29 พ.ค. 2023 เวลา 03:54 • การศึกษา

แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2494

เนื่องจากแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2479 ประกาศใช้มานานกว่า 15 ปีแล้ว  ไม่ได้มีการปรับปรุงแก้ไข  เพราะเป็นสมัยที่บ้านเมืองตกอยู่ในสภาพสงครามเป็นเวลานานหลายปี เมื่อประเทศชาติกลับคืนสู่สภาพปกติแล้ว จึงได้มีการพิจารณาเรื่องแผนการศึกษาชาติขึ้นอีกครั้งหนึ่ง  เพื่อวางแผนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศชาติ  จึงได้กำหนดแผนการศึกษาชาติ พ.ศ.2494
ในแผนการศึกษาชาติฉบับนี้  แบ่งองค์ประกอบของการศึกษาออกเป็น  4 องค์  แทนที่จะเป็น 3 อย่างเดิม  โดยมีพุทธิศึกษา  จริยศึกษา  พลศึกษา  และหัตถศึกษา  การที่เพิ่มหัตถศึกษาเข้าไปเป็นองค์ 4 แห่งการศึกษานั้น ก็เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนเกิดความเคยชินและความขยันหมั่นเพียรในการใช้มือปฏิบัติงาน  เพื่อเป็นรากฐานของการประกอบสัมมาอาชีพ  กล่าวกันว่านักเรียนที่เข้ามาศึกษาด้านสามัญศึกษาในโรงเรียนนานๆ  มักจะกลายเป็นคนหยิบโหย่งไม่ชอบทำงานอย่างอื่นที่ไม่ใช่งานหนังสือ
โดยเห็นว่างานที่ต้องใช้มืออื่นๆเป็นงานต่ำ  งานสกปรก  เช่น  เครื่องใช้ไม้สอยชำรุดก็ไม่อยากซ่อมด้วยตนเอง  หรือไม่มีความสามารถที่จะซ่อมได้  จะตอกตะปูก็เก้งก้าง  ตอกไม่เข้า  เพราะไม่เคยทำ  ต้องไปจ้างเขาทำ  หรือไปซื้อใหม่หรือแม้จะไปซื้อใหม่บางทีก็เลือกซื้อสิ่งที่มีคุณภาพที่ไม่เหมาะสมแก่ราคา  จึงได้เพิ่มหัตถศึกษาขึ้นไว้ในแผนการศึกษาชาติ
แผนการศึกษาชาติฉบับนี้  มีกล่าวถึงการศึกษาชั้นอนุบาลไว้ด้วย  ซึ่งในแผนการศึกษาพ.ศ. 2479 ยังใช้คำว่ามูลศึกษา  แต่วงเล็บคำภาษาอังกฤษว่า  (Kindergarten)  แสดงว่าได้มีความสนใจในเรื่องการศึกษาชั้นอนุบาลกันมาแล้ว ตั้งแต่พ.ศ. 2479  แต่ยังไม่ได้ระบุไว้เด่นชัดในสมัยนั้น
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้เคยดำริไว้ว่า เด็กมีอายุระหว่าง  3-7 ปี  ก็ควรจะได้รับการส่งเสริมให้มีความสามารถและมีความเจริญทางกาย ทางใจด้วย  และควรจัดให้มีโรงเรียนอนุบาลสำหรับเด็กที่ก่อนจะมีอายุถึงเกณฑ์บังคับตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา  เพื่อให้เด็กเล็กได้รับการอบรมตามประเพณีนิยมของประชาคม  เป็นการปลูกฝังและขัดเกลานิสัยให้มีทัศนคติที่ดีมาตั้งแต่เยาว์วัย
ความดำริของท่านนักการศึกษาผู้นี้  เป็นที่รับรองกันทั่วไปในวงการศึกษาและได้มีการริเริ่มกันมาบ้างแล้วตั้งแต่พ.ศ. 2484 โดยเฉพาะที่โรงเรียนอนุบาลลอออุทิศ ในจังหวัดพระนคร  และตามจังหวัดใหญ่ๆ  บางจังหวัด  จนกระทั่งพ.ศ. 2494 จึงได้ระบุไว้ในแผนการศึกษาชาติว่า
"6.  การศึกษาชั้นอนุบาลได้แก่การอบรมกุลบุตรกุลธิดาก่อนการศึกษาบังคับ โดยมีหลักการให้อบรมนิสัยและฝึกประสาทไว้ให้พร้อมที่จะรับการศึกษาชั้นประถมศึกษาต่อไป"
สิ่งที่น่าสนใจนอกจากเรื่องการอนุบาลก็คือ  การศึกษาภาคบังคับระบุไว้ว่า  กุลบุตรกุลธิดาเพิ่งได้รับการศึกษาอยู่ในโรงเรียนจนอายุย่างเข้าปีที่ 15 เป็นอย่างน้อย  เรื่องนี้เป็นความดำริของรัฐบาลในสมัยนั้น  เห็นว่าการบังคับให้นักเรียนเรียนเพียงจบชั้นประถมปีที่ 4 เท่านั้น  ยังไม่เป็นการเพียงพอที่จะอบรมยุวชนให้เป็นพลเมืองดีที่เหมาะสมกับกาลสมัย  ควรจะขยายการศึกษาภาคบังคับให้สูงขึ้นไป  อย่างน้อยที่สุดก็ควรเป็นชั้นมัธยมปีที่ 3  คือบังคับให้อยู่ในโรงเรียนเป็นเวลา  7 ปี  จะได้มีความรู้ทั่วไปกว้างขวางยิ่งขึ้น
แต่นั่นก็เป็นเพียงแต่ความดำริ เพราะรัฐบาลยังไม่พร้อมที่จะทำ  เนื่องจากกำลังทางเศรษฐกิจยังไม่อำนวยให้  แม้การบังคับให้เด็กได้รับการศึกษาเล่าเรียนตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา  จะเริ่มมาแต่พ.ศ. 2464 กว่าจะใช้บังคับได้ทั่วทุกตำบลก็กินเวลาเกือบ 14 ปี คือพ.ศ. 2478  ทั้งนี้ไม่นับถึงระยะเวลาที่เตรียมการ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่พ.ศ. 2430  จนถึงพ.ศ. 2474 อีก 34 ปีเข้าด้วย   เพราะฉะนั้นจึงเป็นเพียงระยะเตรียมการเท่านั้น
สำหรับการศึกษาในชั้นมัธยมก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน  ในแผนการศึกษา พ.ศ. 2494 มีระบุไว้ดังนี้
"8.  มัธยมศึกษาแยกออกเป็น 3 สายคือ
ก. มัธยมสามัญศึกษา  ได้แก่การศึกษาวิสามัญต่อจากประถมศึกษา  และการฝึกหัดทำการงาน  ซึ่งเป็นพื้นความรู้ความสามารถเบื้องต้นของพลเมือง  จัดสอนตั้งแต่มัธยมสามัญปีที่ 1 ถึงปีที่ 3
ข.  มัธยมวิสามัญศึกษา  ได้แก่การศึกษาวิชาซึ่งเป็นพื้นความรู้สำหรับไปศึกษาต่อในชั้นเตรียมอุดมศึกษา  หรืออาชีวศึกษา  จัดสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมวิสามัญตอนต้นปีที่ 1 ถึงปีที่ 3 และชั้นมัธยมวิสามัญตอนปลายปีที่ 4 ถึงปีที่ 6
ค.  มัธยมอาชีวศึกษา  ได้แก่การศึกษาวิชาเฉพาะซึ่งเป็นพื้นความรู้สำหรับประกอบอาชีพ  โดยรับช่วงจากประถมศึกษา  มัธยมสามัญศึกษา  หรือมัธยมวิสามัญศึกษาทุกระยะที่สุดประโยค  จัดสอนเป็นมัธยมอาชีวศึกษาตอนต้นและมัธยมอาชีวศึกษาตอนปลาย  แต่จะกำหนดเวลาไม่เกิน 3 ปี"
จากแผนการศึกษาชาติฉบับนี้  จะเห็นได้ว่า คำว่า สามัญศึกษาและวิสามัญศึกษามีความหมายกลับกันกับแผนการศึกษาฉบับก่อนๆ  และตามความเข้าใจของคนทั่วๆไป  แต่เดิมคำว่าวิสามัญศึกษาเคยหมายถึงการศึกษาด้านอาชีพ และคำสามัญศึกษาหมายถึงการศึกษาในทางหนังสือ
แต่ในแผนการศึกษาชาติพ.ศ. 2494 มีคำว่ามัธยมอาชีวศึกษาเกิดขึ้นอีกคำหนึ่ง  มัธยมอาชีวศึกษาเป็นการศึกษาวิชาชีพโดยตรง เช่น  โรงเรียนเพาะช่าง  โรงเรียนเกษตร  และโรงเรียนพาณิชยการ เป็นต้น  แทนคำวิสามัญเดิม  คำว่าสามัญศึกษานั้นหมายความว่า เป็นการศึกษาในชั้นสูงจากประถมศึกษาขึ้นไป(ประถมศึกษาเป็นการศึกษาบังคับ)  เพื่อฝึกหัดทำการงาน ซึ่งเป็นพื้นความรู้ความสามารถเบื้องต้น ที่พลเมืองทุกคนจะพึงเรียนรู้  จึงเรียกเสียว่าสามัญศึกษา
ส่วนคำว่า วิสามัญศึกษา  เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิชาความรู้ในทางหนังสือสูงขึ้นไป  ซึ่งพลเมืองไม่จำเป็นจะต้องรู้ด้วยกันทุกคน  เป็นการเรียนเพื่อไปศึกษาต่อในชั้นเตรียมอุดมศึกษาหรืออาชีวศึกษาชั้นสูง  โดยเหตุที่ไม่บังคับ  ไม่ต้องเรียนรู้ทุกคน  จึงเรียกว่าวิสามัญ  ส่วนที่บังคับให้นักเรียนรู้ทุกคน เรียกว่าสามัญ และในขั้นต่อไปจะกลายเป็นการศึกษาภาคบังคับ  มัธยมสามัญศึกษานี้มีเรียนต่อจากชั้นประถมศึกษาอีก 3 ปี
เมื่อประกาศใช้แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2494 แล้ว  กระทรวงศึกษาธิการได้จัดเปิดชั้นมัธยมสามัญศึกษาขึ้น  ตามโรงเรียนประชาบาลบางโรงเรียน เป็นการทดลอง
นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงการศึกษาพิเศษ  และการศึกษาผู้ใหญ่ไว้ในแผนการศึกษาชาติอีกด้วย  ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในวงการศึกษาไทย  แต่ความจริงนั้นการศึกษาผู้ใหญ่ได้เคยริเริ่มมาแล้วในตอนก่อนสงคราม
รัฐบาลในสมัยนั้นได้วางนโยบายจัดการศึกษาผู้ใหญ่  และแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2480  เป็นการสอนให้ผู้ใหญ่ที่ไม่รู้หนังสือ  ให้อ่านออกเขียนได้  และสอนให้รู้หน้าที่ของพลเมือง  กระทรวงศึกษาธิการได้เปิดโรงเรียนผู้ใหญ่ขึ้นเมื่อพ.ศ. 2482 โดยจัดสอนให้เปล่าทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค  ปรากฏว่าได้ผลดี  มีนักเรียนผู้ใหญ่สมัครเข้าเรียนกันมาก
แต่พอเกิดสงครามขั้นแตกหักราษฎรต้องอพยพหลบภัยสงคราม  และประสบความอัตคัดฝืดเคืองในด้านการครองชีพ  การศึกษาผู้ใหญ่จึงซบเซาไปมาก  และในที่สุดก็เลิกไปโดยปริยาย
จนกระทั่งถึงพ.ศ. 2491 จึงมีการฟื้นฟูขึ้นใหม่  นอกจากจะทำในวัตถุประสงค์เพียงให้รู้หนังสือและรู้หน้าที่พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยแล้ว  ยังมุ่งส่งเสริมอาชีพและความเป็นอยู่ของราษฎรให้สูงขึ้นด้วย  กระทรวงศึกษาธิการได้ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งโรงเรียนภาคหลักมูลฐาน  โรงเรียนภาคมัธยม  และโรงเรียนภาคอาชีวศึกษาผู้ใหญ่ขึ้น ในพ.ศ. 2491 และพ.ศ. 2492   ในแผนการศึกษาชาติพ.ศ. 2494 ได้กล่าวถึงเรื่องการ ศึกษาผู้ใหญ่ไว้ดังนี้
“15.  การศึกษาผู้ใหญ่ ได้แก่การศึกษาซึ่งกำหนดเวลาศึกษาเป็นครั้งคราวสำหรับผู้ใหญ่ทั่วๆไป  ที่ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาขณะที่อยู่ในวัยเล่าเรียน  หรือที่ประสงค์จะศึกษาเพิ่มเติม เพื่อประกอบอาชีพให้ได้ดียิ่งขึ้น  หรือที่อยู่ในสภาพซึ่งไม่อาจรับการศึกษาได้ตามปกติ”
ประมวล/สรุปจาก..พงศ์อินทร์ ศุขขจร(ประวัติการศึกษาไทย, 2512)
Cr.เจ้าของภาพ
โฆษณา