2 มิ.ย. 2023 เวลา 00:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม 4 เดือนแรกหดตัว

จากประกาศของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า GDP ไทยใน Q1/2566 ขยายตัวอยู่ที่ 2.7% ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องจากช่วง Q4/2565 ขึ้นมา 1.4% แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศเริ่มฟื้นตัวโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่ด้านการผลิต
มีการเติบโตในภาคการเกษตรแต่ยังคงหดตัวในภาคอุตสาหกรรม เป็นผลให้ภาพรวมตัวเลขการส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้หดตัวลง
มูลค่าการส่งออกรวมในปี 2566 เดือน ม.ค.-เม.ย. อยู่ที่ 92,003.30 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวลง 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
โดยมูลค่าการส่งออกในเดือน เม.ย. 2566 ทรุดลงต่ำสุดในรอบ 4 เดือน อยู่ที่ 21,723.20 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 7.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เป็นผลจากแรงส่งของเศรษฐกิจจีนที่ลดลงอย่างรวดเร็ว และเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัวลงเป็นหลัก
สินค้าส่งออกของไทยแบ่งออกเป็น 4 หมวดสินค้าหลัก ได้แก่
1) หมวดสินค้าเกษตรกรรม มีมูลค่าส่งออกตั้งแต่เดือน ม.ค.-เม.ย. อยู่ที่ 8,996.74 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7.29% ซึ่งขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง
โดยผลไม้สดเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าและการเติบโตได้ดี ผู้อ่านสามารถอ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้าเกษตรได้ใน 9 อันดับผลไม้สดของไทยที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด
2) หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 7,657.58 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 3,488.81 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ
ซึ่งหดตัวที่ 0.33% และ 5.28% ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปที่หดตัวลงเป็นหลัก อย่างไรก็ดี สินค้าที่ยังคงส่งออกได้ดีในหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์รม ผักกระป๋องและผักแปรรูป เป็นต้น
3) หมวดสินค้าอุตสาหกรรม มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกมากที่สุด โดยส่งออกถึง 71,860.18 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เป็นหมวดที่การเติบโตของมูลค่าส่งออกลดลงมากที่สุดเช่นกัน
โดยหดตัวถึง 7.06% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังคงลดลงเป็นสำคัญ
การเติบโตของสินค้าส่งออกสำคัญในหมวดสินค้าอุตสาหกรรมมีทิศทางเป็นลบอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็น
  • 1.
    เม็ดพลาสติก ที่หดตัวลงมากถึง 25.96%
  • 2.
    เคมีภัณฑ์ (-21.96%)
  • 3.
    อัญมณีและเครื่องประดับ (-16.16%)
  • 4.
    เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-15.73%)
  • 5.
    สิ่งทอ (-14.77%)
  • 6.
    เหล็กกล้า (-13.18%)
  • 7.
    เครื่องจักรกล (-12.78%)
  • 8.
    ผลิตภัณฑ์ยาง (-6.49%)
  • 9.
    เครื่องใช้ไฟฟ้า (-0.61%)
  • 10.
    และแผงวงจรไฟฟ้า (-0.57%) ตามลำดับ
ในขณะที่มีเพียง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+4.15%) และ เครื่องปรับอากาศ (+9.46%) ที่มูลค่าการส่งออกเติบโตขึ้นเพียงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
นอกจากความกังวลใจในตัวเลขการส่งออกที่หดตัวลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจแล้ว
ยังคงต้องระวังปัจจัยเสี่ยงอื่นที่จะเกิดขึ้นตามมา ทั้งด้านปัญหาความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ (Geopolitics)
รวมถึงวิกฤตทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐที่มีโอกาสกระทบกับการส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ อย่างไรก็ดี
หากเราเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น อาทิ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือขยายขนาดของตลาดออกไป จะช่วยให้มูลค่าการส่งออกไทยพลิกฟื้นขึ้นมาได้ดังเดิม
ผู้เขียน: ธนัชญา ปิยวรไพบูลย์, Economics Data Analytics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Sources :
โฆษณา