29 พ.ค. 2023 เวลา 13:44 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ฐานะการคลังของไทยน่าห่วงแค่ไหน

ท่ามกลางภาวะที่รัฐมีแต่วาระที่อยากใช้เงินเพิ่มขึ้น แล้วความยั่งยืนทางการคลังจะเป็นอย่างไร
1
เรากำลังจะมีรัฐบาลใหม่กันแล้ว ทั้งพรรคหลักพรรคร่วมมีการนำเสนอนโยบายที่หลากหลาย ล้วนแล้วแต่พูดถึงเม็ดเงินที่ต้องใช้เพิ่มในปริมาณค่อนข้างมาก เม็ดเงินที่พูดถึงนี้ จะกระทบฐานะการคลังของประเทศขนาดไหน
1
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เราไม่สามารถพูดถึงการใช้เงิน โดยไม่พูดถึงแหล่งเงินที่จะเอามาจ่าย เวลามีคนบอกว่าอยากจะเอาเงินมาใช้ในโครงการใหม่ที่ไม่ได้ทำมาก่อน คงต้องถามก่อนว่าจะเอาเงินจากไหนมาจ่าย
1
ยกตัวอย่าง ถ้าเราดูนโยบายของพรรคก้าวไกลที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล นโยบายที่ใช้เงินมากที่สุดคือ นโยบายรัฐสวัสดิการ ที่ต้องการจัดหาสวัสดิการให้แก่ การศึกษา เด็ก ผู้พิการ จนถึงผู้เกษียณอายุ
3
นโยบายนี้คาดว่าจะใช้เงินมากถึง 6.5 แสนล้านบาท! ปัญหาสำคัญคือจะเอาเงินจากไหนมาจ่าย
1
พรรคก้าวไกลวางแผนว่า ภายในปีที่สี่ จะตัดงบประมาณบางส่วน (เช่น ลดงบทหาร ลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น) และจะเพิ่มรายได้จากนโยบายภาษีใหม่ เช่น ภาษีความมั่งคั่ง ภาษีที่ดินรูปแบบใหม่ และ ขึ้นอัตราภาษีนิติบุคคลสำหรับบริษัทใหญ่ ซึ่งน่าจะลดรายจ่ายและหารายได้ เพียงพอสำหรับการใช้เงินใหม่ 6.5 แสนล้านต่อปี
1
ถ้าทำได้ตามแผนจริง และการขาดดุลการคลังไม่ได้เพิ่มขึ้น แผนนี้จะเป็นการ “กระจายเศรษฐกิจ” มากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ
2
แต่มีสองปัญหาสำคัญ คือ หนึ่ง การเพิ่มรายจ่ายทำได้เร็ว แต่การตัดงบและขึ้นภาษีอาจจะทำได้ไม่ง่ายนัก และสอง ด้วยโครงสร้างประชากรที่กำลังเปลี่ยนไป จำนวนผู้สูงอายุและจำนวนผู้รับผลประโยชน์จากระบบสวัสดิการจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่จำนวนคนจ่ายภาษีจะลดลง การขาดดุลอาจจะสูงขึ้นในอนาคต แม้แผนจะไม่เพิ่มการขาดดุลในระยะแรกก็ตาม
4
ความยั่งยืนทางการคลัง
การประเมินว่าฐานะการคลังว่ามีความ “ยั่งยืน” หรือไม่ และน่ากังวลหรือไม่ คนส่วนใหญ่มักสนใจตัวชี้วัดที่สำคัญอันนึงคือ "สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP"
ถ้าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP มีโอกาสจะเพิ่มขึ้นอย่างควบคุมไม่ได้ จะทำให้ตลาดและนักลงทุนกังวลต่อสถานะของรัฐบาลได้
2
เราลองคาดการณ์สัดส่วนหนี้จากสมมุติฐานเศรษฐกิจแบบง่ายๆ เช่น ในอีกสิบปีข้างหน้า ถ้าเราคาดว่า GDP จะโตได้เฉลี่ย 3% เงินเฟ้อเฉลี่ย 1.5% ดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 2%
และที่ผ่านมาดูเหมือนว่า รัฐบาลจะเสพติดการดุล!
เราขาดดุลการคลังก่อนคิดรายจ่ายดอกเบี้ยประมาณ 2% ต่อ GDP มาเกือบทุกปี
1
ภายใต้สมมุติฐานเฉลี่ยง่าย ๆ แบบนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เราจะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ จากประมาณ 61% ต่อ GDP ในปัจจุบัน เป็น 68% ในอีกสิบปี (ในขณะที่กรอบวินัยทางการคลังของเราเพิ่งยกขึ้นจาก 60% มาเป็น 70% หลังโควิด)
แต่ถ้าเราขาดดุลมากกว่านี้ ดอกเบี้ยขึ้นสูงกว่านี้หรือ เศรษฐกิจโตช้ากว่านี้ มีโอกาสที่หนี้สาธารณะจะไปอยู่ในแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเอาลงได้ยาก และด้วยโครงสร้างประชากรการขาดดุลน่าจะสูงขึ้นกว่านี้ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ซึ่งจะทำให้หนี้ก็ขึ้นเร็วขึ้น
2
สรุป
2
แม้สถานการณ์ปัจจุบันหนี้สาธารณะยังไม่น่าห่วงมากนักในระยะสั้น แต่เราก็อยู่ในภาวะที่ไว้วางใจไม่ได้ และด้วยภาระการคลังที่กำลังจะเพิ่มขึ้นจากโครงสร้างประชากร เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มโตช้าลง และความจำเป็นในการใช้จ่ายด้านอื่นๆ
อาจจะไม่ผิดถ้าจะบอกว่าเราอยู่ในจุดเปลี่ยนที่สำคัญ และภาคการคลังกำลังเป็นข้อจำกัดที่จะบีบไม่ให้รัฐทำทุกอย่างได้อย่างใจ
3
โจทย์สำคัญของรัฐบาลในภาวะเช่นนี้คือเราจะปรับตัวเพื่อรักษาความยั่งยืนทางการคลัง ในภาวะที่รัฐมีวาระที่อยากใช้เงินเพิ่มขึ้นได้อย่างไร เช่น คงต้องคิดถึงการลดขนาดของรัฐ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น หาฐานรายได้ใหม่ หรือขึ้นภาษี และหาทางปฏิรูปเศรษฐกิจที่จะยกระดับของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ
1
เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี และเราคงไม่อยากเห็นภาคการเงินของรัฐบาลอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง
1
โฆษณา