6 มิ.ย. 2023 เวลา 00:50 • ประวัติศาสตร์

อลาโม่ กับบางระจัน : ความแตกต่างที่เหมือน

ผมเชื่อว่าไม่มีใครที่บังเอิญเข้ามาอ่านบทความนี้ไม่รู้จักบางระจัน แต่ถ้าเอ่ยถึงอลาโม่บางคนอาจรู้สึกเหมือนเคยได้ยินแต่ไม่คุ้นเคยเท่าไร จึงขออนุญาตท้าวความเสียหน่อย
การรบที่อลาโม่เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1836 หรือ พ.ศ. 2379 หลังการรบที่บางระจัน 70 ปี โดยสาเหตุของการรบนั้นเป็นเพราะภายหลังจากที่เม็กซิโกเป็นอิสระจากการปกครองของสเปนเมื่อต้นศตวรรษที่ 19 ตอนนั้นดินแดนที่เป็นรัฐเท็กซัสของอเมริกาในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเม็กซิโก แล้วต่อมาไม่นานประชากรในพื้นที่นั้นเกิดต้องการแยกตัวเป็นอิสระจากเม็กซิโกขึ้นมา
ในช่วงนั้นมีผู้อพยพชาวอเมริกาเข้าไปตั้งรกรากในเท็กซัสจำนวนมากโขอยู่เนื่องจากดูเหมือนประเทศใหม่นี้จะให้โอกาสก่อร่างสร้างตัวได้ดี จำนวนที่เข้าไปนั้นมากจนรัฐบาลเม็กซิโกต้องออกมาตรการจำกัดจำนวน ไม่นับความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่มีรากฐานที่แตกต่างกัน ฝ่ายผู้อพยพนั้นมีรากฐานทางภาษา ศาสนาและวัฒนธรรมมาจากอังกฤษและไอร์แลนด์ ในขณะที่ทางเม็กซิโกมีรากฐานทางวัฒนธรรมมาจากสเปน
หนักเข้าก็มีการเจรจาขอปกครองตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าทางเม็กซิโกไม่ยอม ดังนั้นเท็กซัสเลยประกาศตัวเป็นอิสระ
ผลก็คือรบกัน เม็กซิโกกรีธาทัพเข้าสูเท็กซัสและอลาโม่คือด่านแรก
ขอข้ามไปเล่าตอนจบของสงครามก่อนว่า เท็กซัสชนะและมีสถานะเป็นประเทศอิสระอยู่ 9 ปี หลังจากนั้นเมื่อเห็นท่าไม่ดีจึงขอเข้าร่วมเป็นรัฐหนึ่งของอเมริกาเสียอย่างนั้น ซึ่งถ้าเป็นยุคนี้คงมีทฤษฎีสมคบคิดเกลื่อน social media โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้เสียชีวิตคนหนึ่งที่อลาโมคือเดวี่ คร็อกเคท ที่เคยเป็นสมาชิกสภาคองเกรสของอเมริกา
กลับมาที่อลาโม่ เรื่องเล่าตามประวัติศาสตร์สายหลักคือ ทหารอาสาของเท็กซัสที่อลาโม่ยืนหยัดต่อสู้กองทัพเม็กซิโกอย่างกล้าหาญทั้งที่รู้ว่าไม่มีทางสู้และเสียชีวิตคาที่มั่นทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อซื้อเวลาให้กองทัพเท็กซัสได้มีเวลาตั้งตัวระดมสรรพกำลัง อันเป็นเหตุให้สามารถเอาชนะเม็กซิโกและประกาศอิสระภาพจัดตั้งสาธารณรัฐเท็กซัสสำเร็จ
เป็นแบบอย่างของคนที่สู้จนตัวตายเพื่อเสรีภาพอันเป็นค่านิยมสูงสุดในอุดมคติของอเมริกา
ซึ่งข้อนี้คล้ายกับชาวบ้านบางระจันที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักเล่าเรื่องให้เป็นแบบอย่างของการสละชีพเพื่อชาติสู้กับศัตรูผู้รุกรานอย่างกล้าหาญจนตัวตาย อันเป็นค่านิยมสูงสุดในอุดมคติของไทยเหมือนกัน
วีรกรรมทั้งสองเรื่องถูกทำให้กลายเป็นความโรแมนติค ถูกยกย่องเชิดชู ถูกนำมาสอนเป็นแบบอย่างแก่เด็กๆ ในโรงเรียน เด็กไทยถูกสอนให้เชิดชูวีกรรมที่บางระจันฉันใด เด็กเท็กซัสก็ถูกสอนให้เชิดชูวีกรรมที่อลาโม่ฉันนั้น
อย่างไรก็ตามเมื่อประวัติศาสตร์เริ่มมีความเป็น “ศาสตร์” มากขึ้น นักประวัติศาสตร์ก็เริ่มไม่โรแมนติคด้วยและต่างคนต่างนำทั้งสองเรื่องมาทบทวนกันใหม่ ซึ่งให้บังเอิญในความแตกต่างของเรื่องราวและสถานที่ก็ให้มีความคล้ายคลึงกันในบางประการ
