20 มิ.ย. 2023 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์

พระไตรปิฎกพิมพ์อักษรไทย อธิปไตยของแผ่นดิน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชหรือพระพุทธเจ้าหลวงผู้เป็นที่รักเทิดทูนของประชาชนชาวไทย ทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อพระชนมายุได้เพียง ๑๕ พรรษา หลังจากครองราชสมบัติได้ ๕ ปี ทรงมีพระราชดำรัสต่อที่ประชุม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยว่า
“บัดนี้เราได้ดำรงราชสมบัติ มีชนมายุครบถ้วน ๒๐ ปีบริบูรณ์ ควรจะรับอุปสมบทได้ ขอลาพระบรมวงศานุวงศ์แลท่านเสนาบดีออกผนวชในบวรพระพุทธศาสนา เพื่อปฏิบัติการสนองพระเดชพระคุณสมดังพระราชประสงค์ในสมเด็จพระบรมชนกนาถ”
และในวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๑๖ ได้เสด็จออกผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นเวลา ๑๕ วัน นับเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่เสด็จออกผนวชขณะครองราชย์สมบัติ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่เสด็จออกผนวชขณะครองราชย์สมบัติ
นัยว่าการออกผนวชในครั้งนี้นอกจากเพื่อทรงอุทิศถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ และเพื่อการสืบทอดพระราชประเพณีแล้ว ยังเป็นกุศโลบายรวบอำนาจการปกครองประเทศที่ตกอยู่ในมือผู้สำเร็จราชการขณะนั้นคืนมาเป็นของพระองค์ เพราะเมื่อทรงลาสิกขาแล้วได้มีการประกอบพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ เท่ากับเป็นการประกาศอย่างชัดเจนว่า พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้มีอำนาจในการปกครองแผ่นดินสูงสุด
ตลอดระยะเวลา ๔๐ กว่าปีแห่งการครองราชสมบัติ เป็นช่วงที่ประเทศสยามต้องเผชิญกับอิทธิพลของชาติมหาอำนาจที่เข้ามาล่าอาณานิคมในทวีปเอเชีย ประเทศต่าง ๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ลังกา พม่า หรือเขมร ต่างตกเป็นเมืองขึ้นของชาติยุโรปทั้งสิ้น เหลือเพียงสยามประเทศเท่านั้นที่ยังคงรักษาเอกราชไว้ได้
รัชกาลที่ ๕ ทรงเล็งเห็นภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนา และทรงถือเป็นหน้าที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนทุกคนในชาติที่จะร่วมแรงร่วมใจกันรักษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกให้จงได้
แม้ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการสร้างคัมภีร์ใบลานหลวงฉบับทองทึบ จารจารึกพระไตรปิฎกบาลีด้วยอักษรขอม ตามธรรมเนียมปฏิบัติแห่งพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีแล้วก็ตาม แต่ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลทรงเห็นประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีการพิมพ์มาใช้ในการเผยแผ่พระศาสนาด้วย
ในปีพ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงอาราธนาพระเถระ และทรงเชิญพระบรมวงศานุวงศ์รวมทั้งข้าราชการทุกฝ่ายเข้ามาประชุมกัน ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อประกาศพระราชประสงค์ที่จะจัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยอักษรสยามเผยแพร่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้ทันงานเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี (ร.ศ. ๑๑๒ หรือ พ.ศ. ๒๔๓๖)
โดยโปรดเกล้าฯ อาราธนาฝ่ายคณะสงฆ์อันประกอบด้วยพระสงฆ์ทั้งในเมืองและหัวเมืองรับผิดชอบการตรวจแก้เนื้อความภาษาบาลี และให้ฝ่ายคฤหัสถ์รับผิดชอบเรื่องการจัดพิมพ์ การประชุม และการจัดการอื่น ๆ ให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี ซึ่งหากการดำเนินงานและการจัดพิมพ์เป็นไปตามที่พระองค์ได้วางไว้ หมายความว่า ในอีก ๗ ปีข้างหน้าสยามประเทศสามารถรอดพ้นเงื้อมมือต่างชาติ และยังคงรักษาเอกราชควบคู่ความไพศาลแห่งบวรพระพุทธศาสนาได้สำเร็จ
พระราชโองการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยอักษรสยามดังกล่าว แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีการบันทึกพระไตรปิฎกจากการจารจารึกลงในใบลานเป็นการพิมพ์ด้วยกระดาษเย็บเข้าเล่มเป็นหนังสือ ส่วนการเปลี่ยนแปลงอักษรที่บันทึกเนื้อความจากอักษรขอมซึ่งถือเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์มาแต่โบราณกาลมาเป็นอักษรสยามนั้น ยังถือเป็นการแสดงอารยธรรมของชาติอีกด้วย
ในที่สุดพระไตรปิฎกชุดแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาโลก คือ พระไตรปิฎกจุลจอมเกล้าบรมธรรมิกมหาราช ร.ศ. ๑๑๒ จำนวน ๑,๐๐๐ ชุด ชุดละ ๓๙ เล่ม* ได้เสร็จสมบูรณ์ทันการเฉลิมฉลองพระราชพิธีรัชดาภิเษกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี
*ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ จึงมีการพิมพ์พระไตรปิฎกอีก ๖ เล่ม จนครบ ๔๕ เล่ม
พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว : Cr : World Tipiṭaka Foundation by Dhamma Society
หลังจากพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสวดมนต์ฉลองพระไตรปิฎกเสร็จสิ้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานพระไตรปิฎกและตู้บรรจุไปยังพระอารามหลวงและวัดราษฎร์ทั้งในกรุงและหัวเมือง บางวัดตัวแทนคณะสงฆ์ก็เดินทางมารับพระราชทานพระไตรปิฎกเอง ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
บางวัดพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้จัดกระบวนแห่หลวงอัญเชิญพระไตรปิฎกไปที่วัด มีทั้งกระบวนแห่ทางบกและทางน้ำ โดยแต่วัดได้จัดกระบวนแห่เข้าสมทบประกอบด้วยคณะสงฆ์และสาธุชนจำนวนมาก เมื่อประดิษฐานพระไตรปิฎกภายในวัดเรียบร้อยแล้ว วันต่อมาจึงมีการฉลองสมโภชและการจัดพิธีกรรมทางศาสนา อาทิ การสวดพระพุทธมนต์ การแสดงพระธรรมเทศนา การจัดมหรสพ การสักการะ และการเวียนเทียนบูชาพระไตรปิฎก เป็นต้น
สำหรับพระไตรปิฎกอีกส่วนโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานแก่สถาบันการศึกษากว่า ๒๖๐ สถาบัน ใน ๓๐ ประเทศทั่วโลก ทั้งทวีปยุโรป ออสเตรเลีย อเมริกา และเอเชีย พระไตรปิฎกทุกเล่มมีตราแผ่นดินประทับบนปกหน้า ภายในเล่มมีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในวโรกาสที่เฉลิมฉลองครองราชย์ครบรอบ ๒๕ ปี
พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในคัมภีร์ทุกเล่มของพระไตรปิฎกฉบับจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ. ๑๑๒ และตัวอย่างหน้าแรกจากคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก : Cr : University of St Andrews
และหน้าแสดงการปริวรรตอักษรสยามเป็นอักษรโรมัน เป็นการประกาศให้โลกรู้ว่าประเทศไทยเป็นดินแดนที่มีเอกราช โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขปกครองแผ่นดินมายาวนานและเป็นดินแดนที่อาณาประชาราษฎร์มีอารยธรรมและความรู้ด้านเทคโนโลยีควบคู่ไปกับศีลธรรมอันไพบูลย์แห่งบวรพระพุทธศาสนา สมดั่งพระราชดำรัสที่พระองค์ให้ไว้ ณ วัดพระศรีรัตนศาสนาราม เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐) ว่า
“...เมื่อข้าพเจ้าไปถึงประเทศใด ซึ่งได้รับพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์นั้น รักษาไว้ในหอสมุดใหญ่ต่าง ๆ ย่อมมากล่าวสรรเสริญการซึ่งเราได้ทำ แลได้ตั้งสมุดไว้ในที่อันงดงามมั่นคงทั่วทุกแห่ง มีนักปราชญ์ทั้งหลายได้อุตสาหะเรียนรู้พระพุทธวะจะนะมาก กิติศัพท์ความสรรเสริญธรรมของพระพุทธเจ้า ย่อมปรากฏฟุ้งไปในประเทศที่ไกลทั้งหลายมากขึ้นโดยลำดับ...”
เป็นที่น่าสังเกตว่าปีที่พิมพ์พระไตรปิฎกแล้วเสร็จ คือ ร.ศ. ๑๑๒ นั้น ตรงกับวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ที่สยามประเทศเกิดกรณีพิพาทอย่างรุนแรงกับประเทศฝรั่งเศสและถูกบีบให้ต้องเซ็นสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรม จำต้องยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส และต้องเสียแผ่นดินอีกหลายส่วนในเวลาต่อมา
เรือรบเลอ ลูแตง (Le Lutin) ของฝรั่งเศสจอดทอดเสมออยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้าสถาทูตฝรั่งเศส ช่วงเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒
ความมั่นคงของสยามประเทศอยู่ในภาวะสั่นคลอนและเสี่ยงต่อการตกเป็นเมืองขึ้น การพระราชทานพระไตรปิฎกอันล้ำค่านี้ไปทั่วโลกจึงเป็นการประกาศความเข้มแข็งของชาวสยามให้โลกได้รู้ แม้ไม่ใช่การแสดงแสนยานุภาพทางการทหารหรืออำนาจด้านกำลังรบ แต่พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์เป็นการแสดงอำนาจทางอารยธรรมและภูมิปัญญาของคนในชาติ จนเป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์จึงทรงคุณค่าแห่งการสืบทอดพระพุทธศาสนาและเป็นส่วนหนึ่งแห่งการรักษาอธิปไตยของชาติอย่างเต็มภาคภูมิ
ลิลิตนิทราชาคริต เป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
อ้างอิงท้ายบทความ
ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และวิรัตน์ อุนนาทรวรางกูร. คัมภีร์ใบลานฉบับหลวงในสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ : กรมศิลปากร, 2546.
คณะกรรมการจัดทำหนังสือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้ากรุงสยาม. (2534). สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้ากรุงสยาม. กรุงเทพ : แสงศิลป์การพิมพ์
พระไตรปิฎกใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว / แม่ชีวิมุตติยา (สุภาพรรณ ณ บางช้าง). กรุงเทพ : บริษัท คราฟแมนเพรส จำกัด, 2557.
สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. คู่มือบทโทรทัศน์ สารคดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพ
ติดตามความรู้เนื้อหาสาระดีๆ ได้ที่
โฆษณา