Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
AdminField
•
ติดตาม
3 มิ.ย. 2023 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์
จากนพรัตนกลายมาเป็นราชวราภรณ์
จะว่าไปแล้วนะครับ เมืองไทยของเราก็มีอะไรที่ดี ๆ เยอะแยะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว อาหาร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถ้าไม่รวมกับการที่ประเทศไทยมีการรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญบ๊อยบ่อยมาก จนติดอันดับประเทศที่ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง
ขณะเดียวกันระดับความเหลื่อมล้ำก็สูงลิ่วในระดับโลก ดูได้จากคนบางคนที่บริหารประเทศมาตั้ง 4 ปี ไม่ ๆ 8 ปีกว่าแล้วแต่ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นเลย ประชาชนจนเอา ๆ ตกงานแล้วตกงานเล่า ไม่มีงานทำแล้วไม่มีงานทำเล่า จนต้องออกมาบอกว่าคนเหล่านั้นคือ ภาระของประเทศ เพราะไม่เรียนตามความต้องการของประเทศ จะเรียกว่าหน้าด้านหน้าทนก็ได้สำหรับคนแบบนี้
กลับมาที่ของดี ๆ อย่างที่แอดมินกล่าวไป นั่นแหละครับ ประเทศไทยมีของที่ดี ๆ เป็นที่เชิดหน้าชูตาก็มาก แม้แต่แก้วแหวนเงินทองเพชรนิลจินดาต่าง ๆ ประเทศไทยก็มีแหล่งกำเนิดของสิ่งเหล่านั้นกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค เป็นหนึ่งในรายได้สำคัญสร้างเป็นมูลค่าเม็ดเงินอย่างมากมายมหาศาลอีกด้วย
โดยเฉพาะอัญมณีตระกูล “นพรัตน์” ถือเป็นกลุ่มของมีค่าที่ผู้คนจากทุกวงการต่างอยากได้มาไว้ครอบครอง เพื่อเชื่อว่าจะคอยส่งเสริมให้ตนเองมีความเจริญรุ่งเรือง จนถึงกับมีผู้นำไปทำเป็นเครื่องประดับต่าง ๆ รวมถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ จึงเป็นเรื่องราวที่แอดมินจะได้นำเสนอต่อทุกท่านนับจากนี้ไป
ในหนังสือ ตำรานพรัตน์ ที่สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เมื่อครั้งเป็นพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ทรงแจกในงานทรงบำเพ็ญพระกุศล ฉลองพระชนมายุ 5 รอบ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2464 ได้มีการบอกเล่าถึงเรื่องราวของแก้วเก้าประการ หรือนพรัตน์ โดยอ้างอิงถึงตำนานที่ปรากฏในตำราไสยศาสตร์ไว้ว่า
หน้าปกหนังสือ ตำรานพรัตน์
เมื่อครั้งที่ตั้งภัทรกัป อันเป็นกัป หรือช่วงเวลาปัจจุบัน ที่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ถึง 5 พระองค์ ประกอบด้วย พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า พระสมณโคดมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) และพระศรีอริยเมตไตรยพุทธเจ้านั้น ได้มีอสูรผู้เคร่งครัดในการบำเพ็ญเพียรตนหนึ่งนามว่า “มหาพล” คิดจะฝากชื่อของตนให้เป็นที่ปรากฏสืบไปตราบชั่วฟ้าดินสลาย จึงได้ทำการอดอาหารเพื่อการบำเพ็ญเพียรเป็นเวลาถึง 7 วัน แต่สุดท้ายก็ได้สิ้นชีวิตลง
หลังจากนั้น บรรดาเทวดาทั้งหลายจึงได้นำกระดูกของมหาพลอสูรไปทำการฝังตามที่ต่าง ๆ ปรากฏว่า กระดูกที่ไปฝังตามที่ต่าง ๆ ได้อัศจรรย์พลันเกิดเป็นอัญมณีที่มีคุณค่า ทำให้พระมหาฤาษีองคตได้แต่งตำราไว้ สำหรับผู้ที่มีความรู้ความสามารถได้ศึกษาถึงลักษณะของอัญมณี ตลอดจนคุณและโทษต่าง ๆ หากมีไว้ในครอบครอง อนึ่ง ในเรื่องของอัญมณีแต่ละชนิด ต่างก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป ดังนี้
เพชร เป็นอัญมณีที่มีเนื้อสะอาดใส หากได้รับการเจียรไนที่ถูกวิธีก็จะสามารถดึงประกายความงามออกมาได้ แล้วเป็นอัญมณีที่มีความเชื่อว่า จะสามารถจะนำพาชัยชนะ ความมั่งคั่งแก่ผู้ที่มีไว้ในครอบครอง
ทับทิม เป็นอัญมณีที่มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า Ruber ภายหลังเรียก Rubinus หมายถึง สีแดง เป็นอัญมณีที่เชื่อว่า จะทำให้เกิดพลังอำนาจ ความฮึกเหิม และช่วยให้ประสบชัยชนะในสงคราม
มรกต เป็นอัญมณีที่รากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า Smaragdos หมายถึง สีเขียว ซึ่งเชื่อว่า หากใครได้ครอบครองมรกตไว้แล้ว จะสามารถขจัดปัดเป่าปัญหาต่าง ๆ ได้
บุษราคัม เป็นอัญมณีสีเหลือง ตระกูลเดียวกับทับทิมและไพลิน กล่าวกันว่าบุษราคัม เป็นอัญมณีที่จะเพิ่มความสามารถในการติดต่อสื่อสารให้สัมฤทธิ์ผล สามารถเสริมพลังอำนาจ พลังความคิดสร้างสรรค์ให้แก่ผู้ที่มีไว้ในครอบครอง
โกเมน เป็นอัญมณีสีแดง มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า Granatus ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นสัญลักษณ์แห่งความยั่งยืนถาวร ความสัมพันธ์แห่งรักและสุขภาพที่ดี
ไพลิน เป็นอัญมณีที่รากศัพท์มาจากภาษาเปอร์เซียว่า Saffir หรือจากภาษากรีกว่า Sappheiros แปลว่า สีน้ำเงิน เป็นอัญมณีที่เชื่อว่า หากใครได้ครอบครองแล้ว จะสามารถป้องกันอันตราย เสริมสร้างพลังในการดำรงชีวิต บ้างก็เชื่อว่า เป็นอัญมณีที่สามารถดับไฟ และความเร่าร้อนได้
มุกดา เป็นอัญมณีที่มีพื้นผิวที่เรียบเนียนสีขาวอมฟ้า มันวาวคล้ายกับดวงจันทร์ จึงเป็นที่มาของชื่อ Moon stone เชื่อกันว่า หากใครได้ครอบครองมุกดาแล้วจะมีความร่มเย็นเป็นสุข
เพทาย เป็นอัญมณีสีฟ้าอมเขียวน้ำทะเล แล้วยังมีสีสันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสีแดง ส้ม เหลือง น้ำตาล ฟ้า หรือแม้กระทั่งใสไร้สี มีรากศัพท์มาจากภาษาอาหรับว่า Zarkun เชื่อกันว่า หากใครได้ครอบครองแล้ว จะสามารถใช้ขับไล่ภูตผีปีศาจ มีความมั่งคั่งร่ำรวย ได้รับเกียรติยศชื่อเสียง และช่วยเสริมสร้างสติปัญญา ความโชคดี และ
ไพฑูรย์ เป็นอัญมณีที่มีสีเหลืองถึงเหลืองแกมเขียว เนื่องจากมีเส้นที่อยู่ตรงกลางอัญมณีที่คล้ายกับตาแมว จึงทำให้อัญมณีชนิดนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เพชรตาแมว” เชื่อกันว่า อัญมณีชนิดนี้เปรียบเสมือนดวงตาที่สาม มีสามารถมองเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ชัดเจนขึ้น มีพลังในการขับไล่ภูตผีปีศาจ ช่วยเสริมบารมี ชื่อเสียง และความสำเร็จในชีวิต
ดวงตรามหานพรัตนที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประกอบด้วยเพชรอยู่ใจกลาง ไพลินอยู่ทางบนซ้าย มุกดาอยู่ทางกลางซ้าย เพทายอยู่ทางล่างซ้าย ทับทิมอยู่ทางบนขวา ไพฑูรย์อยู่ทางล่างกลาง มรกตอยู่ทางล่างขวา บุษราคัมอยู่ทางบนกลาง และโกเมนอยู่ทางล่างกลาง (ภาพ: Esprit Joaillerie)
ด้วยคุณสมบัติทั้งหลายดังที่กล่าวมา ทำให้ผู้คนทั้งหลายเชื่อว่า นพรัตน์ เนาวรัตน์ หรือนพเก้านั้น เป็นอัญมณีมงคล ซึ่งความเชื่อในเรื่องดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่อยู่คู่ดินแดนสุวรรณภูมิมาแต่ดั้งเดิม ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญกับนพรัตน์เป็นอย่างมาก
บรรดาพราหมณาจารย์ นักปราชญ์ราชบัณฑิต พ่อค้าคหบดี ผู้มีบรรดาศักดิ์ รวมถึงท้าวพระยามหากษัตริย์ต่างพยายามแสวงหามาประดับหรือครอบครองไว้ เพื่อเพิ่มพูนความเป็นสิริมงคล และเสริมสร้างอำนาจบารมีให้เป็นที่ปรากฏสืบไป เช่นที่ปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของนามกรุงเทพมหานครที่ว่า “นพรัตนราชธานีบุรีรมย์” เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง
พระสังวาลพระนพ ซึ่งประดับด้วยอัญมณีต่าง ๆ รวม 9 อย่างด้วยกัน มีเพชรประดับอยู่ใจกลาง เป็นอาทิ (ภาพ: หนังสือ ราชาศัพท์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสพระราชพิธีมหามงคงเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ5 ธันวาคม 2554)
รวมถึงการนำไปจัดสร้างเป็นเครื่องราชวราภรณ์ที่ประดับด้วยนพรัตน์สำหรับส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์ หรือพระราชทานเป็นเกียรติยศแก่ข้าราชการมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เช่น พระสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ พระสังวาลพระนพ พระธำมรงค์นพรัตน์ เป็นต้น หรือแม้แต่การนำไปจัดสร้างเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สำคัญนามว่า “เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์”
สำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ มีความเป็นมาที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในลักษณะของการเป็นสายสร้อยพระสังวาลประดับเนาวรัตน์ ใช้เป็นเครื่องสำหรับพิชัยสงครามและสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ก็เคยได้รับพระราชทานสายสร้อยพระสังวาลย์ประดับเนาวรัตน์มาแต่ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก” จนเมื่อเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ขึ้น เป็นสายสังวาลแฝดประดับนพรัตน์ที่มีลักษณะเป็นดอก ๆ วางสลับกันตลอดสาย
พระสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ (ภาพ: หนังสือ ราชาศัพท์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสพระราชพิธีมหามงคงเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ5 ธันวาคม 2554)
ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว มีพระราชดำริว่า ตามธรรมเนียมเดิมของสยามนั้น จะมีแหวนนพรัตน สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงและพระราชทานแก่เสนาบดีไว้ประดับรวม 20 วงด้วยกัน แต่เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นถึงธรรมเนียมต่างประเทศที่มีการจัดสร้างเครื่องประกอบเกียรติยศเป็นลักษณะรูปดาวและดอกจัน จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดสร้างดวงตรานพรัตนดาราขึ้น เพื่อพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ประดับบริเวณอกเสื้อ
ต่อมา สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชดำริว่า พระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้รับดวงตรานพรัตนราชวราภรณ์นั้น ไม่มีสายสังวาล เนื่องจากสายสังวาลนั้นสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงเท่านั้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างดวงตรามหานพรัตน์ สำหรับห้อยกับสายสะพายสีเหลือง ขอบสีเขียว มีริ้วสีแดงและสีน้ำเงินคั่นระหว่างสีเหลืองและขอบเขียว เพื่อสะพายบ่าจากขวาลงมาซ้ายแทนสายสังวาล
แล้วให้ตราเป็น “พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์” ขึ้น กำหนดให้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้มี 20 สำรับ ตามจำนวนแหวนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น แบ่งเป็นส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์ 1 สำรับ และพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์อีก 19 สำรับ
จวบจนสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มจำนวนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้เพิ่มขึ้นอีก 7 สำรับ รวมเป็น 27 สำรับ ตามจำนวนเนาวรัตน์ดอกพระสังวาลสลับกัน 27 ดอก ของพระสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น
สำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลดังกล่าว พระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้า (บุรุษ) และฝ่ายใน (สตรี) ตลอดจนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นพุทธมามกะ มีเฉพาะชั้นสายสะพายชั้นเดียว ประกอบด้วย
●
ดวงตรามหานพรัตน สำหรับห้อยกับสายสะพายสีเหลือง ขอบสีเขียว มีริ้วสีแดงและสีน้ำเงินคั่นระหว่างสีเหลืองและขอบเขียว
●
ดารานพรัตน สำหรับประดับอกเสื้อเบื้องซ้าย และ
●
แหวนนพรัตน ทำด้วยทองคำเนื้อสูงฝังพลอย 9 อย่าง สำหรับสวมนิ้วชี้มือขวา แหวนนี้มีเฉพาะฝ่ายหน้า
(ซ้าย) สายสะพายนพรัตนราชวราภรณ์ ดวงตรามหานพรัตนที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 และแหวนนพรัตน (ภาพ: https://sk.pinterest.com/pin/118078821470678554/) (ขวา) สายสะพายนพรัตนราชวราภรณ์ ดารานพรัตน มหานพรัตนที่สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 และแหวนนพรัตน (ภาพ: https://www.mediastorehouse.com/fine-art-finder/artists/louis-charles-bombled/thailand-order-gems-set-plate-ring-22465070.html)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ นอกจากจะพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ตลอดจนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นพุทธมามกะแล้ว ยังเป็นสิ่งที่พระมหากษัตริย์ในฐานะพุทธมามกะ และอัครศาสนูปถัมภก ทรงถวายแด่พระพุทธปฏิมากรที่สำคัญ เพื่อเป็นการฉลองพระราชศรัทธา อันจะเป็นการทำนุบำรุงให้พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองไพบูลย์ต่อไป
แล้วยังต้องด้วยราชประเพณีของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า จำเดิมแต่ครั้งสมเด็จพระราเมศวร พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงเปลื้องเครื่องต้นถวายพระพุทธชินราชที่เมืองพระพิษณุโลกสองแคว
ครั้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ในแต่ละรัชกาลก็ได้มีการถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ เป็นพุทธบูชา นอกจากเครื่องราชสักการะส่วนพระองค์ มีต้นไม้ทอง ต้นไม้เงิน และพานธูปเทียนแพ เป็นอาทิ
ต้นไม้ทอง ต้นไม้เงิน และธูปเทียนแพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชอุทิศถวายเป็นพุทธบูชาแด่ปูชนียสถานที่สำคัญแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 (ภาพ: ไทยรัฐออนไลน์)
เช่นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์แด่พระพุทธชินราช (จำลอง) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2444 พระทศพลญาณ วัดบรมนิวาส และพระประธานยิ้มรับฟ้า วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นพุทธบูชา
สายสะพายนพรัตนราชวราภรณ์ที่ถวายแด่พระพุทธชินราช (จำลอง) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม (ภาพ: Facebook วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม : Marble Temple)
สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์แด่พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก เป็นพุทธบูชา เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2469
สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์แด่พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งอัญเชิญมาจากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มาประดิษฐานเป็นพระพุทธปฏิมาประธาน ณ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน เป็นพุทธบูชา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485 (ภายหลังอัญเชิญกลับมาประดิษฐานที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ดังเดิม แล้วประดิษฐานแทนที่ด้วยพระพุทธชินราชจำลองนามว่า “พระศรีพุทธมุนี”)
สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์แด่พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก เป็นพุทธบูชา เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 และ
สายสะพายนพรัตนราชวราภรณ์ที่ถวายแด่พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก (ภาพ: กรุงเทพธุรกิจ)
สมัยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์แด่พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพุทธบูชา เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2563 เนื่องในศุภมงคลสมัย 150 ปี แห่งการสถาปนาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
สายสะพายนพรัตนราชวราภรณ์ที่ถวายแด่พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (ภาพ: Facebook Lek Vatchara)
นอกจาก การถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ เป็นพุทธบูชาแล้ว ก็ยังมีการถวายสังวาลนพรัตน์ประดับองค์พระพุทธปฏิมากรที่สำคัญ ซึ่งทรงพระราชศรัทธาด้วย เช่น
การถวายสังวาลนพรัตน์ทองคำแท้แด่พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2444 ในคราวพิธีหล่อพระพุทธชินราช (จำลอง) เพื่ออัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
แต่ครั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อมีนโยบายการย้ายเมืองหลวง ทางราชการจึงได้ถอดสังวาลนพรัตน์ดังกล่าว นำไปเก็บรักษาไว้ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ แล้วสูญหายไปในที่สุด ทางวัดพระศรีรัตนมหาธาตุจึงได้สร้างสังวาลนพรัตน์ถวายขึ้นใหม่ทำด้วยทองแดงปิดทอง
จนมาถึงวาระแห่งงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อปี พ.ศ. 2549 สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ในนามรัฐบาลขณะนั้น ได้จัดสร้างสังวาลนพรัตน์ขึ้นใหม่ 2 สำรับ โดยสำรับแรก สร้างด้วยทองคำ และสำรับที่ 2 สร้างด้วยทองแดงชุบทองไมครอน จนแล้วเสร็จ ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2550 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการถวายสังวาลนพรัตน์แด่พระพุทธชินราช
สังวาลนพรัตน์ทองคำแท้ที่ถวายแด่พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก (ภาพ: กรุงเทพธุรกิจ)
และการถวายสังวาลนพรัตน์แด่พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สมัยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ประจำปี 2563 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2563
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจิมสังวาลนพรัตน์ที่ถวายแด่พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (ภาพ: Twitter @ARMdhiravath)
อนึ่ง ประเพณีการถวายสังวาลนพรัตน์ประดับองค์พระพุทธปฏิมากร ไม่เฉพาะองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น ราษฎรทั่วไปเอง ก็มีการปฏิบัติเช่นเดียวกัน แต่ขึ้นอยู่กับความศรัทธา ตลอดจนพละกำลัง และทุนทรัพย์ของแต่ละคนเท่าที่มี หวังจะได้รับอานิสงส์อันเกิดจากอามิสบูชา หรือ การบูชาด้วยสิ่งของต่าง ๆ เพื่อบังเกิดให้เป็นความสุข ความเจริญ และความร่มเย็นปรากฏขึ้นในชีวิต และจะเป็นการจรรโลงพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญรุ่งเรืองไพบูลย์สืบต่อไปตราบนานเท่านาน
เพชรดี มณีแดง เขียวใสแสงมรกต
เหลืองใสสดบุษราคัม แดงแก่ก่ำโกเมนเอก
สีหมอกเมฆนิลกาฬ มุกดาหารสีหมอกมัว
แดงสลัวเพทาย สังวาลสายไพฑูรย์
พระธำมรงค์ต่าง ๆ สำหรับพระมหากษัตริย์ ซึ่งประดับด้วยอัญมณีต่าง ๆ มีเพชรเป็นอาทิ (ภาพ: หนังสือ ราชาศัพท์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสพระราชพิธีมหามงคงเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ5 ธันวาคม 2554)
อ้างอิง:
●
การถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก่พระพุทธรูปสำคัญของประเทศ โดย ศิลปวัฒนธรรม (
https://www.silpa-mag.com/history/article_65831
)
●
ตามรอยพระราชศรัทธา ‘ในหลวง’ ที่วัดใหญ่ พิษณุโลก โดย กรุงเทพธุรกิจ (
https://www.bangkokbiznews.com/news/927171
)
●
ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดย ศิลปวัฒนธรรม (
https://www.silpa-mag.com/culture/article_44535
)
●
นพรัตนราชวราภรณ์ โดย สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (
https://decor.soc.go.th/?page_id=557
)
●
นพรัตน์ หรือ นพเก้า อัญมณีมงคลคู่อารยธรรมไทย โดย เทพ Shop (
https://www.pembagems.com/article/83/นพรัตน์-หรือ-นพเก้า-อัญมณีมงคลคู่อารยธรรมไทย
)
●
ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน ‘วัดราชบพิธฯ-วัดโพธิ์’ โดย มติชนออนไลน์ (
https://www.matichon.co.th/court-news/news_2388729
)
●
เปิดความเชื่อเครื่องประดับ "นพรัตน์" 9 อัญมณีมงคลที่สาวๆ ควรมี โดย ไทยรัฐออนไลน์ (
https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1426243
)
●
เพทาย...หนึ่งในเก้าอัญมณีมงคลของไทย โดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (
https://www.thaitextile.org/th/insign/detail.1464.1.0.html
)
●
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔
●
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐ แผ่นที่ ๔๒ วันที่ ๑๔ มกราคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ น่า ๔๕๙-๔๖๘ (
https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1015615.pdf
)
●
ราชกิจจานุเบกสา เล่ม ๕๙ ตอนที่ ๔๔ ๑ กรกดาคม ๒๔๘๕ หน้า ๑๖๙๒ (
https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1116735.pdf
)
●
'สังวาลทองคำ'สุดยอดประณีตศิลป์พิพิธภัณฑ์พระพุทธชินราช โดย ไทยโพสต์ (
https://www.thaipost.net/main/detail/71450
)
●
หนังสือ ตำรานพรัตน์ พระนางเจ้า สุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ทรงแจก ในงานทรงบำเพ็ญพระกุศล ฉลองพระชนมายุ ครบ ๖๐ พระพรรษา วันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร
●
'สังวาลทองคำ'สุดยอดประณีตศิลป์พิพิธภัณฑ์พระพุทธชินราช โดย ไทยโพสต์ (
https://www.thaipost.net/main/detail/71450
)
●
Bangkok และ Krung Thep Maha Nakhon ชื่อนี้มีความหมาย-ที่มาอย่างไร โดย ฐานเศรษฐกิจ (
https://www.thansettakij.com/general-news/514164?fbclid=IwAR2G-w77VOwBTOaYDleI1RyVMpP-HVeVoRF5oPb9pC6vemPanLBHEg1I5xU
)
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
#นพรัตน์ #แก้วเก้าประการ
เก้านพเก้า
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย