3 มิ.ย. 2023 เวลา 13:33 • การศึกษา

หลักสูตรกำลังพลสมรรถนะสูงของอิสราเอล “TALPIOT” และการประยุกต์ใช้กับกองทัพไทย

Talpiot เป็นชื่อหน่วยทหารลับสุดยอดในกองทัพอิสราเอล บรรจุยอดนักคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ ในหน่วย ไม่ใช่แค่เด็กเนิร์ด บ้าเรียน แต่พวกเขายังสามารถทำงานที่ท้าทายยากๆ ด้วยกันเป็นทีม มีทักษะความเป็นผู้นำสูง อดทนทั้งกาย ใจ และผ่านหลักสูตรการกระโดดร่ม
Jason Gewirtz, Vice President of News for CNBC
กองทัพอิสราเอล (Israel Defense Forces) ซึ่งเป็นประเทศผู้วางระบบการฝึกศึกษาทางทหารให้ประเทศสิงคโปร์ ขณะก่อตั้งประเทศเมื่อปี ค.ศ.1948 (พ.ศ.2508) โดยใช้แนวคิดการทวีกำลังรบ (Force Multiplier) คือ แม้มีกำลังพลน้อยแต่ก็ยกระดับให้มีอำนาจกำลังรบสูง โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและการประสานงานการรบของทั้งสามเหล่าทัพ
กองทัพอิสราเอล เป็นกองทัพประเทศเล็กที่มีศักยภาพทางการทหาร อยู่อันดับ 18 จาก 140 ประเทศทั่วโลก แต่สามารถป้องกันประเทศจากกลุ่มประเทศอาหรับ-เปอร์เซีย รอบบ้าน เช่น กองทัพอิหร่าน ที่มีศักยภาพทางการทหาร อันดับ 14 และมีกำลังทหารมากกว่าถึง 10 เท่าได้ จึงนับว่าอิสราเอลเป็นกองทัพที่มีความสามารถสูง ที่ประเทศมหาอำนาจทางทหาร อย่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียตยอมรับ โดยเฉพาะในเรื่องความสามารถและสมรรถนะของกำลังพล
อิสราเอล ป้องกันจากประเทศศัตรูรอบบ้าน
รวมถึงเทคโนโลยีทางการทหาร ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากประเทศพัฒนาแล้ว รวมทั้งนวัตกรรมและความคิดริเริ่มในการพัฒนาปรับปรุงยุทโธปกรณ์ให้ทันสมัย เช่น ระบบป้องกันอวกาศ StarWar ระบบ Iron Dome etc. โดย New York Post จัดให้เป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีทางการทหาร อันดับ 1 ของโลก เมื่อปี ค.ศ.2017 อิสราเอลใช้ยุทธศาสตร์การรบแบบที่มีกำลังน้อยกว่า ร่วมกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้สามารถรบชนะและอยู่รอดในดินแดนอาหรับ-เปอร์เซียได้
ระบบป้องกันภัยทางอากาศ IRON DOME
หลักสูตร TALPIOT (ภาษาฮิบรู תלפיות) เป็นหลักสูตรฝึกอบรม ตามโครงการความร่วมมือระหว่างกองทัพอิสราเอล กับ มหาวิทยาลัยฮิบรู (Hebrew University) เพื่อผลิตทหารสมรรถนะสูง เป็นศูนย์รวมสุดยอดผู้นำและหัวกะทิของกองทัพอิสราเอล เน้นการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อสร้างนักคิด นักนวัตกรรมให้กับกองทัพที่สำเร็จเกินความคาดหมาย โดยคัดสรรนักเรียนหัวกะทิจากทั่วประเทศ มาปีละ 50 คน จบแล้วมีการบรรจุทำงานที่หลากหลาย ตามขีดความสามารถ ความถนัด และความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคน
จุดเด่นที่สำคัญคือ ชิ้นงานของนักเรียน Talpiot นั้น เป็นชิ้นงานที่สร้างความเปลี่ยนแปลง ให้กับวงการทหารและวิทยาศาสตร์มากมาย จนกองทัพอิสราเอลกล่าวว่า “นักเรียน Talpiot 1 คน สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในการรบได้ถึง 1%” แต่ละคนสร้างสรรค์และพัฒนาเครื่องมือต่างๆ อย่างต่อเนื่อง พัฒนาคุณภาพชีวิตของทหารและพลเรือนประเทศอิสราเอล
โปรแกรม Talpiot เริ่มขึ้นหลังจากสงคราม ยมคิปปูร์ (Yom Kippur) ในปี ค.ศ.1973 เมื่อกองทัพ Syria และ Egypt บุกถล่มพื้นที่พิพาทกับอิสราเอล ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมาก ดร. Felix Dothan และ ดร.Shaul Yatsiv อาจารย์นักฟิสิกส์ที่สอนในมหาวิทยาลัยฮิบรู จึงเห็นความสำคัญของทหาร ปัญหาด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการทหารขั้นสูง มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศอิสราเอลในการอยู่รอดจากประเทศศัตรูที่อยู่รอบประเทศ และเกิดแนวคิดที่จะเปิดโครงการสอนด้านเทคโนโลยีชั้นสูงให้กับกองทัพ
แนวคิดเกี่ยวกับการฝึกอบรมกำลังพลที่มีสมรรถนะสูงของกลองทัพอิสราเอล
  • 1. การมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน – ผู้ก่อตั้งหลักสูตรและกองทัพ มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ชัดเจนว่า พลังอำนาจสูงสุดคือเทคโนโลยี ไม่ได้จำกัดอยู่แค่อาวุธที่กองกำลังศัตรูมี อิสราเอลจึงมุ่งพัฒนากำลังพลและเทคโนโลยี ปัจจุบันเทคโนโลยีการทหารของอิสราเอลถือว่าเหนือกว่าอาวุธของชาติอาหรับอย่างมาก และเป็นอันดับ 1 ของโลก (จากการสำรวจโดย New York Post ในปี ค.ศ.2017) และกำหนดวัตถุประสงค์หลักของหลักสูตรการเรียนการสอน คือ สอนให้เป็นสุดยอดนักแก้ปัญหา
  • 2. ความเต็มใจและกล้าทดลอง – รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม อิสราเอล เชื่อคำแนะนำของศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย ที่แนะนำให้กองทัพควรจ้างคนบ้าเรียนเก่งไปรบ และสร้างหน่วยใหม่ เพื่อฝึกอบรมพัฒนากลุ่มคนเหล่านี้ ผู้บังคับบัญชาและผู้บริหารมีความเข้าใจและเห็นความสำคัญ มีนโยบายการบริหารแบบก้าวไกล มองเห็นอนาคต ก็สามารถสนับสนุนการสร้างแนวทางการบริหารงานฝึกอบรมด้วยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม
  • 3. การสนับสนุนการทดลอง – การเฟ้นหาผู้มีสมรรถนะสูงมาเข้าฝึกอบรม Talpiot นั้นยากในช่วงแรกๆ เนื่องจากยังไม่มีใครรู้เรื่องนี้ คนรุ่นใหม่ต้องการเลือกไปอยู่ในหน่วยชั้นยอดอื่น ซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าดี แต่กองทัพก็ยืนหยัดมุ่งมั่น และรอที่จะเห็นผลผลิตจากโครงการ เพื่อเฟ้นหาผู้ที่มี “สมองและจิตใจที่ดีที่สุด ที่มาพร้อมกับทักษะความเป็นผู้นำ” เช่นเดียวกับรูปแบบการสอน ให้อิสระเสรีในเรื่องความคิด ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมการฝึกอบรม
  • 4. การพัฒนาระบบคัดสรรบุคคล กระบวนการสอบคัดเลือกต้องปรับให้ สอดคล้องกับความต้องการของกองทัพในแต่ละยุคสมัย และเหมาะสมกับสภาวะกาล โดยกำหนด สมรรถนะ/คุณลักษณะที่ต้องการในแต่ละตำแหน่ง เช่น ความคิดสร้างสรรค์ รู้จักคิดริเริ่ม มีภาวะผู้นำ ทำงานเป็นทีม เป็นต้น การใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาเพื่อวัดสมรรถนะและค้นหาคุณลักษณะเด่น ที่ซ่อนเร้น ร
  • 5. การอดทนรอให้โครงการวิวัฒนาการ ความคิดริเริ่มใหม่ ที่ร่างขึ้นครั้งแรก เป็นแนวทางสำหรับโครงการต่อไป ที่จะเกิดการพัฒนาในหลายด้าน เช่น คุณสมบัตินักเรียนแบบใดที่ควรสรรหา วิธีจัดโครงสร้างหลักสูตรที่เหมาะสม ผู้สอนควรเป็นใคร การที่ Talpiot ก้าวสู่การผลิตผู้นำได้อย่างสำเร็จนั้น เริ่มจากการปรับรูปแบบหลักสูตรอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอจนได้สูตรที่ลงตัว โดยเริ่มจากวิธีการคิดรูปแบบใหม่ คิดแบบคนอิสราเอล
  • 6. รูปแบบการเรียนแบบแข่งขันกัน สอนในอัตราเร่ง ที่เร็วกว่าปกติเกือบ 40% โดยมีครูผู้สอนระดับอัจฉริยะวิชาด้านต่างๆ การศึกษาดูงาน การฝึกปฏิบัติงานในหน่วยงานต่างๆ และมีการทำวิจัย พัฒนานวัตกรรมให้หน่วยที่เข้าฝึกงาน จัดเนื้อหาสาระ กระบวนการเรียนรู้ และกิจกรรมสอดคล้องกับความสนใจและความถนัด โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ระยะเวลาศึกษา 3 ปี โดยเรียนทุกวัน ไม่มีวันหยุด ในรูปแบบนักเรียนประจำ มีเวลาฝึก ศึกษา ทบทวนความรู้ ร่วมกิจกรรม และกิน-นอนร่วมกัน ก่อให้เกิดความรัก สามัคคีในหมู่คณะ
  • 7. ปรับปรุงหลักสูตรต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด เพิ่มเนื้อหาวิชาที่รองรับการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ สภาพแวดล้อม และบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเนื้อหาวิชาด้านเทคโนโลยี และดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับการปฎิบัติงาน สอนให้เกิดทักษะด้านการคิดยุคใหม่ ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (3Rs 8Cs) เกิดทัศนคติการเรียนรู้ มากกว่าการท่องจำเนื้อหาบทเรียน และเน้นสอนทักษะการปฎิบัตินอกห้องเรียน มากกว่าการบรรยายในห้องเรียน
  • 8. สร้างสมดุลระหว่างระเบียบวินัยทางทหาร กับความยืดหยุ่นเพื่อให้เกิดนวัตกรรม หลักสูตรนี้ไม่ได้กำหนดเป้าหมายของผู้สำเร็จการศึกษา พวกเขามีความยืดหยุ่นในการเลือกสิ่งที่สนใจอยากจะเป็น เนื้อหาหลักสูตร จึงสอดคล้องกับแนวทางรับราชการของผู้เข้ารับการฝึกอบรม เนื่องจากหลักสูตรทำให้เห็นความเป็นจริงของหน่วยงานต่างๆ ในกองทัพ ผู้ที่จบจึงสามารถระบุปัญหาได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นวิธีในการกระตุ้นความหลงใหลของอัจฉริยะ เลือกปัญหาของตัวเองที่คุ้มค่าต่อการแก้ไข
  • 9. เส้นทางอาชีพที่ยืดหยุ่น – ผู้สำเร็จการศึกษามีอิสระที่จะเลือกบทบาทการไปเป็นทหาร หรือศึกษาต่อ ระดับปริญญาเอกในสาขาที่เชี่ยวชาญ หรือจะออกไปทำธุรกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อกองทัพและประเทศชาติ เช่น ลงทุนธุรกิจพันล้านดอลลาร์เกี่ยวกับเทคโนโลยีความปลอดภัยไซเบอร์ และหลายคนเข้าสู่วงการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ
  • 10. ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกผู้สอนแต่ละวิชา เป็นอัจฉริยะเฉพาะทาง ผู้เชี่ยวชาญในวิชานั้นจริง มีความรู้ ประสบการณ์สูง
  • 11. การสร้างความเป็นต้นแบบ เริ่มการเป็นต้นแบบตั้งแต่ในระบบการฝึกอบรม เพื่อฝึกฝนให้คนจบออกมามีความเป็นเอกลักษณ์ ไม่จำเป็นต้องเรียนตามรูปแบบ Pattern เดิมที่ประสบความสำเร็จ โดยการสอนในอัตราเร่ง ที่เร็วกว่าปกติเกือบ 40% ระยะเวลาศึกษา 3 ปี เรียนทุกวัน ไม่มีวันหยุด
  • 12. การบรรจุผู้สำเร็จการศึกษาลงในตำแหน่งที่เหมาะสม หน่วยงานด้านการข่าวกรอง รับผิดชอบพิจารณาบรรจุผู้สำเร็จการศึกษาลงในตำแหน่งที่เหมาะสม โดยพิจารณาจากผลการศึกษาและความคิดเห็นของอาจารย์ในหลักสูตร โดยแนวทางรับราชการใน 2 ปีแรก จะห้ามการปรับย้ายไปหน่วยงานอื่น และมีข้อผูกพันในการรับราชการอย่างน้อย 6 ปี
  • 13. การมีเครือข่ายศิษย์เก่า เพื่อสร้างความร่วมมือกันข้ามสายงาน และการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารกัน ศิษย์เก่า Talpiot มีชื่อเสียงในด้านธุรกิจ อาวุธ และด้านการเงิน สามารถบอกต่อแนะนำสิ่งมีประโยชน์ซึ่งกันละกันได้ จึงเกิดการร่วมทุนที่ประสบความสำเร็จมากมาย ทั้งธุรกิจด้านเทคโนโลยีซอฟแวร์ ดูแลความปลอดภัยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ธุรกิจยา และ เป็นผู้บริหารระดับสูงในธุรกิจด้านเทคโนโลยี การสื่อสาร การเข้ารหัส ระบบรักษาความปลอดภัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก
แนวทางการประยุกต์ใช้กับกองทัพไทย
1. ผู้บังคับบัญชาและผู้บริหารระดับสูง มีความเข้าใจและเห็นความสำคัญของกำลังพล ที่มีสมรรถนะสูง มีนโยบายการบริหารแบบก้าวไกล มีวิสัยทัศน์ มองเห็นอนาคต มีแนวทางการบริหารงานด้วยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม มีหลักสูตรรองรับเพื่อฝึกอบรมพัฒนากลุ่มคนสมรรถนะสูงเหล่านี้ พัฒนาโรงเรียนของหน่วยขึ้นเอง มีทุนให้ไปศึกษาในหลักสูตรที่สำคัญจำเป็น
เพื่อการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน และมีแนวทางการนำไปใช้งาน
ทหารมืออาชีพ
2. ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกกำลังพลตั้งแต่การบรรจุเข้ารับราชการ และการคัดเลือกเข้ารับการฝึกอบรมทุกหลักสูตร โดยเฉพาะขั้นตอนการสัมภาษณ์ ร่วมกับนักจิตวิทยาหรือผู้ที่มีความรู้ทางจิตวิทยา และการจัดกิจกรรมกลุ่มพลวัต (Group Dynamics) โดยมีนักจิตวิทยาคอยสังเกตและให้คะแนนพฤติกรรม ซึ่งจะเห็นบุคลิกภาพของผู้สมัครด้วย ทั้งนี้หากจำเป็นต้องบรรจุกำลังพลตามนโยบาย ควรต้องให้ผ่านระบบการคัดสรรเข้ามาในกองทัพตามระเบียบและกฎเกณฑ์ที่กำหนด
3. ให้ความสำคัญกับการจัดผู้สอน/ผู้บรรยายในหลักสูตรต่างๆ ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชานั้นๆจริง มีความรู้ ประสบการณ์สูง ทำให้นักเรียนได้รับองค์ความรู้ที่แท้จริงในบทเรียน ทำให้เข้าใจ และเข้าถึงแก่นแท้ของแต่ละวิชา หน่วยต้องหมุนเวียนให้กำลังพลสมรรถนะสูง ได้มีโอกาสกลับมาถ่ายทอดวิชาความรู้ ให้กับกำลังพลรุ่นต่อๆไป อย่าหวงเก็บไว้ทำงานที่หน่วย แล้วส่งผู้บรรยายสำรอง (มวยแทน) มาสอน
4. จัดการสอนแบบ Active Learning และเทคนิคการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสําคัญ แต่ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้เรียนไปศึกษาด้วยตัวเอง ผู้สอนต้องมีแนวทาง หรือจัดเครื่องมือสนับสนุน กิจกรรมการสอนต้องสะท้อนความต้องการในการพัฒนาผู้เรียน เน้นการนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงของผู้เรียน และสอดคล้องกับทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ เพื่อให้การออกแบบการจัดฝึกและศึกษาทางทหาร ของกองทัพไทย เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเพิ่มเนื้อหาหลักสูตรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น AI Robot Drone IOT Cyber Attack Metaverse เป็นต้น
5. กำหนดเกณฑ์การประเมินผลการศึกษา และฝึกอบรมที่เหมาะสม ทั้งแบบอิงกลุ่ม และอิงเกณฑ์ มีมาตรฐาน เที่ยงตรง แม่นยำ มีประสิทธิภาพน่าเชื่อถือ สามารถคัดกรอง
คัดแยก คนเก่ง คนดี ออกจากคนที่ไม่เก่ง ไม่ดีได้ รวมทั้งหากมีผลการเรียนไม่ถึงเกณฑ์ หรือสอบไม่ผ่านในรายวิชา หรือหมวดวิชา ต้องมีการเรียนซ้ำ เรียนทบทวน หรือเรียนซ้ำใหม่ทั้งหมด มีการกำหนดเกณฑ์การคัดออกจากหลักสูตร สำหรับผู้ที่ไม่ผ่านการประเมิน โดยที่ไม่ถือเป็นความผิด
6. จัดทำเส้นทางอาชีพ (Career Path) ของกำลังพลที่มีสมรรถนะสูงที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม และเป็นที่ยอมรับของผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับผู้ปฏิบัติงานที่ดี ก่อให้เกิดขวัญและกำลังใจ
7. ปรับปรุงระบบโครงสร้าง การจัดองค์กร ให้เหมาะสมกับกำลังพลที่มีสมรรถนะสูงในหน่วย โดยนำข้อดีของระบบกำลังพล ประเภทพลเรือนในกองทัพ (Civilian Workforce) มาใช้ในกองทัพไทย ให้สามารถบรรจุกำลังพลพลเรือนในกองทัพ ที่สามารถเลื่อนระดับเทียบเท่ากำลังพลทหาร ต่อสัญญาปีต่อปี เช่นในกองทัพสหรัฐฯ ได้
8. การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรในระบบราชการทหาร ให้คุณค่าของระบบการประเมินผลการปฏิบัติราชการ มีน้ำหนักมากกว่าระบบอาวุโส
ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ ในการพัฒนากำลังพลที่มีสมรรถนะสูงของกองทัพไทย คือการมีหลักสูตรเพื่อพัฒนากำลังพลกลุ่มนี้ เพื่อการพัฒนาขีดสมรรถนะของกำลังพลให้สูงขึ้น ตามศักยภาพที่มี และนำขีดความสามารถ มาใช้ในการพัฒนากองทัพ ไม่ลาออกจากกองทัพ หรือย้ายไปปฏิบัติงานองค์กรอื่น ที่มีการดูแล ขวัญ กำลังใจ และมีสวัสดิการที่ดีกว่า เพราะกลุ่มนี้เป็นกำลังพลหลักที่จะส่งผลในภาพรวม ยกระดับองค์กรให้เป็นองค์กรสมรรถนะสูง (High Potential Organization : HPO)
ปัจจัยที่สำคัญคือ การมีวิสัยทัศน์ของผู้บังคับบัญชาชั้นสูง และการมอบนโยบายที่ที่ส่งเสริมสนับสนุน คนเก่ง คนดี คนที่มีสมรรถนะสูง ในการมีบทบาทนำในตำแหน่งสำคัญ
ธวิน ศรีแก้ว,น.อ.
ปัจจัยที่เป็นอุปสรรค ส่งผลกระทบต่อการพัฒนากำลังพลที่มีสมรรถนะสูง คือ วัฒนธรรมองค์กร ความเคยชินกับการทำงานระบบราชการ ชอบทำงาน Routine ระบบอุปถัมภ์ โดยเฉพาะในเรื่องระบบอาวุโส และระบบรุ่นพี่รุ่นน้องที่ไม่เป็นธรรม ส่งผลให้กำลังพลเกิดความท้อถอยในการพัฒนางาน พัฒนาตนเองเป็นอุปสรรคในการกระโดดข้ามรุ่นพี่เข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น หรือตำแหน่งสำคัญ รวมถึงการจัดทำแผนบัญชีผู้สืบทอดตำแหน่ง (Successor Plan) รุ่นพี่ต้องเปิดใจกว้างและยอมรับความสามารถ และสมรรถนะของรุ่นน้อง หรือผู้ที่มีอาวุโสน้อยกว่า
เอกสารอ้างอิง
ชนาวุธ บุตรกินรี พลตรี (2560), การพัฒนาระบบการฝึกและศึกษาทางทหารของกองทัพบกไทย รองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560– 2579) เอกสารวิจัย หลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 60
ธวิน ศรีแก้ว, นาวาอากาศเอก (2565) "แนวทางการพัฒนาระบบการฝึกอบรมกำลังพลที่มีสมรรถนะสูงของกองบัญชาการกองทัพไทย โดยใช้ตัวแบบกองทัพอิสราเอล" เอกสารวิจัย, วิทยาลัยเสนาธิการทหาร
วิโรจน์ เลิศจิตต์ธรรม (2564) The Standard,กองทัพอิสราเอลเผยระบบ Iron Dome 19 พ.ค. 2564
Jason Gewirtz (2016) Israel's Edge: The Story of IDF's Most Elite Unit, February 2016
New York Post สื่อหนังสือพิมพ์ ออนไลน์ (2560) “Why Israel has the most technologically advanced military on Earth”, 29 January 2017 เว็บไซต์ https://nypost.com/2017/01/29/why-israel-has-the-most-technologically-advanced-military-on-earth/ ประจำวันที่ 29 มกราคม 2560
เว็บไซต์ Israels Edge (2566) เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/israelsEdge/
โฆษณา