Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วินทร์ เลียววาริณ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
14 ต.ค. 2023 เวลา 00:00 • ดนตรี เพลง
เกร็ดเรื่องเพลงลูกทุ่ง โดย วินทร์ เลียววาริณ │ บุปผาสวรรค์ 8
เมื่อสุรพลศอกกลับรุ่นพี่ด้วยเพลง
1
วงดนตรี สุรพล สมบัติเจริญ มีแกนหลักสามคนคือ สุรพล สมบัติเจริญ ก้าน แก้วสุพรรณ และ ผ่องศรี วรนุช ทั้งสามรักกันมาก
แต่ความรักของสุรพล-ก้าน แก้วสุพรรณ-ผ่องศรี ก็ถึงคราว 'หัวใจเดาะ' เพราะผ่องศรีไม่พอใจได้รับเงินค่าจ้างต่ำกว่านักร้องคนอื่น ทั้งที่เป็นนักร้องหลักของวง
ยุคนั้นวงดนตรีประกายดาวจ่ายเงินให้นักร้องเท่ากัน คนละ 500 บาทต่อคืน ผ่องศรีได้ 300 บาท ทำให้เกิดอาการงอน และทะเลาะกัน
2
แต่เวลานักร้องทะเลาะกัน มักระบายออกด้วยเพลง
เป็นที่มาของเพลงชื่อ แก้วลืมดง ที่สุรพลแต่งขึ้นมาต่อว่าผ่องศรี
"สมหัวใจเจ้าแล้ว แม่นกแก้วที่ลืมดง ข้าอุตส่าห์ปรานี ถนอมเลี้ยงดูให้เจ้าอยู่ในกรง ป้อนน้ำป้อนข้าวเจ้ายังทำข้าลง ถลาบินจากกรงหลงคืนไม่กลับคอน"
2
ไม่นานผ่องศรีก็โต้กลับมาด้วยเพลง สาริกาลืมไพร โดยให้ ก้าน แก้วสุพรรณ แต่งให้
1
"ฟังน้ำคำพี่แล้ว เสียงแจ๋วจริงนะพ่อแก้วสาริกา ต่างก็เป็นปักษี ชั่วดีว่ากันตามประสา ผิดนักก็บ่น อย่าไปโพนทะนา ทั่วทั้งโลกาก็รู้ว่าอยู่ป่าดง
หากว่าพี่ดีจริง น้องหญิงหรือจะทิ้งพี่ลง อย่าทำคิดทะเยอทะยาน สำคัญว่าตัวเองเป็นหงส์ ตระกูลของพี่นี้ก็อยู่ป่าดง เสียงสีพี่ก็บ่งว่าอยู่ดงพงไพร"
ฝั่งสุรพลก็โต้กลับ แต่คราวนี้เพลงต่อว่าผ่องศรีมาจากนักร้อง จินดา สมบัติเจริญ ในวงสุรพล ชื่อเพลง สาลิกาหน้ามนต์* (สะกดตามต้นฉบับ)
1
"โอ้ แม่แก้วสาลิกา โสภาแล้วหรือยุพิน เขาอุตส่าห์ถนอม ล้อมใจให้เจ้าได้อยู่กิน ผมขอส่งเสียงเจ้าแม่นกเอี้ยงร้อยลิ้น คนเขาได้ยินก็คงเวทนา
เขาอุตส่าห์อุ้มชู เลี้ยงดูให้เจ้าเติบโตมา พอเจ้าได้บินสูง ก็ลืมฝูงว่าเจ้าเป็นนกป่า เขาเลี้ยงดูมาไม่รู้ว่าจักค่าของคน"
1
แน่นอนผ่องศรี วรนุชตอบกลับอย่างรวดเร็วด้วยเพลง สาลิกาหลงรัง โดยใช้ทำนองเดียวกันเพลง สาลิกาหน้ามนต์
"สาลิกาหลงรัง ชื่อเสียงดังจนหนวกหู เจ้าเป็นเพียงนกร้าย ไม่เจียมกายว่าจะยังรั้งเขาอยู่ จะอวดสู่รู้ เจ้าไม่น่าจะอยู่เลยนะสาลิกา
สาลิกาหลงรัง ชื่อเสียงยังไม่ก้องฟ้า เจ้าก็ลืมพื้นพงศ์ เห็นป่าดง อวดว่าตัวสูงค่า ปีกยังไม่แข็ง ริกำแหงศักดา เกาะแค่เพียงหลังคา ก็นึกว่าอยู่เมฆี"
1
มาถึงจุดนี้ Butterfly Effect ที่ไม่มีใครคาดถึงก็เกิดขึ้น ปรากฏเพลงใหม่แทรกวงทะเลาะเข้ามา เป็นผลงานของเบญจมินทร์ ชื่อเพลง อย่าเถียงกันเลย
1
ก่อนเล่าว่าเพลงนี้เนื้อหาเป็นอย่างไร เราต้องรู้จักเบญจมินทร์ก่อน
เบญจมินทร์ เป็นนามนักร้องนักแต่งเพลงรุ่นเก่า เป็นทั้งนักร้อง นักแต่งเพลงมากฝีมือ ในยุคที่วงการลูกทุ่งเพิ่งจะเริ่มต้น เขาอยู่ในรอยต่อระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ของเพลงลูกทุ่ง
1
ดังที่เล่ามาก่อนหน้านี้ว่า สุรพลในวัยเด็กหลงใหลลีลาการร้องเพลงของเบญจมินทร์มาก
เบญจมินทร์มีชื่อจริงว่า ตุ้มทอง โชคชนะ เป็นชาวอุบลราชธานี เกิด พ.ศ. 2464 แม่เป็นชาวเวียงจันทน์ นับถือศาสนาคริสต์ และมีกิจกรรมร้องเพลงในโบสถ์ ทำให้เขาเปิดโลกดนตรีมาแต่เด็ก ในมุมที่เด็กไทยอื่น ๆ ไม่ค่อยเจอ
เรียนจบชั้นมัธยมจากโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดชาย (ชื่อ เบญจมินทร์ แปลงมาจากชื่อโรงเรียน) ตอนเรียนเขาชอบวิชาภาษาไทยมาก ชอบโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน
1
เบญจมินทร์เรียนการแต่งเพลงเองแบบครูพักลักจำ ศึกษาการแต่งเพลงจากผลงานของครูเพลงเก่ง ๆ เช่น พรานบูรพ์ นารถ ถาวรบุตร พุฒ นันทพล จำรัส รวยนิรันทร์ มานิต เสนะวีนิน ศึกษาการใช้คำ การเล่นคำสัมผัส วรรคตอน
ตุ้มทอง โชคชนะ เป็นนักร้องรุ่นเดียวกับ เสน่ห์ โกมารชุน ชะลอ ไตรตรองสอน เนียน วิชิตนันท์ นคร ถนอมทรัพย์
เบญจมินทร์
ในวัยหนุ่ม เขาสมัครเข้าเป็นตำรวจ เป็นพลตำรวจได้ปีเดียวก็ลาออกไปเข้ากรุงเทพฯ ทำงานสารพัด ตั้งแต่ครูเทศบาล นักหนังสือพิมพ์ พนักงานที่ดิน พนักงานเทศบาล
ตอนที่เขาทำงานที่หนังสือพิมพ์เอกราช เขาแต่งเพลงและร้องในวงเหล้า ทำให้นักเขียน อิงอร (ศักดิ์เกษม หุตาคม) ฉายา นักเขียนปลายปากกาจุ่มน้ำผึ้ง เห็นแวว ชวนไปร้องเพลงสลับฉากในละครเรื่อง ดรรชนีไฉไล
เบญจมินทร์เคยบอกว่าเขาได้รับอิทธิพลมาจากศิลปินที่ชื่นชอบ คือ พรานบูรพ์ (จวงจันทร์ จันทร์คณา) ผู้โด่งดังจากละครร้องเรื่อง จันทร์เจ้าขา และ โรสิตา
1
ขณะที่วงการเพลงหันไปที่เพลงลูกทุ่ง เขายังจับงานเพลงรำวง และทำได้ดี
1
ช่วงปี พ.ศ. 2488 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่งเสริมความเป็นไทย สนับสนุนเพลงรำวง รำโทน เพลงรำวงของเขาจึงมาถูกเวลา ชุดแรกมีสิบเพลง เช่น เมฆขลาล่อแก้ว ผลิตโดยห้างแผ่นเสียงบริษัทกมลสุโกศล ได้ค่าเหนื่อยเพลงละ 500 บาท โครงสร้างเพลงยังเป็นแบบเก่า เป็นเพลงสั้น ๆ สองท่อน
2
ต่อมาเบญจมินทร์พัฒนาเพลงรำวงสองท่อนแบบเดิมเป็น 3-4 ท่อน มีเรื่องราวมากขึ้น และใช้เครื่องดนตรีมากชิ้นขึ้น กลายเป็นเอกลักษณ์ใหม่ของเขาเอง ชุดหลังนี้ผลิตโดยห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ มีจำนวนราว 50 เพลง ได้ค่าเหนื่อยเพลงละ 500 บาท
เพลงรำวงของเขา เช่น เมขลาล่อแก้ว รำวงแจกหมวก แมมโบ้จัมโบ้ มโนราห์ สาลิกาน้อย รำเต้ย รำวงฮาวาย ฯลฯ ดังที่สุดคือ รำเต้ย ร้องกันมาจนถึงปัจจุบัน
สวยก็จริงนะสาว ขาวก็จริงนะน้อง แม้นมีทองจะให้เจ้าแต่ง ครั้นเมื่อถึงยามแล้ง จะพาน้องแต่งตัวเดิน เพลินก็จริงนะน้อง ไผมองก็ว่างามสม คิ้วต่อก็ยังแถมคอกลม หางตาแม่คมเหมือนจะบาดใจชาย
เพลงรำวงใหม่นี้ได้รับความนิยมอย่างสูง จนเขาได้รับฉายา ราชาเพลงรำวง
2
เสียงเพลงของเขาไปเข้าหู พล.ท. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ชอบลีลาเพลงของเขามาก
2
ตำนานท่อนนี้เล่าว่า วันหนึ่งดาวตลก ล้อต๊อก บอกเขาว่า พล.ท. สฤษดิ์อยากจะเจอตัว เพราะ มันร้องเพลงดีว่ะ อยากจะรู้จักมัน
วันที่ 16 มิถุนายน วันเกิดของ พล.ท. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เบญจมินทร์ก็ไปหาท่านที่บ้านฝั่งธนฯ นั่งกินเหล้าอยู่กับทหารคนสนิท เช่น ถนอม กิตติขจร ประภาส จารุเสถียร ขาบ กุญชร ณ อยุธยา ร้องเพลงให้ฟัง พล.ท. สฤษดิ์พอใจ บอกว่า มึงอยากเป็นทหารไหม พรุ่งนี้ไปหาประภาส ไปรายงานตัวเขา
1
เบญจมินทร์จึงกลายเป็นทหารประจําที่กองดุริยางค์ทหารบก ด้านหลังองค์การเภสัชกรรม
เมื่อเกิดสงครามเกาหลีในปี 2493 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจส่งทหารไทยทั้งสามเหล่าทัพไปรบ จำนวนหมื่นกว่านาย ส่วนใหญ่เป็นทหารบก เรียกว่ากรมผสมที่ 21 ขึ้นตรงต่อกองทัพที่ 8 สหรัฐฯ
1
ทหารไทยผลัดแรกออกเดินทางไปในวันที่ 22 ตุลาคม 2493 เขาอยู่ที่เกาหลีนานหกเดือน
1
สมรภูมิเกาหลีกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เบญจมินทร์แต่งเพลงเกี่ยวกับเกาหลีหลายเพลง เช่น อารีดัง เสียงครวญจากเกาหลี รักแท้จากหนุ่มไทย เกาหลีแห่งความหลัง
เพลงไทยผสมเนื้อเพลงภาษาเกาหลีถือว่าเป็นของแปลกในยุคนั้น และได้รับความนิยมจากผู้ฟังมาก
เพลง เสียงครวญจากเกาหลี นั้น เบญจมินทร์ขอให้ ผ่องศรี วรนุช ร้อง แต่ผ่องศรีบอกว่าไม่มีเวลา เพราะตอนนั้นเธอเป็นนักร้องอยู่ในวงดนตรีของ สุรพล สมบัติเจริญ จึงไปให้ สมศรี ม่วงศรเขียว ร้อง ปรากฏว่าดังมาก
ตุ้มทอง โชคชนะ รับราชการทหารนานห้าปี ก็ลาออกจากกองทัพ กลับคืนสู่วงการเพลงเต็มตัว
ในด้านเพลงลูกทุ่ง เบญจมินทร์เป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทเปิดโลกลูกทุ่งอีสาน ระหว่างปี พ.ศ. 2490-2495 เพลงของเขามักแทรกอารมณ์ขัน เช่น เพลง ไปเสียได้ก็ดี ซึ่งบันทึกเสียงเมื่อปี พ.ศ. 2495
อีกเพลงที่ดังคือ ชายฝั่งโขง "สาวแม่โขงเอ๋ย เพิ่นฮักงาน บัดนี้มาซ่อยกันโหมแห่ง ลมโชยมา สิวสิวเย็นสบาย เพิ่นบ่วายฟั้นฝ้ายซิ่นแล้วจะพากันไปล่องแก่ง ขึ้นจากน้ำหรือก็มาแต่งว่าตัวจะสวยถึงใจ จริงนะเพิ่นเอย"
แต่เขาก็แต่งเพลงแนวหวาน ๆ ได้ แต่งหลายเพลงให้ ทูล ทองใจ เช่น โปรดเถิดดวงใจ นวลปรางนางหอม ในฝัน เหนือฝัน ฯลฯ
อย่างเพลง โปรดเถิดดวงใจ เป็นเพลงหวาน ผมฟังมาตั้งแต่หนุ่ม
3
"โปรดเถิดดวงใจโปรดได้ฟังเพลงนี้ก่อน อย่าด่วนหลับนอนอย่าด่วนทอดถอนฤทัย จำเสียงของพี่ได้หรือเปล่า จำเพลงรักเก่าเราได้ไหม เคยฝากฝังไว้แนบในกลางใจนาง"
ดังนี้จะเห็นว่าเบญจมินทร์เป็นต้นแบบการร้องเพลงที่ส่งอิทธิพลให้ สุรพล สมบัติเจริญ และนี่อาจทำให้เบญจมินทร์ไม่ชอบ คล้าย ๆ กรณีโก้วเล้งไม่ชอบที่นักเขียนรุ่นน้อง อึ้งเอ็ง เขียนเลียนแบบสไตล์ของเขา
เป็นที่มาของการแทรกวงทะเลาะกันระหว่างสุรพล-ผ่องศรี ด้วยเพลง อย่าเถียงกันเลย และส่งสัญญาณถึงนักร้องรุ่นน้อง สุรพล สมบัติเจริญ
เนื้อเพลง อย่าเถียงกันเลย คือ "จะขอสาธกหยิบยกขึ้นมากล่าว เป็นเรื่องราวของศิลปิน อย่าว่าผมยุ่งไม่เข้าเรื่อง อย่าได้แค้นเคืองเบญจมินทร์ นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น แต่ว่าจำเป็น หูผมก็ได้ยิน พอนกสาลิกาเขามาว่าตัวนาง ลืมคู่เคียงข้างเมื่อครั้งเคยบิน เจ้าเลยลืมฟ้าถลาลงดิน ลืมจนหมดสิ้นผู้ที่เคยอบรม
ฝ่ายนางนกผอมก็ไม่ยอมเสียหน้า เอ่ยเสียงออกมาหวังคว้าคารม ตัวผู้เสียงสา แม่สาลิกาเสียงสด ต่างสาดน้ำรด เสียงออกขรม ลืมตนลืมไพร ว่ากันไปให้จม ต่างทับถมให้จมลงดิน ในพุงของเจ้าไส้มันมีกี่ขด ควักออกมาให้หมดไปให้กากิน คนที่ไม่รู้ก็ต้องรู้กันทั่ว พาให้เกียรติหมองมัว
1
เราศิลปิน เราเป็นผู้ชายไม่ควรระบายสตรี เย้ยเยาะย่ำยี เหมือนมดที่หากิน อันว่าผู้หญิงก็คือเพศอ่อนแอ เป็นเพศของแม่ คนทั้งธานินทร์ นึกว่าเราเองก็ไม่ได้เก่งเกินคน คอยระวังตนไม่ให้คนติฉิน แม้แต่เสียงผม คนยังนิยมเลียนแบบ เอาไปอ้างอิงแอบออกหากิน จำได้ไหมน้อง เสียงของเบญจมินทร์ ไม่เคยดูหมิ่นเหยียบย่ำใคร ถึงแม้ไม่โปรด ผมไม่โกรธตอบ ถ้าแม้นใครชอบ ผมก็ขอบใจ แต่มานึกสงสารท่านที่ซื้อแผ่นเสียง พอมีเพลงโต้เถียง ก็ซื้อกันใหญ่ เสียเงินก่ายกองมาฟังนักร้องว่ากัน มันน่าขบขันเสียนี่กระไร
1
ตื่นขึ้นทำงาน กลับบ้านฟังเพลง ตลกครื้นเครงเพลงด่ากันใหญ่ เลยปากคอจัดจ้านไปทั้งบ้านทั้งเมือง ก้มหน้าหาเรื่องขุ่นเคืองกันไป จำไว้น้อง ๆ ทั้งคนร้องคนแต่ง ทั้งนักดัดแปลง ฟังไม่ไหว เรื่องเพลงดนตรีเป็นศักดิ์ศรีของไทย ถ้าเกินเลยไปจะไม่งามเอย"
2
ผลก็คือ สุรพล สมบัติเจริญ เขียนเพลงตอบกลับ เนื้อเพลงนุ่มนวล แต่ออกฤทธิ์แรง
สิบนิ้วขอขมา
"จะขอสาธก ยกกลอนขึ้นมาเกริ่น ฟังกันเพลินเพลินอีกสักเพลง ว่าจะไม่แหล่ แต่แล้วมันอดก็ไม่ได้ เรื่องมันมีมากมาย ฟังเอาเอง ผมเป็นนักร้อง รุ่นน้องท่านคงรู้ ไม่เหมือนรุ่นครู ซึ่งเป็นยอดนักเพลง ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง ชอบทำตัวเบ่ง เหมือนจระเข้ขวางคลอง
เรื่องของคนอื่น ไหนไหนจะยื่นมือเกี่ยว อย่าไปว่าข้างเดียว โดยไม่แลไม่มอง เหาอยู่บนหัวของคนอื่นตัวเห็น แต่ไอ้เหาซ่อนเร้น อยู่บนหัวตัวเป็นกอง ทำแอ็คอีโก้ คุยโตเป็นผู้ใหญ่ เหมือนฤาษีตาไฟ ไม่แลไม่มอง จะว่ากล่าวเด็ก ท่านควรจะเก๊กให้มันถูก รักวัวคงต้องผูก รักลูกคงต้องถอง ศิษย์คิดล้างครู หรือจะเรียกว่าศิษย์ มันต้องว่ากันนิด จึงได้แต่งเพลงร้อง อุตส่าห์ร้อยกรองร้องสั่งสอนไป
ท่านเป็นผู้ใหญ่อย่าเตือนให้มันเลยเถิด เด็กมันจะได้เกิด ศรัทธาเลื่อมใส เป็นศิลปินเคยหากินก็มาก่อน ไม่น่าจะอุทธรณ์ให้บาดหมางใจ เด็กมันร้องเหมือน จะไปเคืองมันไย น่าจะภูมิใจที่มันมีเสียงเหมือนเรา ผมนี้เป็นเด็ก ไม่อยากจะเก๊กกับท่านหรอก แต่ว่าผมอยากบอก เพื่อกันความเขลา อย่าโพนทะนาไปเลยครับก็อาจารย์ เดี๋ยวเด็กมันรำคาญ ก็จะถอนหงอกเอา เด็กมันไหว้เราก็ดีถมไป
อย่าพูดเหมือนคนที่ไม่ได้รับการศึกษา เด็กมันดังขึ้นมาน่าจะภูมิใจ อย่าว่าเด็กนั้นมันร้องเลียนแบบ ว่าเด็กเสียแทบเสียคนไป เด็กมันร้องเหมือนท่านก็ควรจะปรบมือ ท่านไม่ควรจะถือว่ามันขโมยเสียงไป อันเสียงขับร้องของคนเรานี้ หายากเต็มทีที่จะเหมือนกันได้ ถ้าคิดเลียนแบบกันได้ดังใจ อีกหน่อยเมืองไทยคงมีแต่ศิลปิน ผมร้องมานาน พอดีหมดก็เวลา ผมขอขมาต่อท่านที่ได้ยิน ผมยังรักเกียรติของการเป็นศิลปิน ไม่เคยดูหมิ่นพระคุณประชาชน"
2
นี่เป็นการ ศอกกลับครูเบญจมินทร์ ทำนองว่ายุ่งเรื่องชาวบ้าน และถือโอกาสศอกกลับเรื่องที่ครูเบญจมินทร์กล่าวหาว่าสุรพลเลียนแบบการร้องเพลงของเขา
ผลของเหตุการณ์นี้ ดูเหมือนสังคมให้คะแนนสุรพลมากกว่า ด้วยนิสัยหยิ่งทระนงของเบญจมินทร์ เมื่อเห็นว่าสังคมเข้าข้างสุรพลมากกว่า เขาก็ออกจากวงการเพลง ยกวงดนตรีเบญจมินทร์และสหายที่เพิ่งตั้งเมื่อปี 2507 ให้ศิษย์รัก กุศล กมลสิงห์
หลังจากนั้นก็เข้าหาวงการใหม่คือภาพยนตร์
เบญจมินทร์ทั้งแสดง สร้าง เขียนบท และแสดงภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง เช่น เพื่อนตาย ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น ฯลฯ
เป็นคนเขียนบท ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ (2516) ที่ทำให้ ภัทราวดี (ศรีไตรรัตน์) มีชูธน ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง
สำหรับรอยร้าวระหว่างสุรพล-ก้าน-ผ่องศรี ก็ดำเนินต่อไปโดยที่สุรพลกับก้านไม่พูดกัน แต่ภายหลังเคลียร์ใจกันได้ โดยอาศัยแม่ของสุรพลมาเป็นกาวใจ
1
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2554 โดย เลิศชาย คชยุทธ บันทึกเรื่องท่อนนี้ว่า ก้าน แก้วสุพรรณ ให้สัมภาษณ์ว่า ผมเองก็อุตริไปเขียนเพลงให้ผ่องศรีร้องแก้กับเพลงสุรพล นั่นแหละ เป็นเรื่องเลย ปรากฏว่า 3 เดือน สุรพลกับ ก้าน แก้วสุพรรณ ไม่พูดกันเลยสักคํา ไอ้เราไม่ได้คิดอย่างนั้นหรอก เราคิดว่ากลอนมันพาไป เขาร้องมา เราก็ร้องแก้ไป คิดว่าแค่นั้น แต่ที่ไหนได้เป็นเรื่อง
ในที่สุดเรื่องก็ต้องถึงมือที่สาม ทำหน้าที่เป็นกาวใจ
1
ก็คือมารดาของ สุรพล สมบัติเจริญ นางวงศ์ สมบัติเจริญ
ก้านเดินทางไปหามารดาของสุรพลที่อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้แม่วงศ์ฟัง
1
แม่วงศ์ฟังผมเล่า แม่วงศ์ก็พูดว่า ไอ้ดวน (ลําดวน ชื่อเต็มของสุรพล) ทําอย่างงี้ได้ยังไง เอ็งไม่คิดถึงน้องหรือ... แม่วงศ์ด่าตั้งแต่สุพรรณฯถึงกองดุริยางค์ทหารอากาศเลย
1
เมื่อแม่วงศ์พบหน้าลูกที่กรุงเทพฯ ก็เทศนาลูก
2
เจอกัน 3 คน แม่วงศ์ สุรพล แล้วก็ผม แม่วงศ์ก็ต่อว่าพี่ท่านสุรพล เราสองคนก็นั่งฟังทั้งสุรพลแล้วก็ผม พากันนั่งร้องไห้ ในที่สุดพี่เขาก็พูดบอกว่า "เอ้า ไอ้เฒ่า กูผิดเอง เอ้อ เป็นพี่ไม่รู้จักคําว่า พี่ พี่ผิดเว้ย" ก็เลยคุยกัน
ก้าน-สุรพลฟื้นความสัมพันธ์กันได้
1
แต่รอยร้าวระหว่างสุรพลกับผ่องศรี ยังดำรงต่อไป ไม่ได้คืนดีอีกเลย เพราะสุรพลถูกยิงตายก่อน
3
หมายเหตุ สาริกา - สาลิกา สะกดตามชื่อแผ่นเสียง คำที่ถูกคือ สาลิกา
1
13 บันทึก
83
6
37
13
83
6
37
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย