30 พ.ค. 2023 เวลา 22:01 • สุขภาพ

ผลของ "ยาแก้ปวด" ต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ยาแก้ปวดโดยเฉพาะอย่างยิ่งยาในกลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal anti-inflammatory drug:NSAIDs) ถือเป็นยาที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย และมักพบการใช้ยาดังกล่าวอย่างไม่สมเหตุผล โดยขาดการตระหนักถึงผลข้างเคียงระยะยาว ทั้งการเกิดแผลในระบบทางเดินอาหารและพิษต่อไต(ในที่นี้ขอแทนยากลุ่มนี้ด้วยคำว่า"ยาแก้ปวด" เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจตรงกัน)
ล่าสุดมีการศึกษาที่บ่งชี้ว่า ผลของยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดนั้นมีความชัดเจนและน่ากังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ในขนาดสูงเป็นเวลานาน
ตารางความจำเพาะต่อตัวรับ COX-2 ของยาแก้ปวดชนิดต่างๆ
กลไกของยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยสรุปคือ ทำให้เกิดการคั่งของน้ำ ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น​ ส่ง​ผลให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้น​
นอกจากนี้การจับสาร COX-2 เพื่อแก้อาการปวดทำให้ร่างกายผลิต COX-1 เพิ่มขึ้น ทำให้มีลิ่มเลือดหรือเกิดก้อนเลือดอุดตันบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจซึ่งอาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจนถึงกล้ามเนื้อตายได้ โดยจำแนกยาที่มีผลต่อความเสี่ยงในลักษณะต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนี้
💔โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย :Myocardial infarction (MI)
ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เพิ่มความเสี่ยงในการเกิด Recurrence MI 1.25-1.63 เท่า และเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิต 1.5-2.8 เท่า
ยาที่มีความเสี่ยงสูง: Diclofenac, Ibuprofen และ Celecoxib
ยาที่มีความเสี่ยงต่ำ: Naproxen
🧠โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke
ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เพิ่มความเสี่ยงในการเกิด Ischemic stroke มากกว่า Hemorrhagic stroke
ยาที่มีความเสี่ยงสูง: Naproxen
ยาที่มีความเสี่ยงต่ำ: Celecoxib
💔หัวใจล้มเหลว (Heart failure)
ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการหัวใจล้มเหลวกำเริบและเพิ่มอัตราการนอนโรงพยาบาลได้สูง ควรหลีกเลี่ยงยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ทุกตัว
💔ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (atrial fibrillation หรือ AF)
ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เพิ่มอุบัติการณ์การในการเกิด AF จากการที่ผู้ป่วยมีโรคร่วมอื่นๆแล้วพัฒนากลายเป็น AF โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ใช้ยากลุ่ม Selective COX-2 เช่น Celecoxib
💔โรคความดันโลหิตสูง(Hypertension)
ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เพิ่ม Systolic blood pressure (SBP) และ Mean arterial blood pressure (MAP) ได้ ซึ่งยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ทุกตัวมีแนวโน้มเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะ Indomethacin, Piroxicam ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ในระยะยาวควรติดตามความดันโลหิตอย่างใกล้ชิด
แนวทางพิจารณาใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs
***ข้อปฏิบัติที่ควรทราบ***
💥ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันมันในเลือดสูง หรือมีโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่น ๆ อยู่ก่อน เป็นต้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ชนิด Selective COX-2 เช่น Celecoxib (คำเตือนจาก อย.)
💥หากผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดจำเป็นต้องใช้ยากลุ่ม NSAIDs แนะนำให้ใช้.ยา Naproxen ในขนาดต่ำที่สุดและใช้เป็นระยะเวลาสั้นที่สุด
💥แนะนำให้ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs และหากจำเป็นต้องใช้ แนะนำให้กินยาขนาดต่ำที่สุดที่สามารถบรรเทาอาการปวดและอักเสบได้ และไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 1-2 สัปดาห์ โดยยาที่เพิ่มความดันโลหิตเป็นลำดับรองลงมา คือ celecoxib แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังผลต่อความดันโลหิตอย่างใกล้ชิด
💥ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรังควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs
💥ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ชนิดทาภายนอก สามารถใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากเป็นยาใช้เฉพาะที่จึงดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อย
อ้างอิง
Scarpignato, Carmelo & Lanas, Angel & Blandizzi, Corrado & Lems, Willem & Hermann, Matthias & Hunt, Richard. (2015). Safe prescribing of non-steroidal anti-inflammatory drugs in patients with osteoarthritis - An expert consensus addressing benefits as well as gastrointestinal and cardiovascular risks. BMC medicine. 13. 55. 10.1186/s12916-015-0285-8.
โฆษณา