ประการแรก นักประวัติศาสตร์ยุคนี้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ชาวเท็กซัสต้องการแยกตัวเป็นอิสระจากเม็กซิโกนั้นก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งส่วนหนึ่งของผลประโยชน์นั้นคือระบบเศรษฐกิจที่ใช้แรงงานทาส ดังนั้นจึงไม่อาจกล่าวได้เต็มปากว่าเป็นการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ เพราะมันเป็นเสรีภาพของนายทุนคนขาวจากการกดขี่ของรัฐบาลเม็กซิโกเพียงฝ่ายเดียว ไม่ใช่เสรีภาพของทาสผิวดำด้วย
ทางด้านบางระจันเองก็โดนทำลายความโรแมนติคเรื่องสู้เพื่อชาติลงเหมือนกัน เพราะในยุคนั้นยังไม่มีแนวคิดเรื่องรัฐชาติ อยุธยาเป็นเมืองเอกในลักษณะของนครรัฐ และนักประวัติศาสตร์บางสายก็ให้เหตุผลว่าการเกิดชุมชนที่บางระจันนั้นมีเหตุมาจากชาวบ้านอพยพหนีภัยสงครามไปรวมตัวกัน เมื่อข่าวแพร่ไปว่ามีคนไปรวมกันมากก็ยิ่งดึงดูดคนให้มามากขึ้น เพราะการรวมกันอยู่เป็นหมู่มากย่อมมีโอกาสดีกว่าที่จะป้องกันตัวหรือเอาตัวรอดหากเจอข้าศึกหรือข้าศึกมาเจอ
และการที่มีชายฉกรรจ์จำนวนมากพอจะสู้กับพม่าได้ ึ7-8 ครั้งอย่างดุเดือด ก็ย่อมสะท้อนข้อเท็จจริงว่าส่วนใหญ่เป็นไพร่ที่หนีเกณฑ์ ไม่เข้าร่วมกับกองทัพ เพราะเรื่องหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาแต่ไหนแต่ไรในดินแดนนี้คือ ชายไทยทุกคนต้องเป็นทหาร เมื่อมีศึกสงครามชายทุกคนต้องเข้าร่วมกับกองทัพ
ดังนั้นวีรชนที่บางระจันจึงไม่ได้สู้เพื่อชาติ (เพราะยุคนั้นยังไม่มีคตินิยมความเป็นชาติ) และไม่ได้สู้เพื่อปกป้องรัฐอยุธยาจากการรุกรานของข้าศึก (เพราะหนีเกณฑ์) แต่สู้เพื่อกปป้องครอบครัวต่างหาก
ซึ่งนำมาสู่ประเด็นที่สอง นั่นคือเมื่อวีรชนที่บางระจันสู้จนตัวตายเพื่อครอบครัว การมีบางระจันจึงไม่มีผลทางยุทธศาสตร์หรือยุทธวิธีใดๆ ต่อการต่อต้านการรุกรานของข้าศึก เพราะไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในแผนการต่อสู้ของอยุธยา อีกทั้งอยุธยาก็ไม่ได้มีอำนาจควบคุมสั่งการการรบที่บางระจันให้สู้หรือถอยตามต้องการ
การที่อยุธยาไม่ได้ให้ปืนใหญ่ตามคำขอดังที่ปรากฏในประวัติศาสตร์จึงอาจมองได้ 2 นัย คือ อย่างไรเสียบางระจันก็ไม่ชนะ ให้ไปก็เป็นกำลังแก่ข้าศึก หรือบางระจันจะแพ้ก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การป้องกันพระนครอยู่แล้ว
ในทำนองเดียวกันนักประวัติศาสตร์ในอเมริกาโดยเฉพาะในรัฐเท็กซัสก็เริ่มมีข้อโต้แย้งว่า ที่เคยเชื่อกันว่าการรบที่อลาโม่นั้นเป็นการเสียสละเพื่อซื้อเวลาให้กองทัพฝ่ายเท็กซัสได้มีเวลาตั้งตัวนั้น อาจบางทีไม่ใช่ ข้อโต้แย้งนั้นเริ่มจากจริงๆ แล้วกองทหารอาสาติดกับอยู่ที่อลาโม่ ถอนกำลังไม่ทันเพราะผู้บัญชาการป้อมเพิกเฉยต่อการข่าว
นอกจากนี้การรบยังใช้เวลาเพียง 13 วัน มากกว่าที่ผู้บัญชาการฝ่ายเม็กซิโกคาดการณ์ไว้เพียง 4 วัน ซึ่งเมื่อย้อนไปนึกถึงระบบการสื่อสาร การคมนาคมและการส่งกำลังบำรุงในยุคนั้น เวลา 4 วัน แทบไม่มีผลอะไรเลยในเชิงยุทธศาสตร์
ผลกระทบใหญ่หลวงของการรบที่อลาโม่คือการที่ฝ่ายเท็กซัสใช้มันเพื่อทำ IO ปลุกขวัญและกำลังใจทหารฝ่ายตัวเองให้ฮึกเหิม ต้องการจะแก้แค้นให้เพื่อนทหารหาญถึงขนาดตะโกนปลุกใจตอนเข้าตีที่มั่นข้าศึกว่า “For the Alamo!”
แน่นอนว่ามีคนไม่เห็นด้วยกับข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นทั้งสองฟากของโลกมากมาย ส่วนในเวลาข้างหน้าแนวคิดไหนจะได้รับการยอมรับมากกว่าคงต้องรอดูต่อไป
โฆษณา