Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กลุ่มอนุรักษ์และศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลาน
•
ติดตาม
4 ก.ค. 2023 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ…พระไตรปิฎกของชาวไทย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเอาพระทัยใส่การพระศาสนาอย่างจริงจังมาตลอดต่อเนื่อง ตั้งแต่ยังทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อยังทรงเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนศุโขทัยธรรมราชา โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงได้รับฉายาว่า “ปชาธิโป” เมื่อผนวชแล้วเสด็จประทับจำพรรษา ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกผนวช ทรงได้รับฉายาว่า “ปชาธิโป”
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เจ้าฟ้ากรมขุนศุโขทัยธรรมราชา สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ จึงเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ ๗ แห่งราชวงศ์จักรี ช่วงระยะเวลาที่ครองราชสมบัตินั้น ฐานะการคลังของสยามประเทศและเศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในภาวะตกต่ำอย่างมาก
ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังทรงให้การสนับสนุนงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ สืบต่องานซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ ได้ทรงริเริ่มไว้
“พระไตรปิฎกจุลจอมเกล้าบรมธัมมิกมหาราช ร.ศ. ๑๑๒ ”ถือเป็นพระไตรปิฎกบาลีฉบับพิมพ์ชุดแรกของโลก ที่พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ขึ้น เพื่อพระราชทานไปยังพระอารามทั่วทุกภาคของประเทศไทย รวมทั้งสถาบันการศึกษาและห้องสมุดในทวีปต่าง ๆ ทั่วโลก ถือเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการบันทึกพระธรรมจากการจารลงในใบลานมาเป็นการพิมพ์ลงบนกระดาษเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตามพระไตรปิฎกชุดนี้ยังมีเนื้อหาบางส่วนที่ไม่ได้จัดพิมพ์และเนื้อหาบางส่วนยังไม่สมบูรณ์
เครดิตภาพเล่มหนังสือ : World Tipiṭaka Foundation by Dhamma Society
ด้วยเหตุดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์เนื้อหาส่วนที่ขาดให้สมบูรณ์ครบถ้วนเพิ่มเติมอีก ๖ เล่ม รวมหนึ่งชุดมี ๔๕ เล่ม เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมเชษฐาธิราช
โดยทรงอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ให้ทรงเป็นประธานในการปริวรรตพระไตรปิฎกจากอักษรขอมเป็นอักษรไทย และทรงมอบหมายให้สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ เป็นประธานในการจัดพิมพ์ โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อใช้ในการดำเนินงาน
พร้อมมีพระบรมราชโองการโปรดกล้าให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนาถประกาศกระแสพระบรมราชโองการ “ทูลเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ ชักชวนบรรดาข้าราชการทุกกระทรวงทบวงการ ตลอดจนประชาราษฎรให้บริจาคทรัพย์โดยเสด็จพระราชกุศลสร้างพระไตรปิฎกตามศรัทธา และเพื่อช่วยเหลือในการนี้ ฝ่ายทางอาณาจักร เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้สั่งสมุหเทศาภิบาล ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอให้ช่วยจัดการป่าวประกาศ ฝ่ายทางพุทธจักร สมเด็จพระสังฆราชเจ้ามีรับสั่งให้เจ้าคณะตลอดจนพระครู เจ้าอาวาส บอกบุญทั่วไป”
พระไตรปิฎกฉบับ "สฺยามรฏฐสฺสเตปิฏกํ" หรือ "พระไตรปิฎกสยามรัฐ"
พระไตรปิฎกฉบับ "สฺยามรฏฐสฺสเตปิฏกํ" หรือ "พระไตรปิฎกสยามรัฐ" จึงเป็นพระไตรปิฎกที่พระมหากษัตริย์ ตลอดจนข้าราชบริพารภายใต้พระบรมโพธิสมภารทั้งฝ่ายบรรพชิตและฆราวาสร่วมแรงร่วมใจกันสถาปนา ตราสัญลักษณ์หน้าปกรูปช้าง แสดงความหมายว่า พระไตรปิฎกฉบับนี้เป็นของชาวไทยทุกคน
ทั้งนี้รายละเอียดการตั้งกองทุน การบริหารกองทุนที่ได้รับบริจาคมา รวมทั้งรายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดพิมพ์พระไตรปิฎก มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน และประกาศให้ทราบทั่วกันในหนังสือราชกิจจานุเบกษาอาทิ เรื่องการแบ่งค่าใช้จ่ายเงินที่ได้รับบริจาคมาเป็น ๓ ประเภท พร้อมระบุจำนวนชัดเจน ดังประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๔ หน้า ๓๙๓๒ วันที่ ๔ มีนาคม ๒๔๗๐
การตรวจชำระเริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ และเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ หลังงานฉลองทรงพระราชทานพระไตรปิฎกจำนวน ๑,๕๐๐ ชุด ไปยังสถานที่ต่าง ๆ คือ ๒๐๐ ชุดพระราชทานในราชอาณาจักร อีก ๔๐๐ ชุด พระราชทานแก่ห้องสมุดและสถาบันการศึกษานานาประเทศ ส่วนที่เหลือพระราชทานแก่ผู้บริจาคทรัพย์ขอรับหนังสือพระไตรปิฎก ในอัตราชุดละ ๔๕๐ บาท
เมื่อหักค่าใช้จ่ายจากรายรับทั้งหมดแล้ว ปรากฏมียอดเงินคงเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระเถรานุเถระ และกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ มีมติให้เก็บเงินจำนวนนี้ไว้ใช้เป็นทุนสำหรับปรับปรุงการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งต่อไป และเพื่อใช้จัดพิมพ์อรรถกถาฎีกาหรือหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาพระปริยัติธรรมที่ยังไม่เคยมีการจัดพิมพ์มาก่อน เพื่อให้สอดคล้องกับกุศลศรัทธาของผู้บริจาคทรัพย์จัดทำพระไตรปิฎกพิมพ์ด้วยอักษรไทยฉบับสมบูรณ์ เพื่อเผยแผ่คำสอนของพระพุทธศาสนา
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายพระรูปร่วมกับคณะกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร พ.ศ. ๒๔๖๙ : Cr : วิวัฒน์การอ่านไทย
ในส่วนการอนุรักษ์คัมภีร์พระไตรปิฎกใบลาน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้แยกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนครออกเป็น ๒ หอ คือ หอสมุดวชิราวุธ สำหรับใช้เป็นที่เก็บหนังสือฉบับพิมพ์ และหอพระสมุดวชิรญาณให้ใช้เป็นที่เก็บหนังสือตัวเขียนและตู้พระธรรม ซึ่งปัจจุบัน คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ปัจจุบัน คัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับหลวงทั้งหมด เก็บรักษาไว้ ณ หอมณเฑียรธรรมและหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ภายใต้การดูแลของหอสมุดแห่งชาติ)
หอสมุดวชิรญาณ : เครดิตภาพ : วิวัฒน์การอ่านไทย
แม้ระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงสิริราชสมบัติเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่พระองค์ได้พระราชทานพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐอันล้ำค่าไว้ให้แก่แผ่นดิน อีกทั้งได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร ไว้เป็นหลักในการปกครองประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย นับเป็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อพระพุทธศาสนาและประชาธิปไตย ก่อนทรงประกาศสละราชสมบัติ ณ เมืองแครนลี ประเทศอังกฤษ ในวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ (ตามปฏิทินปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. ๒๔๗๘) รวมเวลาที่ทรงดำรงสิริราชสมบัติเป็นเวลา ๙ ปี
พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕
อ้างอิงท้ายบทความ
พระไตรปิฎกฉบับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. แม่ชีวิมุตติยา (สุภาพรรณ ณ บางช้าง). กรุงเทพฯ: บริษัท คราฟแมนเพรส จำกัด, 2557.
สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร. วิวัฒน์การอ่านไทย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, 2556.
ติดตามความรู้เนื้อหาสาระดีๆ ได้ที่
Website :
https://www.mps-center.in.th
Youtube :
https://youtube.com/c/MPSCChannel
Twitter :
https://twitter.com/MPSCchannel
Blockdit :
https://www.blockdit.com/dhammachai_tipitaka
ประวัติศาสตร์
ความรู้รอบตัว
พัฒนาตัวเอง
บันทึก
5
10
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
พระมหากษัตริย์ไทยกับพระไตรปิฎก
5
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย