31 พ.ค. 2023 เวลา 13:12 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

Super App ส่วนใหญ่ล้มเหลว

หากใครพอจำกันได้ ช่วงหลายปีก่อน จะมีกระแสของการทำ Super App โดยเริ่มมาจากความสำเร็จของ WeChat ที่เป็นแอปที่ใช้ในการสนทนา ก่อนที่จะขยายไปเป็น Social Media, การชำระเงิน, ธนาคาร, อีคอมเมิร์ซ, ส่งอาหาร และส่งของ, แท็กซี่ จนกลายเป็นอภิมหาบริษัท
จนเจ้าอื่นอย่าง AliPay, PingAn, Grab ก็พยายามทำตามเพื่อแข่งกันเป็น SuperApp ในใจคุณ
แต่ทราบไหมครับว่า จริงๆ แล้วการทำ Super App นั้นล้มเหลวเสียเป็นส่วนใหญ่ และจะมีผู้ชนะเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
วัตถุประสงค์หนึ่งของการทำ Super App ก็คือ การลด Barrier of Entry ในการนำเสนอสินค้าและบริการใหม่ๆ เพราะผู้ใช้ในปัจจุบัน “คิด” ก่อนที่จะลงแอปมากขึ้น (จะเว้นก็แต่เหยื่อของแก๊งค์ SMS ที่โดนหลอกให้ลง) ทำให้เวลาที่มีบริการใหม่ ๆ ที่ต้องเป็นแอป ผู้ใช้ก็จะไม่ค่อยลงแอปกัน จึงสร้างธุรกิจใหม่ยาก
บริษัทเดิมที่มีแอปอยู่แล้ว และอยากนำเสนอบริการใหม่ จึงอาจจะเลือก Super App ในการทำให้ลูกค้าเห็นบริการใหม่ ๆ และมาลองใช้บริการดังกล่าว
ฟังดูดีใช่ไหมครับ เหมือนเรามีร้านอยู่แล้ว แค่เปิดแผงวางของขายเพิ่มเท่านั้นเอง
ปัญหาคือ
1. ถ้าเรามีสินค้า และบริการมากไป ลูกค้าจะสับสนว่า บริษัทเราทำอะไรกันแน่
2. บริการที่มากไป จะเอาไปยัดใส่ในหน้าจออย่างไรให้ไม่รก จนคนหาไม่เจอ หรืออย่างแย่ไปเบียดบังพื้นที่ที่คนจะมาใช้หลักไม่เจอไปเสียอีก
3. แอปขนาดใหญ่ มักทำให้การโหลดหน้าจอช้าลง หรือหน้าจออาจจะต้องกดหลายที จนอาจจะทำให้ลูกค้าเปลี่ยนไปใช้แอปอื่นที่ใช้ง่าย และเร็วกว่า
4. แอปเสียภาพพจน์ในใจของลูกค้า จนลูกค้างงในตัวแอปว่าเอาไว้ทำอะไร ยิ่งถ้าแอปนั้นไม่มีธุรกิจหลักให้ลูกค้าจดจำ
5. แอปอาจจะพยายามขายสินค้า และบริการ จนลืมว่าลูกค้าอยากทำอะไร เช่น กำลังใช้แอปโอนเงิน ดันพยายามขายประกันเป็นต้น
6. บริษัทอาจจะแชร์ข้อมูลลูกค้ากับพันธมิตร จนลืมเรื่องความเป็นส่วนตัวของลูกค้า
7. และท้ายที่สุด เกือบทุกบริษัทที่ผมเห็น แนวคิดการทำ Super App มาจากผู้บริหารที่อยากให้ทำ ลูกน้องก็แค่ทำสนองนโยบายหัวหน้า โดยไม่ได้หาว่ามันตอบโจทย์อะไรให้ลูกค้า
และก่อนจะจากไป อย่าลืมว่าการเป็น Super App คือ การสร้างการแข่งขันเพิ่ม คนที่ทำ Super App สำเร็จได้ จึงต้องมีฐานผู้ใช้ที่มากพอ เพื่อ Reach Critical Mass ดังนั้น ผู้ชนะจะมีได้ไม่เยอะ ดีไม่ดี มีแค่ 1-2 แอปต่อพื้นที่/ประเทศครับ
โฆษณา