2 มิ.ย. 2023 เวลา 03:00 • ไลฟ์สไตล์

4 มิ.ย. Bangkok Pride 2023 จากประวัติอันขมขื่นสู่กิจกรรมแห่งสีสัน

งาน Bangkok Pride 2023 เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลอง Pride Month กิจกรรมสำคัญที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ทั่วโลกจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และแสดงออกถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม
สำหรับ ประเทศไทย ปีนี้ กำหนดจัดกิจกรรมร่วมเฉลิมฉลอง Pride Month ภายใต้ชื่องาน Bangkok Pride 2023 กำลังจะมีขึ้นใน วันอาทิตย์ที่ 4 มิ.ย.นี้ เพื่อขับเคลื่อน ความเท่าเทียมแบบ Beyond Gender เรียกร้องการแก้ปัญหาในหลากหลายมิติที่จะทำให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ครอบคลุมความหลากหลายมากขึ้น โดยจะขับเคลื่อน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
* การรับรองเพศสภาพ (Gender Recognition)
* สมรสเท่าเทียม (Marriage Equality)
* สิทธิของ Sex Workers (Sex Work Rights) และ
* สวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับ LGBTQ+ (Equal Right to Health)
แต่ก่อนลงลึกในรายละเอียดของกิจกรรม เรามาทำความรู้จัก ที่มาและประวัติของการจัดงาน Pride Month กันพอสังเขป
จากความเป็นมาที่ขมขื่นสู่กิจกรรมแห่งสีสัน
Pride Month หรือ “เดือนแห่งความภาคภูมิใจ” ของ กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ มีการจัดกิจกรรมเพื่อสดุดีและระลึกถึงเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) ซึ่งเป็นเหตุจลาจลที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ.1969 ในบาร์ที่ชื่อ ‘สโตนวอลล์ อินน์’ ย่านแมนฮัตตันของนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งยุคนั้นมีการจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้ความรุนแรงอยู่เสมอในผับของกลุ่มคนรักร่วมเพศ
การใช้ความรุนแรงที่บาร์สโตนวอลล์ อินน์ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเช้าวันนั้น ส่งผลให้เกิดการปะทะอย่างรุนแรงเป็นเวลาหลายวันระหว่างกลุ่มคนรักร่วมเพศและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในบริบททางสังคมที่ความหลากหลายทางเพศยังไม่เป็นที่ยอมรับของผู้คนทั่วไป การแต่งตัวที่ไม่ตรงกับเพศสภาพของตัวเอง และมีความรักกับเพศเดียวกัน จะถูกคนอื่นๆในสังคมมองราวกับเป็นผู้ก่อการร้าย ไร้ซึ่งการเคารพ ไร้ซึ่งตัวตน แถมถูกกดขี่สารพัดเหมือนกับคนที่มีตราบาปอยู่ในตัว ซ้ำยังมีโอกาสถูกจับกุมหากเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณะ
1
สโตนวอลล์ อินน์ เป็นบาร์เกย์ที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มเพศทางเลือกในช่วงเวลานั้นเพราะเป็นบาร์เดียวในนิวยอร์กที่พวกเขาสามารถเปิดเผยตัวตนได้อย่างเต็มที่และที่สำคัญสามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาดื่มได้ (ความเหลื่อมล้ำทางกฎหมายยุคนั้น ทำให้ร้านอาหารผับบาร์ไม่สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับกลุ่มเพศทางเลือก)
อย่างไรก็ตาม การที่ตำรวจเข้ามาบุกค้นบาร์สโตนวอลล์ด้วยความรุนแรง ทำให้เกิดจุดแตกหัก ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านเจ้าหน้าที่ มีการปะทะกันถึงขั้นจลาจลเป็นเวลา 5 วัน โดยสถานการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ทำให้ผู้คนเริ่มตระหนักและเข้าใจในกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น
เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นให้ชาว LGBTQ+ ซึ่งหมายถึงกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ลุกขึ้นยืนยันการมีตัวตน เรียกร้องให้ยุติการถูกกระทำอย่างรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ ยุติการเลือกปฏิบัติ และเรียกร้องสิทธิ-เสรีภาพการใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมในสังคมในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
หลังจากเหตุการณ์สโตนวอลล์ 1 ปีถัดมา (ค.ศ.1970) ก็ได้เกิดขบวนพาเหรดของเหล่าชาว LGBTQ+ เดินจากที่ตั้งบาร์สโตนวอลล์ไปที่เซ็นทรัลพาร์ก ซึ่งวันนั้นถูกเรียกว่า Christopher Street Liberation Day พร้อมกับคำพูดประจำขบวนว่า Say it loud, Gay is proud ก่อนที่มันจะกลายเป็นวันสำคัญที่เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของการเรียกร้องของสังคมเพศทางเลือกมาจนถึงทุกวันนี้
ในปีค.ศ. 2000 ซึ่งเป็นช่วงยุคบริหารประเทศของประธานาธิบดีบิล คลินตัน มีการประกาศรับรองวันแห่งความภาคภูมิใจของเกย์และเลสเบี้ยน ต่อมาในปี 2009 ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้ประกาศให้เกิด Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของความหลากหลายทางเพศ (LGBT Pride Month) จัดขึ้นในเดือนมิถุนายนของทุกปี เพื่อแสดงออกถึงความเท่าเทียมสิทธิ์ทางเพศ
นอกจากสหรัฐยังมีการจัดกิจกรรมลักษณะเดียวกันนี้ในอีกหลายประเทศ ซึ่งในแต่ละประเทศก็จะมีวันและเวลาในการจัดที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนมากก็จะจัดขึ้นภายใน 1-30 มิ.ย.ของทุกปี โดยมีเอกลักษณ์เป็นขบวนพาเหรดสีรุ้ง หรือ ไพรด์พาเหรด
ความหมายของธงสีรุ้ง
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักความหมายของ LGBTQ หรือ 5 กลุ่มเพศทางเลือก ซึ่งย่อมาจาก Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender และ Queer ที่เห็นว่ามีสัญลักษณ์ + เพิ่มต่อท้ายเข้ามาในภายหลังนั้นก็เพื่อสะท้อนว่า ที่จริงกลุ่มเพศทางเลือกนั้นมีมากมายนอกเหนือไปจากนิยาม 5 กลุ่มข้างต้น
ส่วน ธงสีรุ้งที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม LGBTQ+ ออกแบบโดยศิลปินและนักสิทธิชื่อดังนามว่า กิลเบิร์ต เบเกอร์ (Gilbert Baker) กิลเบิร์ตเป็นเพื่อนสนิทของฮาร์วีย์ มิลค์ (Harvey Milk) นักสิทธิเพื่อกลุ่มเพศทางเลือกในช่วงยุค 1960 พวกเขาต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ในฐานะนักสิทธิที่สื่อสารผ่านงานศิลปะ กิลเบิร์ต ออกแบบธงหลากสีไว้ในปี 1978 โดยความหมายของการถือธง ก็เพื่อสื่อถึงการประกาศอิสรภาพ การมีอาณาจักรเป็นของตนเอง และการที่กลุ่มความหลากหลายทางเพศ มีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
ในอดีตธงสายรุ้งมี 8 สี แต่เนื่องจากในปีต่อๆ มา ผ้าสีชมพูและฟ้าขาดตลาด ทำให้ราคาสูงมากและหาได้ยากในหลายพื้นที่ กิลเบิร์ตจึงปรับแบบให้เหลือเพียง 6 สี เพื่อที่ทุกคนจะสามารถผลิตธงของตัวเองได้ จนกลายเป็นแบบที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน
กิจกรรม Bangkok Pride 2023 วันที่ 4 มิ.ย.
ปีที่แล้ว (2565) กรุงเทพฯ จัดไพรด์พาเหรดเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกภายใต้ชื่อ Bangkok Naruemit Pride 2022 จัดโดยทีมบางกอกไพรด์และเครือข่ายนักกิจกรรม แต่ปีนี้ (2566) เปลี่ยนชื่องานเป็น Bangkok Pride 2023 เพราะมีเป้าหมายใหญ่ในการขอลิขสิทธิ์ในการจัด World Pride ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2028 ซึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ต้องมี คือการเปิดรับจากชุมชน สังคม ภาคธุรกิจ ความพร้อมของสถานที่และบริบทแวดล้อมของเมือง และที่สำคัญที่สุดคือการผ่านกฎหมายที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ
งาน Bangkok Pride 2023 จึงจัดขึ้นภายใต้แนวคิด Beyond Gender เรียกร้องการแก้ปัญหาในหลากหลายมิติ ขับเคลื่อน 4 ประเด็นสำคัญ ดังกล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้น
ส่วน รูปแบบขบวนพาเหรดในปีนี้จะประกอบด้วย 6 ขบวนตามสีในธงไพรด์ และนอกจากการขับเคลื่อนความเท่าเทียมในประเด็นต่างๆ แล้ว ความน่าสนใจในปีนี้คือ แต่ละขบวนจะมีดนตรีประจำขบวนเพื่อเป็นการสร้างสีสัน โดยคัดเลือก 6 แนวดนตรีที่ในประวัติศาสตร์เคยเป็นสัญลักษณ์ของความขบถ เช่น ฮิปฮอป หมอลำ ร็อก แจ๊ส หรือแม้แต่เพลงป็อปโดยศิลปินยุคปัจจุบันที่มีความขบถต่อกฎเกณฑ์ในสังคม
หัวขบวนจะนำโดยวงโยธวาทิตและ ขบวนธงไพรด์ ความยาว 144.8 เมตร (มาจากมาตรา 1448 ที่เนื้อหาว่าด้วยการสมรสเท่าเทียม) ถือเป็น “ธงไพรด์ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย” เย็บโดยคนในคอมมูนิตี้ LGBTQ+ สามารถแยกชิ้นได้เพื่อส่งต่อไปยังคอมมูนิตี้อื่นๆ
ตามด้วย ขบวนธง 6 สีในธงไพรด์ ได้แก่
* ขบวนสีม่วง แสดงถึงความเป็นชุมชนอันแข็งแกร่งของชาว LGBTQ+ ชูประเด็นการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ มาพร้อมกับแนวเพลงป็อป
* ขบวนสีน้ำเงิน ว่าด้วยแนวคิด My Body my Choice ที่ต้องการรณรงค์ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีเพื่อคืนสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพให้กับพนักงานบริการทางเพศ รวมถึงสนับสนุนเซ็กซ์ทอยให้ถูกกฎหมาย สนับสนุนการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา และรณรงค์สิทธิในเนื้อตัวร่างกายเพื่อยุติวัฒนธรรมการข่มขืนและความรุนแรงในครอบครัว ขบวนนี้จะเป็นแนวเพลงฮิปฮอป
* ขบวนสีเขียว จะรณรงค์ให้สังคมเปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายของคำนิยามของความสัมพันธ์และครอบครัว เพื่อนำไปสู่การรับรองสิทธิการก่อตั้งครอบครัวในกฎหมายสมรสเท่าเทียม สร้างสีสันด้วยแนวเพลงหมอลำ
* ต่อด้วย ขบวนสีเหลือง กับแนวเพลงแจ๊ส บลูส์ เพื่อรณรงค์การปกป้องและคุ้มครองสิทธิของโลกและทรัพยากรธรรมชาติเพื่ออนาคตที่เท่าเทียมและเป็นธรรมสำหรับทุกคน
1
* ขบวนสีส้ม มาพร้อมกับแนวเพลง K-POP T-POP และ J-POP จะพูดถึงสิทธิในการเข้าถึงการบริการทางการแพทย์สำหรับทุกเพศและเรียกร้องสวัสดิการการยืนยันเพศ (Gender-affirming Care) สำหรับบุคคลข้ามเพศ
* ปิดท้ายด้วย ขบวนสีแดง กับแนวเพลงร็อก ที่มาพร้อมแนวคิดหลักเรื่องการยืนยันถึงสิทธิในการที่มีความปลอดภัยในชีวิต เสรีภาพในการแสวงหาความสงบสุขทางจิตวิญญาณของ LGBTQ+ และการเปิดกว้างทางศาสนาสำหรับทุกเพศ ผ่านการสนับสนุนและอำนวยความสงบสันติจากทุกภาคส่วน
ไพรด์พาเหรด จะเริ่มจากแยกปทุมวันไปสิ้นสุดที่แยกราชประสงค์ (ถนนพระราม 1) ความยาว 1.5 กิโลเมตร เมื่อเดินขบวนเสร็จจะมีไฮไลต์อยู่ที่ Pride Stage ที่จะมีกิจกรรมมากมาย เช่น ถ้อยคำแถลงชุมชนเพศหลากหลาย ถ้อยแถลงกรุงเทพมหานคร การแสดงจากแดร็กควีน และมินิคอนเสิร์ตจากศิลปิน LGBTQ+
Bangkok Pride 2023 จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน 2566 เริ่มตั้งขบวนเวลา 14.00 น. และเคลื่อนขบวนเวลา 16.00 น.
โฆษณา