5 มิ.ย. 2023 เวลา 13:30 • ธุรกิจ

ไทยจะยังเป็นเจ้าตลาดหรือไม่? เมื่อลูกค้ารายใหญ่อย่างจีนปลูกได้เอง

หลังจากที่กลายเป็นข่าวดังกรณีอินฟลูเอนเซอร์จีนที่รู้จักกันในชื่อ “ซินบา” เจ้าของฉายา “ราชันนักขาย” ผู้ก่อตั้ง อี-คอมเมิร์ซชั้นนำด้านการถ่ายทอดสดในประเทศจีนได้เดินทางมาไลฟ์สดขายสินค้าต่าง ๆ ในไทย หนึ่งในนั้นคือทุเรียนหมอนทองที่ทำยอดขายปังสุด กวาดรายได้เกือบ 300 ล้านหยวนหรือราว 1,500 ล้านบาทจากยอดสั่งซื้อทุเรียน 1.62 ล้านลูก น้ำหนักรวมกว่า 4,800 ตัน
ขายที่ไทยแต่กลายเป็นดราม่าที่จีน เนื่องจากพ่อค้าแม่ค้าทุเรียนคนจีนออกมาโวยว่าการไลฟ์สดของซินบาทำให้ราคาทุเรียนในจีนทะยานพุ่ง จนผู้ค้ารายย่อยไม่มีทุเรียนจะขาย ไม่เฉพาะที่จีน ผู้บริโภคในไทยเองก็ได้รับผลกระทบ อย่างหมอนทองที่เคยขายไม่เกิน 200 บาทต่อกิโลกรัม หลายร้านราคาขายขึ้นไปแตะกิโลกรัมละ 300 บาท แถมทุเรียนในไทยยังขาดตลาดอีกด้วย ไม่เฉพาะที่ไทย มาเลเซียเองก็เผชิญชะตากรรมไม่ต่างกัน จนมีคำพูดจากผู้บริโภคในมาเลเซียว่า “เดี๋ยวนี้ซื้อทุเรียนเหมือนซื้อทองคำ” หรือ “ทุเรียนมา ผ้าหลุด” เป็นต้น
จีนยังต้องนำเข้าทุเรียนไหม?
หลายคนอาจสงสัยว่าที่จีนเองก็สามารถปลูกทุเรียนได้แล้วน่าจะสนองความต้องการในประเทศจนไม่ต้องนำเข้าทุเรียนจากที่อื่นหรือเปล่า ในเรื่องนี้ ลิม ชอน คี ผู้เชี่ยวชาญด้านทุเรียนจากมาเลเซียผู้ก่อตั้ง Durian Academy เล่าว่าเขาต้องบินไปจีนทุก 2 เดือนเพื่อให้คำแนะนำเกษตรกรจีนเกี่ยวกับการปลูกทุเรียนโดยเฉพาะรายที่ปลูกบนพื้นที่มากกว่า 1,000 เอเคอร์หรือประมาณ 2,500 ไร่
ในฐานะที่มาเลเซียส่งออกทุเรียนแช่แข็งคุณภาพดีไปยังจีน ลิมให้สัมภาษณ์ว่าที่ยังเดินทางไปสอนเกษตรกรจีนปลูกทุเรียนด้วยความเต็มใจก็เพราะมั่นใจว่าผลผลิตทุเรียนในจีนก็ไม่เพียงพอจนสามารถลดการนำเข้าในเร็ววันนี้ อย่างไรก็ตาม มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามก็ยังควรจับตามองความก้าวหน้าของจีนในระยะยาวเพราะไม่แน่จีนอาจกลายเป็นคู่แข่งหลักในตลาดก็ได้
สถานีโทรทัศน์ไชน่า เซ็นทรัล เทเลวิชั่นรายงานการปลูกทุเรียนในจีนเริ่มขึ้นที่มณฑลไห่หนานช่วงทศวรรษ 1950 รวมพื้นที่เกือบ 1.3 ล้านไร่ แต่การปลูกทุเรียนจนประสบความสำเร็จให้ผลผลิตและมีแนวโน้มจะกลายเป็นพืชทำเงินหลักให้เกาะไห่หนานเพิ่งเกิดขึ้นในปี 2020 นี่เอง โดยปีนี้จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนรอบแรกได้และคาดว่าเดือนมิย.นี้ ทุเรียนจากไห่หนานจะวางขายในประเทศประมาณ 2,450 ตัน
ถึงกระนั้น ลิมซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านทุเรียนจากมาเลเซียก็มองว่ายังไงผลผลิตทุเรียนในจีนคงไม่สูงมากและไม่พอต่อความต้องการในประเทศเพราะยังมีอุปสรรค เช่น เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนไม่ได้เป็นเจ้าของพื้นที่เองแต่ต้องเช่าที่ดิน การจ่ายค่าเช่าเป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง และสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะทำให้เกิดพายุไต้ฝุ่นในบางครั้งบางคราวทำให้ต้นทุเรียนที่ปลูกได้รับความเสียหาย ส่งผลให้จำนวนผลผลิตที่ได้ไม่แน่นอน
ด้านแซม ชิน ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาบริษัทเอสแอนด์เอฟ โพรดิวซ์ กรุ๊ปในฮ่องกง ผู้ดำเนินธุรกิจด้านการเกษตรเสริมว่าที่สำคัญ สภาพอากาศกึ่งเขตร้อนของไห่หนานทำให้ทุเรียนที่ได้คุณภาพไม่สามารถเทียบเท่าทุเรียนไทยซึ่งมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน
นอกจากนั้น ยังมีข้อได้เปรียบของชาติอาเซียนที่ส่งออกทุเรียนไปจีนอีกอย่างคือการได้ประโยชน์จาก RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค อันเป็นความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่าง 10 ชาติสมาชิกอาเซียน และ 5 ประเทศคู่เจรจาเกี่ยวกับการลดภาษีการค้าซึ่งเอื้อให้การส่งออกผลไม้หายากในจีนเข้าถึงผู้บริโภคจีนได้ง่ายขึ้น
ข้อมูลระบุปี 2022 ที่ผ่านมา จีนนำเข้าทุเรียนสดมากกว่า 824,000 ตัน มูลค่า 4,000 กว่าล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มมากกว่าปี 2017 ถึง 4 เท่า ในจำนวนนี้เป็นทุเรียนนำเข้าจากไทยมากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม บริษัทด้านการเกษตรที่ลงทุนปลูกทุเรียนในจีนก็กำลังหาวิธีการเพิ่มผลผลิตโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การเร่งวงจรการเติบโตของต้นทุเรียนให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จากภายใน 10 ปีเหลือเพียง 3 ปี รวมถึงพัฒนาเทคนิคการปลูก การให้นำ ให้ปุ๋ย และควบคุมสภาพอากาศ เรียกว่าการปลูกทุเรียนในจีนนั้นมีความซับซ้อนและต้องใช้ความพยายามมากกว่ามาก จีนจะพัฒนาเทคนิคการปลูกทุเรียนไปถึงไหน จะถึงขั้นส่งออกไปยังประเทศอื่นได้หรือไม่ คงต้องจับตามองต่อไป
ที่มา : https://shorturl.asia/tB3ns
TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
#sme #smethailand #ทุเรียน #จีนปลูกทุเรียน #เพื่อนคู่คิดธุรกิจเอสเอ็มอี #เรื่องธุรกิจต้องSMETHAILAND
โฆษณา