4 มิ.ย. 2023 เวลา 04:56 • หนังสือ

Review By Kwanster

แล้วถ้าสมมติว่าลูกในท้องฉันเป็นผู้หญิงอีกจะทำยังไง
คิมจียองกล่าว
“เธออย่าพูดจาพาซวยได้ไหม เดี๋ยวมันก็เป็นจริงซะหรอก” สามีเธอตอบ บทสนทนานี้เป็นบทสนทนาในหนังสือเรื่อง คิมจียอง เกิดปี 82 ที่ทำให้ฉันที่ก็มีสถานะเป็นลูกสาวคนหนึ่งในครอบครัวต่างจังหวัดที่มีทั้งลูกชายและลูกสาวเป็นสมาชิกในครอบครัว มีความรู้สึกหลายอย่างตีกันไปหมด ทั้งโกรธ ทั้งหดหู่ และสิ้นหวัง ในเวลาเดียวกัน
“คิมจียอง เกิดปี 82” เป็นหนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวอันน่าปวดใจของหญิงสาวลูกหนึ่งชาวเกาหลีใต้ โดยผ่านหมึกปากกาของ โชนัมจู นักเขียนชาวเกาหลี ที่ได้นำเสนอเรื่องราวของความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ผู้หญิงเกาหลีต้องเผชิญตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต โดยเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดในหนังสือเล่มนี้จะเล่าถึงการดำเนินชีวิตที่ถูกกดทับของผู้หญิงเกาหลีในสังคมชายเป็นใหญ่ ผ่านตัวละครชื่อ คิมจียอง
ซึ่งสถานการณ์ในหนังสือส่วนใหญ่ทำให้เราที่เป็นลูกสาวคนหนึ่งของครอบครัว เป็นนักศึกษาผู้หญิงคนหนึ่งในห้องเรียนตอนมหาลัย เป็นน้องพนักงานผู้หญิงในที่ทำงาน เป็นแม่บ้านของครอบครัว หรือแม้แต่การเป็นประชากรเพศหญิงในสังคม ที่อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวละครเป็นพิเศษจนทำให้ได้รู้ว่าสิ่งที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่นั้นมันไม่เท่าเทียมเอาเสียเลย
โดยความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นนั้นเริ่มตั้งแต่เรื่องระดับปัจเจก เช่น การที่พ่อคิดว่าการมีลูกสาวถือเป็นเรื่องโชคร้ายในชีวิต รวมไปถึงการที่คนมักให้นิยามผู้หญิงที่มีเคยมีแฟนว่า”หมากฝรั่งที่เคี้ยวแล้วคายทิ้ง” ลามไปจนถึงเรื่องระดับประเทศ เช่น การที่สามารถทำแท้งลูกที่เป็นผู้หญิงได้ถือว่าเป็นเรื่องปกติและคนส่วนใหญ่ก็มักทำกัน
เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลต้องการประชากรเพศชายในการขับเคลื่อนประเทศมากกว่า เพราะเป็นช่วงที่เกาหลีใต้เริ่มพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว การมีประชากรหญิงเข้ามาในตลาดแรงงานนั้นมันมีโอกาสที่จะทำให้ประเทศพัฒนาช้าลง เนื่องจากจะมีช่วงที่ผู้หญิงต้องออกไปเป็นแม่บ้าน ก็จะต้องออกจากตลาดแรงงานไป ซึ่งก็ดูเป็นเหตุผลที่ยังไงก็ดูเป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้นในการที่จะจำกัดขอบเขตหรือวางบทบาทของการใช้ชีวิตในสังคมของผู้หญิง
ทำให้เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้จึงเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีที่จุดไฟของความอัดอั้นตันใจของผู้หญิงในเกาหลีใต้ที่แต่เดิมดูริบหรี่ให้ติดแรงขึ้นผ่านการรวมตัวของกลุ่ม feminist ในเกาหลีลุกขึ้นมาเรียกร้องความเท่าเทียมให้ตนเองและให้หนังสือเล่มนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งการเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงในเกาหลีใต้ ในโลกที่ผู้ชายเป็นผู้กำหนดตัวเลือกและโอกาสให้กับบทบาทของผู้หญิง
.
.
.
ขอบคุณที่อ่านจนจบนี้นะคะ
Pls. support นักรีวิวมือใหม่คนนี้ด้วยนะคะ
โฆษณา