Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
WDYMean
•
ติดตาม
2 มิ.ย. 2023 เวลา 13:50 • ประวัติศาสตร์
จะจับโจรยังไง ในวันที่ไม่มีกล้องวงจรปิด? | ประวัติศาสตร์เครื่องคิดเงิน
ลองคิดภาพว่าคุณกำลังเปิดร้านขายของเล็กๆ อยู่ในอเมริกา ในยุคศตวรรษที่ 19
ยุคนั้นเป็นยุคที่ทุกอย่างเป็นอนาล็อก ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีกล้องวงจรปิด คำถามคือ คุณจะทำยังไงกับลูกจ้างที่แอบลักเงินคุณ ?
แน่นอนว่าถ้าเล็กๆ น้อยๆ ก็คงจะเอาผิดไม่ได้ เพราะคุณไม่มีทั้งหลักฐาน พยาน และไม่น่าจะอยู่เฝ้าร้านและลูกจ้างได้ทั้งวัน
คุณรู้ดีว่าปัญหานี้ต้องแก้ไขให้เด็ดขาด เพราะธุรกิจคงไปต่อไม่ได้ ถ้าไม่รู้ยอดกำไรขาดทุนที่แท้จริง
คำถามต่อมาคือ แล้วจะต้องแก้ยังไง?
ผมไม่รู้ครับ แต่มีอยู่คนหนึ่งที่รู้
เขาเป็นทหารผ่านศึกจากสงครามกลางเมือง, เขาเป็นนักเรียนแพทย์ที่ผันตัวมาเป็นเจ้าของบาร์, และเขาก็เป็นคนที่กำลังเจอกับปัญหาที่ว่ามาก่อนหน้านี้ทั้งหมด เหมือนกันกับคุณ
คำถามคือ เขาจัดการปัญหาหัวขโมยในยุคที่ไม่มีกล้องวงจรปิดได้อย่างไร ?
บทความนี้จะพาทุกคนไปหาคำตอบ พร้อมกันครับ
The Union (น้ำเงิน) และ The Confederacy (ม่วง)
ย้อนกลับไปในปี 1861 ที่แผ่นดินอเมริกา
สมัยนั้นยังไม่มีอเมริกาอย่างที่เรารู้จักกัน อเมริกาในตอนนั้นยังมีการแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายเหนือเรียกตัวเองว่า ฝ่ายสหภาพ (The Union) ส่วนฝ่ายใต้เรียกตัวเองว่า ฝ่ายสมาพันธรัฐ (The Confederacy)
ความต่างเดียวที่เด่นชัดจากทั้งสองฝ่ายนี้ คือ ฝ่ายใต้ยังต้องการให้มีทาส (เพราะต้องการแรงงานทาสมาช่วยในการทำไร่) ส่วนฝ่ายเหนือไม่ได้พึ่งพาทาสอีกแล้ว พวกเขาต้องการที่จะเลิก
เมื่อความเห็นไม่ตรงกัน สุดท้ายจึงเกิดเป็นสงครามที่ทุกวันนี้รู้จักกันดีในชื่อ สงครามกลางเมือง (American civil war) เป็นการรบกันระหว่างรัฐทางเหนือกับรัฐทางใต้ และมีวีรบุรุษที่เป็นที่รู้จักมากๆ อยู่หนึ่งคน นั่นคือ ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล
เมื่อสงครามปะทุขึ้น ชายหนุ่มน้อยใหญ่ทุกอาชีพจึงถูกเกณฑ์มารับใช้รัฐของตนเอง ไล่ตั้งแต่หมอ วิศวกร ช่าง กะลาสี โดยไม่เว้นแม้แต่นักศึกษา
และหนึ่งในนักศึกษาที่โดนเรียกตัวเพื่อไปร่วมรบในสงครามในครั้งนี้ ก็คือ เจมส์ ริตที (James Ritty) นักศึกษาแพทย์จากโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งในรัฐโอไฮโอ
ไม่มีรูปตอนหนุ่มเลยครับ เลยเซฟตอนแก่มาให้ดู
เจมส์ ริตที เป็นเด็กหัวดีครับ เขาเกิดและเติบโตในรัฐโอไฮโอ วาดหวังเอาไว้ว่าสักวันหนึ่ง เขาจะเป็นแพทย์ที่เก่งเหมือนกับคุณพ่อของเขาให้ได้
แต่แล้วชีวิตก็เหมือนต้องกลับตาลปัตร เมื่อรัฐทางใต้ประกาศสงคราม เพราะหัวเด็ดตีนขาดยังไงก็จะไม่ยอมให้มีการเลิกทาส ตัวริตทีเอง จึงจำเป็นที่จะต้องพักการเรียน และร่วมรบกับฝ่ายสหภาพในนามของโอไฮโอ ซึ่งเป็นรัฐทางตอนเหนือ
เมื่อริตทีก้าวเข้าสู่กองทัพ เขาต้องทิ้งทักษะที่ใช้ในการเรียนแพทย์ไปเกือบทั้งหมด
กองทัพจะปั้นเขาให้เป็นนักรบ จะสอนให้เขารู้จักพลิกแพลง และจะทำให้เขาเป็นช่างที่ยิงปืนได้ ที่มีความรู้เรื่องสมุนไพรนิดหน่อย
หลังสงครามสิ้นสุดลงในปี 1865 ริตทีดูจะเป็นช่างมากกว่าอดีตนักเรียนแพทย์จริงๆ ตลอดสามปีในกองทัพ เขาพบว่าตัวเองไม่เหลือไฟในการเรียนแพทย์อีกแล้ว
เขาจึงหันเหไปทำอย่างอื่น เขาได้เงินจากการไปรบ และรู้สึกว่าตัวเองก็ทำได้ไม่แย่กับงานช่าง แต่ติดที่เขาชอบความมึนเมาเป็นชีวิตจิตใจ จึงได้ข้อสรุปว่าเขาควรจะเปิดบาร์
หลังลองผิดลองถูกอยู่นาน ในที่สุดปี 1871 ริตทีก็เปิดบาร์เล็กๆ ในบ้านเกิดของตนเอง
เขาโฆษณาตัวเองทำนองว่า “วิสกี้แท้ ไวน์ดี แวะมาลองซี้ จะติดใจ” จากนั้นลูกค้าก็หลั่งไหลกันเข้ามาไม่ขาดสาย แต่พอเปิดร้านไปหลายปี แล้วรายได้ไม่สัมพันธ์กับจำนวนแขก เขาก็เริ่มนึกสงสัย
“ว่ากำไรที่ควรจะได้ มันหดหายไปไหนหมด ?”
หน้าตาบาร์ของเจมส์ ริตที
ไม่ต้องคิดนาน ริตทีก็พอจะเดาออกว่าร้านของเขาต้องโดนโจรขึ้นแน่ๆ
ไม่ใช่โจรขโมยที่ขึ้นบ้าน แต่เป็นโจรขโมยในคราบของลูกจ้าง (Employee theft) เป็นปัญหาคลาสสิคที่เพื่อนที่เป็นเจ้าของบาร์เหมือนกันกับเขา ก็โดนมาเหมือนๆ กัน
ริตทีลองไปถามเพื่อนเขาแต่ละคนว่าจัดการกับปัญหาโจรลูกจ้างยังไง เพื่อนก็ใบ้กลับมาว่า “มึงก็ไล่มันออกไปสิ”
แต่ ณ จุดๆ นั้น ตัวริตทีเอง ก็ไล่จนไม่รู้จะต้องไล่อีกเท่าไหร่แล้ว
เขาไล่คนเก่าออกไป คนใหม่ที่เข้ามาก็ซื่อสัตย์อยู่พักหนึ่ง ก่อนจะเริ่มออกลาย แกล้งคิดเงินผิดบ้าง แอบมุบมิบใส่กางเกงบ้าง จนกำไรร้านเริ่มหด และก็จบที่เขาเค้นจนได้ความจริง จนลูกจ้างคนนั้นโดนตะเพิดออกจากร้านไป
เขารู้ดีว่าถ้ายังต้องไล่ใครออกแล้วจ้างใหม่เรื่อยๆ แบบนี้ เขาจะต้องประสาทกินและตายก่อนภรรยาแน่ๆ
แต่โชคดีจริงๆ ที่ช่วงนั้นมีทริปล่องเรือไปเที่ยวยุโรป ปืนั้นเป็นปี 1878 ริตทีและภรรยาจึงตัดสินใจ “เอาวะ” พักก่อนก็ได้ ไปพักผ่อนกันก่อนแล้วค่อยกลับมาว่ากัน
และเป็นทริปไปยุโรปนี้นี่เอง ที่จะจุดประกายให้เขาประดิษฐ์เครื่องหยุดหัวขโมย ที่จะใช้กันทั่วบ้านทั่วเมือง
เรือไอน้ำและเครื่องยนต์
ระหว่างที่เรือกำลังล่องออกจากอเมริกา ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก เจมส์ ริตทีและภรรยาก็มีโอกาสได้เข้าไปดูการทำงานของเครื่องจักรภายในเรือ
ระหว่างที่กำลังเดินเที่ยวชม ริตทีก็ไปสะดุดตาเข้ากับเครื่องจักรชนิดหนึ่งที่กำลังแสดงตัวเลขคล้ายกับนาฬิกา เมื่อเขาถามว่านั่นมันคือเครื่องอะไร คำตอบที่ได้รับกลับมาก็คือ “เครื่องนับรอบใบพัด”
กล่าวคือ ในใบพัดของเรือสมัยก่อนครับ จะทำงานได้ด้วยกำลังจากเครื่องจักรไอน้ำ ซึ่งมาจากการเผาถ่านหินที่ขนมาเป็นตันๆ
การมีเครื่องนับรอบใบพัดก็เหมือนกับการมีหน้าปัดรถยนต์ ทำให้กัปตันรู้ว่าตอนนี้เรือแล่นไปด้วยอัตราเร็วเท่าไหร่แล้ว และควรจะเพิ่มหรือลดเจ้าถ่านหิน
ริตทีรู้สึกทึ่งมากๆ กับเจ้าเครื่องนับอะไรนี่ เขาคิดในใจว่า “ขนาดใบพัดเรืออันเบ่อเริ่ม ที่หมุนเร็วจนมองไม่ทันยังหาวิธีนับรอบมันได้ แล้วเงินที่ไหลเข้าไหลออกของลูกค้าที่มาซื้อเหล้าจากร้านเรา ทำไมมันจะหาวิธีนับไม่ได้”
จบจากทริปนั้น ริตทีก็โฟนอินหาน้องชายของเขาทันที น้องชายของเขาชื่อ จอห์น ครับ
จอห์นเป็นช่างมือฉมังฝีมือไม่ธรรมดา และตอนนี้พี่ชายของเขาก็กำลังต้องการตัวอย่างเร่งด่วน
พี่น้องตระกูลริตที และแบบร่าง
เมื่อเจมส์ และจอห์น ริตทีมาเจอกัน ไอเดียทั้งหมดของริตทีคนพี่ ก็พรั่งพรูเข้ามาสู่หัวของริตทีคนน้อง
ริตทีคนพี่อยากได้อุปกรณ์อะไรสักอย่าง ที่มีลิ้นชักเปิดเข้าเปิดออกได้เพื่อเอาไว้ใส่เงิน ส่วนตรงหน้าปัดก็ให้มีเข็มสักหน่อยคล้ายนาฬิกา เอาไว้ชี้บอกจำนวนเงินที่เพิ่งกดไป
แถวที่เห็นด้านล่างก็ให้เป็นปุ่มกดบอกจำนวนเงิน ไล่ตั้งแต่ 5 เหรียญไปจนถึง 95 เหรียญ
ส่วนกลไกภายในก็ออกแบบให้สามารถบันทึกจำนวนครั้งการซื้อขาย และจะเปิดลิ้นชักได้ก็ต่อเมื่อมีลูกค้ามาจ่ายเงินจริงๆ แถมข้างตู้ยังติดกระดิ่งเอาไว้อีก ลูกจ้างจะมาเปิดลิ้นชักเล่นเหมือนแต่ก่อนไม่ได้แล้ว
หลังจากประกอบเสร็จ ริตทีก็นำมาใช้กับร้านของตัวเอง เหลือเชื่อครับ ไอ้ที่เรียกว่าโจรลูกจ้างอะไรนั่น หายวับไปในชั่วข้ามคืน
ริตทีสามารถนับยอดเงินเข้าออกและจำนวนลูกค้าได้อย่างแม่นยำ เขาไม่ต้องกังวลใจอีกแล้ว เพราะทุกครั้งที่มีการเปิดลิ้นชัก ก็จะตามมาด้วยเสียงกระดิ่งที่ดังบาดหู ลูกจ้างไม่กล้าลักเงินเขาอย่างแน่นอน
เมื่อแก้ปัญหาให้กับตัวเองได้ เขาก็คิดว่าร้านอื่นน่าจะกำลังเจอปัญหาคล้ายๆ กัน คิดได้ดังนั้นเขากับน้องก็ขึ้นไปประชุมกันที่ชั้นสอง (ของบาร์) ก่อนจะลงมือวาดแบบ ประกอบปุ้งปั้ง จนได้ออกมาเป็น Cash register รุ่นบุกเบิก
เขาเริ่มโฆษณาและวางขายในชื่อ Ritty’s Incorruptible Cashier (Incorruptible คือ ไม่สามารถทุจริตได้) ทุกวันนี้เรารู้จักเจ้าเครื่องนี่ว่าเป็นต้นแบบของสิ่งที่เรียกว่า “เครื่องคิดเงิน”
ต้นแบบของเครื่องคิดเงิน
เครื่องคิดเงิน เครื่องเก็บเงิน หรือเครื่องบันทึกเงินสด ที่มาจากคำว่า Cash register ผมไม่มั่นใจจริงๆ ครับว่าจะต้องใช้คำไหน
แต่อย่างหนึ่งที่ผมมั่นใจแน่ๆ คือในวันแรกที่ริตทีเปิดตัวสินค้าของเขาในปี 1879 นั้น "มันขายไม่ออก"
สิ่งที่ริตทีทำเพียงแค่ซื้อตึกมาหนึ่งหลัง แต่งหน้าร้านนิดหน่อย แล้วก็วางขายกล่องที่ดูเหมือนจะติดกับนาฬิกาเรือนยักษ์พร้อมปุ่มกดเรียงราย
แต่ติดนิดหน่อยตรงที่เขาโน้มน้าวให้ลูกค้าเห็นถึงประโยชน์ของมันได้ไม่ดีเลย
หลังจากผ่านไปเดือนแล้วเดือนเล่า เครื่องคิดเงินนี้ก็ยังทำยอดได้ไม่ถึงเป้า และริตทีก็ไม่สามารถแบกทั้งสองธุรกิจนี้ไปพร้อมๆ กันได้อีก เขาจำใจต้องขายธุรกิจเครื่องคิดเงินให้กับเจ้าอื่นที่รู้สึกสนใจมันมากกว่า
เจ้าอื่นที่ว่านั้นก็คือ จอห์น แพตเทอร์สัน (John Patterson) เจ้าของร้านขายอะไหล่สำหรับเหมืองถ่านหินใกล้ๆ กับบ้านเขานั่นแหละ
จอห์น แพตเทอร์สัน
ถ้าถามว่าแพตเทอร์สัน สนใจในธุรกิจเครื่องคิดเงินของริตทีมากขนาดไหน ตอบสั้นๆ ง่ายๆ ว่าเขายอมขายร้านขายอะไหล่ เพื่อทุ่มสุดตัวกับเครื่องคิดเงินที่ริตทีขายไม่ออก
แพตเทอร์สันบอกว่า หลังจากที่เขาซื้อเครื่องคิดเงินอะไรนี่ไปใช้ มันทำให้ลูกจ้างหัวขโมยของเขาหายวับ แล้วร้านขายอะไหล่ของเขาก็ทำกำไรเพิ่มขึ้นถึง 5,000 เหรียญ
และแน่นอนว่าจะต้องมีคนอีกมากที่เจอกับปัญหาโจรลูกจ้าง และเป็นแพตเทอร์สันนี้เองที่คว้าโอกาสนี้เอาไว้ได้
ชื่อบริษัทของแพตเทอร์สัน
หลังจากแพตเทอร์สันซื้อกิจการของริตที เขาก็เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น National Cash Register Company (NCR) แล้วขายเครื่องคิดเงินเต็มรูปแบบ
เขาทำโฆษณา รับคนงานเพิ่ม และขยายกำลังการผลิต ไม่นานบริษัทนี้ก็มีคนงานกว่า 1,000 คน พร้อมทั้งออกแบบเครื่องคิดเงินจากที่ต้องทำทุกอย่างด้วยมือ ก็เริ่มมีการใช้ไฟฟ้า
เริ่มใส่ม้วนกระดาษ เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่า “ใบเสร็จ” ซึ่งมีขึ้นไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้ามาโกงเขา และไม่ให้เขาโดนลูกจ้างโกง
เมื่อมีคนชอบไอเดียนี้และลูกค้าไม่ได้มีแค่ในอเมริกาแต่เป็นทั่วโลก ธุรกิจเครื่องคิดเงินของแพตเทอร์สัน จึงถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดไปโดยปริยาย
จากนั้นมาธุรกิจเครื่องคิดเงินก็มีการส่งต่อกันแบบรุ่นสู่รุ่น มีการใส่ไอเดียใหม่ๆ เพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ เช่น เริ่มมีการใช้จอแสดงตัวเลขในยุค 1960 ถัดจากนั้นอีกสิบปี ในปี 1970 เครื่องคิดเงินก็เปลี่ยนมาใช้เป็นวงจรอิเล็กทรอนิกส์
ตามมาด้วยการมาถึงของคอมพิวเตอร์
แสงเลเซอร์
กำเนิดบาร์โค้ด
และระบบอินเตอร์เน็ต
ทุกวันนี้เราคงนึกภาพไม่ออกแล้วว่า ธุรกิจที่ขาดเครื่องคิดเงินไปจะทำมาค้าขายต่อยังไง แต่ถ้าเป็นภาพของธุรกิจที่มีแต่โจรลูกจ้าง แอบลักเงินจากบริษัท อันนี้ผมเชื่อว่าทุกคนนึกออกอย่างแน่นอน
เพราะมันคงสับสน อลหม่าน มีการคอรัปชั่นกันบานเบอะ และธุรกิจยักษ์ใหญ่ทุกวันนี้คงไม่สามารถขยายกิจการต่อไปได้ ถ้าไม่รู้ตัวเลขขาดทุนกำไรที่แท้จริง
ต้องขอบคุณวิสัยทัศน์ของคุณจอห์น แพตเทอร์สันนะครับ ที่มองได้เฉียบขาดและไกลขนาดนี้
แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราคงลืมอีกท่านที่เป็นเจ้าของไอเดียนี้อย่างคุณเจมส์ ริตที ไม่ได้
ถึงแม้เขาจะล้มเหลว และไม่สามารถสานต่อไอเดียนั้นให้ไปไกลถึงระดับโลกได้ด้วยตัวของเขาเอง แต่ถ้าขาดเขาไป ผมเชื่อว่าธุรกิจค้าปลีกทั้งเล็กใหญ่ คงไม่สามารถดำเนินกิจการได้เรียบง่ายและรวดเร็วอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้อย่างแน่นอน
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวที่เริ่มต้นจากคำถามง่ายๆ ที่ว่า ทำไมโลกนี้ถึงต้องมีเครื่องคิดเงิน
แล้วเจอกันใหม่บทความหน้าครับ
#WDYMean
ปล. สุดท้ายแล้วเจมส์ ริตที ก็กลับไปเปิดบาร์เหมือนเดิมนะครับ
ในปี 1882 เขาเปิดบาร์ใหม่ในชื่อ The Pony House ก็มีคนมาเยี่ยมเยียนเยอะพอสมควร ก่อนจะเกษียณและเสียชีวิตไปด้วยโรคหัวใจในปี 1918 อายุครบ 82 พอดี
The Pony House
อ้างอิงจาก
ประวัติของเจมส์ ริตที
•
https://history-computer.com/james-ritty-complete-biography/
•
https://en.wikipedia.org/wiki/James_Ritty
•
https://alchetron.com/James-Ritty
กำเนิดเครื่องคิดเงิน
•
https://www.thoughtco.com/cash-register-james-ritty-4070920
•
https://americanhistory.si.edu/collections/object-groups/cash-and-credit-registers
การมาถึงของจอห์น แพตเทอร์สัน
•
https://en.wikipedia.org/wiki/John_Henry_Patterson_(NCR_owner)
history
biography
3 บันทึก
8
1
13
3
8
1
13
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย