26 พ.ค. 2023 เวลา 10:44 • ข่าว

โจ ไบเดนเตรียมงัด "มาตรา 14" สกัดวิกฤติเงินหมดคลังจนเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

ใกล้ถึงเส้นตาย 1 มิถุนายน เข้าไปทุกที ที่ เจเน็ท เยลเลน รัฐมนตรีคลังได้ออกมาประกาศว่ากระแสเงินสดจะหมดคลัง นั่นหมายความว่า รัฐบาลกลางสหรัฐจะไม่มีเงินจ่ายหนี้ได้ในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้แล้ว
ข่าวเกี่ยวกับปัญหาการขาดสภาพคล่องในคลังรัฐบาลกลางสหรัฐ มีการถกเถียงมานานกว่า 1 เดือนแล้ว โดย เจเน็ท เยลเลน ได้ยื่นเรื่องถึงสภา คองเกรซ ให้พิจารณาขยายเพดานหนี้ขึ้นอีก เพื่อเพิ่มวงเงินกู้ให้รัฐบาลสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
3
แต่ว่าจนถึงวันนี้ ทั้งพรรคเดโมแครต และ รีพับลิกัน ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปในกรอบเพดานหนี้ใหม่ได้ จนเข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม เฉียดเส้นตายที่รัฐมนตรีคลังได้เตือนไว้
2
สถานการณ์เงินกองคลังของรัฐบาลกลางสหรัฐเป็นอย่างไร?
สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีรายจ่าย เกินรายได้ภาษีอยู่ตลอด เพียงแต่ "สถาบันรัฐบาล" ของสหรัฐมีเครดิตดีพอที่จะกู้เงินเท่าไหร่ก็ได้ และยังมีอิทธิพลมากพอที่จะให้ชาติอื่นมาช่วยกันแบกหนี้ให้ในรูปแบบของพันธบัตรรัฐบาล
6
แต่ทั้งนี้ ก็ต้องมีการจำกัดเพดานหนี้เอาไว้หน่อย เพื่อรักษาระเบียบวินัยการเงินไม่ให้รัฐบาลขยันกู้มากเกินไป แต่สุดท้าย ยอดค่าใช้จ่ายก็ทะลุเพดานได้ตลอด ต้องมาเรียกประชุมสภาเพื่อหาฉันทามติในการขยับเพดานหนี้ขึ้นเรื่อยๆทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุช็อต หาเงินไม่ทันค่าใช้จ่าย
11
เพดานหนี้ของสหรัฐ ในปัจจุบัน กำหนดไว้ที่ 31.4 ล้านล้านเหรียญ แต่ยอดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลนั้น เกินวงเงินนี้มานานแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม แต่ทางเจเน็ท เยลเลน ก็บอกว่าได้พยายามดึงงบอื่นมาโปะก่อนจนแทบไม่เหลือแล้ว ยื้อได้สุดๆไม่เกินต้นเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้
ถ้าไม่มีเงินกู้รอบใหม่ ก็เท่ากับว่ารัฐบาลกลางสหรัฐจะไม่มีเงินจ่ายหนี้ ซึ่ง "หนี้ของรัฐบาล" หมายถึง เงินเดือนข้าราชการ และลูกจ้างรัฐทุกตำแหน่ง ค่าโสหุ้ย น้ำ ไฟ งบทหาร ประกันสังคม ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงดอกเบี้ยเงินกู้ พันธบัตร ปันผล หรือแม้แต่เงินคืนภาษี
ถือเป็นช่วงเวลาบีบหัวใจของชาวอเมริกัน ที่กำลังจับตามองว่าชาวสภาคองเกรซ จะเลือกอะไรระหว่าง "การขายผ้าเอาหน้ารอด" ตัดสินใจเพิ่มเพดานหนี้เอานาทีสุดท้าย ให้สามารถกู้เงินแก้ปัญหาให้มันผ่านๆไปก่อน กับ "ไปตายเอาดาบหน้า" เทเจ้าหนี้แบบไม่แคร์ เพราะยังไงก็เป็นสหรัฐ ไม่มี ไม่หนี อยู่แล้ว เพียงแต่ตอนนี้ยังหาเงินไม่ทันจ่าย
6
ซึ่งอย่างหลัง ดูจะหายนะเป็นมากกว่าได้ เพราะนอกจากระดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลกลางสหรัฐจะถูกลดแล้ว ยังกระทบกับระบบการทำงานของรัฐบาล และลูกจ้างอีกเฉียดล้านตำแหน่ง อีกทั้งพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐก็จะเสียมูลค่า ความวินาศสันตะโรในตลาดการเงินโลกจะบังเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และเป็นสถานการณ์ที่รัฐบาลไบเดน จะให้เกิดขึ้นไม่ได้เด็ดขาด ถ้าไม่อยากถูกชาติอื่นประณามหยามเหยียดยันเหลนบวช
แต่ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉิน ที่สภาคองเกรซตกลงกันไม่ได้ จริงๆ หรืออนุมัติเพิ่มเพดานหนี้ไม่ทัน ก็อาจถึงเวลาที่ประธานาธิบดีสหรัฐ จำเป็นต้องควักดาบอาญาสิทธิ์ออกมาใช้ ที่ชื่อว่า "มาตรา 14"
3
บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตราแก้ไขที่ 14 ตราขึ้นตัั้งแต่ยุคสงครามกลางเมืองอเมริกาในปี 1868 หรือกว่า 155 ปีมาแล้วที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิคุ้มครองพลเมืองที่เท่าเที่ยมกัน โดยในวรรค 4 มีการกล่าวถึงข้อกำหนดหนี้สาธารณะของรัฐอย่างชัดเจนว่า ค่าใช้จ่ายของรัฐที่ใช้ดูแลสวัสดิการประชาชน หรือเพื่อปราบปรามจราจลก็ตาม จะไม่มีการถูกตั้งคำถามใดๆ แต่รัฐมีหน้าที่ต้องจ่ายหนี้ให้ครบถ้วน เต็มจำนวนให้ทันเวลา
4
นั่นหมายความว่า ถ้าโจ ไบเดน ตัดสินใจหยิบกฎหมายมาตรา 14 ขึ้นมาใช้ ก็คือการพังเพดานหนี้ที่มีทิ้งหมด สภาคองเกรซไม่ต้องถกอะไรอีกแล้ว ประธานาธิบดีสามารถสั่งให้กระทรวงการคลังออกพันธบัตร กู้เงินเพิ่มได้ทันที เท่าไหร่ก็ได้ เพื่อให้สามารถ "ใช้หนี้สาธารณะให้ครบถ้วน เต็มจำนวน และ ทันเวลา"
16
และใช่ว่า โจ ไบเดน เพิ่งจะคิดได้ แต่ ไบเดนคิดไว้นานแล้ว อีกทั้งยังมี สส. ลูกพรรคเดโมแครตหลายสิบคนยื่นจดหมายถึงโจ ไบเดน ให้ลองพิจารณาทางออกที่มาตรา 14 ดู เป็นกรณีฉุกเฉิน!!
2
ก็ในเมื่อใช้มาตรา 14 ก็จบเรื่อง แล้วจะมาเถียงกันในสภาให้เสียเวลาทำไม แต่ทว่าผู้นำสหรัฐคนอื่นๆ ที่ผ่านมาถึงเลือกที่จะไม่ใช้🤔
ก่อนอื่นต้องยอมรับก่อนว่า มาตรา 14 นี้ ตราขึ้นในยุคที่สหรัฐเกิดสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ ในภาวะที่ประเทศอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ และอยู่ในยุคสมัยที่มีบริบทแตกต่างจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นการจะหยิบเอาข้อกฎหมายนี้มาใช้ แสดงว่ารัฐบาลโดนบีบจนไม่มีทางเลือกแล้วจริงๆ แต่เท่าที่ผ่านมาๆ อาจไม่ใช่เหตุฉุกเฉินอย่างที่อ้าง แต่เป็นเพียงการเล่นดราม่าการเมืองในสภามากกว่า
นักวิชาการสหรัฐมองว่า มาตรานี้ให้อำนาจประธานาธิบดีอย่างมาก แต่ผู้นำก็ต้องตัดสินใจให้รอบคอบด้วย เพราะตัวกฎหมายบอกแค่ว่า ให้รัฐหาเงินมา "ใช้หนี้" เท่านั้น ไม่ได้บอกให้สร้างหนี้เพิ่ม ดังนั้นจึงเป็นการสุ่มเสี่ยงที่ประธานาธิบดีจะเผลอใช้อำนาจเกินขอบเขต จนเกิดหนี้สาธารณะเพิ่มได้ในภายหลัง และอาจถูกตีความว่าทำ
ผิดกฏหมาย
1
และการใช้อำนาจตามมาตรา 14 วรรค 4 ในการทำลายเพดานหนี้โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาบ่อยๆ ไม่ส่งผลดีต่อการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญเท่าไหร่ และไม่ควรถูกใช้เป็น Option แรก หากยังอยู่ในกระบวนการตามครรลองในรัฐสภา
1
อีกทั้งนักวิชาการยังชี้ว่า การมีอยู่ของเพดานจำกัดวงหนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐ ไม่ได้มีผลต่อความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ เพราะหน้าที่ของรัฐบาลคือต้องบริหารงบประมาณให้สมดุลย์กับรายได้ต่างหาก ส่วนเพดานหนี้ มีไว้เพื่อสร้างวินัยทางการเงินให้กับรัฐบาล แต่หากรายจ่ายมันเพิ่มขึ้น ต้องเพิ่มวงเงินกู้ ก็ต้องมาคุยกันในสภาเท่านั้นเอง
1
ซึ่งทั้งนักวิชาการ และ นักการเมืองของสหรัฐ ไม่ได้กังวลเลยกับการที่สหรัฐอเมริกาจะมีหนี้สาธารณะมากมายมหาศาลเป็นอันดับ 1 ของโลก เพราะในมุมมองของสหรัฐแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่าหนี้ คือ "เครดิต" เพราะตราบใดที่คุณมีเครดิตดี คุณจะมีหนี้เท่าไหร่ก็ได้ ว่าซ่าน!!!
9
เมื่อมั่นใจกันขนาดนี้ ก็มาลองจับตาดูกันในสัปดาห์หน้าว่า สหรัฐจะแก้ไขทั้งหนี้ และ รักษาทั้งเครดิตได้หรือไม่ และด้วยวิธีใด😀
****************
ติดตามบทความของ "หรรสาระ" เพิ่มเติมได้ที่
Facebook - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
Twitter - @HunsaraByJeans
Blockdit - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
Tiktok - @HunsaraByJeans
แพลทฟอร์มคุณภาพ ไม่ปิดกั้นการมองเห็นเนื้อหา
****************
แหล่งข้อมูล
โฆษณา