Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
JW BUSINESS
•
ติดตาม
29 พ.ค. 2023 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
ยางพาราไทย
ทำไม ยางพาราไทย ส่งออกลดลง ครึ่งหนึ่ง ใน 10 ปี
รู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยส่งออกยางพารา มูลค่ากว่า 176,000 ล้านบาท
เรียกได้ว่ามากเป็นอันดับ 1 ของโลก ในปีที่ผ่านมา
แม้ประเทศไทยของเราจะดูเป็นแชมป์แห่งการส่งออกยางพารา
แต่มูลค่าการส่งออกที่เราเห็นนั้น ลดลงมากเกินกว่าครึ่งหนึ่งในรอบ 10 ปี
เกิดอะไรขึ้นกับตลาดยางพาราไทย ?
ยางพาราเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของบ้านเรา
มีพื้นที่การปลูกทั้งหมดในประเทศไทย กว่า 24 ล้านไร่
มีการเพาะปลูกมากที่สุดในบริเวณภาคใต้ เนื่องจากสามารถเติบโตได้ดี ในสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น
โดย 3 จังหวัดที่มีการปลูกยางพารามากที่สุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี สงขลา และนครศรีธรรมราช
สำหรับยางพาราต้นหนึ่งนั้น นอกจากจะมีน้ำยางสดจากการกรีดยางของเกษตรกรแล้วยางพาราก็สามารถนำไปผลิตเป็นวัตถุดิบ เพื่อให้ธุรกิจนำไปผลิตเป็นสินค้าต่อ เรียกกันว่า “ผลิตภัณฑ์ขั้นกลาง” รวมถึงเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น ยางล้อรถ และถุงมือยาง อีกด้วย
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ขั้นกลางของยางพารา ก็เช่น
- ยางแท่ง
เกิดจากการนำยางก้อนมาสับ อัด และบดให้เป็นแท่ง
- ยางแผ่นรมควัน
เกิดจากการนำน้ำยางสดใส่ในตะแกรง เติมสารลงไป จากนั้นจึงขึ้นรูป นำไปตากแห้ง และรมควัน
- น้ำยางข้น
เกิดจากน้ำยางสดที่แยกน้ำออกไป เพื่อให้มีความเข้มข้นมากขึ้น
สำหรับประเทศไทย ผลิตภัณฑ์ขั้นกลางนี้เอง เป็นสินค้ากลุ่มยางพาราที่มีการส่งออกมากที่สุด
โดยมีการส่งออกไปยังต่างประเทศ สัดส่วนกว่า 80% แบ่งออกเป็น
- 37% ยางแท่ง
- 22% น้ำยางข้น
- 12% ยางแผ่นรมควัน
โดยมีตลาดส่งออกหลักมากที่สุด คือ ประเทศจีน
สาเหตุที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้กลายเป็นที่ต้องการ
เพราะมันเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของสินค้าหลาย ๆ ชนิด เช่น
- ยางแท่ง และยางแผ่นรมควัน มักจะนำไปผลิตเป็นยางล้อรถ
- น้ำยางข้น สามารถนำไปผลิตเป็น ถุงมือยาง ท่อยางและถุงยางอนามัยได้
โดยไทยเองก็มีความได้เปรียบ เพราะเรามีผลผลิตตั้งต้นจากสวนยางเป็นน้ำยางสด เราจึงสามารถแปรรูปเป็นสินค้าขั้นกลางได้อย่างหลากหลายแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซียและมาเลเซีย ผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่รองจากไทย ที่สามารถผลิตสินค้าขั้นกลางได้เพียง ยางแท่ง เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากเราไปดูมูลค่าการส่งออกยางพาราของไทย ย้อนหลัง 10 ปี พบว่า
ปี 2554 มูลค่าการส่งออก 382,903 ล้านบาท
ปี 2559 มูลค่าการส่งออก 155,757 ล้านบาท
ปี 2564 มูลค่าการส่งออก 176,002 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า มูลค่าการส่งออกยางพาราไทยหายไปกว่าครึ่งหนึ่ง
คำถามที่ตามมาก็คือ มันเกิดอะไรขึ้น ?
อย่างแรกเลย ก็เพราะว่า “ประเทศจีนขยายพื้นที่การปลูกยางพารามากขึ้น”
โดยเฉพาะการเข้าไปลงทุนขยายพื้นที่ ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของไทย
เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า รวมถึงมีการขยายพื้นที่การปลูก ภายในประเทศตัวเองอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงส่งออกยางพาราไปยังจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักได้น้อยลง
ซึ่งนอกจากไทยแล้ว อินโดนีเซีย ผู้ส่งออกยางพาราอันดับ 2 ของโลก ก็ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้เช่นกัน
เรื่องถัดมาก็คือ “ยางแผ่นรมควัน ไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป”
เนื่องจากอุตสาหกรรมยางล้อรถ หันไปใช้ยางแท่งมากขึ้น
ด้วยเหตุผลที่ว่า สามารถควบคุมคุณภาพในการผลิตได้มากกว่า
แม้ว่าไทยจะส่งออกผลิตภัณฑ์ยางแท่งอยู่ไม่น้อย แต่ก็ต้องยอมรับว่า คุณภาพด้อยกว่ายางแท่งของอินโดนีเซีย
เพราะผลิตจากยางแห้งหรือเศษยาง ในขณะที่อินโดนีเซีย ผลิตในระดับที่พรีเมียมกว่า
พอเป็นแบบนี้ จึงทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นผู้นำด้านการส่งออกยางแท่งคุณภาพดีมานาน และสามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดได้อย่างต่อเนื่อง
อีกเรื่องหนึ่ง คือ “สัดส่วนการใช้ยางสังเคราะห์ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น”
เนื่องจากยางสังเคราะห์ผลิตขึ้นจากปิโตรเลียม จึงสามารถควบคุมคุณภาพการผลิตล้อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า
และแม้ภายในล้อเส้นหนึ่ง จะมีการผสมระหว่างยางสังเคราะห์ และยางธรรมชาติ
แต่หากไปดูสัดส่วน ความต้องการใช้ยางธรรมชาติ ต่อยางสังเคราะห์
พบว่าในเกือบทุกทวีป มีการใช้ยางสังเคราะห์ มากถึง 60% แล้ว
สรุปแล้ว ยางพาราไทย พืชความหวังของชาวสวนยาง
ก็เรียกได้ว่ากำลังเจอกับความท้าทายครั้งใหญ่
ทั้งความท้าทายจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่ปลูกยางพารามากขึ้น
ตลาดส่งออกหลักอย่างจีน ที่นำเข้ายางพาราน้อยลง
และกระแสการใช้ยางสังเคราะห์ที่เพิ่มสูงขึ้น
ทั้งหมดนี้ ก็อาจเป็นเพราะเรายังพึ่งพา การส่งออกยางพารา ในรูปแบบของวัตถุดิบมากเกินไป
ไม่ได้มีแบรนด์ผลิตภัณฑ์ที่แข็งแรงพอ และเป็นที่ต้องการในตลาดโลก
จึงเป็นการเปิดความเสี่ยง ในวันที่เกิดความผันผวนของราคายางพารา และความต้องการในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
ความท้าทายของอุตสาหกรรมยางพาราไทยในวันนี้
ก็น่าจะเป็นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยางให้เป็นแบรนด์
และส่งเสริมการแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชเศรษฐกิจของเรา ให้เป็นที่ต้องการในตลาดโลก ให้ได้..
1 บันทึก
1
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย