9 ก.ย. 2023 เวลา 00:00 • ดนตรี เพลง

เกร็ดเรื่องเพลงลูกทุ่ง โดย วินทร์ เลียววาริณ │ บุปผาสวรรค์ 3

เพลงชีวิตไม่ใช่เพลงเพื่อชีวิต
บทก่อนเขียนว่า เสน่ห์ โกมารชุน เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเพลงชีวิต บางคนอาจคิดว่าหมายถึงเพลงเพื่อชีวิต เช่น เพลงของวงคาราวาน
แต่มันเป็นคนละคำกัน
เพลงชีวิต ไม่ใช่ เพลงเพื่อชีวิต
ขณะที่เราใช้คำ เพลงเพื่อชีวิต เพื่อหมายถึงเพลงที่เกิดขึ้นมาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผสมแนวคิด ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน ของ จิตร ภูมิศักดิ์ เช่น เพลงของวงคาราวาน หรือ พงษ์​สิทธิ์​ คำภีร์ พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ เป็นต้น เพลงชีวิตกลับหมายถึงเพลงไทยสากลที่ถือกำเนิดในช่วงปี 2480
1
นักแต่งเพลงนักร้องที่บุกเบิกเพลงชีวิตช่วง พ.ศ. 2480 - 2490 มีมากมายหลายคน เช่น แสงนภา บุญราศรี เหม เวชกร (ผู้มีชื่อเสียงเป็นจิตรกรฝีมือเยี่ยม) เสน่ห์ โกมารชุน ไพบูลย์ บุตรขัน คำรณ สัมปุณณานนท์ ชาญ เย็นแข ชลอ ไตรตรองสอน ปรีชา บุญเกียรติ ฯลฯ คนเหล่านี้ทำให้วงการเพลงชีวิตคึกคัก โดยใช้เพลงสะท้อนความทุกข์ยากของราษฎร เสียดสีสังคม หรือด่านักการเมืองที่โกงกิน
แสงนภา บุญราศรี จัดว่าเป็นผู้บุกเบิกเพลงชีวิตที่สะท้อนสังคมของชนชั้นล่าง ตัวอย่างเช่นเพลง คนปาดตาล แป๊ะเจี๊ยะ พรานกระแช่ ฯลฯ
เพลงของเขาแต่ละเพลงยาวกว่าสี่นาทีขึ้นไป ขณะที่ตอนนั้นการบันทึกแผ่นเสียงเป็นแบบ 78 รอบต่อ 1 นาที เพลงยาวไม่เกิน 3.15 นาที
1
แสงนภา บุญราศรี มีกลวิธีการนำเสนอเพลงที่แตกต่างจากคนอื่น เช่น เมื่อร้องเพลง คนปาดตาล ก็แต่งชุดคนปาดตาลออกมาร้อง เมื่อร้องเพลง คนลากรถขยะ ก็เอารถขยะขึ้นเวทีเป็นส่วนประกอบฉาก
2
ช่วงหนึ่งครูเหม เวชกร เขียนละครวิทยุเรื่อง สาวชาวไร่ วิบูลย์ ตันฑหงส์ เป็นพระเอก สะอาด ตันฑหงส์ เป็นนางเอก และแต่งเพลงให้ คำรณ สัมปุณณานนท์ ร้องออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงกรมโฆษณาการ
1
เนื้อเพลงคือ โอ้เจ้าสาวเอ๋ย เจ้าสาวชาวไร่ ไปไหนกันหนอ ตัดผมกันคอ ดูละออสำอางตา ทุ่งกว้างร้างไกล จะเหลียวไปไหนวิเวกครวญหา วันนี้บุญตาพบเจ้าแม่นา ลงมาสู่ดิน...
3
เพลงนี้ดังมาก ทว่าแผ่นบันทึกเสียงต้นฉบับสูญหายไปหมดแล้ว แต่มีการทำขึ้นมาใหม่ในยุคหลัง
ผู้เชี่ยวชาญด้านเพลง ใหญ่ นภายน ยกให้ สาวชาวไร่ เป็นเพลงลูกทุ่งเพลงแรกของไทย
1
แล้วเพลงลูกทุ่งมีที่มาอย่างไร และเมื่อใด
1
นักร้องเพลงลูกทุ่ง แดน บุรีรัมย์ เล่าว่าในสมัยแรกมันไม่มีการแบ่งประเภทกัน เพลงไทยทุกเพลงถือเป็น เพลงไทยสากล เหมือนกันหมด
จนเมื่อราวๆ ปี พ.ศ. 2494-96 เราก็เริ่มแบ่งเพลงไทยสากลออกเป็น เพลงภูธร กับ เพลงนครบาล
เพลงภูธรหนักไปทางชีวิตของชาวบ้านชาวชนบท เพลงนครบาลหนักไปทางชีวิตชาวกรุง
ต่อมาเราก็แบ่งอีกครั้งหรือเรียกชื่อใหม่ เพลงภูธรกลายเป็น เพลงตลาด เพลงนครบาลกลายเป็น เพลงในเมือง
เพลงตลาดจัดว่าเป็นเพลง ชั้นต่ำ เมื่อเทียบกับ เพลงผู้ดี ซึ่งมีนักร้องดังๆ เช่น สุเทพ วงศ์กำแหง ชรินทร์ นันทนาคร
แต่ทว่าหลังปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา นักร้องเพลงตลาดกลับได้รับความนิยมสูง เช่น สุรพล สมบัติเจริญ ทูล ทองใจ ปอง ปรีดา ชาย เมืองสิงห์ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เป็นต้น
จนถึงปี 2508-09 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีการมอบรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน เพลงตลาดก็ถูกเรียกเพลงลูกทุ่ง เพลงในเมืองเรียกเพลงลูกกรุง
แล้วทำไมอยู่ดีๆ เรียกเพลงลูกทุ่ง? ทำไมไม่เรียกเพลงชาวนา หรือเพลงชนบท หรือเพลงชาวบ้าน?
ก็เพราะในปี พ.ศ. 2507 เพลงลูกทุ่ง เป็นชื่อรายการโทรทัศน์ของช่อง 4 บางขุนพรหม
1
คำว่า เพลงลูกทุ่ง มาจากชื่อรายการนี้
ผู้ที่มีบทบาททำให้รายการเพลงลูกทุ่งได้เกิดทางโทรทัศน์คือ ประกอบ ไชยพิพัฒน์ แต่คนบัญญัติศัพท์คำว่า เพลงลูกทุ่ง คืออาจารย์จำนง รังสิกุล หัวหน้าฝ่ายจัดรายการของช่อง 4 บางขุนพรหม เป็นคนประสานงาน จัดรายการ โฆษก รวมทั้ง อาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่ตอนนั้นทำงานที่นั่น (เริ่มทำงาน พ.ศ. 2498) หน้าที่คือเขียนผังรายการโทรทัศน์
1
รายการเพลงลูกทุ่งออกอากาศครั้งแรกในวันที่ 11 พฤษภาคม 2507 วันจันทร์เว้นจันทร์ มันเป็นครั้งแรกที่เพลงตลาด ชั้นต่ำ มีโอกาสออกทีวี ผลคือเกิดกระแสฮิตอย่างแรง
1
เพลงตระกูลนี้ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเนื้อร้องสะท้อนภาพชีวิตจริงของชาวบ้าน เข้าใจง่าย และร่วมสมัย
1
ดังนั้นจะบอกว่า เพลงลูกทุ่งเกิดในปี 2507 ก็ไม่น่าผิด
ทว่าหลังจากมีจดหมายตำหนิจากผู้ชม รายการเพลงลูกทุ่งก็ยุติไปช่วงหนึ่ง แต่ก็กลับมาอีกครั้ง เพราะเพลงลูกทุ่งเป็นที่ฮิตในหมู่ประชาชน คราวนี้เปลี่ยนชื่อรายการเป็น ลูกทุ่งกรุงไทย ใช้นักแสดงช่อง 4 มาร่วมร้องเพลง เช่น รอง เค้ามูลคดี ศิริพร วงษ์สวัสดิ์ นงลักษณ์ โรจนพรรณ ฯลฯ รายการเป็นที่นิยมอย่างสูง
พ.ศ. 2507 ก็ยังเป็นปีที่วงการเพลงไทยมีการจัดประกวดเพลงครั้งแรก เรียกว่า แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จัดโดย ป. วรานนท์ แห่งสถานีวิทยุกองพลที่ 1
จุดเริ่มต้นคือ ป. วรานนท์ นักจัดรายการเพลงผู้มีชื่อเสียงของสถานีวิทยุกองพลที่ 1 เขาเริ่มจัดอัดดับเพลงไทยสากลยอดนิยมประจำสัปดาห์ขึ้น แล้วกลายเป็นการมอบรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน โดยผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหลายคน รับรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
1
แยกรางวัลออกเป็นแผ่นเสียงทองคำประเภท ก. และ ข.
1
ประเภท ก. หมายถึง เพลงที่คณะกรรมคัดเลือก และ ประเภท ข. หมายถึง เพลงที่มีการส่งเข้าประกวด
นักร้องเพลงลูกทุ่ง สมยศ ทัศนพันธุ์ ได้รับแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากเพลง ช่อทิพย์รวงทอง แต่งโดย พยงค์ มุกดา
เพลงลูกกรุงกับลูกทุ่งเริ่มแบ่งกันชัดเจนในการจัดมอบรางวัลครั้งที่ 2 เมื่อปี 2509 ผู้จัดได้เพิ่มสาขาเพลงลูกทุ่งขึ้น ปีนั้นเป็นครั้งแรกที่เพลงลูกทุ่งได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน นักร้องเพลงลูกทุ่งที่ได้รับรางวัลคือ ทูล ทองใจ จากเพลง รักใครไม่เท่าน้อง และ ผ่องศรี วรนุช จากเพลง กลับบ้านเถิดพี่
2
การประกวดเพลงแผ่นเสียงทองคำพระราชทานทำได้เพียงสามครั้งก็เลิก แต่ต่อมามีการฟื้นฟูการจัดประกวดเพลงขึ้นมาใหม่ในชื่อ รางวัลเสาอากาศทองคำ ในปี 2518
เพลงลูกทุ่งมีคุณลักษณ์สะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรมไทย ชีวิตชาวบ้าน อารมณ์ความรู้สึกต่างๆ มีความเป็นลูกทุ่ง แตกต่างอย่างชัดเจนจากเพลงลูกกรุงอย่างชัดเจน
ป. วรานนท์
รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน
คล้ายกับเพลงไทยแบบอื่น เพลงลูกทุ่งก็มีโครงสร้างแบบกลอนแปด
วงดนตรีลูกทุ่งใช้เครื่องดนตรีทั้งตะวันตกและพื้นเมือง เครื่องดนตรีท้องถิ่น เช่น กลองยาว ระนาด ฉิ่ง กรับ โทน ซอ วงดนตรี สุรพล สมบัติเจริญ มีการใช้แอคคอร์เดียน รวมทั้งหมดราว 1218 ชิ้น
คล้ายกับวรรณกรรม เราอาจชำแหละโครงสร้างเพลงลูกทุ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนสาระความคิด กับส่วนการใช้ภาษา
ในส่วนสาระความคิด เนื้อหาของเพลงลูกทุ่งมักเล่นประเด็นความรักของหนุ่มสาว ส่วนใหญ่เป็นความรักแบบไม่สมหวัง ตัดพ้อ ว่ากันตรงๆ มักสืบเนื่องมาจากความยากจน ต่อไปถึงความแตกต่างทางชนชั้น ซึ่งมักมีรถเบนซ์มาเกี่ยวเสมอ โดยรถเบนซ์เป็นสัญลักษณ์ของความรวย ยกตัวอย่าง เช่น เพลง แม่ปูไก่หลง
กอดกับคนจน หน้ามนเจ้าบ่นว่าเหม็น กอดคนมีขี่เบนซ์ เนื้อเย็นใจเต้นตาโต
1
นอกจากนี้ก็มีเรื่องธรรมชาติ ภัยธรรมชาติ ชีวิตอันสุขสงบในชนบท วิถีชีวิตของคนชนบท ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตพื้นบ้าน ความผูกพันกับธรรมชาติ เกษตรกรรม ท้องทุ่ง ไร่นา สายลม สายน้ำ แสงแดด และแน่นอน ดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ ถูกนำมาใช้บ่อยมาก
จะว่าไปแล้ว เนื้อหาของเพลงลูกทุ่งก็คล้ายการเปรียบเทียบระหว่างสองโลก โลกชนบทสงบแบบเก่า และโลกยุ่งเหยิงวุ่นวายแบบใหม่ ก็คือเมืองหลวง แล้วชี้ว่าอยู่ชนบทดีกว่า
เนื้อเพลงที่ว่าด้วยหญิงสาวเดินทางทางเข้ากรุง มักเป็นสัญลักษณ์ว่าใจแตก หรือหลงระเริงกับวิถีความสบายของเมือง
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เปลี่ยนทิศทางของเพลงไทยอีกครั้งหนึ่ง เกิดแนวใหม่ที่เรียกว่า เพลงเพื่อชีวิต
เนื้อเพลงลูกทุ่งก็ปรับตัวเช่นกัน
เพลงลูกทุ่งหลายเพลงไปไกลกว่าธรรมชาติและความรักของหนุ่มสาว แต่สะท้อนสังคม ปัญหาต่างๆ ของชาวชนบท เช่น นาแล้ง ภาวะหนี้สิน การเอารัดเอาเปรียบของนายทุน น้ำมันแพง เป็นต้น ซึ่งเป็นภาพรวมของชาวชนบท และปัญหาระดับรากเหง้าของหลายประเทศ
ยกตัวอย่าง เช่น ชีวิตสาวโรงงานใน ฉันทนาที่รัก โดย รักชาติ ศิริชัย จะปักหัวใจ หัวใจรักคุณนานนาน รักสาวโรงงาน สาวโรงงาน ชื่อฉันทนา
การขายแรงงานในต่างประเทศ เช่น เพลง ลอยแพ โดย พรศักดิ์ ส่องแสง เสี่ยงดวง ไปถึงซาอุ ยกมือสาธุ หมดนา หมดไร่ เกือบจะบินไปตาย เกือบจะไม่ได้กลับมา โดนหลอกเอาไปลอยแพ อนาถใจแท้ชะตา
ช้ำอกเพราะซาอุ โดย เฉลิมพล มาลาคำ ก่อนไปเมืองซาอุนั้น ไหนบอกกับฉันว่าจะไม่ใจสอง พออ้ายหนีไกลบ้านช่อง บ่ถึงปีสอง ทางน้องเป็นอื่น
ปัญหาน้ำมันแพง ในเพลง น้ำมันแพง โดย สรวง สันติ น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ ถึงตอนดับไฟ มีอะไรเราก็เริ่มฝอย ใกล้เข้าไปอีกนิด ชิดเข้าไปอีกหน่อย น้ำมันมีน้อย มืดหน่อยก็ทนเอานิด
สำหรับในส่วนของการใช้ภาษา วงการเพลงลูกทุ่งมีมือดีหลายคน
และในบรรดานี้ ครูไพบูลย์ บุตรขัน น่าจะเป็นกระบี่มือหนึ่งในยุทธจักรอักษร
2
โฆษณา