27 พ.ค. 2023 เวลา 00:03 • ท่องเที่ยว

ทริปสั้นมาก เพียงครึ่งวัน ลุยขนมจีน 4 ร้าน ข้าวแช่ 5 เจ้า น้ำตาลข้น 2 ร้าน

เมื่อวาน (26พค.2566) มีธุระต้องไปที่จังหวัดเพชรบุรี นัดกันไว้ 10:00 น. แต่พอเดินทางไปใกล้จะถึง ก็มีเหตุขัดข้อง ทำให้ต้องเลื่อนออกไปเป็น 13:00 น. เกิดเวลาว่างถึง 3 ชั่วโมงแบบไม่ได้คาดหมายมาก่อน
พระนครคีรีหรือเขาวังเพชรบุรี
ในฐานะที่เป็นคนเพชรบุรีดั้งเดิม จึงต้องรีบใช้เวลาให้เป็นประโยชน์โดยเร็ว เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เปลี่ยนความเซ็งให้เป็นความสุขทันที
1
โดยการจะไปรีวิวขนมจีนทอดมัน ข้าวแช่เมืองเพชร และปิดท้ายด้วยลอดช่องน้ำตาลข้นหรือโอวทึ้ง
ขนมจีนทอดมัน อาหารเด่นของเมืองเพชร
เริ่มจากขนมจีนทอดมัน ซึ่งเป็นอาหารเฉพาะพื้นบ้าน หรือวัฒนธรรมประจำถิ่นของคนเมืองเพชรเลยทีเดียว
กล่าวคือในจังหวัดอื่น มักจะทานขนมจีนน้ำยา น้ำพริก น้ำเงี้ยว หรือขนมจีนกับแกงเขียวหวาน
แต่ที่เพชรบุรี เราทานขนมจีนเหมือนทุกจังหวัด เพียงแต่เพิ่มเติมเรื่องขนมจีนทานกับทอดมันด้วย
1
ทอดมันเมืองเพชรรสอร่อย
โดยทอดมันของเมืองเพชรนั้น จะทำเป็นชิ้นเล็ก พอดีคำ มีความเหนียวนุ่มกำลังดี รสชาติจะเข้มข้นนิดหน่อย
เพื่อที่จะให้ทานกับขนมจีนที่มีเส้นเหนียวนุ่มกำลังดี โดยน้ำจิ้มของทอดมันเมืองเพชร จะไม่เข้มข้นเหมือนทั่วไป
หากแต่จะมีรสกลมกล่อมระหว่างหวาน เปรี้ยว และแซมด้วยเผ็ดเล็กน้อย เพื่อที่จะทำให้คลุกเคล้ากับขนมจีนได้ลงตัว
ขนมจีนทอดมันแม่จุก
วันนี้เราจะมาเริ่มต้นจากขนมจีนทอดมันแม่จุก ซึ่งเป็นเจ้าแรกอยู่ตรงทางเข้าจังหวัดเพชรบุรี ก่อนจะถึงอุทยานประวัติศาสตร์หน้าเขาวัง
ขนมจีนเจ้านี้ ขายเพียงชิ้นละ 2.50 บาท หรือ 20 ชิ้น 50 บาท ถ้าจะทานกับขนมจีนเป็นชุด เค้าขายชุดละ 30 บาท จะมีทอดมัน 8 ชิ้น ขนาดพอดีคำ แตงกวา กระเพรากรอบ และน้ำจิ้มให้เสร็จสรรพ
เนื่องจากเปิดฉากเป็นเจ้าแรก ในช่วงเวลาประมาณ 10:00 น. ซึ่งยังไม่ได้ทานข้าวเช้า ก็เลยลองชิมดูชุดหนึ่งก่อน ถือว่าอร่อยใช้ได้เลย
คือ เส้นขนมจีนเหนียวนุ่มกำลังพอเหมาะ ส่วนทอดมันรสชาติกลมกล่อมกำลังดี ไม่เค็มเกินไป ไม่หวานเกินไป
สอบถามได้ความว่า ใช้ปลากรายผสมกับปลาอินทรี ซึ่งไม่ใช่สูตรพิเศษหรือสูตรลับอะไรทั้งสิ้น
หากแต่ว่าสูตรนี้ เกิดจากปลากรายมีราคาแพง ถ้าขายตามต้นทุนราคาปลากราย จะขายไม่ได้ เป็นเหตุผลที่น่าฟังเป็นอย่างยิ่ง
ทอดมันของแม่จุก จึงใช้ปลากรายผสมกับปลาอินทรี ถือว่าผ่านนะครับในความเห็นของผม
1
ก็เลยซื้อกลับบ้านมาอีกหนึ่งชุด รวมทั้งห่อหมกปลาอินทรีด้วย ในราคา 25 บาท
ส่วนเส้นขนมจีน เค้าขายเป็นถุงเล็ก 5 บาท ถ้าครึ่งกิโล 20 บาท หนึ่งกิโลกรัม 40 บาท
วัดข่อยที่สวยงามมาก
หลังจากนั้นก็ไปต่อกัน เจ้าที่สองคือขนมจีนแม่นุช อยู่ที่หน้าวัดข่อย ติดกับเขาวัง
ขนมจีนทอดมันแม่นุช
พบว่าทอดมันเจ้านี้ อร่อยสู้แม่จุกไม่ได้ รสชาติจืดไปนิดหนึ่ง ชิ้นใหญ่กว่าแต่ขายชิ้นละ 10 บาท ต้องซื้ออย่างน้อย 5 ชิ้น ก็เลยซื้อมา 5 ชิ้น เป็นเงิน 50 บาท
ทราบเช่นกันว่า ทำจากปลาอินทรี
เจ้าที่ 3 ขนมจีนเจ๊ปุ้ยหรือท่งเชียง เจ้านี้อ่านรีวิวมาว่า ร้านเดิมเป็นของนางท่งเชียงที่อยู่หน้าวัดมหาธาตุ
ขนมจีนทอดมันเจ๊ปุ้ย-ท่งเชียง
ตอนนี้ได้ขยับย้ายออกมาจากวัดมหาธาตุ มาอยู่แถวหน้าวัดแก่นเหล็ก ใกล้ใกล้ร้านเดิมนั่นเอง
ขาย 4 ชิ้น 10 บาท ใช้ไม้เสียบ 4 ชิ้นอยู่ในไม้เดียวกัน คล้ายๆลูกชิ้นปิ้ง
ชิมดูแล้วรสชาติเค็มไปนิดนึง แล้วก็มีหวานไปหน่อยนึงด้วย ยังไม่ค่อยลงตัว ทำจากเนื้อปลาอินทรีเช่นเดียวกัน
สอบถามดูแล้ว เจ๊ปุ้ยบอกว่า เคยเป็นลูกมือของคุณยายท่งเชียง ซึ่งลูกหลานไม่ทำทอดมันแล้ว
ตัวเองพอจะรู้สูตร ก็เลยเอามาทำดู ถือว่าอยู่ในเกณฑ์อร่อยปานกลาง
ขนมจีนทอดมันเจ๊เกียง
เจ้าที่ 4 คือ ขนมจีนทอดมันเจ๊เกียง อยู่ที่ถนนพงษ์สุริยา ข้ามแม่น้ำเพชรบุรีไปทางฝั่งตลาด
ขายแปลกดีคือ 11 ชิ้น 30 บาท และมีขนมจีนซื้อมาด้วยถุงละ 10 บาท
ลองชิมดูแล้ว รสชาติถือว่าดีกลมกล่อมใช้ได้ เป็นหลานของเจ๊เกียงมาขาย
เขาวัง สัญลักษณ์ของเมืองเพชรบุรี
ถ้าให้เรียงลำดับขนมจีนทอดมันทั้งสี่เจ้านี้
อันดับหนึ่ง เสมอกัน 2 เจ้า คือ แม่จุกกับเจ๊เกียง
ส่วนอันดับสอง ให้เป็นของเจ๊ปุ้ย และอันดับสามเป็นของแม่นุช
ถัดไป คงเป็นเรื่องข้าวแช่เมืองเพชร ซึ่งเป็นข้าวแช่ในตำนานสำหรับสามัญชน ที่อร่อยมาก เน้นรสชาติ และกลิ่นหอม ไม่เน้นการประดิดประดอยแบบข้าวแช่ชาววัง
ข้าวแช่เพชรบุรีขนานแท้ จะมีเครื่องเคียงสามอย่างคือ ลูกกะปิทอด ปลากระเบนหรือปลายี่สุนหวาน และหัวไช้โป๊วหรือหัวผักกาดหวาน
ได้ลองชิมเรียงลำดับดังนี้
เจ้าแรก ข้าวแช่แม่ลาภ ซึ่งอยู่ใกล้กับขนมจีนทอดมันแม่นุชหน้าวัดข่อย ขายชุดละ 25 บาท
ข้าวแช่แม่ลาภ
ข้าวนิ่มไปนิดนึง ส่วนน้ำกลิ่นหอมใช้ได้ทีเดียว เครื่องเคียงรสชาติใช้ได้ ถ้วยชามที่จัดมาสวยงามปานกลาง
ข้าวแช่แม่อร
2) ข้างแช่แม่อร อยู่ที่ถนนพานิชเจริญ ตลาดเก่าของจังหวัดเพชรบุรี เจ้านี้ขายมามากกว่า 40 ปีแล้ว
ข้าวแข็งนุ่มกำลังดี ลูกกะปิทอดอร่อยเครื่องเคียงที่เป็นปลากระเบนและไช้โป๊วหวานใช้ได้เลย แต่น้ำที่ทานมีกลิ่นหอมอ่อนไปนิดหนึ่ง ขายชุดละ 25 บาทเช่นกัน
1
ข้าวแช่ป้าเอื้อน
3) ข้าวแช่ป้าเอื้อน เมล็ดข้าวนิ่มไปนิดนึง เครื่องเคียงอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ยกเว้นปลากระเบนหวานนิ่มและเหนียวไปหน่อย น้ำข้าวแช่หอมใช้ได้
ข้าวแช่ป้าติ๋ม
4) ข้าวแช่ป้าติ๋ม เกิดจากหาร้านข้าวแชร์แม่อ่อนที่ตลาดอนามัยไม่พบ ได้เห็นแต่ร้านป้าติ๋มแทน ได้ลงไปคุยแล้วบอกว่า แม่อ่อนเลิกขายไปแล้ว
โดยแม่อ่อนเป็นญาติกับแม่เอื้อนหรือป้าเอื้อน แต่ขายสู้ไม่ได้ ก็เลยเลิกขายไป
โดยแม่อ่อนมาเช่าแผงที่ตลาดของป้าติ๋ม ซึ่งขายข้าวเหนียวปิ้งอยู่
เมื่อเลิกแล้ว ป้าติ๋มก็เลยนำแผงที่ว่างของตนเอง มาทำข้าวแช่ขายด้วย
เมล็ดข้าวความแข็งกำลังดี ส่วนน้ำข้าวแช่หอมมากมาก เครื่องเคียงทั้งสามอย่างอร่อยปานกลาง
ที่พิเศษ ร้านนี้มีข้าวเหนียวปิ้งที่อร่อยมาก มีทั้งไส้กล้วยและไส้เผือก
ข้าวแช่ป้านิด
5) ข้าวแช่ป้านิด เมล็ดข้าวแข็งกำลังดี น้ำข้าวแช่หอมได้มาตรฐานทีเดียว เครื่องเคียงทั้งสามชนิด ไม่ว่าจะเป็นกะปิชุบแป้งทอด ปลากระเบนหรือยี่สุนหวาน และหัวไชโป๊วหวาน อร่อยคงเส้น คงวา เสมอต้นเสมอปลายมาโดยตลอด
ข้าวแช่ป้านิด ขายอยู่ตรงบริเวณสะพานดำซึ่งเป็นสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำเพชรบุรี โดยร้านที่ขายจะอยู่ติดริมแม่น้ำเพชรบุรี เห็นวิวสวยงาม
1
เมื่อมาจัดลำดับข้าวแช่ ทั้ง 5 เจ้าแล้ว ก็ต้องถือว่า
ข้าวแช่ป้านิด มาเป็นลำดับที่หนึ่ง
ส่วนลำดับที่สอง เสมอกันระหว่างข้าวแช่แม่อรกับป้าเอื้อน
และลำดับที่สาม คือข้าวแช่ป้าติ๋ม และแม่ลาภ
ในช่วงเช้า ก็รีวิวขนมจีนทอดมันไปได้ 4 เจ้า และข้าวแช่เมืองเพชรไปได้อีก 5 เจ้า
โดยทุกเจ้า ก็จะชิมอย่างละนิดละหน่อย ไม่เช่นนั้นแล้ว ก็จะทานไม่ไหว
พระปรางค์วัดมหาธาตุเพชรบุรี
โดยได้บอกกับแม่ค้าทุกเจ้าว่า เหตุที่ทานไม่หมด ไม่ใช่ว่าไม่อร่อยนะ แต่ต้องเก็บท้องไว้ชิมเจ้าอื่นๆด้วย เพราะกำลังจะไปเขียนรีวิวว่าเจ้าไหนอร่อยมากน้อยอย่างไร
แม่ค้าดูตื่นเต้นกันมาก ขอทราบว่าจะไปเขียนที่แพลตฟอร์มอะไร จะได้ให้หลานหลานเข้าไปอ่านและติดตามดู
ตลอดเช้านี้ เมื่อรวมทุกอย่างแล้ว ทั้งของคาว ของหวาน มากถึง 11 เจ้าด้วยกัน
ก่อนจะไปประชุมตอนบ่าย มีเวลาอยู่อีกครึ่งชั่วโมง รีบแวะไปทานก๋วยเตี๋ยวเนื้อน้ำแดงเจ้าดังคือ เจ๊กเม้ง กันดีกว่า
ซึ่งมีความเป็นมาสลับซับซ้อนพอสมควร ว่าเจ้าไหนเป็นเจ๊กเม้งร้านจริงกันแน่
เนื่องจากผู้เขียนเมื่อสมัยเป็นเด็ก เคยขี่จักรยานผ่านร้านก๋วยเตี๋ยวเจ๊กเม้ง ซึ่งล่ำลือกันว่า อร่อยนักอร่อยหนา มีชื่อเสียงมาก
ก๋วยเตี๋ยวน้ำแดง เจ็กน้ำพุ
ในปัจจุบันนี้ ที่ทราบก็มีก๋วยเตี๋ยวเจ๊กเม้งที่วงเวียนน้ำพุ ข้างศาลากลางจังหวัด และเจ๊กเม้งตรงบริเวณเคเบิลคาร์ขึ้นเขาวัง (พระนครคีรี)
ดูจากการได้ดาว ก็เลยแวะมาชิมที่น้ำพุ ก็พบว่าร้านได้ลบชื่อคำว่าเจ๊กเม้งออกแล้ว เหลือแต่ก๋วยเตี๋ยวน้ำแดงน้ำพุ
ชิมแล้วเป็นบะหมี่เส้นใหญ่เหลืองแห้ง และเส้นหมี่ขาวน้ำ รสชาติกลมกล่อม อร่อยอยู่ในระดับปานกลาง
คุยกับเจ้าของร้าน ทราบว่าลูกหลานเจ๊กเม้งดำเนินการแจ้ง ไม่ให้ใช้ชื่อ รวมทั้งร้านที่เคเบิ้ลคาร์ด้วย
ส่วนลูกหลานหรือทายาทเจ๊กเม้ง ก็เปิดขายใหม่แล้ว อยู่ในเมืองเพชรแต่ยังไม่มีโอกาสไปทดลองชิม
หลังจากเสร็จภารกิจตอนบ่าย พอมีเวลาอยู่บ้าง จึงแวะไปทานลอดช่องน้ำตาลข้น ที่คนจีนเรียกกันว่า โอวทึ้ง (โอว-ดำ , ทึ้ง-น้ำตาล)
ลอดช่องน้ำตาลข้น โอวทึ้ง
เป็นร้านรถเข็นมีชื่อเสียง ตั้งแต่สมัยผู้เขียนเรียนหนังสือชั้นประถม อยู่ที่โรงเรียนอรุณประดิษฐ์
จะเป็นอาแป๊ะ มีอายุพอสมควร เข็นรถมาขายลอดช่องหน้าโรงเรียน แล้วนักเรียนทั้งหลาย ก็จะแห่กันไปซื้อมาทานอย่างเอร็ดอร่อย แน่นอนว่าผู้เขียนรวมอยู่ในจำนวนนั้นด้วย
ตอนนั้นไม่แน่ใจว่า ถ้วยละหนึ่งสลึงหรือ 25 สตางค์ใช่หรือไม่
วันนี้ที่มาชิม ร้านก็อยู่ห่างจากโรงเรียนอรุณประดิษฐ์ มาเพียงนิดเดียว
และยังมีรูปถ่ายของอาแป๊ะขายโอวทึ้งเจ้าเก่าอยู่ด้วย
ร้านลอดช่องน้ำตาลข้นนายกี๋
ถามจากคนขาย บอกว่าเป็นหลานตา สืบทอดมาถึงสามเจนเนอเรชั่นด้วยกันแล้ว
รสชาติอร่อยดี และมีพัฒนาการไปมากทีเดียว โดยเส้นลอดช่องเหนียวนุ่มกำลังดี น้ำกะทิ น้ำตาลข้นทำจากตาลโตนดหอมกรุ่นทีเดียว รสกลมกล่อม และยังมีท็อปหน้ามาด้วยไอศครีมวนิลาลูกขนาดกำลังเหมาะ
หลอดขนาดใหญ่ที่ใช้ดูดลอดช่อง ร่วมกับช้อนขนาดเล็กที่ตักไอศครีม ถือว่าลงตัวเข้ากันอย่างดี
อย่างไรก็ตาม เพื่อการเปรียบเทียบอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน ควรจะได้มีการลองชิมสองเจ้าในวันเดียวกัน
จึงรีบแวะไปชิมน้ำตาลข้นที่โพธิ์การ้อง อยู่ฝั่งด้านตลาด อีกด้านของแม่น้ำเพชรบุรี
ร้านลอดช่องน้ำตาลข้นโพธิ์การ้อง
พบว่ารสชาติของน้ำกะทิ น้ำตาลข้น มีความใกล้เคียงสูสีกัน กลิ่นหอมใช้ได้เลย
แต่เส้นของลอดช่องแข็งไปนิดนึง เมื่อเทียบกับโอวทึ้งนายกี๋เจ้าเดิมแล้ว ต้องถือว่าแพ้อยู่นิดหน่อยครับ
ระหว่างทางเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ ก็ได้แวะซื้อลูกตาลอ่อน ซึ่งขณะนี้เริ่มพ้นฤดูกาลไปแล้ว ราคาเริ่มขยับตัวสูงขึ้น ถุงละ 1 กิโลกรัม ราคา 80 บาท และ 1.2 กิโลกรัม ราคา 100 บาท
ก็ได้เลือกลูกตาลอ่อน ได้อ่อนถูกใจมาก ซึ่งสามารถนำมาทานสดๆ หรือจะเอาไปทำลูกตาลลอยแก้วก็ได้
ลูกตาลแสนอร่อยของเมืองเพชร
พบคุณยายที่เฉาะลูกตาลได้คล่องแคล่วดีทีเดียว มีหลานสาวที่มาช่วยขาย ก็บอกว่าเฉาะได้เช่นกัน
ดีใจที่เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ มีความกตัญญูมาช่วยบุพการีทำงาน และยังเสริมสร้างทักษะของคนเมืองเพชร คือความสามารถในการเฉาะลูกตาลไว้ได้อย่างดี
คุยกันสนุกถูกคอ ได้ความว่า เปลือกของส่วนที่เฉาะออกมาแล้ว ก็เอาไปให้วัวกิน ส่วนอันที่แก่ก็สามารถนำไปทำเป็นจาวตาลเชื่อมได้ด้วย
ก่อนจะแวะเข้ากรุงเทพฯ ช่วงที่ผ่านอำเภอเขาย้อย ก็เลยแวะไปดูภูเขาที่มีวิวทิวทัศน์ แบบ Unseen โด่งดังเมื่อหลายปีก่อน ที่บอกว่า
คล้ายกับสวิตเซอร์แลนด์ของเมืองไทย ที่เขาอีบิด ตำบลหนองชุมพลเหนือ อำเภอเขาย้อย
สวิตเซอร์แลนด์ที่เขาย้อย เพชรบุรี
แวะเข้าไปแล้ว พบว่าสภาพเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร
ยอดเขาหนึ่งใน 5-6 ยอดหายไปแล้ว คาดว่าน่าจะเป็นการระเบิดหินเอามาทำวัสดุก่อสร้าง
นอกจากนั้น ในส่วนที่เป็นทะเลสาบขนาดเล็กที่อยู่หน้าภูเขา น้ำก็แห้ง แต่ยังคงเห็นรูปร่างภูเขา และแนวสนอย่างชัดเจน เรียกว่าความสวยลดลงไปครึ่งหนึ่งเลยครับ
เป็นอันจบทริปสั้นสุดสุด แต่อัดแน่นด้วยคุณภาพของเมืองเพชร โดยการรีวิวของคาวหนึ่งอย่าง ของหวานหนึ่งอย่าง และข้าวแช่ที่อาจนับเป็นกึ่งคาวกึ่งหวาน
ตลอดจนได้ซื้อลูกตาลกลับบ้าน พร้อมแวะดูสวิตเซอร์แลนด์เมืองไทยที่เขาย้อยอีกด้วย ถึง กรุงเทพค่ำค่ำพอดีครับ
แสงสวย ที่สะพานพระรามเก้า
โฆษณา