12 มิ.ย. 2023 เวลา 12:30 • ความคิดเห็น

เมื่อแอดมินมองนิสัยคนไทย

หลังจากที่คราวก่อนนู้น...แอดมินได้พาทุกท่านย้อนอดีตกลับไปถึงนิสัยใจคอของคนไทยที่ชาวต่างประเทศได้บันทึกเอาไว้ (สามารถอ่านบทความได้ที่: https://www.blockdit.com/posts/647c8cfd906120ee87c096d3) คราวนี้ตัดภาพมาที่ประเทศไทย ตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 2560 เป็นต้นมา แอดมินรู้สึกว่า เป็นห้วงเวลาที่เต็มไปด้วยความเสื่อมโทรม ความทุกข์ยาก และความขัดแย้งในสังคมที่นับวันทวีความรุนแรงมากขึ้น อันเนื่องมาจากเหตุปัจจัยต่าง ๆ
เช่น สถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียด รวมไปถึงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีคนบ้างคนอ้างว่า “เอาอยู่” ไม่ก็มองว่าเป็นเพียงแค่ไข้หวัด “กระจอก” ก็ตาม ยิ่งสร้างเป็นความบั่นทอนทางจิตใจให้กับผู้คนทั้งหลายมากขึ้น ส่งผลให้นิสัยของคนไทยบางประการที่ได้กล่าวไปแล้ว กลับกลายเป็นเหมือนหอกที่คอยกระทุ้งพุ่งแทงให้เกิดเป็นรอยขาดจนวิ่นตลอดเวลา หนำซ้ำยังเป็นการกลายพันธุ์ทางนิสัยที่มีอยู่ให้ลุกลามมากกว่าเดิม
จากที่แอดมินได้ศึกษาผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไทย การติดตามข้อมูลข่าวสารจากช่องทางต่าง ๆ ประกอบกับประสบการณ์ในห้วงเวลาที่ผ่านในฐานะที่เป็นคนไทย พบว่า ความคิดของคนไทยบางส่วนมีความผิดแผกจากธรรมชาติที่เป็นอยู่ จนเกิดเป็นนิสัยเหล่านี้ขึ้น ล้วนแล้วเป็นนิสัยที่ไม่ค่อยดีมากเท่าไรนัก ซึ่งมีทั้ง
  • การเอาสีไปข่มนาม คือ การจะทำอะไรก็ได้ตามใจปรารถนาโดยไม่สนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หรือแม้แต่การกระทำอันใดที่เป็นไปเพื่อการหลุดพ้นจากฐานความผิดต่าง ๆ ที่ตนเองก่อขึ้นมา ด้วยการอวดอ้างถึงยศถาบรรดาศักดิ์ หรือไล่โยงวงศาไปว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร การใช้สินบาทคาดสินบนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของตนเอง
หรือแม้แต่การใช้อำนาจจากความมีอาวุโสทางอายุหรือตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงกว่า เพื่อให้ผู้ที่มีอายุหรือตำแหน่งหน้าที่การงานน้อยกว่าแสดงความนับถือและเชื่อฟังคำสั่งอย่างไม่มีเงื่อนไข หากใครไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกอำนาจบางอย่างครอบงำ จนไม่ได้รับความเสมอภาค
เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ที่อาศัยว่าครูเป็นผู้มีภูมิความรู้ที่เหนือกว่า หากนักเรียนคนใดแสดงออกถึงทัศนะบางอย่างที่ขัดต่อใจครูท่านนั้นแล้ว ครูท่านนั้นก็จะใช้อำนาจผ่านปากกาในมือให้คะแนนที่ไม่เสมอภาคกับนักเรียนคนนั้น หรือการใช้อำนาจความเป็นครูบังคับให้นักเรียนสนองความต้องการของตนเอง จนเกิดเป็นเหตุความรุนแรงต่าง ๆ เช่น การล่วงละเมิดทางเพศ
หรือจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายกับลูกน้องในองค์กร ซึ่งหากลูกน้องคนใดได้ดีเกินหน้าผู้ที่เป็นเจ้านายแล้ว เจ้านายผู้นั้นก็จะใช้อำนาจบางอย่างในการกดลูกน้องให้อยู่ในระดับการทำงานเดิม ๆ ไม่เลื่อนไปไหน และเจ้านายก็มักใช้อำนาจกับลูกน้องในการสั่งการต่าง ๆ จนบางครั้งก็มากเกินไป เกินกว่าขอบเขตที่ตนเองรับผิดชอบด้วยซ้ำ จึงทำให้เกิดการลาออกของคนรุ่นใหม่ตามองค์กรต่าง ๆ อย่างมากมาย เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นการ “มีพระเดช แต่ไม่มีพระคุณ” โดยแท้
  • การพร่ำเรื่องศีลธรรม ความดีงามต่าง ๆ มากเกินไป คือ การใช้วาทกรรมว่าด้วยความเป็นศีลธรรมอันดีงามของประเทศไทย เช่น เมืองไทยเป็นพุทธ ในการอ้างเพื่อบีบให้ผู้ที่ตนเองเห็นว่าทำในสิ่งไม่เป็นที่ถูกใจ หรือขัดต่อผลประโยชน์ของตนเองให้ได้รับความอับอายและเสื่อมเสียชื่อเสียง หรือทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของบางสิ่งบางอย่างมีความเสื่อมน้อยถอยลง จนไม่เป็นที่น่าศรัทธา
เช่น กฎหมาย ซึ่งการพร่ำเรื่องศีลธรรม ความดีงามต่าง ๆ มากเกินไปนั้น บางครั้งก็ทำให้แนวคิดบางอย่างที่สังคมโลกเล็งเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ยังไม่สามารถปลดล็อกได้อย่างเด็ดขาดในสังคมไทยสักที เช่น เรื่องของเพศที่สังคมไทยมองว่า เป็นเรื่อง “จกเปรต” จึงทำให้การสอนเพศศึกษาในวิชาสุขศึกษาเป็นเรื่องที่ยังไม่ค่อยจะกว้างขวางเท่าไรนัก เพราะเกรงว่าผู้เรียนจะมีความหมกมุ่น
รวมถึงสภาพแวดล้อมรอบตัวผู้เรียนไม่ค่อยจะเปิดกว้างเรื่องเพศศึกษาเท่าไร ทำให้ผู้เรียนไม่มีความกล้าในเรื่องนี้ จึงเป็นต้นกำเนิดของเหตุที่เกิดขึ้นตามมาอย่างการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการคุกคามทางเพศที่สามารถเกิดได้ทุกเพศ ทุกวัยและทุกรูปแบบ รวมถึงแนวคิดความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยก็ยังถูกมองว่า เพศมีเพียงแค่ชายหญิงเท่านั้น ส่วนกลุ่มหลากหลายทางเพศเป็นเพียงชายขอบทางสังคม พาให้คนไทยบางส่วนมีนิสัยชอบต่อต้าน ประณามหยามเหยียดอย่างไร้เหตุผลสารพัด
  • การติดแบรนด์ คือ การปฏิบัติที่เป็นประเพณีอย่างหนึ่งในช่วงที่ผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระดับอุดมศึกษา แล้วมักจะมีการบอกว่า ให้เรียนที่นั่นที่นี้นะ จะได้แลดูมีเกียรติ หรือไม่ก็เป็นการบอกเพื่อให้ผู้เรียนช่วยสานฝันให้ผู้ใหญ่บางราย หากไม่ปฏิบัติตามก็จะใช้อำนาจกดขี่จนกว่าตนเองจะพอใจ
ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ผู้เรียนแท้ ๆ ก็ควรจะปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของผู้เรียนไป หากผู้เรียนเรียนไม่ถูกใจตน แต่ถูกใจผู้ใหญ่ ก็จงเตรียมรับความเสียใจที่จะเกิดขึ้นได้เลย เพราะถึงแม้จะมีแบรนด์ติดตัวไปว่า จบจากที่นั่นที่นี้มา ก็ไม่เท่ากับศักยภาพการทำงานและทัศนคติของผู้เรียนว่ามีพร้อมหรือไม่ ซ้ำยังเป็นการสร้างรอยร้าวภายในครอบครัวให้เกิดเป็นความแตกแยกอีกต่างหาก ซึ่งเป็นการได้ไม่คุ้มเสียเอาเสียเลย
  • การจมปรักกับสิ่งเดิม คือ การไม่ยอมรับความรู้และหลักการใหม่ ๆ เพราะส่วนหนึ่งคิดว่า สิ่งที่ตัวเองยึดโยงอยู่เป็นสิ่งที่ถูกแล้ว หรือเรียกได้อีกอย่างว่าเป็นการ “ฝังใจ” อย่างไม่รู้จักลดลาวาศอก ซึ่งบางครั้งก็เป็นสิ่งที่มีความถูกต้องเพียงด้านเดียว หากคนเราจะเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ที่ดีได้ก็ต้องเปิดรับความเห็นจากหลายด้าน เพื่อให้เห็นถึงข้อเท็จจริง แต่นิสัยชนิดนี้ก็เกิดขึ้นกับคนไทยบางส่วน อันเป็นสาเหตุหนึ่งของความขัดแย้งทางสังคมที่เกิดขึ้น
แล้วคนไทยที่มีนิสัยลักษณะนี้ ก็จะต้องใช้เวลาสักหน่อยในการปรับความคิดถึงจะสามารถเปลี่ยนนิสัยได้ แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งที่ไม่คิดจะเปลี่ยน เพราะคิดว่า อีกไม่นานก็คงจะไม่มีชีวิตอยู่แล้ว จึงไม่คิดที่จะยอมรับความเปลี่ยนแปลง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ระบบการศึกษาไทยนับวันมีแต่จะล้าหลังลง
ยังไม่นับรวมกับการที่รัฐบาลได้ตับงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ ปี พ.ศ. 2565 ลงถึง 2.45 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพการศึกษาของไทยตกต่ำลงไปมากกว่าเดิมอีกและเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งรูปแบบต่าง ๆ อันเกิดจากความเห็นต่างทางความคิด เช่น การทะเลาะวิวาท การยัดข้อหากับผู้ที่เห็นต่างอย่างไม่ยุติธรรม เป็นต้น
ยังมีอีกนิสัยหนึ่งที่มีความตรงกันข้ามกับสุภาษิตที่ว่า “คนล้มอย่าข้าม” นั่นก็คือ
  • คนล้มมีไว้ให้ซ้ำ ซึ่งเรื่องนี้คงนอกเหนือจากการกระทำ แต่รวมถึงในเรื่องของวาจาด้วย โดยจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีความคิดเห็นต่าง ซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งก็รอวันที่จะซ้ำเติมอยู่เป็นเนืองนิจนั่นเอง
หากวันใดที่ผู้เห็นต่างล้ม ผู้คนอีกฝ่ายก็จะมาสนับสนุนด้วยมือ เล็บ ไม่ก็เท้า คำพูดอันหยาบคาย น้ำลายต่าง ๆ ที่พร้อมจะบ้วนใส่ด้วยความสะใจ รวมถึงนิ้วอันว่องไวในการปาประโยคที่ไม่น่าอภิรมย์ต่าง ๆ ใส่กันไป จนบางครั้งเกิดเป็นไฟลามทุ่งก็มี หรือแม้แต่กฎหมายที่พร้อมมีไว้เล่นงานกับผู้ที่เห็นต่าง
  • การอนุรักษ์ความเป็นไทยมากจนเกินไป คือ การทำให้ไม่มีผู้ที่กล้าหยิบยืมความเป็นไทยบางอย่างไปประยุกต์ให้มีความทันสมัย เพราะถ้าหากนำไปใช้ผิดตามครรลองของคนบางกลุ่มแล้ว ก็จะตกเป็นเป้าหมายอย่างดีในการถูกโจมตีว่า เป็นพวก “นอกรีต” ไม่เห็นคุณค่าของความเป็นไทย
เช่น การนำรัดเกล้ามาใช้ประกอบมิวสิกวิดีโอเพลง LALISA ของ ลิซ่า แบล็กพิงก์ (BlackPink) เป็นต้น แต่พอกลุ่มผู้ที่ตนเองเห็นว่า เป็นพวกนอกระบอบได้ดี มีชื่อเสียงขึ้นมาเมื่อใดต่างก็จะพากันถาโถมเข้ามาแสดงความชื่นชม โพนทะนากันทั่วหน้า ส่วนสิ่งที่ตนเองเคยว่ากล่าวให้ร้าย หรือแจ้งความเอาผิดไป ก็ให้ลืม ๆ ไปเสีย เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาก่อน
แล้วคนไทยเองบางกลุ่มยังชอบที่จะให้ความสนใจในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องจนได้เรื่อง เช่น
  • การเล็งเห็นอำนาจสำคัญกว่าปากท้องของประชาชน ซึ่งอำนาจในที่นี้สามารถมองได้เป็นหลายอย่าง เช่น การมีตำแหน่งระดับสูงทางการเมือง ความสามารถในการบังคับบัญชา หรือการสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อเสริมเป็นกำลังป้องกันอย่างแน่นหนา เป็นต้น
รวมไปถึง
  • การนิยมบุคคลมากกว่าหลักการ ซึ่งนิสัยนี้ก็ค่อนข้างจะตรงตัว เพราะได้เกิดขึ้นกับสังคมไทยมานานเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่ทางภาครัฐต้องการเชิดชูบางคนในประวัติศาสตร์เพียงให้เห็นว่า เป็นคนดี หรือมีภูมิหลังที่ไม่ธรรมดา เช่น การเป็นเชื้อสายของเทพ เป็นต้น แต่ไม่ได้เรียนรู้เพื่อให้เห็นทั้งข้อดีและข้อเสียแต่ประการใดเลย
  • การเห็นกงจักรเป็นดอกบัว นิสัยในข้อนี้ก็มีให้เห็นในสังคมไทยเช่นกัน โดยเกิดมาจากความเหลื่อมล้ำทางการกระทำความผิด ที่เล็งเห็นว่า ผู้ร้ายหน้าตาดีหรือมีลาภวาสนาควรได้รับการพิจารณาโทษอย่างเบา บ้างก็มีการให้กำลังใจอย่างออกนอกหน้า จนบางครั้งกลายเป็นการผลักดันให้ “ผู้กระทำผิด” กลายเป็น “ผู้มีชื่อเสียง” ไปอย่างหน้าด้าน ๆ
เช่น กรณีของลุงพล ผู้ต้องสงสัยในคดีการหายตัวไปของน้องชมพู่ หรือกรณีของทิดกาโตะ ที่ไปพัวพันกับหญิงสาวและการจัดการทรัพย์สินภายในวัดขณะครองสมณเพศ เป็นต้น ส่วนผู้ร้ายที่หน้าตาไม่ดี หรือมีฐานะที่ยากจนสมควรได้รับโทษอย่างหนัก ถึงกับมีการสาปแช่งอย่างรุนแรง ซึ่งไม่ค่อยจะยุติธรรมเท่าไรนัก หรือแม้แต่การแก้ไขความผิดที่ได้กระทำขึ้นอย่างผิดวิธี ซึ่งไม่ใช่การชดใช้ความผิดผ่านกระบวนยุติธรรม เช่น การบวชเพื่อไถ่บาป เป็นต้น
  • การไม่แยแสต่อระเบียบทางสังคม คือ นิสัยที่เกิดจากความมักง่าย ความรีบเร่งส่วนตัว โดยไม่สนใจต่อระเบียบ กติกาที่สังคมได้ตั้งไว้ จึงยังผลให้คน ๆ หนึ่งสามารถกระทำการอะไรก็ตามอย่างไร้ความรับผิดชอบ จนกลายเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายและสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เช่น การขับรถมอเตอร์ไซค์ชนคนข้ามทางม้าลาย เป็นต้น
หรือแม้แต่
  • การหลงไปตามกระแส คือ การเออออไปตามสิ่งที่ต่าง ๆ ที่ผู้คนเห็นว่า มันดี หรือว่ามันแปลกประหลาด โดยไม่ได้มีโอกาสศึกษาถึงข้อมูลให้ละเอียดถี่ถ้วนมาก่อนว่า เรื่องราว ๆ หนึ่งมีความจริงเป็นเช่นไร หรือสิ่ง ๆ หนึ่งที่นำเข้ามามีคุณประโยชน์หรือโทษอย่างไรบ้าง
แล้วก็มีการส่งต่อข้อมูลกันอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นกระแสสังคม เช่น แฟชั่น ข่าวสารคดีความต่าง ๆ ซึ่งเป็นที่สนใจของผู้คนในระยะเวลาหนึ่ง แล้วก็ค่อย ๆ สร่างซาลงไป หรือบางครั้งอาจจะเรียกว่า “ลืมง่าย” ทั้ง ๆ ที่ประเด็นบางอย่างเป็นสิ่งที่ควรจะมีการสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในใจจนนำไปสู่การปฏิบัติเป็นเนืองนิจต่อไป เช่น เรื่องกฎหมายจราจร เป็นต้น
นี่ยังไม่รวมนิสัย
  • การชอบนำไฟในออก ไฟนอกก็ชอบนำเข้า ซึ่งเป็นการสวนทางกับสำนวนที่ว่า “ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า” คือ การชอบสอดรู้สอดเห็นเรื่องของชาวบ้าน เอามาเป็นเรื่องสนุกปากนินทาไปทั่ว หรือไม่ก็เอามาทำเรื่องไม่เป็นเรื่องหาให้ตัวเอง อย่างที่เกิดขึ้นกับนักการเมืองท่านหนึ่งที่ไปสัมภาษณ์ แล้วได้มีการกล่าวถึงชีวิตที่พลิกผันช่วงหนึ่ง คือ
คุณพ่อของเขาเสียชีวิต แล้วกลับมาประเทศไทยช้า เพราะเหตุทางการเมือง แต่ยังดีที่ทันได้ร่วมงานศพของพ่อ แล้วก็ได้มีผู้ที่ไม่ชอบใจในตัวของนักการเมืองท่านนี้ ตลอดจนพรรคการเมืองที่นักการเมืองท่านนี้สังกัดอยู่ เป็นหัวหน้าพรรคอยู่ ทำตัวเป็น “นักร้อง” ไปร้องความอย่างเรื่อยเปื่อย คือจะพยายามถือสาหาความกับเขาให้ได้ เพื่อบีบให้นักการเมืองท่านนั้นแพ้เลือกตั้งตั้งแต่ก้าวแรก
ซึ่งเอาตามความเป็นจริงแล้ว...พ่อเขาตายแล้วจะไปหนักหัว หรือเดือดร้อนแทนคนอื่นเขาทำไม ไม่ใช่พ่อคุณสักหน่อยที่เสียชีวิต (แบบหยาบคาย) ทำมาอ้างว่า เพื่อให้ประชาชนได้รับความโปร่งใส เกรงว่าเลือกตั้งไปแล้วเขาจะโกง เหมือนจะหวังดีนะ แต่เป็นการหวังดีประสงค์ร้ายมากกว่า
แล้วทีคนที่พวกท่าน ๆ ทำงานให้เขายังเคยผิดสัญญาอยู่บ่อย ๆ เลย แล้วยังจะมาทำสัจวาจาว่า ตนเองสวดมนต์ทุกวันทำให้ตัวเองเป็นคนดี ไม่เคยทำอะไรผิด พอตัวเองบริหารงานพลาดก็เที่ยวกราดว่าเพราะประชาชนนั่นแหละผิด โทษคนอื่นเขาไปเรื่อย ปากบอกว่า ไม่อยากมา พอจะไล่ พยายามไล่ก็แล้ว ด่าทอต่าง ๆ ก็แล้ว...แต่ก็ไม่ยอมออก นี่มันคนหรืออะไร ถนนคอนกรีตหรอ? หน้าด้านสิ้นดีจริง ๆ สงสัยจะมีเซลล์สมองเพียงแค่ 84,000 เซลล์แน่ ๆ เลย (เอ๊ะ! หมายถึงใครกันนะ)
หรือ
  • การเป็นคนโกรธง่ายหายเร็ว เพราะหยดเงินหยดทอง สามารถเปลี่ยนใจคนได้ รวมถึงการพูดล้อเล่นจนแยกไม่ออกว่าเป็นการพูดล้อเล่นเฉย ๆ จริงเปล่า หรือมีเจตนาเสียดสีให้รู้สึกอับอายที่ยุคนี้เขาเรียกกันว่า “บูลลี่” (Bully) ไม่ว่าจะผ่านปากต่อปาก หรือพื้นที่สังคมออนไลน์
แต่จากที่ได้กล่าวมานั้น ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ใช่ว่าอยู่ ๆ จะอุบัติขึ้นมาได้ในทันทีทันใดเสียเมื่อไร หากแต่ได้มีการบันทึกและรวบรวมไว้มาอย่างยาวนานแล้ว ประกอบกับได้มีการศึกษา ผนวกกับการติดตามข้อมูลข่าวสารจากช่องทางต่าง ๆ รวมถึงประสบการณ์ในห้วงเวลาที่ผ่านในฐานะที่เป็นคนไทย
ฉะนั้นแล้ว การเรียนรู้ในทุกสิ่ง รวมถึงนิสัยใจคอของคนเราอยู่ตลอดเวลานั้น ก็เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการขับเคลื่อนตัวเองให้เท่าทันถึงความคิดของผู้คน นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่นภายในสังคม และยังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม สร้างปัจจุบันให้ดีขึ้น นำไปสู่อนาคตที่งดงามมากกว่าที่เป็นอยู่ต่อไป
อนึ่ง บทความเรื่องนี้ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้แก่คนไทยรุ่นต่อจากนี้ไป ได้นำไปเป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาตนเองให้กลายเป็นพลเมืองที่มีประสิทธิภาพ เป็นกำลังสำคัญที่พร้อมขับเคลื่อนสังคม ประเทศชาติต่อไป
และเป็นอนุสรณ์เพื่ออุทิศแด่ “หมอกระต่าย” แพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล แพทย์ผู้ชำนาญด้านจักษุวิทยา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเสียชีวิตจากการที่สิบตำรวจตรีนรวิชญ์ บัวดก ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (คฝ.) ได้ขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์พุ่งชนขณะเดินข้ามทางม้าลาย บริเวณหน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2565
รวมถึง “แตงโม” ภัทรธิดา (นิดา) พัชรวีระพงษ์ ซึ่งเสียชีวิตจากการพลัดตกจากเรือสปีดโบ๊ตลงแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ทำให้เกิดการสำลักน้ำเป็นจำนวนมากในระหว่างที่ยังมีชีวิตและขาดอากาศหายใจ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565
ชีวิตแสนสั้นอยู่กันไม่นานก็ลาจาก ชีวิตเหมือนน้ำค้างสดใสในยามเช้าพอยามสายก็หายไป ชีวิตเหมือนพยับแดด มองไกล ๆ เหมือนมีตัวตนน่าสนใจ แต่พอเข้าไปใกล้กลับเหมือนแต่ความว่างเปล่า
สุริยาหีบศพ
อ้างอิง:
  • จุดอ่อนของคนไทย ในสายตาต่างชาติ นิสัยไทย โดย ศิลปวัฒนธรรม (https://www.silpa-mag.com/history/article_7285)
  • ฝรั่งวิจารณ์คนไทย สมัยพระไชยราชาฯ ถึงร.5 เรียงนิสัยฮิต “ขี้เกียจ-ขี้ขลาด-ขาดคุณธรรม” โดย ศิลปวัฒนธรรม (https://www.silpa-mag.com/history/article_27484)
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
#นิสัยคนไทย
โฆษณา