Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เที่ยวไปอ้วนไป
•
ติดตาม
27 พ.ค. 2023 เวลา 16:22 • ท่องเที่ยว
ตกหลุมรัก ‘บ้านไร่’ อุทัยธานี
อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เป็นอำเภอเล็กๆที่ไม่ได้เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วไป แต่ถ้าใครได้ไปเยือนแล้วคงอดที่จะหลงรักไม่ได้
ป้าย ยินดีต้อนรับสู่จังหวัดอุทัยธานี
บ้านไร่ อยู่ไกลจากกรุงเทพฯประมาณ 220 กิโลเมตร เมื่อขับรถผ่านอำเภอด่านช้าง สุพรรณบุรี ไปไม่นานนัก ก็จะเห็นป้ายยินดีต้อนรับสู่จังหวัดอุทัยธานีแล้ว จุดหมายปลายทางในวันนี้คือ อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ค่ะ
ป้ายบอกทางไปบ้านไร่
รถบรรทุกขนอ้อย ที่วิ่งสวนมาไม่ขาดสาย
สองข้างทางถนนสู่บ้านไร่ มีแต่ไร่อ้อย
ป้ายบอกทางอีก 8 กิโลเมตรเท่านั้น เราจะไปถึงอำเภอบ้านไร่แล้วค่ะ แถวนี้ปลูกอ้อยกันเยอะ สองข้างทางจึงเต็มไปด้วยไร่อ้อย ก่อนถึงทางเข้าบ้านไร่ มีโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ จึงมีรถบรรทุกขนอ้อยวิ่งสวนมาไม่ขาดสาย เพื่อไปส่งอ้อยที่โรงงานน้ำตาล
ป้ายบอกทางที่สามแยกใหญ่ เลี้ยวซ้ายเข้าอำเภอบ้านไร่
และแล้วก็มาถึงป้ายบอกทางที่สามแยกใหญ่ซึ่งมีฉากหลังเป็นขุนเขาสีเขียว ทำไมก็ไม่ทราบได้ คนท้องถิ่นที่นี่เวลาจะเดินทางไปอำเภออื่นๆในอุทัยธานี เขาจะบอกว่าเขาจะไปอุทัยฯ ฟังแรกๆก็งง คิดในใจว่าบ้านไร่ก็อยู่ในอุทัยฯนี่นา เอาเป็นว่าคนท้องถิ่นเขาเข้าใจกันแบบนี้ สอดคล้องกับป้ายที่ทำมาแบบนี้เช่นกัน เราเลี้ยวซ้ายเข้าอำเภอบ้านไร่เลยค่ะ
วิวบ้านไร่ มองไปทางไหนก็มีแต่ ไร่
พาหนะยอดฮิตของชาวไร่ที่บ้านไร่
วิวสองข้างทางที่บ้านไร่ สมชื่ออำเภอจริงๆค่ะ เพราะจะมองไปทางไหนก็มีแต่ ไร่ พาหนะของชาวไร่ก็คือรถไถ จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อเห็นรถไถวิ่งอยู่บนถนนสวนกันกับรถของเราไป ไม่ได้มีแค่คันเดียว แต่มีเรื่อยๆ ตลอดทาง ผู้เขียนมองว่าสิ่งนี้คือสัญลักษณ์ที่บอกให้รู้ว่าเรากำลังขับรถอยู่ในบ้านไร่แน่นอนค่ะ
ผู้เขียนแน่ใจว่า อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ยังคงเป็นดินแดน Unseen ของใครหลายคน วันนี้ผู้เขียนจึงขออาสานำเที่ยวบ้านไร่ให้ครบทุกรูปแบบกับ 5 ที่เที่ยว ใน One day trip ค่ะ
ขับรถออกจากกรุงเทพตอนเช้าตรู่ มาถึงบ้านไร่ยังเช้าอยู่ ตั้งใจมาที่แรกเพื่อเอาฤกษ์เอาชัยกับงานบุญ "งานจุลกฐิน" ที่วัดทัพคล้าย นักเที่ยวสายวัฒนธรรมต้องชอบแน่ค่ะ ตอนสายๆ ขับรถขึ้นเขาไป "แก่นมะกรูด" ชมดอกไม้เมืองหนาวและเดินตลาดนัดชาวเขา ดูพืชผักแปลกๆที่ไม่เคยเห็นที่ไหน ขาขับลงมาจะแวะจุดชมวิว เมื่อลงจากเขามาแล้ว จะพาไปชม "ต้นไม้ยักษ์ และตลาดต้นไม้ยักษ์" ซึ่งที่นี่อยู่ไม่ไกลจาก "ตลาดซาวไฮ่" ที่เราจะแวะหาซื้อของฝากกัน และจบทริปแบบเย็นฉ่ำที่ "ฝายกั้นน้ำปางสวรรค์" ตามผู้เขียนมาเลยค่ะ
1) งานจุลกฐิน ที่วัดทัพคล้าย
ขบวนรถแห่ช่างทอผ้าสาธิตการเตรียมเส้นฝ้ายด้วยเครื่องมือโบราณ
งานจุลกฐินที่วัดทัพคล้าย มีหลายรสในงานเดียว เริ่มจากขบวนรถแห่ช่างทอผ้าที่กำลังสาธิตการเตรียมเส้นฝ้าย (เพื่อนำเส้นฝ้ายนี้ไปทอเป็นผ้า)
ขบวนแห่ธงกฐิน (ธงมัจฉา-จระเข้)
ต่อด้วยขบวนแห่ธงกฐิน (ธงมัจฉา-จระเข้) โดยเด็กน้อยนักเรียนจากหลายโรงเรียนในบ้านไร่
การแต่งกายและการฟ้อนรำของสาวๆ ชาวไท-ลาว เชื้อสายกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง
ตามหลังขบวนแห่ธงกฐินมาติดๆ ก็คือการฟ้อนรำของสาวๆชาวไท-ลาว เชื้อสายกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง ซึ่งคนที่มาเที่ยวงานก็จะได้เห็นการแต่งกายที่เป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง ตามปกติผู้หญิงจะสวมเสื้อสีคราม (เป็นสัญลักษณ์ของหญิงลาวครั่ง) หรือไม่ก็เสื้อสีขาว (เป็นสัญลักษณ์ของหญิงลาวเวียง) แต่ที่เห็นในภาพเป็นเสื้อสีเหลืองคือเสื้อที่ใส่สำหรับเทิดพระเกียรติฯ
ส่วนผ้าซิ่นให้สังเกตว่าทุกคนใส่แบบเดียวกันหมด คือเป็นผ้าซิ่นสีแดงสด และมีลวดลายจกเป็นเรขาคณิต เรียกว่า ผ้าซิ่นตีนจก อันเป็นอัตลักษณ์ของผ้าทอมือลาวครั่ง คนเล่นผ้ารู้จักกันดีในนามของ ผ้าบ้านไร่ ที่โด่งดังค่ะ
พิธีกวนกระยาสารททิพย์
ดอกฝ้าย
สาธิตกระบวนการเตรียมเส้นฝ้ายด้วยเครื่องมือโบราณ
เมื่อการฟ้อนรำจบลง จะเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ซึ่งถือเป็นเริ่มต้นงานจุลกฐิน คือ พิธีกวนกระยาสารทมงคล หลังจากนั้น ตลอดวันจะมีสาธิตกระบวนการตั้งแต่เตรียมเส้นฝ้ายด้วยเครื่องมือโบราณ ไปจนถึงการทอผ้า แล้วย้อมผ้าด้วยพืชพันธุ์ธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น ก่อนที่จะตัดเย็บเป็นสบง จีวร และสังฆาฏิ ทั้งกระบวนการนี้ต้องแล้วเสร็จภายในเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อถวายผ้ากฐินให้กับพระสงฆ์ในเช้าวันรุ่งขึ้น โดยจะมีการตักบาตรเทโวและมีโรงทานในตอนเช้าก่อนที่จะถวายผ้ากฐิน
ผ้าทุง (ภาษากลางคือผ้าธง) คือผ้าเล่าเรื่องของกลุ่มชาติพันธ์ุลาวครั่ง
ภายในงานจุลกฐิน จะมีการประดับประดาพื้นที่รอบวัด โดยผ้าทุง (ภาษากลางคือผ้าธง) เป็นผ้าเล่าเรื่องและเป็นงานทอมือที่มีการเกาะลวดลายจก เป็นรูปสัตว์ป่าห้วยขาแข้งหรือรูปเทวดา หรือไม่ก็เป็นภาพเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ซึ่งช่างทอที่นี่จะพร้อมใจกันทอถวายวัด เพื่อใช้เป็นฉากหลังของธรรมาสน์ (แท่นสำหรับพระสงฆ์ใช้นั่งเทศน์)
2) แก่นมะกรูด และจุดชมวิวที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 650 เมตร
ทางขึ้นแก่นมะกรูด
ระหว่างทางขึ้นแก่นมะกรูด มีป้ายชี้บอกทาง 'ต้นพระเจ้าห้าพระองค์'
ทางขึ้นแก่นมะกรูด ไม่ชันค่ะ ขับขึ้นสบายๆ ระหว่างทางขึ้นเขา จะเห็นป้ายสีน้ำเงิน 'ต้นพระเจ้าห้าพระองค์ รุกข มรดกของแผ่นดิน’ ได้ยินว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของที่นี่
แปลงดอกไม้สีชมพู คือภาพแรกที่เห็นเมื่อขึ้นถึงยอดเขา
และแล้วเราก็มาถึงแก่นมะกรูด ภาพแรกที่เห็นเมื่อขึ้นมาถึงยอดเขา ก็คือแปลงดอกไม้สีชมพูที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา กำลังบานสะพรั่งต้องกับแสงแดดตอนสาย มีฉากหลังเป็นขุนเขาสีเขียว ลมพัดอ่อนๆ สดชื่นมากค่ะ
ป้ายแก่นมะกรูด จุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูป
ป้ายแก่นมะกรูด คือจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปกันค่ะ คำว่าแก่นมะกรูด มาจากชื่อตำบลแก่นมะกรูด
อนุสาวรีย์ คุณสืบ นาคะเสถียร บนแก่นมะกรูด
หุ่นจำลองของ 7 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งป่าห้วยขาแข้ง
ที่แก่นมะกรูดนี้ เราจะเห็นสัญลักษณ์สองอย่างของการอนุรักษ์ป่าห้วยขาแข้ง อย่างแรกคือ อนุสาวรีย์ของ ‘ตำนานป่าแห่งวีรบุรุษ’ คุณสืบ นาคะเสถียร ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่คู่กับป่าห้วยขาแข้งในความทรงจำของใครหลายคน ส่วนอีกอย่างหนึ่งก็คือ หุ่นจำลองของ ‘7 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งป่าห้วยขาแข้ง’ ผู้เขียนขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ป่าห้วยขาแข้งโดยการเก็บภาพมาฝากครบทั้งหมดค่ะ อันที่จริงผู้เขียนพบถึง 8 ผู้ยิ่งใหญ่ เพราะในภาพสุดท้ายคือเสือดำและเสือดาวอยู่ในภาพเดียวกันค่ะ
แปลงดอกลิลลี่ลำโพงหลากสีบนแก่นมะกรูด
ไฮไลท์สำคัญของการมาเที่ยวแก่นมะกรูดในช่วงหน้าหนาว นอกจากการมากางเต็นท์นอนรับลมหนาวแล้ว ก็คือการมาชมแปลงดอกลิลลี่ลำโพง สวยงามทุกสีค่ะ
ผักพื้นถิ่นที่คนท้องถิ่นนำมาขายบนแก่นมะกรูด
ที่นี่ไม่ได้มีแต่ดอกไม้สวยๆเท่านั้น แต่ยังมีผักผลไม้หน้าตาแปลกๆ ที่ชาวเขาและคนพื้นที่นำมาวางขาย เป็นการเปิดหูเปิดตาให้คนกรุงเทพฯอย่างผู้เขียนได้เป็นอย่างดี
จุดชมวิว ทางผ่านขาลงจากแก่นมะกรูด
ป้ายบอกความสูงของจุดชมวิวระหว่างทางลงจากแก่นมะกรูด
ทางลงจากแก่นมะกรูด มีจุดชมวิวเล็กๆที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 650 เมตร สามารถมองเห็นขุนเขาสีเขียวของอำเภอบ้านไร่แบบ 360 องศา มองจากตรงนี้จะเห็นทางลงเขาจุดที่เป็นโค้งหักศอกค่ะ
3) ต้นไม้ยักษ์ และตลาดต้นไม้ยักษ์
ทางเข้าตลาดต้นไม้ยักษ์
สมุนไพรท้องถิ่นที่ขายในตลาดต้นไม้ยักษ์
ใกล้กับวัดถ้ำเขาวง คือหมู่บ้านสะนำ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ‘ต้นไม้ยักษ์’ อันเป็นที่ท่องเที่ยวที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินที่นี่ เป็นความอลังการที่เมื่อใครมาบ้านไร่ก็อยากจะมาดู ‘ต้นไม้ยักษ์’ ให้เห็นกับตาสักครั้ง
ทางเข้าไปชมต้นไม้ยักษ์ คือตลาดต้นไม้ยักษ์ เป็นตลาดเล็กๆให้เดินเล่นช้อปปิ้งผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น อย่างผ้าทอและสมุนไพร และมีของทานเล่นให้แวะซื้อรองท้องได้ตลอดทาง
ร้านจักรยานให้เช่า ด้านหน้าตลาดต้นไม้ยักษ์
สำหรับสายปั่น ที่ด้านหน้าของตลาดต้นไม้ยักษ์ ก็มีร้านจักรยานให้เช่า เอาไปถีบเล่นชิวๆ ชมวิวป่าหมากระหว่างทางเข้าไปชมต้นไม้ยักษ์
ป้ายต้นไม้ยักษ์
ต้นไม้ยักษ์ แห่งบ้านสะนำ เทียบความสูงกับคน
ต้นไม้ยักษ์
เดินผ่านตลาดต้นไม้ยักษ์มาเพลินๆ ครู่เดียวก็จะได้พบกับความอลังการของต้นไม้ยักษ์ที่ยักษ์สมชื่อจริงๆ ข้างต้นไม้ยักษ์ มีป้ายเขียนว่า “ต้นไม้ยักษ์ 300 ปี แหล่งชุมชนชาติพันธุ์ลาวครั่ง ‘บนแผ่นดินสยาม’”
4) ตลาดซาวไฮ่ (ตลาดชาวไร่)
ทางเข้าตลาดซาวไฮ่
ร้านข้าวไร่ไข่เจียว ในตลาดซาวไฮ่
กาแฟดิป สไตล์บ้านไร่
ป้ายไอศกรีมเก๋ๆในตลาดซาวไฮ่
จากต้นไม้ยักษ์ ขับรถต่อมานิดเดียวก็จะถึงตลาดซาวไฮ่ คำว่าซาวไฮ่ เป็นภาษาลาวท้องถิ่น หมายถึง ชาวไร่ ที่นี่เปิดทุกวันเสาร์และอาทิตย์ มาที่นี่ได้ทั้งชิมทั้งช้อปและบันเทิงค่ะ มีทั้งกาแฟดิป ของท่านเล่น ของกินจริงจัง ของฝาก ผักผลไม้ต่างๆที่ชาวไร่ที่นี่ปลูกเองและนำมาขายเอง
นิทรรศการขนาดย่อม ให้ความรู้เรื่องพืชพันธุ์ของบ้านไร่
พืชพันธุ์ท้องถิ่นที่แปลกตา จัดแสดงในนิทรรศการ ‘พันธุกรรมชาวไฮ่’
พืชพันธุ์ท้องถิ่นที่แปลกตาหลากหลายชนิดได้ถูกนำมาจัดแสดงในลักษณะของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขนาดย่อมๆ ตั้งชื่อว่า ‘พันธุกรรมชาวไฮ่’ เพื่อให้คนต่างถิ่นและเด็กๆได้เรียนรู้แบบเห็นกับตา
ร้านขายผ้ามัดย้อมในตลาดซาวไฮ่
ผ้าซิ่นตีนจก อัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่งที่บ้านไร่
นอกจากนี้ ยังมีร้านจำหน่ายผ้าทอมือหลากหลายประเภท เช่น ผ้ามัดย้อม ผ้าทอกะเหรี่ยงโป และที่สำคัญคือร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าทอมือลาวครั่ง หรือผ้าซิ่นตีนจก ซึ่งเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงโด่งดังของอำเภอบ้านไร่อีกด้วย
ดนตรีเล่นสดที่ตลาดซาวไฮ่
ผลงานศิลปะโดยศิลปินท้องถิ่น ที่ตลาดซาวไฮ่
ม้าไม่ไผ่
ในบางช่วงเวลายังมีดนตรีสดโดยนักดนตรีท้องถิ่น และผลงานศิลปะโดยศิลปินท้องถิ่นเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีม้าไม้ไผ่ให้ฝึกเล่นได้ โดยจะมีผู้สอนตัวน้อยๆคอยสาธิตให้ดู เรียกว่ามาที่นี่ที่เดียวครบจบเลยจริงๆ
5) ฝายกั้นน้ำปางสวรรค์
ป้ายบอกทางเข้า ฝายกั้นน้ำปางสวรรค์
ทางลงฝาย
ฝายกั้นน้ำปางสวรรค์ มีคนใจดีไปทำชิงช้าไว้ให้ด้วย
จุดเช็คอินถ่ายรูป ที่ฝายกั้นน้ำปางสวรรค์ เหมือนน้ำตกขนาดเล็ก
ฝายกั้นน้ำปางสวรรค์แห่งนี้มีทางให้ลงไปเดินลุยน้ำเล่นเย็นๆใจ ละอองน้ำสาดเป็นฝอยทำให้เย็นสบายและสดชื่นมากเหมือนกับอยู่บนสวรรค์สมชื่อฝาย แถมยังมีคนใจดีไปทำชิงช้าไม้ไผ่เอาไว้ให้เป็นจุดเช็คอินถ่ายรูปเก๋ๆที่มีพื้นเป็นสายน้ำไหลและมีฉากหลังเป็นน้ำตกอีกด้วย
ฝายกั้นน้ำปางสวรรค์ ก็เป็นที่เที่ยวสุดท้ายของทริปนี้แล้วค่ะ
ลานตากข้าวโพดที่บังเอิญเจอในปั๊มน้ำมัน ก่อนออกจากบ้านไร่
ลานตากข้าวโพด สวยเหมือนงาน Installation Art
ระหว่างทางกลับกรุงเทพฯ ผู้เขียนรู้สึกโชคดีมากเมื่อเลี้ยวเข้าปั๊มเพื่อเติมน้ำมันก่อนออกจากบ้านไร่ บังเอิญเจอลานตากข้าวโพดสีส้มสดอยู่ในปั๊ม สวยงามเหมือนงานศิลปะกลางแจ้ง (Installation Art) จนต้องยกกล้องขึ้นมาเก็บภาพหลายมุม รู้สึกโชคดีก็เพราะว่าลานตากข้าวโพดนี้ซ่อนอยู่ลึกที่ท้ายปั๊ม ถ้าไม่เลี้ยวเข้ามาเติมน้ำมันก็คงขับผ่านเลยไป
ในตอนกลางวัน บ้านไร่จะมีแต่สีเขียวทั่วทั้งบริเวณ แต่ในยามเย็นกลับเป็นสีทอง ก่อนอำลาบ้านไร่ในทริปนี้ ผู้เขียนจึงเก็บภาพแสงสีทองของบ้านไร่ยามเย็นมาฝากทุกคนค่ะ
แสงสีทองของบ้านไร่ยามเย็น #1
แสงสีทองของบ้านไร่ยามเย็น #2
แสงสีทองของบ้านไร่ยามเย็น #3
แสงสีทองของบ้านไร่ยามเย็น #4
หลงรักบ้านไร่ ไว้จะกลับมาเที่ยวอีกแน่นอนค่ะ คนที่บ้านไร่น่ารัก จริงใจและใจดี ผู้เขียนเป็นขาประจำในการมาเที่ยวบ้านไร่ บอกเลยว่าคนบ้านไร่จะยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกคนเสมอค่ะ
ท้องฟ้ายามเย็นที่บ้านไร่
ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ แล้วพบกันใหม่ในโพสต์หน้านะคะ
ขอทิ้งท้ายไว้ด้วยภาพท้องฟ้ายามเย็นที่บ้านไร่ ผู้เขียนมองยังไงก็เห็นก้อนเมฆเป็นรูปหงส์บิน แล้วผู้อ่านล่ะคะ เห็นเป็นรูปอะไร
therealcheckin
สถานที่เที่ยวเด็ดที่อยากแชร์
บันทึก
14
3
13
14
3
13
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย