31 พ.ค. 2023 เวลา 02:18 • สิ่งแวดล้อม

เรื่องน่ารู้ของ ‘แมงกะพรุน’

1. ชื่อ Jellyfish แต่ไม่ใช่ ‘fish’
แม้มีคำว่าปลาอยู่ในชื่อภาษาอังกฤษ แต่แมงกะพรุนไม่ได้มีลักษณะใดที่ใกล้เคียงกับปลาเลย โดยปลาจัดอยู่ในกลุ่มของสัตว์มีกระดูกสันหลัง แต่แมงกะพรุนเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีลักษณะลำตัวโปร่งใส นิ่ม ที่สำคัญคือพวกมันไม่มีกระดูก เหงือก สมอง ปอด หัวใจ หรือแม้แต่เลือด ร่างกายแมงกะพรุนประกอบด้วยวุ้นเป็นส่วนใหญ่ และมีน้ำเป็นองค์ประกอบมากถึง 95% ซึ่งด้วยความใสและบางของผิวหนังจึงทำให้แมงกะพรุนสามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนผ่านเนื้อเยื่อโดยตรง
2. ไดโนเสาร์เรียก ‘ปู่ทวด’
แมงกระพรุนเป็นสัตว์ที่ไม่มีโครงสร้างร่างกายซับซ้อน เพราะเป็นสัตว์กลุ่มแรกๆ ที่ถือกำเนิดบนโลกนี้ เมื่อกว่า 500 ล้านปีที่แล้ว และอยู่มาก่อนที่จะมีไดโนเสาร์ถึง 230 ล้านปี โดยในปี พ.ศ. 2560 นักโบราณคดีค้นพบฟอสซิลแมงกะพรุนที่เก่าแก่ที่สุดในแคลิฟอร์เนียตอนใต้ ฟอสซิลแมงกะพรุนที่พบมีลักษณะเป็น Soft Fossil เป็นหนึ่งในกลุ่มฟอสซิลที่พบได้ยาก เกิดขึ้นจากการถูกตะกอนทับถมอย่างรวดเร็ว จนปิดกั้นการย่อยสลายเนื้อเยื่อตามธรรมชาติและทิ้งไว้เพียงร่องรอยประทับไว้ในหิน
3. สวยใส ไม่ไร้ ‘พิษสง’
แมงกะพรุนเป็นสัตว์ที่มีลำตัวโปร่งใส ใช้ชีวิตล่องลอยไปตามกระแสน้ำ ภายนอกจึงอาจดูเปราะบาง ก็ใช่ว่าพวกมันไร้พิษภัย เพราะทั่วโลกมีแมงกะพรุนมากกว่า 100 สายพันธุ์ ที่มีพิษเป็นอันตรายต่อมนุษย์ พิษของแมงกะพรุนจะบรรจุอยู่ใน ‘เซลล์เข็มพิษ’ ซึ่งขดอยู่ในแคปซูลที่กระจายอยู่ทั่วทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหนวดของแมงกะพรุน พิษของแมงกะพรุนเป็นอันตรายทำให้เกิดอาการคัน ผื่นบวมแดง รอยไหม้ ปวดแสบปวดร้อน และอาจรุนแรงถึงชีวิต ความรุนแรงขึ้นอยู่กับชนิดของแมงกะพรุนและปริมาณพิษที่ได้รับ
4. หลากหลายรูปร่าง ขนาด และสีสัน
แมงกะพรุนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายทั้งในเรื่องของรูปร่าง ขนาด และสีสันอย่างมาก แมงกะพรุนที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก คือ แมงกะพรุนอิรุคันจิ ส่วนแมงกะพรุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดโลก คือ แมงกะพรุนแผงคอสิงโต แต่หากเป็นในเรื่องของน้ำหนักตัวคงต้องยกให้แมงกะพรุนโนะมุระ นอกจากนี้ยังมีแมงกะพรุนที่มีสีสันสวยงาม เช่น แมงกะพรุนหมวกดอกไม้ แมงกะพรุนคอสตาริกา รวมถึงแมงกะพรุนที่มีรูปร่างน่ารักแปลกประหลาดอย่าง แมงกะพรุนไข่ดาว ที่สำคัญยังมีแมงกระพรุนบางชนิดที่เรืองแสงได้ด้วย
5. ไป ‘อวกาศ’ มาแล้ว
แมงกะพรุน คือหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ส่งไปอวกาศมาแล้ว เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2534 องค์การนาซาได้ส่งแมงกะพรุนพระจันทร์กว่า 2,500 ตัว ขึ้นไปกับกระสวยอวกาศโคลัมเบียเที่ยว STS-40 เพื่อศึกษาเรื่องระบบประสาท เนื่องจากแมงกะพรุนมีระบบตอบสนองต่อแรงโน้มถ่วงที่ละเอียดสำหรับการรักษาสมดุลการว่ายน้ำในทิศทางต่างๆ
โฆษณา