตอย่างไรไม่ให้ล้นตลาด ลดการกระจุกตัว โดยสนับสนุนมาตรการเพื่อช่วยกระจายผลผลิตออกให้เร็วที่สุด รวมถึงเตรียมตลาดรองรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยที่ส่งผลต่อการส่งออกในแต่ละปี เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน ในสถานการณ์โควิด การขนส่งต่างๆ เป็นต้น
“ประเทศไทยนอกจากจะได้รับความนิยมผลไม้ ในทุเรียนแล้ว ผลไม้ชนิดอื่นๆ ก็ยังเป็นที่นิยมสามารถตอบสนองนักท่องเที่ยวได้ เช่น ลำไย มังคุด มะพร้าวน้ำหอม ส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม มะม่วงน้ำดอกไม้ มะขามหวาน โดยเราต้องพยายามขยายหาตลาดใหม่ เพื่อประชาสัมพันธ์ หรือโปรโมทให้ผู้คนได้รู้จักผลไม้ไทยชนิดอื่นมากยิ่งขึ้น และเชื่อว่ากลุ่มผลไม้ดังกล่าว จะได้รับความนิยมต่อไปอย่างแน่นอน” นางอังคณา กล่าว
#TheReporters #เดอะรีพอร์ตเตอร์ #เกษตร #เกษตรกรรม #พืชเศรษฐกิจ #ผลไม้ไทย
โฆษณา