Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วินทร์ เลียววาริณ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
23 ก.ย. 2023 เวลา 00:00 • ดนตรี เพลง
เกร็ดเรื่องเพลงลูกทุ่ง โดย วินทร์ เลียววาริณ │ บุปผาสวรรค์ 5
ครูนักปั้น
1
วงการเพลงลูกทุ่งจะไม่มีวันมาถึงจุดที่เป็นอยู่ และเต็มไปด้วยนักร้องเสียงดี หากปราศจากนักปั้น
เมืองไทยอุดมด้วยนักร้องเสียงดี จำนวนมากมีฐานะไม่ดี และแทบไม่มีโอกาสเกิดในวงการเพลงลูกทุ่ง เพราะต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ
แต่เพราะมีนักปั้นชั้นครูจำนวนหนึ่งที่ใจกว้าง มีเมตตา ทำให้นักร้องจำนวนหนึ่งได้เกิด และวงการเพลงขยายตัว
1
ครูนักปั้นมีมากมายหลายคน เช่น มงคล อมาตยกุล ฉลอง ภู่สว่าง ชลธี ธารทอง
1
หลายคนผ่านประสบการณ์เหนื่อยยากของความพยายามเป็นนักร้องมาก่อน จึงมีความเมตตาต่อคนรุ่นหลัง
พี่ปั้นน้อง น้องปั้นน้องต่อไปเรื่อยๆ
มงคล อมาตยกุล (2461 - 2532) เป็นนักแต่งเพลง ผู้ก่อตั้งวงดนตรีมงคล อมาตยกุล และวงดนตรีจุฬารัตน์
มงคล อมาตยกุล เป็นนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย พ.ศ. 2479 รุ่นเดียวกับพลเอก เปรม ติณสูลานนท์
1
มงคล อมาตยกุล
เป็นศิษย์จุฬาฯ แต่เรียนไม่จบเพราะสงครามโลกครั้งที่สอง หันไปทางดนตรี เขียนบทละคร ตั้งคณะละครวิทยุ นอกจากนี้ยังแต่งเพลง เรียบเรียงเสียงประสาน เป็นหัวหน้าวงดนตรีของเทศบาลนครกรุงเทพ และร่วมวงดนตรีดุริยะโยธิน
1
ราวปี 2489 เขาตั้งวงดนตรีของตนเอง รับแสดงตามโรงภาพยนตร์และงานลีลาศ ทำงานร่วมกับ ป. ชื่นประโยชน์ เนียน วิชิตนันท์ ร้อยแก้ว รักไทย ไพบูลย์ บุตรขัน
ต่อมาก็ทำงานในห้องบันทึกแผ่นเสียงของห้าง ดี. คูเปอร์ จอห์นสัน บันทึกเสียงเพลงดังจำนวนมาก
ในปี พ.ศ. 2500 ครูมงคล อมาตยกุล ก่อตั้งวงดนตรีจุฬารัตน์ ช่วง 16 ปีสร้างนักร้องใหม่ให้กับวงการเพลงลูกทุ่งเป็นจำนวนมาก เช่น ทูล ทองใจ พร ภิรมย์ ปอง ปรีดา สุชาติ เทียนทอง ชาย เมืองสิงห์ ประจวบ จำปาทอง ลพ บุรีรัตน์ สังข์ทอง สีใส ศรีไพร ใจพระ สรวง สันติ พนม นพพร บุปผา สายชล เป็นต้น
น่าจะเป็นชุมนุมเจ้ายุทธจักรที่ใหญ่ที่สุดแล้วในยุคนั้นและยุคต่อๆ มา
วงจุฬารัตน์ออกเดินสายแสดงตามจังหวัดต่างๆ เป็นที่นิยมมาก นักร้องหลายคนเมื่อมีชื่อเสียงก็แยกตัวออกไปตั้งวงดนตรีตนเอง โดยที่ครูมงคลอนุญาต
3
สร้างนักร้องใหม่ต่อๆ กันไป จนวงการเพลงลูกทุ่งคึกคักอย่างยิ่ง
นักร้องอีกคนใต้ชายคาครูมงคล อมาตยกุล คือ พนม นพพร
1
เขาไปสมัครเข้าวงจุฬารัตน์ แต่ครูมงคลไม่รับเพราะนักร้องพอแล้ว พนม นพพร ลงเอยด้วยการเป็นเด็กรถประจำวง รับใช้นักร้องในวงและทำงานจิปาถะ
2
จนเมื่อครั้งหนึ่งนักร้องหลักหลายคนล้มป่วย ครูมงคลจึงให้เขาขึ้นร้องแทน
2
พนม นพพร
ต่อมาครูมงคลให้เขามาลองอัดเสียงเพลงใหม่ที่แต่งโดย สรวง สันติ คือเพลง สุขีเถิดที่รัก
สุขเถิดคนดี พี่ขออวยพร ขอน้องนวลนางขวัญอ่อน สมพรเหมือนดังคำพี่ ขอมอบของขวัญในวันวิวาห์คนดี ทั้งๆ น้ำตาไหลปรี่ ยินดียิ้มทิ้งน้ำตา
พี่สุดดีใจที่น้องได้ดี เขารักเอ็นดูน้องพี่ พิธีภิรมย์สมมาตร เห็นหยดน้ำสังข์เหมือนดังพี่นองน้ำตา น้อยเนื้อน้อยใจเพราะว่า รอมานั้นเสียแรงรอ
เพลงดัง พนม นพพร ได้เกิดในที่สุด
พนม นพพร เป็นนักร้องวงจุฬารัตน์หลายปี จนกระทั่งครูมงคลยุบวง เขาก็ไปเข้าวงการหนัง
2
นักร้องคนหนึ่งที่ครูมงคลปั้นขึ้นมาคือ พร ภิรมย์
1
ชื่อจริง บุญสม มีสมวงษ์ ชาวอำเภอพระนครศรีอยุธยา เก่งเล่นดนตรีไทย ทำขวัญนาค พากย์หนัง และเล่นลิเก ใช้ชื่อคณะ บุญสม อยุธยา เล่นกับเสน่ห์ โกมารชุน จนมีชื่อเสียง
1
ครูมงคล อมาตยกุล ก็ชวนไปอยู่วงดนตรีจุฬารัตน์
พร ภิรมย์ อยู่กับวงดนตรีจุฬารัตน์หลายปี บันทึกเสียงราวสองร้อยเพลง เพลงแทบทั้งหมดแต่งเอง ลายเซ็นของเขาคือแนวนิทานชาดกแฝงธรรมะ
เพลงแรกที่ได้รับความนิยมคือ บัวตูมบัวบาน
ลงเรือน้อยลอยวน ในสายชลห้วยละหาน มีทั้งบัวตูมบัวบาน ดอกใบไหวก้านงามตา เมื่อลมพัดมาชื่นใจ
1
เพลงนี้ไพเราะ ออกโทนหวานๆ บรรยายธรรมชาติงดงาม ฟังแล้วอารมณ์เย็นสบายใจ
4
ตามด้วย ดาวลูกไก่ น้ำตาลาไทร กระท่อมทองกวาว ลานรักลานเท ดาวจระเข้ ฯลฯ
พร ภิรมย์ ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ในปี พ.ศ. 2509 แต่ในบั้นปลายชีวิต เขาบวชเป็นพระอยู่ที่วัดรัตนชัย (วัดจีน) อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 จนมรณภาพ
2
นักร้องชั้นนำอีกคนหนึ่งที่ครูมงคลปั้นคือ ชาย เมืองสิงห์ (สมเศียร พานทอง) และมันเกี่ยวพันกับนักร้อง พร ภิรมย์
หามิได้ พร ภิรมย์ มิได้พา สมเศียร พานทอง ไปสมัครงานแต่อย่างใด
ในปี พ.ศ. 2504 สมเศียร พานทอง ไปสมัครเข้าวงจุฬารัตน์
1
มันเป็นการรับศิษย์ที่ประหลาดที่สุด นั่นคือครูมงคลท้าให้เขาไปแหล่สดกับ พร ภิรมย์ ซึ่งตอนนั้นเป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งชื่อดัง
3
ชาย เมืองสิงห์ ก็ไปตามนัด
เหมือนการชกมวย ต่างแต่ว่าอาวุธของทั้งคู่ไม่ใช่กำปั้น หากคือเสียงเพลง และลีลาการร่ายเพลง
2
ทั้งสองแหล่ประชันกันที่สถานีวิทยุ ปชส. 7 เชิงสะพานพุทธ เวลาห้าทุ่ม คืนวันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน 2504 ออกอากาศสดๆ ผู้ชมเต็มสถานี และผู้ฟังทางบ้านอีกมากมาย
1
ลีลาของนักร้องหนุ่มเป็นที่ถูกใจของผู้ฟังอย่างยิ่ง จบด้วยเสียงปรบมือสนั่นหวั่นไหว ประมาณ Standing ovation ครูมงคลก็รับสมเศียรเข้าวง ตั้งชื่อเขาว่า ชาย เมืองสิงห์
หลังจากนั้น ชาย เมืองสิงห์ ก็โลดแล่นในวงการเพลงลูกทุ่งจนเป็นสิงห์ และยังเป็นสิงห์คะนองในวงการภาพยนตร์ด้วย
ชาย เมืองสิงห์
นักร้องอีกคนหนึ่งใต้ชายคาวงดนตรีจุฬารัตน์ เป็นเด็กฝาก ชื่อ ลพ บุรีรัตน์
และคนฝากนั้นก็ไม่ธรรมดา เส้นใหญ่มาก ก็คือครูนักแต่งเพลงมือเซียน ไพบูลย์ บุตรขัน
ลพ บุรีรัตน์ ชื่อจริง วิเชียร คำเจริญ เป็นคนบ้านบางมะยม อ. ท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี จบโรงเรียนการช่างลพบุรี แผนกช่างตัดผม ประกอบอาชีพเป็นช่างตัดผมและชกมวย แต่ชอบร้องเพลงมากกว่าตัดผมและชกมวย จึงเริ่มไปประกวดร้องเพลง
ปี 2502 วงดนตรีกรุงเทพแมมโบ ของ บังเละ วงศ์อาบู ไปแสดงที่ลพบุรี จึงไปขอสมัครเป็นนักร้อง ได้เข้ากรุงเทพฯ แต่ไม่ได้เกิด ก็กลับบ้านเกิด ลองแต่งเพลง ได้เพลงชื่อ กอดหมอนนอนเพ้อ
2
อาณาจักรใจมอบไว้ให้คุณ ตราบโลกหยุดหมุน ผมยังรักคุณมั่นคง ตราบฟ้าสูญสิ้น พื้นดินสลายดับลง แต่รักฉันมั่นคง ดับลงพร้อมกับชีวา
ปี 2505 เขาเข้ากรุงเทพฯอีกครั้ง สมัครเป็นนักร้องกับวงดนตรีหลายวง เช่น วงพยงค์ มุกดา วงสุรพล สมบัติเจริญ วงดุริยางค์ทุ่งมหาเมฆ แต่ไม่มีวงไหนรับ ก็ไปหาครูไพบูลย์ บุตรขัน
2
ลพ บุรีรัตน์
สกู๊ปพิเศษ - ลพ บุรีรัตน์ : ขุนพลเพลงสนุก โดนใจคนไทย หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ (21 กรกฎาคม 2552) ที่สัมภาษณ์ครูเพลง ลพ บุรีรัตน์ บันทึกว่า ครูไพบูลย์สอนเขาว่า เพลงค่อยๆ คิดทำไป เจออะไรก็อ่านมัน คนไหนพูดอะไรก็ฟังไป ดูโทรทัศน์ก็ให้จำ เจอคำไหนดีๆ ต้องรีบจด
แต่ท่านบอกว่าอย่าเอาครูเป็นตัวอย่าง แต่ท่านแนะให้ไปอ่านหนังสือกลอนสุนทรภู่ ให้แต่งกลอนแบบนั้น สัมผัสแบบนั้น การแต่งเพลง เราเห็นอะไร เห็นอยู่ตรงนั้นก็ต้องบอกว่าอยู่ตรงนั้น อาทิตย์ตกหลังเขา ตกตอนไหน ตกน้ำ เราก็ต้องบอกว่าตกน้ำ
1
หลังจากนั้นครูไพบูลย์ก็เขียนข้อความใส่กระดาษแผ่นหนึ่งด้วยปากกาหมึกแดง ไม่ปิดผนึกซอง ข้อความสั้นๆ ว่า มงคล รับเด็กคนนี้ไว้ด้วย มีพรสวรรค์ในการแต่งเพลง
1
ระดับครูไพบูลย์ บุตรขัน ฝากคนเข้าวงไปแต่งเพลง ก็แสดงว่าต้องแต่งเพลงใช้ได้ หรือมีแววในด้านนี้
ครูมงคลรับเขาเข้าวงทันที ใช้ชื่อ กนก เกตุกาญจน์ แต่เขาก็ยังไม่ได้เกิดเป็นนักร้องเต็มตัว
1
จนถึงปี พ.ศ. 2506 ครูไพบูลย์ บุตรขัน แต่งเพลงชื่อ ลิเกสมัครเล่น ให้เขาร้อง ต่อมาเขาก็เปลี่ยนชื่อเป็น ลพ บุรีรัตน์
ลพ บุรีรัตน์ ทำงานอยู่กับวงจุฬารัตน์ 11 ปี แต่งเพลงให้วงจุฬารัตน์หลายเพลง เช่น โนห์ราหาย แหม่มกะปิ รักพี่สักหน่อย อย่าพูดดีกว่า
เพลงหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้เขาคือ คุณหมอคะ (2510) ขับร้องโดย เรณู เบญจวรรณ (น่าจะเป็นน้องสาวของ นันทวัน สมสมร นักร้องหญิงของวงจุฬารัตน์)
คุณหมอคะ หนูนอนไม่ค่อยจะหลับ กระส่ายกระสับ นอนไม่หลับมาหลายคืน ตีสองตีสามลุกขึ้นงุ่มง่าม หัวใจเต้นตื่น เดี๋ยวลุกเดี๋ยวนั่งเดี๋ยวยืน สุดจะฝืนข่มตาหลับใหล
คุณหมอคะ หนูมาให้หมอช่วยตรวจ จะบีบจะนวด เชิญหมอตรวจให้ถึงใจ ตั้งแต่เจอหมอ เมื่อตอนหมอมารักษาพิษไข้ โรคนั้นมันหายขาดไป มีโรคอะไรไม่รู้มาแทน
1
หลังจากวงดนตรีจุฬารัตน์ยุบตัวลงในปี พ.ศ. 2516 เขาก็ออกไปบินเดี่ยว ตั้งวงดนตรีของตัวเอง ชื่อวงดนตรี ลพ บุรีรัตน์ มีเพลงดัง เช่น เดี๋ยวก็หม่ำเสียหรอก
2
สวยจริงๆ ยอดหญิงยิ่งสวย เฉิดฉลวยสวยจนพี่บ่นไม่ออก ร่างคมขำถึงจะดำแต่ก็ยังเด่น แรกพบเห็นใจมันเต้นจนแทบจะช็อก จะดูทรงผมก็คมก็ขำ จะดูนัยน์ตานัยน์ตาก็ดำ อื๊อ เดี๋ยวก็หม่ำเสียหรอก
2
เป็นเพลงฮิต มีอารมณ์ขัน สนุกสนาน ดังมากในยุคนั้น
1
พวกหนุ่มๆ เวลาเจอสาวสวยที่ไหน ก็จะร้องกับตัวเองว่า เดี๋ยวก็หม่ำเสียหรอก
2
วงดนตรี ลพ บุรีรัตน์ มีอายุปีเดียวก็ยุบวง อาจเพราะเพลงตลกอยู่ไม่นาน
หลังจากนั้นเขาก็แต่งเพลงอย่างเดียว จัดเป็นเซียนแต่งเพลงอีกคนหนึ่งในยุทธจักรอักษรลูกทุ่ง เพลงของเขามีลูกเล่นลูกชน เป็นคนที่ทำให้ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้เกิดเต็มตัวจนเป็นราชินีลูกทุ่ง
1
หลายเพลงของเขาสนุกสนานและเจืออารมณ์ขัน เช่น 30 ยังแจ๋ว เด็กมันยั่ว มอเตอร์ไซค์ทำหล่น จำใจดู คนอกหักพักบ้านนี้ ฯลฯ
1
เนื่องจาก ลพ บุรีรัตน์ เกิดจากการปั้นของครูมงคลและครูไพบูลย์ เมื่อเขาก้าวขึ้นสู่สถานะครู ก็ปั้นคนรุ่นใหม่ต่อไป
2
เพลงของเขาสร้างนักร้องเกิดใหม่มากมาย เช่น สายัณห์ สัญญา ยอดรัก สลักใจ ศรเพชร ศรสุพรรณ สดใส รุ่งโพธิ์ทอง สันติ ดวงสว่าง เสรี รุ่งสว่าง และคนที่กลายเป็นราชินีลูกทุ่งคือ พุ่มพวง ดวงจันทร์
3
เป็นนักปั้นคนสำคัญคนหนึ่งแห่งวงการเพลงลูกทุ่ง
ช่วงหนึ่งเขาแต่งเพลงให้ค่ายเพลงที่ปั้นนักร้องใหม่ เช่น จันทรา ธีรวรรณ พุ่มพวง ดวงจันทร์
1
เพลงที่ครูลพแต่งให้ จันทรา ธีรวรรณ คือ สาวทรงฮาร์ด
1
โก๋พกหวี กี๋พกแป้ง เป็นสาวแก้มแดง ก็อยากจะแต่งทรงฮาร์ด
3
ส่วนเพลงที่แต่งให้ พุ่มพวง ดวงจันทร์ มีมากมาย กลายเป็นครูคู่บุญกับนักร้องหญิงคนนี้ เช่น ผลงานชุด ดวงตาดวงใจ (2525) สาวนาสั่งแฟน (2526) นัดพบหน้าอำเภอ (2526) ทิ้งนาลืมทุ่ง ( 2527) คนดังลืมหลังควาย (2528) ฯลฯ
1
นักแต่งเพลงสมัยก่อน เช่น สุชาติ เทียนทอง สรวง สันติ ได้ค่าเหนื่อยแต่งเพลง เพลงละ 2,000 บาท ต่อมาขึ้นเป็น 5,000 บาท จนภายหลังเป็นเพลงละหมื่นบาท
1
เวลานั้น ลพ บุรีรัตน์ ได้ค่าเหนื่อยจากเพลงที่แต่งให้ พุ่มพวง ดวงจันทร์ เพลงละสามพันบาท ต่อมาเขาขอขึ้นเป็นห้าพันบาท บริษัทฯไม่ตกลง หันไปหาครูฉลอง ภู่สว่าง แทน ผลงานที่สร้างชื่อ เช่น คนดังลืมหลังควาย
นึกไว้ทุกนาที ถ้าเขาไปได้ดีแล้วคงไม่มาขี่ควาย เขานั้นคงแหนงหน่าย เบื่อนั่งหลังควาย เบื่อเคียวเกี่ยวหญ้า
ลพ บุรีรัตน์ ในวัยชรา
แต่ในระยะยาว บริษัทฯก็ต้องกลับมาหา ลพ บุรีรัตน์ ยอมรับข้อเสนอเพลงละห้าพันบาท อีกทั้งจะแบ่งเปอร์เซ็นต์เทป ม้วนละ 1 บาทให้ด้วย
2
ผลงานเพลงก็ไหลมาอีกเหมือนสายน้ำ เช่น อื้อฮือ หล่อจัง (2528) ห่างหน่อย ถอยนิด (2529)
1
เพลงที่แต่งให้ พุ่มพวง สนุก ภาษาง่ายๆ แต่ตรงเป้า เช่น หนูไม่รู้
1
ขอโทษที โทษที โทษที ที่ไปสีคนมีเจ้าของ ขอโทษที เกือบจะตีตราจอง เขาป่าวร้อง ว่าเขาโสดซิงซิง หนูไม่รู้ว่ามีแฟน เห็นมาดแมนสุดเฉียบเนี้ยบนิ้ง หนูไม่รู้ จริงจริง ว่าเขามียอดหญิงคอยหวง
1
หรือเพลง กระแซะเข้ามาซิ :
เขยิบๆๆๆ เข้ามาซิ กระแซะๆๆๆ เข้ามาซิ เขยิบๆๆๆ เข้ามาซิ กระแซะๆๆๆ เข้ามาซิ
1
ในบทสัมภาษณ์ สกู๊ปพิเศษ - ลพ บุรีรัตน์ : ขุนพลเพลงสนุก โดนใจคนไทย ลพ บุรีรัตน์ เล่าว่า เนื่องจากผึ้งอ่านหนังสือไม่ออก จึงต้องอาศัยจากการฟังแล้วจำ ผมจะร้องเพลงใส่เทป ส่งให้ผึ้ง ผึ้งเอาไปต่อเอง โดยการฟังระหว่างเดินทาง เขาจะฟังซ้ำๆ จนเพลงมันช้ำ ผึ้งความจำดีมาก เก่งที่สุด ไม่มีใครสู้มันได้ เสียงอาจจะมี แต่รวมๆ ทั้งตัวของไอ้ผึ้ง ไม่มี
4
รวมแล้วแต่งเพลงให้ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ประมาณ 150 เพลง และมีงานเพลงที่ประพันธ์ไว้ทั้งชีวิตราวสามพันเพลง
ครูไพบูลย์ บุตรขัน มองคนไม่ผิดจริงๆ
5 บันทึก
71
13
5
71
13
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย