27 พ.ค. 2023 เวลา 03:07 • ท่องเที่ยว

วัดเอ็นเซย์ (Enchey Monastery) .. สิกขิม

กังต๊อก เป็นเมืองศูนย์กลางของพุทธศาสนา มีวัดทิเบตหลายวัดที่เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียง
วัดเอนเซย์ (Enchey Monastery หรือ Enchey Gompa) .. เป็นวัดพุทธศาสนา ตันตระ-วัชรยาน และทิเบต ฝ่าย-น์ญิงมา เป็นวัดใหญ่ตั้งอยู่บนยอดเมืองกังต๊อก ถือเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุด 1 ใน 3 ของเมืองนี้ มีอายุประมาณ 200 ปี
ตามตำนานกล่าวว่าสร้างโดย ดรุปธอป ฆาร์โป (Drupthop Karpo) พระลามะผู้บรรลุณาน ตันตระ-วัชร ขั้นสูง ซึ่งเหาะมาจากเขาแมนัม (Maenam : ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของสิกขิม) มาจำศีลภาวนามาปฏิบัติวิเวกธรรม ณ เนินเขาแห่งนี้ แล้วสร้างวิหารเล็กๆขึ้นหลังหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ เอนเซย์ .. แปลว่า มหาพลังสถาน
ครั้งราวทศวรรษที่ 1840 รัชสมัย ซิด์โฆง นัมจ์เยล (Sidkeong Nurngyal : กษัตริย์รัขกาลที่ 8) พระองค์ได้อุปถัมภ์วัดนี้ และบูรณะครั้งใหญ่ จนมีลักษณะอย่างที่เห็น เมื่อปี ค.ศ. 1909-1910 สมัยปลายรัชกาล โธทุป นัมจ์เยล
Enchey Monastery .. มีชื่อที่หมายถึง ‘วัดแห่งความสงบสงัด’ หรือ ‘วัดแห่งความสันโดษ’ ปัจจุบันมีฐานะเป็นวัดหลวงของราชวงศ์สิกขิม และทุกพระองค์ต้องเสด็จมาประกอบพิธีสำคัญๆ กันที่นี่ ทั้งพระราชพิธีอภิเษกสมรส พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และอื่นๆ มิได้ขาด
ทางเดินเข้ามาในวัดร่มรื่น มองเห็น ระฆังหมุน หรือ กงล้อมนตราขนาดเล็ก .. ประดับอยู่บนกำแพงทั้งสองข้างของทางเดิน
ซึ่งกงล้อมนตรา หรือ กงล้อภาวนาเหล่านี้ ภายในจะมีบทสวด อาจจะเป็นร้อยบทหรือพันบทอยู่ในนั้น การที่เราหมุนกงล้อ 1 รอบ ก็เท่ากับเราได้สวดมนต์บทนั้นๆแล้ว การเดินจะหมุนจากขวาไปซ้าย ใครจะหมุนกี่รอบก็ได้
.. ในขณะที่เดินหมุนกงล้อ อาจจะกล่าวบทสวด .. โอม มณี ปัทเม หุม .. โอ ดวงมณีในดอกบัว ซึ่งหมายถึง หัวใจที่เบิกบาน หลุดพ้นจากกิเลส .. รวมถึงอ้อนวอนให้พระโพธิสัตว์มาปกป้องคุ้มครองเราด้วย
กงล้อมนตราขนาดเล็กเหล่านี้ เหมือนจะเป็นเส้นนำสายตาไปสู่ กงล้อมนตราขนาดใหญ่มาก ซึ่งตั้งอยู่ในศาลาตรงจุดกึ่งกลางของทางเดิน
วิหารหลังเก่า .. มีความงดงามด้านศิลปะและสถาปัตยกรรม แม้จะไม่เก่าแก่เท่า “วัดรุมเต็ก” เพราะเพิ่งสร้างในสมัยกษัตริย์องค์ที่แปดของสิกขิม
.. แต่ก็สามารถทำให้เราได้เห็นฝีมือและความคิดของชาวสิกขิมที่ถ่ายทอดออกมาได้
ในวันที่เราไปเยือน ... มีพระลามะชั้นผู้ใหญ่กำลังสวดมนต์ทำพิธี
มีลามะน้อยตีกลอง เคาะฉาบ กรับ ในขณะที่พระลามะหนุ่มๆจะเป่าแตร เป็นจังหวะใช้ประกอบการสวดมนต์ ที่ฟังแล้วศักดิ์สิทธิ์
ภาษาในบทสวด ท่วงทำนอง และเสียงดนตรี .. นับเป็นพิธีกรรมทางพุทธศาสนาที่เป็นอุบาย เป็นเครื่องมือ ที่ไม่ต้องกำหนดอย่างแน่ชัด มีความยืดหยุ่นสูง และแตกต่างไปตามวัฒนธรรม ตามความนิยมของแต่ละชนชาติ แต่ละสังคม
.. ในขณะที่พิธีกรรมดำเนินไป .. เราสามารถเข้าไปไหว้สักการะพระประธาน หรือนั่งฟังสวดด้านในด้วยก็ได้ แต่ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพจากด้านในวิหาร
Can I take photos from outside? .. ฉันถามพระลามะ
Yes, you can. But please do not take them from inside. .. คำตอบนี้ฉันตีความว่า ถ่ายภาพอะไรก็ได้ แต่ต้องไปยืนถ่ายด้านนอก รวมถึงถ่ายภาพเข้าไปด้านใน
ผู้เลื่อมใสศรัทธาจากภูฏาน …
วิหารหลังใหม่ ... เคลือบด้วยแม่สี อย่างสีเหลือง สีแดง เหมือนเช่นวัดทิเบตทั่วไป หันไปทางไหนจึงดูเจิดจ้าไปหมด
วิหารใหม่หลังนี้ ถูกสร้างขึ้นให้กว้างขวางกว่าเดิม เพื่อให้สะดวกและเพียงพอสำหรับพุทธศาสนิกชนที่เลื่อมใส ศรัทธา หลั่งไหลเข้ามาสักการะบูชา และบำเพ็ญภาวนาในอารามจำนวนมากทุกวัน
ภาพบนหนัวด้านนอกของวิหาร
ด้านในมีพระพุทธรูป และรูปเคารพให้กรายสักการะ .. สามารถถ่ายภาพจากด้านนอกเข้าไปด้านในได้
ภายในมีภาพเขียนสวยๆทุกด้านของผนัง
วัดแห่งนี้ มีพระสงฆ์ประมาณ 90 รูป .. ทางวัดจะมีพิธีบวงสรวงประจำปี “เทศกาลเตซู” หรือ “ระบำหน้ากาก Chaam” ซึ่งถือเป็นงานเฉลิมฉลองในวันที่ 18 และ 19 ในเดือนที่ 12 ตามปฏิทินจันทรคติ (ประมาณช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม)
ด้านหนึ่งของวัด เป็นที่ตั้งของอาคารที่ใช้เก็บพระไตรปิฏก .. มีพระพุทธรูปเมตไตรย และรูปเคารพทางศาสนาตั้งอยู่ด้านหนึ่ง ให้ผู้ที่เลื่อมใสได้กราบไหว้ ขอพร
คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ .. ถูกเก็บรักษาอย่างดี
… เมื่อมองดูใกล้ๆ จะเห็นว่าคุมภีร์เหล่านี้ หุ้มห่อด้วยผ้า
ด้านหนึ่งของห้อง มีรูปพระเถระชั้นผู้ใหญ่
ระเบียงอาคารมีภาพวาดตำนานนิทานพื้นบ้านที่จะพบเห็นเป็นรูปภาพฝาผนังในทุกวัดทิเบต
นิทานพื้นบ้าน เรื่อง “สี่สหาย” ที่เล่าว่า .. ช้างเดินมาพบต้นไม้ใหญ่ออกลูกผลดกดี จึงตรงเข้าไปใช้งวงจับลูกผลไม้ใส่ปาก ทว่าลิงก็โผล่ออกมาจากพุ่มไม้บอกว่า ช้าก่อน ต้นไม้นี้ฉันเป็นคนดูแลรักษาอยู่ ฉันมาก่อน ฉันเป็นเจ้าของ เธอต้องขออนุญาตจากฉัน
.. ช้างบอกว่าตกลงท่านเป็นพี่ใหญ่ ฉันขออนุญาตกินผลไม้ ก่อนที่ลิงจะตอบกระต่ายก็กระโดดออกมา บอกว่า .. ช้าก่อนต้นไม้ต้นนี้ฉันดูแลตั้งแต่ยังเล็กอยู่เลย รดน้ำพรวนดินจนเติบใหญ่ พวกเธอต้องขออนุญาตฉันก่อน
.. ทั้งลิงและช้างตอบตกลง ท่านเป็นพี่ใหญ่ท่านมาก่อน พวกฉันขออนุญาตกินผลไม้ กระต่ายยังไม่ทันตอบ นางไก่ฟ้าก็บินออกมา บอกว่าเดี๋ยวก่อนๆ ฉันต่างหากที่เป็นผู้ก่อกำเนิดต้นไม้ต้นนี้ ฉันเป็นคนกินผลไม้และคายเมล็ดพันธ์ต้นไม้นี้ไว้ ฉันจึงมาก่อน
.. ทั้งช้าง ลิง กระต่ายจึงตอบว่า ตกลงท่านมาก่อน ท่านเป็นพี่ใหญ่ พวกเราขออนุญาตกินผลไม้ นั่นคือที่มาของสีสหายที่เป็นมิตรกันอย่างยิ่ง เป็นที่รู้จักกันไปทั่วป่า ให้สัตว์อื่นๆ ชื่นชมในความเอื้ออารีย์ต่อกัน แบ่งปัน พึ่งพาอาศัยกัน
นิทานเรื่องนี้มีผู้ที่ตีความไปในหลายทางทั้งในทางธรรมว่า .. สัตว์แต่ละชนิดเป็นตัวแทนของจิตวิญญาณระดับต่างๆ
.. แต่คนส่วนใหญ่ตีความกันในความหมายทางโลกในแง่ของการเป็นมิตรต่อกัน และการจัดการจัดสรรประโยชน์ร่วมกัน และการอยู่ร่วมกันได้โดยไม่เอาเปรียบกัน มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่มีพละกำลังมหาศาล หรือผู้น้อยที่เป็นสามัญชนคน
วัดเอนเซย์ เปิดให้บริการ : วันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 06.00-16.00 น. ปิดวันอาทิตย์
โฆษณา