27 พ.ค. 2023 เวลา 13:00 • การเมือง

เปิดลิสต์ ‘8 ฐานทัพอเมริกา’ ที่เคยอยู่ใน ‘ไทย’

เปิดลิสต์ ‘8 ฐานทัพอเมริกา’ เมื่อครั้งหนึ่งประเทศไทยถูกใช้เป็นฐานทัพสหรัฐอเมริกาในช่วง ‘สงครามเวียดนาม’ ด้านนักวิชาการชี้ ความร่วมมือของไทยต่ออเมริกาในอดีตสร้างผลสะเทือนครั้งใหญ่ ไร้ความชอบธรรม-สังคมเสื่อมโทรม
จากกระแสข่าวว่า อเมริกาอยู่เบื้องหลังชัยชนะการเลือกตั้งของพรรคก้าวไกล รวมถึงมีประชาชนจำนวนหนึ่งกังวลว่า หากพรรคก้าวไกลได้จัดตั้งรัฐบาล จะเป็นการเปิดทางให้อเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศอีกครั้งหรือไม่ ไทยอาจมีความเสี่ยงที่จะตกเป็นทาสต่างชาติ ไร้อิสระ และเกิดความวุ่นวายจากสงคราม แม้ภายหลัง “รังสิมันต์ โรม” โฆษกพรรคก้าวไกลได้ออกมายืนยันว่า กระแสข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่ปักใจเชื่อว่า อเมริกาและพรรคก้าวไกลมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง
อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขั้วมหาอำนาจของโลกถูกแบ่งเป็นสองฟาก คือ ฝั่งเสรีนิยมประชาธิปไตย นำโดย “สหรัฐอเมริกา” และฝั่งคอมมิวนิสต์ที่มี “รัสเซีย” หรือสหภาพโซเวียตในขณะนั้นเป็นพี่ใหญ่ ณ ตอนนั้น ไทยที่มี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เชื่อว่า แนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด
ขณะที่ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเชียงใต้หลายประเทศที่มีเขตแดนติดต่อกับจีน หรือที่เรียกว่า กลุ่มประเทศ “อินโดจีน” ได้รับอิทธิพลจากกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ ทำให้อเมริกาเชื่อว่า ตนต้องทำหน้าที่สกัดกั้นทฤษฎีโดมิโน ด้วยการจัดตั้งฐานทัพในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีประเทศไทยที่ออกตัวสนับสนุนอเมริกาอย่างชัดเจน
และนี่คือ 8 ฐานทัพสหรัฐอเมริกา ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2504-2519
1. ฐานทัพอากาศดอนเมือง กรุงเทพมหานคร (พ.ศ.2504-2513)
2. ฐานทัพอากาศตาคลี จ.นครสวรรค์ (พ.ศ.2504-2514)
3. ฐานทัพอากาศโคราช จ.นครราชสีมา (พ.ศ.2505-2518)
4. ฐานทัพเรือนครพนม จ.นครพนม (พ.ศ.2505-2519)
5. ฐานทัพอากาศน้ำพอง จ.ขอนแก่น (พ.ศ.2505-2509)
6. ฐานทัพอากาศอุดร จ.อุดรธานี (พ.ศ.2507-2519)
7. ฐานทัพอากาศอุบล จ.อุบลราชธานี (พ.ศ.2508-2517)
8. สนามบินทหารเรืออู่ตะเภา จ.ระยอง (พ.ศ.2508-2519)
นอกจากปฏิบัติการทางการทหาร ไทยยังได้รับมอบหมายให้เป็นศูนย์ปฏิบัติการสงครามจิตวิทยาต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยอเมริกามีส่วนสำคัญในการแผ่ขยายอิทธิพล สร้างองค์ความรู้ และผูกโยงผู้คนเข้ากับความคิดความเชื่ออย่างเข้มข้นในช่วงทศวรรษ 1950 ทั้งสนับสนุนการวิจัยเรื่องชนบทศึกษา พร้อมกับกองทัพอเมริกาที่เข้ามาปราบคอมมิวนิสต์ในชนบทไทยคู่ขนานไปพร้อมกัน
1
โดยข้อมูลจากหนังสือ “เขียนชนบทให้เป็นชาติ กำเนิดมานุษยวิทยาไทยในยุคสงครามเย็น” ของ รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ให้เห็นว่า อเมริกามีส่วนสำคัญในก่อร่างความเข้มข้นของอนุรักษนิยมไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง เป็นผู้วางรากฐาน-สนับสนุนฐานคิดต่างๆ จนเกิดเป็นการสร้างนิยามของคำว่า “ชาติ” แบบไทยๆ หรือพูดให้ชัดกว่านั้นก็คือ อเมริกามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งกับการร้อยเรียงความเป็น “ชาติ” หรือ “รัฐชาติ” ของไทยจนถึงปัจจุบัน
อ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่: https://www.bangkokbiznews.com/politics/1070401
กราฟิก: กษิดิศ สิงห์กวาง
โฆษณา