Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย
•
ติดตาม
2 มิ.ย. 2023 เวลา 09:37 • สุขภาพ
สรุปความก้าวหน้าล่าสุด ของ 3 วัคซีนโควิดไทย อยู่ในขั้นแนวหน้าของทวีปเอเชีย
การวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค จนสามารถนำมาใช้ได้จริงกับมนุษย์ นับเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน และต้องใช้เวลายาวนานมาก
2
เนื่องจากจะต้องใช้ความระมัดระวังสูงสุด ให้เกิดความปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อยที่สุด เนื่องจากจะต้องนำไปใช้กับคนปกติที่ไม่ได้เป็นโรคอะไร
แตกต่างไปกับการวิจัยพัฒนายารักษาโรค ซึ่งแม้จะต้องระมัดระวังสูงสุดเช่นกัน
แต่ถ้านำมาใช้ในโรคที่ร้ายแรงและยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ ก็อาจจะสามารถเร่งทำการวิจัยหรือนำมาใช้กับมนุษย์จริงในขั้นตอนทดลอง เช่น ยารักษาโรคมะเร็งของผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นต้น
1
โดยทั่วไปแล้ว ในอดีตที่ผ่านมา เราต้องใช้เวลาในการพัฒนาวัคซีนอย่างน้อย 5-10 ปี ในบางกรณีพัฒนา 20-30 ปี ยังไม่สำเร็จก็มี
แต่สำหรับโรคโควิด-19 ซึ่งมีการระบาดที่กว้างขวางและรุนแรงมาก (Pandemic) โดยในระยะแรกมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่า 10%
มีผู้ติดเชื้อนับร้อยล้านคน มากกว่า 100 ประเทศ ในช่วงเวลาไม่ถึงปีนั้น
ทำให้แต่ละประเทศ แม้จะมีมาตรฐานสูงมาก เช่น สหรัฐอเมริกา ก็ต้องยอมหย่อนเกณฑ์มาตรฐานในการวิจัยพัฒนาลงมาระดับหนึ่ง
แต่ยังคงความเข้มข้น ที่จะให้ความมั่นใจถึงความปลอดภัยไว้ได้ และเรียกการใช้ในมนุษย์นั้นว่า การใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน (EUA)
ถ้าจะกล่าวสรุปโดยย่อ ถึงการวิจัยพัฒนาให้เกิดวัคซีนป้องกันโรค โดยทั่วไปตามมาตรฐานสากล ก็จะแบ่งได้เป็น 3 ระยะดังนี้
1
1) ระยะทดลองในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ได้ตัวเชื้อโรค หรือส่วนสำคัญของเชื้อโรค ที่จะนำมาทำวัคซีน
2) ระยะทดลองในสัตว์ทดลอง ประกอบด้วย
2.1 สัตว์ทดลองขนาดเล็ก เช่น หนูตะเภา กระต่าย เป็นต้น
2.2 สัตว์ทดลองขนาดใหญ่ เช่น สุนัข ลิง เป็นต้น
3) ระยะทดลองกับอาสาสมัคร ที่เป็นมนุษย์ แบ่งเป็น
3.1 เฟสหนึ่ง จะใช้อาสาสมัครจำนวนหลักสิบถึงหลักร้อยคน เพื่อดูความปลอดภัย และขนาดวัคซีนที่เหมาะสม
3.2 เฟสสอง จำนวนอาสาสมัครหลักร้อยถึงหลักพันคน เพื่อดูประสิทธิภาพการกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันและความปลอดภัย
3.3 เฟสสาม จำนวนอาสาสมัครเพิ่มมากขึ้นเป็นหลักพันหรือหลักหมื่นคน เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะใช้ได้ผลจริงเมื่อฉีดในคนหมู่มาก
แล้วจึงนำออกมาใช้ในเชิงพาณิชย์ สำหรับวัคซีนโควิด เรียกว่าเป็นการใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ซึ่งจะเห็นได้ว่า ขั้นตอนดังกล่าวนั้น จะมี 3 ขั้นตอนหลัก และ 6 ขั้นตอนย่อย
ถ้าแต่ละขั้นตอนใช้เวลา 6 เดือน ก็จะต้องใช้เวลามากถึง 3 ปี
1
อย่างไรก็ตามมนุษย์เราก็สามารถผลิตวัคซีนป้องกันโควิดตัวแรกได้ในเวลาเพียง 11 เดือน ซึ่งต้องถือว่าเร็วมากๆ
แต่ทั้งนี้ต้องระดมใช้นักวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการ เวชภัณฑ์ต่างๆ และงบประมาณนับหมื่นล้านบาท
สำหรับประเทศไทยเรา ซึ่งมีทรัพยากรค่อนข้างน้อย ทั้งบุคลากร ห้องปฏิบัติการ เครื่องมือ และงบวิจัย
ทำให้ประเทศไทย มีความยากลำบากมากกว่าประเทศมหาอำนาจอย่างมาก ในการพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันโรคติดต่อ
อย่างไรก็ตาม บุคลากรทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยของไทย ก็ได้ทุ่มเทสรรพกำลัง ช่วยกันทำการวิจัย
ประกอบกับได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลในจำนวนหลักเป็นพันล้านบาท ซึ่งถึงแม้จะน้อยกว่างบประมาณที่ใช้โดยบริษัทยักษ์ใหญ่นับ 10 เท่า แต่ก็ถือว่าเพียงพอสำหรับการเริ่มต้น
1
จนถึงปัจจุบันนี้ (มิถุนายน 2566) เราลองมาดูกันว่า วัคซีนป้องกันโควิดของไทยนั้น มีความก้าวหน้ามากน้อยอย่างไร
1) วัคซีนที่ผลิตโดยเทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ทำนองเดียวกับ Pfizer และ Moderna ได้รับการพัฒนาขึ้น โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมษายน 2563 เริ่มทดลองในหนู
พฤษภาคม 2563 เริ่มทดลองในลิง
มิถุนายน 2564 ทดลองในมนุษย์เฟสหนึ่ง
หลังจากนั้นเกิดเหตุขัดข้อง เกี่ยวกับระบบการอนุญาตให้ทำการทดลองในมนุษย์ ทำให้เกิดการชะลอของการวิจัย
จนถึงเมษายน 2566 เริ่มทดลองเฟสสองในมนุษย์
โดยเทคโนโลยี mRNA ของคณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ สามารถนำไปใช้พัฒนาเป็นวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก วัคซีนภูมิแพ้ และเป็นยารักษามะเร็งต่อไปได้อีกด้วย
2) วัคซีนที่พัฒนาโดยเทคโนโลยีโปรตีนจากพืช พัฒนาโดยคณะเภสัชศาสตร์จุฬาฯโดยบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม
กรกฎาคม 2564 ทดลองในมนุษย์เฟสหนึ่ง
มีนาคม 2565 ทดลองในมนุษย์เฟสหนึ่ง โดยการปรับสูตรวัคซีนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
เมษายน 2566 ทดลองในมนุษย์เฟสหนึ่ง ได้สูตรที่สมบูรณ์ครบถ้วน
ต้นปี 2567 คาดว่าจะทดลองวัคซีนชนิดสองสายพันธุ์ในมนุษย์เฟสสอง
3) วัคซีนพัฒนาด้วยเทคโนโลยีเชื้อตาย ขององค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข
มีนาคม 2564 ทดลองในมนุษย์เฟสหนึ่ง
สิงหาคม 2565 ทดลองในมนุษย์เฟสสอง
ธันวาคม 2565 เริ่มทดลองในมนุษย์เฟสสาม และเสร็จสิ้นในเดือนเมษายน 2566
สิงหาคม 2566 จะยื่นขอจดทะเบียนกับอย.
ธันวาคม 2566 คาดว่าน่าจะได้รับการจดทะเบียน ให้ใช้ฉีดในมนุษย์ได้
จึงพอจะสรุปความก้าวหน้าของ 3 วัคซีนไทยได้ดังนี้
1) วัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย เป็นวัคซีนไทยที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด น่าจะสามารถนำมาฉีดได้จริงในปลายปี 2566 อย่างช้าไม่เกินต้นปี 2567
2) วัคซีนอีก 2 เทคโนโลยีคือ mRNA และโปรตีนจากพืช น่าจะนำมาใช้ฉีดได้จริงในปี 2567
3
3) องค์ความรู้ที่เกิดจากการวิจัยทั้ง 3 เทคโนโลยี จะเป็นความมั่นคงของประเทศทางด้านการผลิตวัคซีน เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นใหม่ เราจะสามารถพัฒนาวัคซีนได้รวดเร็วขึ้นภายในเวลา 12 เดือน
4) เทคโนโลยี mRNA จะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอด เป็นวัคซีนป้องกันโรคชนิดอื่น เช่น ไข้เลือดออก วัคซีนภูมิแพ้ ได้ต่อไปด้วย
การวิจัยและพัฒนาวัคซีนของไทย สำหรับป้องกันโรคโควิด-19 ถือว่าอยู่ในขั้นแนวหน้าของทวีปเอเชีย
โดยจะพบว่ามีประเทศมหาอำนาจเช่น สหรัฐอเมริกา และจีนเท่านั้น ที่สามารถพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว
ส่วนประเทศชั้นนำอื่นๆ ทั้งในทวีปเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือในทวีปยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ล้วนแล้วแต่ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19
Reference
1
กรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
องค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข
สุขภาพ
ท่องเที่ยว
เศรษฐกิจ
23 บันทึก
76
4
89
23
76
4
89
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย