Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
2 มิ.ย. 2023 เวลา 12:00 • ความคิดเห็น
The Little Mermaid: รู้จักกับ “Optimism Bias”
ทำไมคนเราถึงกล้าตัดสินใจทั้งที่รู้ว่ามีความเสี่ยงอยู่ตรงหน้า
ภาพยนตร์ The Little Mermaid เวอร์ชั่นคนแสดงของค่าย Disney ยังคงได้รับความสนใจไม่น้อยแม้ว่าทุกคนจะรู้พล็อตเรื่องกันดีอยู่แล้ว เรื่องราวของเจ้าหญิงแอเรียล ธิดาของราชาไทรตันแห่งโลกใต้สมุทร ที่อยากไปใช้ชีวิตแบบมนุษย์ วันหนึ่งตกหลุมรักเจ้าชาย
จนตัดสินใจยอมแลกเสียงของเธอเพื่อให้มีขาแบบมนุษย์ 3 วัน และภายใน 3 วันนั้นเธอต้องทำให้เจ้าชายจุมพิตเธอด้วยรักแท้ให้ได้ มิเช่นนั้นจะต้องตกเป็นทาสรับใช้ของเออซูลาร์
“ได้อย่าง ก็ต้องเสียอย่าง” น่าจะเป็นนิยามที่พูดถึงข้อเสนอนี้ได้ดีที่สุด เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ
ถ้าเรามองข้อเสนอดีๆ จะรู้สึกว่าเป็นข้อแลกเปลี่ยนที่ดูไม่น่าตกลง เพราะเธอต้องเลือกระหว่างเสียงที่ไพเราะซึ่งเป็นเหมือนของขวัญจากพระเจ้าที่เธอมี กับความปรารถนาอยากใช้ชีวิตแบบมนุษย์ แถมเป็นไปได้ยากที่จะทำตามเงื่อนไขนี้ได้สำเร็จอีกต่างหาก แต่ที่แอเรียลเลือก อาจจะเพราะเธอเปรียบเทียบต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity cost) ของเธอมาแล้ว และอาจประเมินสถานการณ์ดีเกินกว่าความเป็นจริงก็ได้
📌 ต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity cost) คืออะไร?
ถ้าอธิบายง่ายๆ มันคือผลประโยชน์ที่เราต้องสูญเสียไปเพื่อเลือกอีกสิ่งหนึ่ง แต่เพราะว่ามันเป็นต้นทุนที่มองไม่เห็น ทำให้บางครั้งเราก็มักจะลืมคิดไป ทั้งที่หากเราเข้าใจว่าต้องจะต้องเสีย หรือพลาดอะไรไปบ้างจากการตัดสินใจแบบของเรา ก็อาจทำให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้นก็ได้
เวลาจะเปรียบเทียบต้นทุนค่าเสียโอกาส สามารถทำได้โดยประเมินทั้งต้นทุน และผลประโยชน์ที่จะได้รับจากทุกๆ ทางเลือก แล้วเปรียบเทียบดูว่าน้ำหนักแต่ละอันเป็นอย่างไร
สำหรับคนที่มีเหตุมีผล แน่นอนว่าการตัดสินใจที่สมเหตุสมผลที่สุดคือการเลือกในสิ่งที่มีต้นทุนค่าเสียโอกาสน้อยที่สุด
ถ้าในกรณีของแอเรียล มีต้นทุนค่าเสียโอกาสของการได้ใช้ชีวิตบนบกแบบมนุษย์ คือเธอต้องสูญเสียเสียงอันไพเราะ กับหางของเธอไป แต่เธอก็ตัดสินใจเลือกขึ้นไปใช้ชีวิตบนบก นั่นแปลว่าสำหรับเธอแล้ว การได้ใช้ชีวิตแบบมนุษย์ มีต้นทุนค่าเสียโอกาสน้อยกว่าการเลือกใช้ชีวิตเป็นนางเงือกต่อไป และเธอยังประเมินว่าผลประโยชน์ที่เธอได้จะได้รับ คุ้มค่าพอกับความเสี่ยงที่เธออาจต้องตกเป็นทาสของเออซูลาร์หากเธอผิดสัญญาด้วยซ้ำ
ทำไมเธอจึงตัดสินใจเช่นนั้น…
📌 Optimism Bias เมื่อเรามองโลกดีเกินกว่าความเป็นจริง
เพราะคนปกติไม่ได้มีเหตุมีผลขนาดนั้น เรายังคงตัดสินใจอะไรด้วยความรู้สึกที่อาจจะลำเอียงโดยที่ไม่รู้ตัว ในบางครั้งเราอาจจะตัดสินใจโดยประเมินสถานการณ์ในแง่ดีมากเกินไป หรือเรียกว่า Optimism Bias
1
Optimism Bias คือการที่เรามีแนวโน้มที่จะประเมินโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ดีๆ มากเกินกว่าความเป็นจริง และประเมินโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์แย่ๆ น้อยกว่าความเป็นจริง
งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ก็พบว่าคนส่วนใหญ่กว่า 80% ก็มักจะตัดสินใจโดยมองโลกในแง่ดีเกินกว่าความเป็นจริง หรือพูดง่ายๆ ก็คือเข้าข้างตัวเองมากเกินไป เช่น เราคิดว่าเรามีโอกาสจะประสบความสำเร็จได้เกินกว่าความเป็นจริง คิดว่าจะทำงานเสร็จเร็วกว่าที่เป็นจริงๆ คิดว่าความสัมพันธ์จะคงอยู่นานกว่าความเป็นจริง คิดว่าเราสามารถหาเงินได้มากกว่าที่เป็นจริงๆ
1
ซึ่งความมองโลกในแง่ดีมากไป เข้าข้างตัวเองมากไป มักจะก่อให้เกิดพฤติกรรมที่กล้าเสี่ยง เพราะเรามองไม่เห็น หรือไม่ตระหนักถึงผลทางลบของการกระทำนั้นๆ มากอย่างที่ควรจะเป็น
ในกรณีของแอเรียล อาจเกิดจากการที่เธอให้น้ำหนักกับสถานการณ์เชิงบวกที่อาจเกิดขึ้น และมองโลกในแง่ดีเกินไป ว่าเธอจะสามารถทำตามข้อตกลงนั้นได้สำเร็จ อีกทั้งยังประเมินความเสี่ยงที่อาจทำไม่สำเร็จแล้วต้องตกเป็นทาสของเออซูลาร์ต่ำเกินไป นั่นจึงทำให้เธอตัดสินใจยอมรับข้อตกลงดังกล่าว
เพราะมนุษย์ (หรือแม้แต่นางเงือก) ล้วนตัดสินใจโดยไม่ได้คำนึงถึงเหตุผลขนาดนั้น แต่เรายังคงเต็มไปด้วยความลำเอียงบางอย่างในใจ
ในโลกแห่งความเป็นจริง การมองโลกในแง่ดีเกินไปอาจส่งผลเสียทั้งต่อตัวคนๆ นั้น และต่อส่วนรวมเลยก็ได้ ยกตัวอย่างในสมัยที่เกิดวิกฤติการณ์การเงินในปี 2008 ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่นักลงทุนต่างมองโลกในแง่ดีเกินไป คาดหวังว่าตลาดการเงินจะเติบโตได้ดีเกินความเป็นจริง ธนาคารเองก็กล้าตัดสินใจปล่อยกู้แบบมีความเสี่ยง จนเกิดฟองสบู่เศรษฐกิจแตกในที่สุด
แต่ก็ไม่ใช่ว่าการประเมินสถานการณ์ในแง่ดีเกินไปจะส่งผลเสียไปทั้งหมด เพราะในบางเวลา เราก็ต้องการคนที่มองโลกในแง่ดี เพื่อให้สามารถมีแรงกระตุ้นขับเคลื่อนไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีได้เช่นกัน
ดังนั้นคงไม่มีใครที่ตัดสินใจได้อย่างสมเหตุสมผลที่สุด มีแค่คนที่ตัดสินใจได้เหมาะสมกับสถานการณ์และเงื่อนไขของตนเองมากที่สุดแค่นั้นเอง…
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
●
https://www.investopedia.com/terms/o/opportunitycost.asp#toc-the-difference-between-opportunity-cost-and-sunk-cost
●
https://thedecisionlab.com/biases/optimism-bias
หนัง
เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
จิตวิทยา
4 บันทึก
11
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Economic Edutainment
4
11
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย