31 พ.ค. 2023 เวลา 13:36 • ครอบครัว & เด็ก

ลูกก็เป็นครูของพ่อแม่เช่นกัน

เราคงเคยได้ยินคำพูดประมาณว่า พ่อแม่คือครูคนแรกของลูกใช่ไหมครับ ซึ่งคำพูดนี้ก็ไม่ผิดอะไร เพราะตั้งแต่ลูกเกิดมา คนที่สอนให้ลูกรู้จักการทำอะไรหลาย ๆ อย่าง เช่น กินข้าวอย่างไร ขับถ่ายอย่างไร พูดอย่างไร เดินอย่างไร ก็หนีไม่พ้นพ่อแม่
ต่อมาพ่อแม่ก็ยังสอนในเรื่องความคิดต่าง ๆ ความรับผิดชอบชั่วดี ความประพฤติ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะคงมีพ่อแม่น้อย ๆ มาก ๆ ที่สอนสิ่งที่ไม่ดีให้แก่ลูกตัวเอง
ถึงแม้ว่าหลายครั้งการสอนของพ่อแม่เหล่านั้น อาจจะมากเกินไป อาจจะพยายามยัดเยียดชุดความคิดหรือความเชื่อของตัวเองให้กับลูกเยอะเกินไป ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งปัญหาในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนลูกเติบโตมาเป็นวัยรุ่นหรือเป็นผู้ใหญ่แล้ว เพราะเขาก็มีความคิดของตัวเองเช่นกัน
แต่มุมที่อยากจะชวนคิด คือบางทีเรามองลูกเหมือนกับคนที่เราต้องคอยดูแลอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง การที่เรามีลูกก็เหมือนกับว่าเราต้องได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างเช่นกัน มองมุมนี้ ลูกเราก็เหมือนครูของเราได้เช่นกัน
เอาตั้งแต่เด็ก ๆ เลย พ่อแม่ส่วนใหญ่พอตอนมีลูก ต้องมีการเรียนรู้ปรับตัวกันขนานใหญ่ อย่างผม จำได้เลยว่า ตอนกลางคืนต้องอดหลับอดนอน แต่ก่อนอาจจะอดนอนเพราะเลือกที่จะอดนอนเอง เช่น ดูถ่ายทอดสดฟุตบอล แต่ตอนมีลูก การอดนอนนั้นเกิดจากการที่ลูกตื่นมากลางคืน ร้องไห้ เราไม่ได้เลือกที่จะตื่นหรอก แต่เราต้องตื่น
พ่อแม่ต้องทำอะไรหลายอย่างที่ไม่เคยทำ เรื่องชงนมลูก เรื่องพาลูกไปหาหมอ สารพัดที่เราต้องเรียนรู้การเป็นพ่อแม่
ต่อมาลูกเติบโตเป็นวัยรุ่นเป็นผู้ใหญ่ ผมว่าทักษะที่เราในฐานะพ่อแม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างแรกคือการฟังครับ
คือเข้าใจพ่อแม่เลยนะครับ เราเคยแต่สอนลูกมาตลอดตั้งแต่ลูกเล็ก ๆ ตอนนั้นลูกเรานี่แหละครับ มาถามเราด้วยซ้ำว่า อันนั้นคืออะไร อันนี้คืออะไร อันนี้ทำอย่างไร อะไรแบบนี้ เราจึงคุ้นชินกับการพูด การอธิบาย มากกว่าการฟัง
คราวนี้พอลูกโตขึ้นมา เขามีความคิดเป็นของตัวเอง สิ่งที่เราคิดว่าใช่ เขาก็อาจจะคิดอีกแบบ แต่ถ้าพ่อแม่ไม่ได้เรียนรู้เรื่องนี้ว่า เราควรจะฟังลูกบ้าง บางทีสิ่งที่ลูกพูดนั้น เขาแค่อยากจะระบาย แต่เรากลับเอาแต่พูด ๆ ๆ อย่างเดียว สุดท้าย ลูกเราก็หยุดพูด แต่ไม่ใช่แปลว่าเขาเชื่อนะ เขาแค่ไม่อยากฟังเราบ่นแค่นั้น
2
คนที่มีลูกจะทราบดีเลยครับว่า มันยากเวลาที่เราได้ยินลูกเราพูดอะไรที่มันตรงข้ามกับสิ่งที่เราเชื่อหรือเราคิดซะเหลือเกิน อยากให้ลองคิดว่านี่คือโอกาสดีมากที่เราจะได้ฝึกการฟัง ซึ่งเราอาจจะไม่เคยได้ฝึกมาเลย ฟังต่างจากได้ยินนะครับ เวลาฟังคือเราคิดตามไปด้วยว่าทำไมลูกถึงรู้สึกแบบนั้น อย่าเพิ่งตัดสิน ให้ฟังแล้วคิดมองในมุมลูก
อีกทักษะหนึ่งที่พ่อแม่สามารถเรียนรู้ได้จากลูกเรา คือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา คือตอนลูกเป็นเด็กเล็ก ๆ เรามักจะใส่สิ่งที่เราคิดว่าดีให้กับลูก เพราะลูกยังไม่ค่อยรู้อะไรมากนัก เราให้ทำอะไร เขาก็ทำเพราะเขารักเรา
แต่พอโตขึ้นมา ลูกก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่อาจจะมีความคิด ความรู้สึกที่แตกต่างจากเรา เวลาเขาทำอะไรที่มันขัดอกขัดใจเรา ลองคิดว่านี่คือบทเรียนบทหนึ่งที่จะทำให้เราได้เรียนรู้วิธีการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ลองคิดดูว่า ถ้าเราเป็นเขา อายุเท่าเขา ถูกเลี้ยงดูมาแบบเขา เราจะรู้สึกอย่างไร เราจะอยากทำอย่างไร
1
จริง ๆ สิ่งที่เราเรียนรู้จากลูกมีอีกเยอะแยะนะครับ แต่ละครอบครัวก็อาจจะแตกต่างกันไป บางครั้งผมก็เป็นห่วง จนลูกต้องบอกว่า เรื่องนี้อย่ามานั่งห่วงเลย มันไม่ได้สำคัญขนาดนั้น ก็เป็นอีกบทเรียนที่ผมก็ได้จากลูก หรือบางครั้งความบ้างานของผมมันเกิดขอบเขตไป ก็ได้เรียนรู้จากลูกอีกเช่นกัน จากคำพูดบางคำพูดว่า สนุกที่มาเที่ยว แต่เหมือนพ่อไม่ได้มาด้วย
ทุกวันที่เราอยู่กับลูก คือโอกาสในการเรียนรู้ของเราเช่นกันครับ ไม่ว่าเราจะเจอปัญหาอะไร ลองคิดว่ามันคือบทเรียนบทหนึ่งที่จะสอนให้เราเป็นพ่อแม่ที่ดีขึ้น
ลองนำไปคิดต่อและนำไปปรับใช้กันได้นะครับ
โฆษณา