31 พ.ค. 2023 เวลา 06:27 • การเมือง

ส.ว.แบไต๋ "ใครเขียนบท?" สัญญาณนายกฯ อาจไม่ใช่ "พิธา"

การเมืองไทยอะไรๆ ก็ไม่แน่นอน แม้ยามนี้แกนนำ “8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล” จะประสานเสียง ยืนยันจับมือกันเหนียวแน่น ในการร่วมรัฐบาล ภายใต้การนำของพรรคก้าวไกล ที่มี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกรัฐมนตรี ทว่า ฉันทามติ 14 ล้านเสียงเลือกพรรคก้าวไกล ยามนี้กำลังถูกท้าทายด้วยสารพัดปัจจัยรอบทิศ
ไม่ต่างจากตัวผู้นำพรรคอย่าง “พิธา” ที่แม้จะอยู่ในช่วงเดินสายเปิดตัวกับภาคธุรกิจ รวมถึงกลุ่มอาชีพอย่างกลายๆ ส่งสัญญาณในเชิงสัญลักษณ์ พร้อมผงาดสู่เบอร์ 1 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล หลังจากนี้
เส้นทางสู่ดวงดาวของ “ว่าที่นายกฯ” ที่ชื่อ “พิธา” กลับเต็มไปด้วยขวากหนามอย่างน้อย 4 ด่านใหญ่ๆ ด้วยกัน
1.กรณีการถือหุ้นสื่อในบริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) ถึงแม้ “ชัยธวัช ตุลาธน”เลขาธิการพรรคก้าวไกล จะพูดถึงแนวทางต่อสู้คดี โดยพรรคก้าวไกลได้เตรียมทีมกฎหมายที่จะมาดูเรื่องนี้ และยังเชื่อมั่นว่า หากกระบวนการเป็นไปตามกฎหมายและบรรทัดฐานของศาล ก็คงไม่ได้มีปัญหาอะไร
ขณะที่อีกมุมหนึ่ง ยังคงมีความพยายามหยิบยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ หลายเคสที่เคยเกิดขึ้นในอดีต โดยเฉพาะกรณีของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่เคยถูกวินิจฉัยในกรณีถือหุ้นสื่อเช่นเดียวกัน
ดังนั้นสถานการณ์ภายใน “ค่ายส้ม” ยามนี้มุมหนึ่งอาจต้องเตรียมแผนตั้งรับ โดยเฉพาะกรณีที่ผลคำตัดสินอาจออกมาในแง่ลบ
2.เกมชิงอำนาจ ความขัดแย้งในขั้วเดียวกัน ทั้งประเด็นแย่งตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย ที่ต่างฝ่ายต่างยืนยันที่จะเสนอชื่อบุคคลชิงประมุขนิติบัญญัติ
แม้ล่าสุดแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคนจะออกมาปฏิเสธข้อเรียกร้องของ FC บางกลุ่ม ที่ขอให้พรรคเพื่อไทยถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พร้อมยืนยันที่จะจับมือพรรคก้าวไกล และสนับสนุนพิธาเป็นนายกฯ
แต่ด้วยส่วนต่างของตัวเลข ส.ส.ที่ห่างกันแค่ 10 ที่นั่ง ย่อมเป็นสิ่งที่สะท้อน ถึงเกมต่อรองที่อาจไม่จบเพียงแค่นี้
ไม่ต่างจากก้าวไกล เมื่ออนาคตคือความไม่แน่นอน เดิมพันรอบนี้จึงจำเป็นต้องรั้งตำแหน่งประมุข 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตยไว้ให้ได้ โดยเฉพาะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ
เพราะหากในอนาคตเกิดอุบัติเหตุขึ้นระหว่างทาง จนเสียตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารไป หากก้าวไกลไร้ซึ่งตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัตินั่นย่อมมีโอกาสสุ่มเสี่ยง เพลี่ยงพล้ำทั้งกระดาน
3.เอ็มโอยู “ลับ-ลวง-พราง” แม้ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล จะลงนามไปเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่ละพรรคประสานเสียงสนับสนุน “พิธา” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
แต่ด้วยเทคนิคลูกเล่นต่างๆ ที่แอบแฝงอยู่ในเอ็มโอยู ถึงเวลาจริง อาจผันแปรได้ทุกเมื่อ
4.“เกมเขี้ยวลากดิน”สภาสูง การที่“พิธา”จะผงาดเบอร์หนึ่งตึกไทยคู่ฟ้าแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อย่างน้อยต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา หรือ 376 เสียง
แต่เวลานี้ 8 พรรคมีเสียง ส.ส.ในมือ 312 เสียง จำต้องหาเสียงสนับสนุนเพิ่มอีก 64 เสียง จำนวนนี้มี ส.ว.ที่ออกตัวสนับสนุนแล้วราวๆ 18 เสียง เหลืออีกเกือบ 50 เสียงที่พรรคก้าวไกลจะต้องหามาให้ได้
ไทม์ไลน์คร่าวๆ หากนับจากวันเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. กระบวนการเลือกนายกฯ จะอยู่ที่ช่วงสัปดาห์แรก-สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนส.ค.หรืออีกเกือบ 2 เดือนข้างหน้า
แต่ท่าทีล่าสุดจากทางฝั่ง ส.ว.กลับออกมา“แบไต๋” ถึงสูตรเลือกนายกฯ ล่าสุดคือกรณี ส.ว.“สมชาย เสียงหลาย” จู่ๆ ออกมาเปิดประเด็น “นายกรัฐมนตรี”อาจไม่ใช่คนของพรรคลำดับ 1
“อุปมาอุปไมย” ระหว่างพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง ได้คะแนนเสียง 14.4 ล้านเสียง กับอีกประเด็นหนึ่งที่มีประเด็นล่อแหลม ส่วนพรรคอื่นๆ ได้คะแนนรวมกัน 27 ล้านเสียง ดังนั้นต้องนำ 2 อย่างมาชั่ง
ไม่ต่างจากอีกราย นั่นคือ ส.ว.สมชาย แสวงการ มองว่าเสียงโหวต ส.ว.ยามนี้ ยังต้องจับตา 4 กลุ่ม ได้แก่
1.กลุ่มที่รับพิจารณาว่าจะโหวตตาม “เสียงข้างมาก” ข้อเท็จจริงยังมีเวลาอีกประมาณ 2 เดือน ฉะนั้นจึงไม่อาจเคลมได้ว่า ส.ว.กลุ่มนี้ตัดสินใจโหวตเลือกนายกฯ คนใดคนหนึ่งแล้ว
2.กลุ่มที่มีเงื่อนไข “ไม่ต้องการ” ให้แก้ไขมาตรา 112 และ รัฐธรรมนูญหมวด 1-2 3. กลุ่มส.ว.ที่ปิดสวิตช์ตัวเอง และ 4.กลุ่มส.ว.ส่วนใหญ่มีอยู่ราว 80% รอดูทิศทางลม ถึงที่สุด กลุ่มนี้อาจรอดูสัญญาณจาก "ผู้คุมเกม" ตัวจริง
เกมแบไต๋ของ “2สมชาย” สภาสูง ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก หากแต่ก่อนหน้ายังมีสัญญาณมาจาก “คนหลังม่าน” สภาสูงเขียนบทให้ส.ว.หลายคน ออกมาออกมาตั้งเงื่อออกมาโยนสูตรชื่อนายกฯที่อาจไม่ได้มาจากพรรคการเมืองลำดับหนึ่ง
ต่างๆเหล่านี้เป็นการสะท้อนถึงขวากหนามของรัฐบาลพรรคก้าวไกล และนายกฯที่ชื่อ “พิธา” ท่ามกลางเส้นทางสู่ดวงดาว ที่อาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ!
โฆษณา