30 พ.ค. 2023 เวลา 00:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

อัตราเงินเฟ้อ: กุญแจสำคัญที่จะกำหนดความเร็วในการลดดอกเบี้ย

เมื่อความกังวลเรื่องวิกฤติการธนาคารเริ่มจาง ความเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อคงกลายเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะเริ่มกลับมาลดอัตราดอกเบี้ยได้เร็วแค่ไหน
โดยธนาคารกลางในหลายประเทศน่าจะเริ่มตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายทางการเงินก็ต่อเมื่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headline inflation) ลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งในตอนนี้
ราคาพลังงานที่เริ่มลดลงก็กำลังช่วยให้เงินเฟ้อทั่วไปในหลายประเทศลดลงตาม ยิ่งถ้าประเทศไหนได้รับผลกระทบจากวิกฤติราคาพลังงานไม่มาก เช่น สหรัฐฯ ก็จะยิ่งเห็นตัวเลขเงินเฟ้อลดลงเร็วขึ้น (แผนภูมิ 1)
ในขณะเดียวกัน หลายประเทศในแถบเอเชียก็ดูจะควบคุมเงินเฟ้อได้ดี เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อในประเทศเหล่านี้ไม่ได้หนักเท่าในประเทศหลักๆ (แผนภูมิ 2) สถานการณ์เหล่านี้ก็ชี้ให้เห็นว่าการใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวน่าจะจบลงเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม นอกจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ธนาคารกลางต้องดูเพื่อพิจารณาการลดดอกเบี้ยในอนาคต ในช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อหวังให้การใช้จ่ายของครัวเรือนและบริษัทลดลง
แต่ความต้องการซื้อที่ลดลงอาจไม่ได้ช่วยให้เงินเฟ้อลดลงตามเนื่องจากยังมีแรงกดดันจากราคาค่าจ้างที่สูงในหลายประเทศ ถ้าค่าจ้างแรงงานไม่ปรับตัวลง ต้นทุนในการผลิตสินค้าและให้บริการก็จะยังคงสูงแม้ราคาวัตถุดิบอื่นๆ จะถูกลงแล้วก็ตาม ซึ่งนี่จะทำให้ราคาสินค้าและบริการโดยรวมยังคงแพงต่อไป และแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและคาดการณ์เงินเฟ้อที่ต่ำลงน่าจะช่วยทำให้คนงานเรียกค่าแรงน้อยลงได้บ้าง แต่ตลาดแรงงานในหลายประเทศ
โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจหลัก ยังคงแน่นอยู่มาก ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐฯ ที่อัตราการว่างงานแตะระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี ที่ 3.4% ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา และสหภาพยุโรป ที่สัดส่วนคนว่างงานอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดที่เคยมีมา ที่ 6.5% ในเดือนมีนาคม
แม้ว่าค่าแรงในหลายประเทศจะค่อยๆ ปรับตัวลงในที่สุด แต่ความเร็วในการลดลงนี้คงจะต่างกันในแต่ละประเทศ อย่างในประเทศแถบยุโรป ค่าแรงน่าจะลดลงได้ช้ากว่าที่อื่นๆ
เนื่องจากตลาดแรงงานยังคงแน่นและเงินเฟ้อก็ยังสูง แถมประเทศในยุโรปมีนโยบายปรับค่าแรงตามเงินเฟ้อด้วย นี่จะยิ่งทำให้ค่าแรงลดลงได้ยากหากเงินเฟ้อยังไม่ลดลง ในทำนองเดียวกัน อังกฤษก็กำลังเจอกับปัญหาที่เงินเฟ้อสูงทำให้คนงานขอขึ้นค่าจ้างกัน ซึ่งนี่จะยิ่งทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นไปอีก
ในขณะเดียวกัน อัตราการขึ้นค่าแรงในสหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นอีกครั้งในเดือนเมษายน หลังจากที่ลดลงมาแล้วในเดือนก่อนหน้า เป็นการส่งสัญญาณว่าตลาดแรงงานยังคงแน่นอยู่ (แผนภูมิ 3)
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอาจไม่ได้หมายความว่าค่าจ้างจะกลับมาอยู่ในเทรนด์ขาขึ้น เนื่องจากอัตราการเติบโตของค่าแรงก็ขึ้นๆ ลงๆ เป็นปกติแบบนี้ในแต่ละเดือนอยู่แล้ว
จากสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ การลดดอกเบี้ยก็คงจะเริ่มในเวลาที่ต่างกันในแต่ละประเทศด้วย อย่างหลายประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่น่าจะเป็นที่แรกๆ ที่ได้ลดดอกเบี้ยก่อน
เนื่องจากหลายที่ได้เริ่มขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าภูมิภาคอื่นๆ มีอัตราเงินเฟ้อที่ไม่สูงเท่าในประเทศหลักๆ แถมธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้ก็ไม่ต้องตัดสินใจทิศทางนโยบายการเงินตามธนาคารกลางใหญ่ๆ
เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ เหมือนเมื่อก่อนแล้วด้วย ส่วนประเทศที่จะลดดอกเบี้ยตามมา ก็น่าจะเป็นกลุ่มประเทศที่เสี่ยงจะเจอปัญหาเสถียรภาพทางการเงินหากมีการขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติม เช่น สหรัฐฯ และกลุ่มสุดท้ายก็คงไม่พ้นเหล่าประเทศที่ยังคงเจอกับปัญหาเงินเฟ้อสูงและตลาดแรงงานแน่น
จากคาดการณ์ของ Capital Economics ประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่น่าจะลดดอกเบี้ยได้เร็วที่สุดภายในกลางปีนี้ ในขณะที่สหรัฐฯ มีแนวโน้มเริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยลงในต้นปีหน้า ส่วนอังกฤษและประเทศในยุโรปก็น่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยกันในปลายปี 2024
ผู้เขียน : บูชิตา ปิตะกาศ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Sources:
โฆษณา