28 พ.ค. 2023 เวลา 14:01 • การศึกษา

เรื่องเล่าบ่ายวันอาทิตย์

"ก้างขวางคอ"
วันอาทิตย์ที่ 28 พ.ค. 66 เวลาประมาณ 12.14 น.
เตรียมเข้าประชุมออนไลน์ตอนบ่ายโมง ลงไปกินข้าวกับแกงส้มปลานิล ตอนเย็นเมื่อวาน แกงเองเอาก้างออกแล้ว แต่มันน่าจะซ่อนในผัก ตอนตักเข้าปากไม่เห็น
.
รู้สึกก้างมันบาดคอมากกว่าที่เคยเป็น สัญญาจำจากเมื่อวาน ว่าก้างปลาไม่ใช่เล็กๆความกลัววิ่งเข้ามา... มองจิตที่กลัวอยู่สักพักคลายไป... ลองดื่มน้ำ ยิ่งกลืนยิ่งเจ็บมากขึ้น... สัญญาเดิมของพยาบาลฉุกเฉินผุดขึ้นมา... ว่าไม่ใช่ก้างเล็กๆ มันปักขวางคออยู่ ยิ่งกลื่นยิ่งอันตราย ควรนิ่งที่สุด ไม่กลืนน้ำลาย... ใช้วิธีบ้วนออกอย่างเดียว
ตั้งสติ ขึ้นไปบอกน้องชายว่าเอารถออก ไป อีอาร์ รพ. แถวๆแยกหลักสี่ (เพราะใกล้บ้านและเป็นคนไข้ของที่นั่นอยู่แล้ว) "พี่ก้างติดคอ เอารถออก" ....แล้วก็ไม่ลืมแปรงฟันอีกที (555 นี่เมตตาหมอและพยาบาล😁)
.
ไม่ลืมปิดหน้าต่างประตู กลัวฝนเท แล้วลงไปจับหมาให้น้อง แบบเนียนที่สุด เพราะกลัวพ่อจะตกใจ
.
ตอนนั้นใช้วิธีเขียนสื่อสาร และนิ่งที่สุด เห็นความคิดตัวเอง "ภาวนาว่าขอให้ร่างกาย จัดการก้างขวางคอชิ้นนี้ตามธรรมชาติ อย่าให้มันเคลื่อนต่อเลย" เสมหะมันเทกันมาจนต้องบ้วนออกบ่อยมาก
ประมาณ 12.40 น. ถึงหน้าห้องฉุกเฉิน อาคารหลังใหม่และใหญ่มาก น้องชายจอดรถให้พี่ลง. ... เวรเปลถาม ว่ามีนัดมั๊ย
.
ตอบไปว่าก้างติดคอมาค่ะ
.
เวรเปลถามย้ำอีกว่ามีนัดมั๊ย พร้อมกับขยับจะเอารถเข็นมาให้ กัดฟันตอบว่าไม่มีนัดค่ะ ก้างปลาติดคอมา... ไม่เป็นไรค่ะเดินได้
.
คุณเวรเปลให้นั่งด้านนอกอาคาร อันนี้เข้าใจได้เพราะช่วงนี้ติดโคขวิดกันเยอะ
.
แล้วคุณเวรเปลเดินผ่านประตูเลื่อนอัตโนมัติเข้าไป รายงานเหตุการณ์แล้วเดินออกมาบอกว่า "ที่นี่ส่องดูได้แต่ไม่มีเครื่องมือคีบออก"
สตั๊นไปครู่นึง จิตปรุงต่อ (อดีตพยาบาลห้องฉุกเฉินถึงกับงง ประกอบกับตอนเป็นครูนิเทศห้องฉุกเฉินไม่เคยสอนนักเรียนแบบนี้เน้อะ)... เห็นความโกรธในจิตผุดขึ้นมาแว๊บหนึ่ง สติที่รู้ตัวตอบคุณเวรเปลกลับไปด้วยน้ำเสียง เรียบๆ ว่า "ช่วยถามให้หน่อยนะคะว่า พี่ควรทำอย่างไรต่อคะ" เวรเปลตอบรับ "ครับเดี๋ยวผมถามให้" หันหลังเดินกลับเข้าไปใหม่
.
แล้วก็เดินออกมาจากประตูเลื่อนอัตโนมัติที่เปิดกว้างออก เสียงเจ้าหน้าที่หญิงในชุดกางเกงสีฟ้า คาดขาว ที่นั่งอยู่ด้านใน สวนออกมาว่า
.
" ไปโรงพยาบาลภูมิพลถ้าเป็นรัฐบาล ไปมงกุฏวัฒนะถ้าเป็นเอกชน ที่นี่ส่องได้แต่ไม่มีเครื่องมือคีบออก"
.
หูที่ได้ยินเสียง มันไล่ตามมาด้วยความคิดในหัวที่ดูเหมือนจะดังกว่า "อะไรวะ เมื่อก่อน อยู่ รพ.เล็กๆ ชานพระนคร เรื่องก้างติดคอ สำหรับ อีอาร์ มันจัดการได้ แต่มันต้องประเมินก่อนมั๊ยวะ"
.
อ้อลืมไปเดี๋ยวนี้ห้องฉุกเฉิน เขาเอาไว้รับ คนไข้แบบเลือดท่วมจอ หัวใจหยุดเต้น ติดอยู่ใต้ท้องรถ แขนขาไร้แรง หรือขาไปทางแขนไปทาง
หรือเราตัดสินใจมาผิดที่เอง วันอาทิตย์แบบนี้ต้องไปหาโรงพยาบาลเฉพาะทาง เรื่องหูคอจมูก เพราะก้างติดคอ หรือเข้าคลินิกเอกชนเล็กๆ ใกล้บ้านไปเลย
.
จะได้สอนลูกหลานใหม่ ว่าระบบปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว
นี่ถ้าไม่ประเมินว่าไม่ใช่ก้างติดคอแบบปกติ และเป็นโรงพยาบาลที่รักษาอยู่ประจำ คงไม่มา
.
เอาเป็นว่าขึ้นรถกลับ ให้น้องชายเบนทิศไป รพ.เอกชน ที่ใกล้ที่สุด
.
ขณะนั่งรถ เสมหะ ในคอมากขึ้นเหนียวขึ้น รถเคลื่อนไประยะหนึ่ง...รู้สึกว่าก้อนเสมหะเหนียวๆ มันพาก้างจากกลางคอไปติดที่ข้างคอ ค้างอยู่แถวๆทอลซิล
.
รีบบอกน้อง กลับบ้าน ถ้ามันอยู่บนทอลซิล จัดการได้ แอปเปิ้ลไซเดอร์เอาอยู่
2
ลองกลืนน้ำลายหลายครั้ง คราวนี้ จิตนิ่งดูในกาย ก้างยังค้างข้างคอด้านขวา ไม่ไอเพิ่ม ไม่แสบเพิ่ม เสมหะลดลง หายใจโล่ง แสดงว่าไม่ได้อยู่จุดที่สำคัญ
.
กลับบ้านก็ยังรู้สึกนิ่ง รับรู้ถึงอาการเจ็บแปลบๆข้างในคอด้านขวา...ขอบใจน้องชาย และขออภัยที่เป็นเหตุให้ต้องวุ่นวาย ในช่วงเวลาที่หนักหน่วงของเขา (น้องสะใภ้ยังนอนอยู่โรงพยาบาลอาการไม่ค่อยสู้ดีนัก) น้องตอบโอเค..."ขอบคุณนะที่ดูแลกัน"💕
จัดแอปเปิ้ลไซเดอร์แบบเจือจางไป ทุกสองชั่วโมง อมกลั้วให้ถึงหลังคอ แล้วกลืน
.
ขณะนี้ยังสังเกตอยู่...มีอาการ เจ็บคอ แต่ไม่ทรมาน กินอาหารอ่อนๆไปก่อน... มันน่าจะเคลื่อนลงกระเพาะได้ ...หวังไว้อย่างนั้น 💕
เล่าเรื่องจบแล้วมาวิเคราะห์เหตุการณ์กันบ้าง
ถึงแม้โรงพยาบาลจะมีนโยบายของห้องฉุกเฉิน ที่รับผู้ป่วยระดับ 1,2,3 เท่านั้น ส่วน ระดับ 4 และระดับ 5 ให้ไป ตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอก ถ้าเร่งด่วนให้ไปโรงพยาบาลเอกชนก็ตาม
ฟังดูแล้วเหมือนดีต่อผู้ปฏิบัติงาน แต่สิ่งสำคัญควรทำให้ครบกระบวนการปฏิบัติ...Triage ตามกระบวนการ ก่อนส่งต่อไม่ว่าจะระหว่างแผนก หรือระหว่างโรงพยาบาล พร้อมกับให้คำแนะนำ...นอกจากนั้นการ Re-triage หรือการประเมินซ้ำ ยังเป็นสิ่งสำคัญ หากผิดพลาดไม่ได้หมายถึงแค่ชีวิตของผู้ป่วย ยังมีผลรบกวนชีวิตการทำงานของผู้ปฏิบัติงานอีกด้วย
ตามกฏหมายกำหนดให้สถานพยาบาลจัดให้ผู้ปฏิบัติการเป็นผู้คัดแยก ไม่ใช่ให้เวรเปลทำหน้าที่แทน เคยมีกรณีแบบนี้แล้วผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างทาง สถานพยาบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
ส่วนแนวทางการคัดแยก ให้ผู้ป่วย level 1,2,3 เข้าห้องฉุกเฉิน แต่สถานพยาบาลต้องจัดให้มีส่วนบริการที่รองรับ level 4,5
"คำว่าก้างติดคอ" ไม่ได้บอกว่าผู้ป่วย อยู่ ใน level 4 หรือ 5 แต่ถ้าก้างติดคอ ในจุดที่อันตรายก็อาจเกิดภาวะฉุกเฉินในระดับ 1,2 ได้เช่นกัน ดังนั้นผู้อยู่ในวิชาชีพต้องเป็นผู้ประเมิน
3
ทำงานด่านหน้าเหนื่อยมากอยู่แล้ว ทำให้จบกระบวนการอีกนิด จะได้ไม่เหนื่อยใจภายหลัง ...เว้นเสียแต่ว่าไม่มีใจ อันนี้ต่อไป AI คงมาแทนที่
เล่าขานเพื่อการศึกษา และให้ประเด็นสะท้อนย้อนคิดกันต่อ ว่าควรปรับระดับการบริการอย่างไร... ควรแล้วหรือที่จะรอให้วัวหายจึงล้อมคอก
โฆษณา