Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Supawan’s Colorful World
•
ติดตาม
26 พ.ค. 2023 เวลา 10:17 • ท่องเที่ยว
ปฐมบท .. เริ่มต้นเที่ยวสิกขิม
การเดินทาง .. หลายครั้งที่เหมือนกับเราออกไปค้นหาอะไรบางอย่าง อาจจะเป็นบางสิ่งที่เกือบจะจับต้องได้ .. แต่ยังคงขาดหายไป หรือจะเป็นการพูดคุยกับตัวเอง โดยที่จุดหมายปลายทางไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด หากแต่ประสบการณ์ และสิ่งได้สัมผัส ได้พบเห็น กลับเป็นสิ่งที่มีค่ามากในตัวเอง
ยามเมื่อออกเดินทาง … เรามักพบสิ่งที่ต่างจากความคุ้นเคย .. ต่างสถานที่ ต่างทิวทัศน์บรรยากาศ ต่างวิถีวัฒนธรรม … ใช่ .. ความต่าง ที่ทำให้เราพบโลกอีกมุมหนึ่ง ที่ไม่เคยรู้ หรือ เพียงรู้ แต่ทว่าไม่เคยสัมผัส หากมิได้พานพบคงยากจะเข้าใจ
สิกขิม (Sikkim)
สิกขิม .. อาจจะเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูใครหลายๆคน ... แต่ในความไม่รู้จัก ไม่อาจบดบังความจริงที่ว่า สิกขิมมีความสวยงาม มีวิถีชีวิตของคนภูเขาที่เรียบง่าย ที่รอให้ผู้คนมาค้นหาและสัมผัสสักครั้งในชีวิต
สิกขิม .. เป็นรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย มีพื้นที่ติดต่อกับทิเบต ภูฏาน เนปาล และรัฐเบงกอลตะวันตก
.. เดิมเป็นรัฐเอกราช มีขนาดใหญ่กว่ากรุงเดลลี เมืองหลวงของอินเดียเล็กน้อย ปกครองโดยราชวงศ์นัมเยล แต่ด้วยการที่เป็นรัฐเล็กๆที่อาจจะถูกบั่นทอนจากจีนซึ่งยึดทิเบตได้แล้วในขณะนั้น เมื่ออินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ .. รัฐสิกขิม จึงยอมอยู่ใต้เอกราชเดียวกับอินเดีย
.. จัดเป็นรัฐที่ 22 ซึ่งถือเป็นรัฐสุดท้ายที่ถูกผนวกรวมเข้ากับอินเดียในปีพ.ศ. 2518 เป็นรัฐเล็กๆที่งดงาม หลบเร้นอยู่ปลายแทบแนวเทือกเขาหิมาลัย มีพื้นที่อันดับสอง และพื้นที่ของรัฐประมาณ 35% ปกคลุมด้วยอุทยานแห่งชาติ ตางเชนดองชา แหล่งมรดกโลก
.. ปัจจุบันเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง การเดินทางเข้าสู่สิกขิมจึงยากเย็นราวกับเป็นการเดินทางเข้าสู่อีกประเทศหนึ่ง
เส้นทางจากดาร์จิลิ่ง สู่เมืองกังต๊อก
เราเดินทางออกจากดาร์จิลิ่ง มุ่งหน้าสู่เมืองกังต๊อก รัฐสิกขิม .. เส้นทางช่วงแรกที่ยังอยู่ในดาร์จิลิ่งถนนดี แต่ยังเป็นการขับรถขึ้น-ลงเขาตลอดเส้นทาง
เส้นทางที่เราเดินทางในช่วงนี้สวยมากค่ะ .. เราขับรถผ่านโตรกผา โค้งแล้ว โค้งเล่ามาเรื่อยๆ เส้นทางเว้าเข้า เว้าออก อาจจะขับได้ช้า และมีหวาดเสียวนิดๆ
.. แต่เรามีเวลาเหลือเฟือที่จะสอดส่ายสายตามองวิวทิวทัศน์ในรายทางไปอย่างเพลิดเพลิน
.. วิวข้างทางเปลี่ยนไปเรื่อย ตลอดทางที่เราผ่านแต่ละโค้ง
.. เราแวะไร่ชา เพื่อผ่อนพักจากการนั่งรถมานานหลายชั่งโมง
และเดินเข้าไปชื่นชมความเขียวขจีของต้นชาในไร่ ก่อนจะเริ่มการเดินทางต่อ
บรรยากาศระหว่างทางค่อยๆสูงขึ้นเรื่อยๆ ขึ้นเขา ลงเขาสลับกัน .. จากที่ตั้งใจจะหลับก็หลับไม่ลงเลย มันทั้งเสียวและสวยไปพร้อมพร้อมกัน
เราสังเกตเห็นว่า เส้นทางช่วงนี้เริ่มมีความแห้งแล้งมากกว่าเส้นทางที่ดาร์จิลิ่ง
ใบไม้แห้งที่หลานอยู่บนถนน และต้นไม้ใบไม้ที่ดูแห้งๆ บอกถึงสิ่งเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี
ธงมนตราสีสันสดใส ... เรามักจะเห็นตามขอบถนน ตามอาคาร หรือแม้กระทั่งสะพานข้ามแม่น่ำ เป็นสิ่งที่เห็นเจนตาในการเดินทางในพื้นที่แถบนี้ ..
ธงเหล่านี้มีจะมีบทสวดมนต์อยู่บนผืนธง และผู้คนนำมาแขวนไว้ในสถานที่ที่มีลมพัดแรง เพื่อให้บทสวดมนต์ คำสอนของพระพุทธเจ้าแผ่ไปคุ้มครองผู้เดินทาง
อันที่จริงจากดาร์จิลิ่งมาสิกขิมคิดเป็นระยะทางแค่ 80 กิโลเมตร .. ถ้าเป็นพื้นราบอย่างบ้านเราก็คงชั่วโมงเดียวถึง
แต่ถนนหนทางที่นี่คดโค้งเหลือประมาณ กว่าจะถึงก็กินเวลาร่วม 4-5 ชั่วโมง ผ่านผืนป่า ผ่านสายน้ำ ผ่านขุนเขามาหลายสิบลูก
แต่ .. ในที่สุดเราก็มาถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองสิกขิมที่ เมืองรังโป (Rang Po) .. อันเป็นปากประตูเมืองของรัฐ "สิกขิม"
อาจจะมีคำถามว่า เราผ่านการตรวจตราจาก India Immigration แล้ว เหตุไฉนจึงต้องมาตรวจประทับตรากันอีกชั้นหนึ่งที่นี่? ..
สิกขิมเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง .. ทางอินเดียต้องการใช้สิกขิมเป็นรัฐกันชนจากจีน สิกขิม จึงมีความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง การเข้า-ออกจึงเข้มงวดกว่าในพื้นที่อื่นๆของอินเดีย และว่ากันว่า นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในสิกขิม และออกไปแล้ว ต้องรอถึง 1 เดือน หากต้องการจะกลับเข้ามาอีกครั้ง
.. ในขณะที่ไกด์ของเรารวบรวมพาสปอร์ตของทุกคนไปลงทะเบียน ซึงต้องใช้เวลาพอสมควรเลยทีเดียว .. เราถือโอกาสเดินชมเมืองริงโป
เราเดินผ่านกลางที่ชุมชน .. ดูเหมือนว่าหน้าตา อารมณ์ของเมืองเปลี่ยนแปลงไปจากที่เราผ่านมาแล้วที่ดาร์จิลิ่ง ..
.. ตลาด อาหารการกินและขนมหวาน
อาคารบ้านเรือนสร้างลดหลั่นกันบนภูเขาย่อมๆ นี่คงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเมืองนี้
ด้านหนึ่งของเมือง .. มีแม่น้ำไหลผ่าน
พาสปอร์ตของเราประทับตราของเมืองรังโปเรียบร้อยแล้ว .. เราต่างแสดงอากัปกิริยาดีใจอย่างออกนอกหน้า พร้อมส่งสายตาไปมองป้าย Welcome to Sikkim อย่างยิ้มแย้ม
.. ไชโย ในที่สุดเราก็มาถึงสิกขิมทางเป็นทางการเสียที
.. แต่เราต้องเดินทางอีกพักใหญ่ เพื่อไปยัง เมือง "กังต็อก" (Gangtok) เมืองหลวงของรัฐสิกขิมที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,768 เมตร
กังต็อก (Gangtok) : เมืองหลวงแห่งรัฐสิกขิม
"กังต็อก" (Gangtok) .. เป็นเมืองหลวงของรัฐสิกขิม ซึ่งเป็นรัฐทางเหนือของประเทศอินเดีย มีพื้นที่เป็นที่ราบสูงบนเทือกเขาหิมาลัย มีพรมแดนติดกับหลายประเทศ เช่น เขตปกครองตนเองทิเบต เนป่าล และภูฏาน อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลราว 1,780 เมตร
“กัง” (Gang) ในภาษาภูเทียร .. หมายถึง ที่ราบ (flat) และคำว่า “ต็อก” (tok) หมายถึง เนินเขา (hill) กังต็อก จึงหมายถึง “ที่ราบที่อยู่บนเนินเขา” เคยเป็นชุมชนโบราณที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของอาณาจักร
.. ตามตำนานกล่าวว่า พุนณก นัมจ์เยล์ (Phunstok Namgyal) ผู้เป็นปฐมกษัตริย์ ทรงเป็นชาวเมืองกังต๊อก ซึ่งแสดงว่าเมืองนี้มีมาก่อนศตวรรษที่ 17 ต่อมาได้มีการสร้างวัดเอนเซย์ (Enchey Monastery) ขึ้นมาในปี ค.ศ. 1840 กังต็อกจึงกลายเป็นศูนย์กลางของการแสวงบุญไปโดยปริยาย
ในปี ค.ศ. 1894 ธูทอบ นัมเกล (Thutob Namgyall) กษัตริย์ผู้ปกครองสิกขิมซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษอีกที ได้ย้ายเมืองหลวงจากเมืองทุมลอง (Tumlong) มาอยู่ที่เมืองกังต็อก (Gangtok) แทน นับแต่นั้นมา กังต็อกซึ่งมีบทบาทมากในฐานะเมืองหลวงแห่งสิกขิม .. แม้ว่าภายหลังสิกขิมจะกลายเป็นรัฐที่ 22 ภายใต้การปกครองของอินเดีย กังต็อกก็ยังเป็นเมืองหลวงเช่นเดิมมัน
ประชากรของกังต็อก .. ประกอบด้วยชาวเนปาล ภูฏาน และชาวอินเดีย โดยมีชาวเนปาลที่นับถือศาสนาฮินดู และส่วนใหญ่ไม่ใช่คนพื้นเมือง เป็นประชากรส่วนใหญ่ .. แต่เมื่อคนเหล่านี้เดินปะปนกัน เราผู้มาจากดินแดนอื่น ก็ยากที่จะบอกว่าแต่ละคนมาจากพื้นถิ่นไหนกันแน่ ทั้งหมดดูจะผสมผสานเด่นชัด เป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุดแห่งหนึ่ง
.. กังต็อกในภาพความคิดของฉันก่อนมาถึง .. เป็นภาพของบ้านเมืองในรูปแบบทรงศิลปะพื้นเมืองดั้งเดิม เหมือนที่เคยเห็นในเนปาล และภูฏาน
.. แต่ความจริงที่เห็นนั้นต่างออกไป บ้านเรือนของชาวกังต๊อกสร้างในแบบตึกหลายชั้นมาก ที่ผุดขึ้นสูงๆต่ำๆ ไปตามลักษณะการลดหลั่นของภูเขาสูง
.. อาคารพาณิชย์หลายชั้นสร้างบนภูเขาเป็นลูกๆ ขนาบไปกับถนนที่เวียนไต่ไปตามเนินเขา ทำให้เห็นเส้นทางบันไดเล็กๆ เป็นเหมือนซอกซอยในแนวตั้ง เชื่อมระหว่างอาคารที่ผุดขึ้น
ใครบางคนบอกว่า .. คนที่อยู่ในตึกเดียวกัน ซึ่งอาจจะมีได้ถึง 7-8 ชั้นนั้น อาจจะไม่ใช่คนในครอบครัวเดียวกัน แต่เวียนกันอยู่คนละชั้น เมื่อคิดๆดูก็อาจจะเหมือนคอนโดมิเนี่ยมในเมืองศิวิไลย์ทั้งหลายนั่นเอง แต่อาจจะมีการบริหารจัดการที่แตกต่าง
แม้ว่าเราจะเห็นอาคารเรียงรายลดหลั่นกันมาแล้วที่ดาร์จิลิ่ง แต่ก็ไม่มากชั้นหรือหนาแน่นมากเท่าที่เราเห็นในเมืองนี้ .. และอยากจะเล่าว่า การที่เมืองและอาคารอยู่บนพื้นที่ภูเขาที่คดโค้ง ทำให้การขนส่งสาธารณะด้วยรถเมล์คันโตๆที่สามารถบรรทุกคนโดยสารหลายๆคนจะทำได้ยากมาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย
.. การเดินทางของผู้คนจึงต้องอาศัยการโบกรถแท็กซี่ซึ่งมีขนาดเล็ก ที่สามารถขับลดเลี้ยวไปตามทางแคบๆที่มีโค้งเยอะมาก ประเภทเดี๋ยวโค้ง เดี๋ยวโค้งได้ และที่น่าสนใจก็คือ การโดยสารรถแท็กซี่ของเมืองนี้เป็นการแชร์ที่นั่ง และค่าโดยสารของแต่ละคน แบบเดียวกับการนั่งรถเมล์ในบ้านเรา
.. จะต่างกันบ้าง ก็ตรงที่ผู้คนจะโบกรถตรงไหนก็ได้ ไม่เห็นมีป้ายรถโดยสารสาธารณะบ่งบอก ตลอดทางที่เราผ่าน
2 บันทึก
1
1
1
2
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย