6 มิ.ย. 2023 เวลา 13:32 • กีฬา

รอยัล อันท์เวิร์ป: ยักษ์นิทรา กับ “สุดทาง” 66 ปี ที่รอคอยแชมป์ลีกเบลเยียม

เชื่อได้เลยว่าสิ่งที่นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้งในการแข่งขันฟุตบอลในรูปแบบลีก นั่นคือการได้รับชมการยื้อแย่งแชมป์ลีกจนถึงแมตช์สุดท้าย เพราะโดยส่วนมากมักจะคว้าแชมป์ไปก่อนหน้านั้น และยิ่งจะเป็นกำไรของแฟนบอลไปอีกขั้นหากในแมคช์สุดท้ายนั้นจะมีการขับเคี่ยวกันอย่างถึงเครื่อง มีหลายทีมแย่งกัน และแข่งขันจนถึง “วินาทีสุดท้าย” ชนิดที่ลุกไปเข้าห้องน้ำอาจพลาดโมเมนต์สำคัญได้
แน่นอนว่าสถานการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้น ณ จูปิแลร์ โปร ลีก ประเทศเบลเยียม ฤดูกาล 2022-23 โดยสโมสรที่กระทำการคือ “รอยัล อันท์เวิร์ป (Royal Antwerp F.C.)” ที่อาจจะคุ้นหูแฟนบอลสายเสี่ยงโชคหรือแฟนบอลที่สนใจศึกษาฟุตบอลภาคพื้นทวีปจริง ๆ ซึ่งพวกเขามาปาดหน้าคู่ต่อสู้อย่าง อูแอสเช และ ราซิง เกงค์ คว้าแชมป์ไปในนาทีที่ 90+4 เลยทีเดียว
แม้จะพอมีชื่อในวงการฟุตบอลอยู่บ้าง แต่ใครเลยจะรู้ว่าการคว้าแชมป์ลีกในครั้งนี้เป็นการหวนกลับมาคว้าแชมป์ได้ในรอบ “66 ปี” จากที่เคยทำได้ในฤดูกาล 1956-57 เลยทีเดียว ซึ่งช่องว่าที่หายไปนั้นทีมต้องประสบกับความตกต่ำและต้องตะเกียกตะกายยืนหยัด ล้มลุก และกลับมาเฉิดฉายอยู่ในตอนนี้
ร่วมติดตามรอยทางก่อนสร้าง “อีปิก” ของพลพรรค “เฒ่าทรนง (The Great Old)” ไปพร้อมกับเรา
ร่อแร่สู่รุ่งโรจน์ จากคิตตี้โหมดสู่โหดยันเงา
รอยัล อันท์เวิร์ป นั้นเป็นที่รับรู้ร่วมกันว่าเป็นสโมสรฟุตบอลที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศเบลเยียม ก่อตั้งในปี 1880 เพื่อเป็นสโมสรสำหรับเล่นกีฬาคริกเก็ตสำหรับบรรดานายทุน พ่อค้าวาณิชย์ และนักเรียนชาวอังกฤษ ในชื่อ อันท์เวิร์ป คริกเก็ต คลับ (Antwerp Cricket Club)
จนกระทั่งในปี 1887 อันท์เวิร์ปได้เพิ่มชนิดกีฬาอย่างฟุตบอลเข้ามาในเครือ โดยใช้ชื่อว่า อันท์เวิร์ป ฟุตบอล คลับ (Antwerp Football Club) แน่นอนว่าด้วยความที่เก่าแก่ที่สุดจึงทำให้เป็น 1 ใน 10 ทีมร่วมก่อตั้งสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเบลเยียมในพระบรมราชูปถัมภ์ (Koninklijke Belgische Voetbal Bond : KBVB) ในปี 1895
ทั้งยังเป็น 1 ใน 7 ทีมที่ลงแข่งขัน Coupe de Championnat หรือลีกฟุตบอลครั้งแรกของประเทศ ในฤดูกาล 1895-96 โดยทีมทำผลงานจบรองแชมป์ด้วยคะแนนตามหลัง เอฟซี ลีแอช (ปัจจุบันคือ Royal Football Club de Liège) แชมป์ลีกอยู่ 6 คะแนน (ลีแอช 20 คะแนน อันท์เวิร์ป 14 คะแนน)
แม้จะเป็นทีมที่เก่าแก่ที่สุด แต่ในช่วงตั้งไข่ทีมกลับไม่ประสบความสำเร็จใด ๆ ซึ่งปัจจัยหลัก ๆ มีการให้เหตุผลว่าเกิดการแตกแยกกันเองภายในระหว่างนักเตะท้องถิ่นกับนักเตะอังกฤษ
จึงทำให้นักเตะอังกฤษ (และท้องถิ่นที่เข้าข้างอังกฤษ) หนีออกไปตั้งสโมสรใหม่ที่มีชื่อว่า เบียร์ช็อต (Beerschot Voetbal en Atletiek Club) ซึ่งเป็นคนละทีมกับ เบียร์ช็อต (Koninklijke Beerschot Voetbalclub Antwerpen) ณ ปัจจุบัน แต่ความเกลียดชังที่ทั้งสองสโมสรมีต่อกันยังคงดำรงอยู่แม้จะมีการเปลี่ยนมือก็ตาม ซึ่งการปะทะกันจะถูกเรียกขานว่า “ดาร์บี้แมตช์แห่งอันท์เวิร์ป (Antwerp Derby)” หรือ “แมตช์ผ่าเมือง (Ploeg van 't Stad)”
ยังไม่รวมกับการเป็นเจ้าไม่มีศาล สมภารไม่มีวัด ไม่มีสนามเป็นหลักเป็นแหล่ง รวมถึงผู้บริหารก็มีการผลัดเปลี่ยนบ่อยจนขาดความต่อเนื่องเรื่องการกำหนดทิศทางสโมสร เรียกได้ว่ามีความฉุกละหุก พัวพัน และยุ่งเหยิงไปหมด
แต่โชคยังดีที่มีสงครามโลกครั้งที่ 1 มาเบรกความวุ่นวายของสโมสรไว้เสียก่อน
และโลกหลังสงครามอันท์เวิร์ปจะรีเซ็ตทุกอย่างแทบทั้งหมด คือต้องนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง แต่ใครเลยจะรู้ว่าการนับหนึ่งใหม่ครั้งนี้จะกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “การผงาดง้ำ” ครองความเป็นเจ้าแห่งฟุตบอลเบลเยียมในทันใด
เริ่มต้นสัญญาณแห่งความผาสุกแรก นั่นคือ การได้รับเข้าเป็น “สโมสรในพระบรมราชูปถัมภ์” ของราชวงค์แห่งเบลเยียม (ซึ่งจริง ๆ ราชวงค์รับแทบจะทุกสโมสรในประเทศ) ในปี 1920 โดยมีเครื่องการันตีโดยการใส่ศัพท์ “รอยัล (Royal)” นำหน้าชื่อสโมสร ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน และในปี 1926 ด้วยการเข้าร่วมใน KBVB เป็นทีมแรกสุด ทางสหพันธ์จึงมอบเครื่องบ่งชี้ทางตัวเลขลำดับ (Matriculation Numbers) เป็น “หมายเลข 1” บรรจุลงในส่วนล่างของตราสโมสร
ตรงนี้เรียกได้ว่าอันท์เวิร์ปมี “สตอรี่” สำหรับขิงบรรดาทีมอื่น ๆ ในประเทศได้ว่า พวกเรานั้นมีทั้ง “แบ็กโหด” และมีเครื่องการันตีว่า “มาก่อน” พวกท่าน
แน่นอนว่าตราชูสองสิ่งดังกล่าวประหนึ่งการ “ติดบลัฟ” ในแก่ทีม เรียกได้ว่าแทบจะเป็นคนละเรื่องกับชุดก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 เลยทีเดียว และในที่สุดความพยายามก็มาสัมฤทธิ์ผลในฤดูกาล 1928-29 ทีมทำผลงานได้อย่างน่าทึ่งนำโด่งมาตลอด จนท้ายที่สุดจบฤดูกาลด้วยตำแหน่งจ่าฝูงร่วมกับ เบียร์ช็อต ที่ 39 คะแนน จาก 26 แมตช์
แต่ด้วยสมัยนั้นการวัดประตูได้-เสีย หรือเฮดทูเฮด ยังไม่ได้มีการคิดค้นขึ้นมาใช้ ทำให้การจะหาแชมป์ต้องเกิดจากการแข่ง “น็อกเอาต์” ให้รู้แล้วรู้รอดกันไป หากเสมอก็แข่งใหม่เรื่อย ๆ จนกว่าจะมีผู้ชนะ แต่อันท์เวิร์ปทำให้จบในแมตช์เดียวด้วยชัยชนะ 2-0 ส่งผลให้ความสำเร็จแรกไหลเข้าสู่ตู้โชว์สโมสร และที่สำคัญเป็นการชนะคู่แค้นสำคัญที่ยิ่งสร้างความปีติให้แก่ทีมและแฟนบอลมากไปอีกขั้น
และหลังจากนั้นจึงได้ถือกำเนิด “ยุคแห่งความเรืองรอง” ของอันท์เวิร์ปขึ้น ราวช่วง 30s-40s หากพิจารณาที่จำนวนโทรฟี่อาจจะดูน้อย เพราะหลังจากนั้นทีมได้แชมป์ลีกแค่ในฤดูกาล 1930-31 และ 1943-44 เท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือ อันท์เวิร์ปเป็นสโมสรแรก ๆ ที่นำเข้าระบบการเล่นแบบ “แม็กยาร์” มาปรับใช้ในสนาม
ไอนญัค โมลนาร์ (Ignác Molnár) โค้ชชาวฮังการี ที่ว่ากันว่า เป็นอีกหนึ่งรอยทางแทคติกก่อนที่จะเกิดตำนาน “ไมตี้ แม็กยาร์” ในช่วงยุค 50s ที่นำโดยโค้ชนาม กุสตาฟ เซเบส์ (Gusztáv Sebes) ที่เข้ามาปรับเปลี่ยนสิ่งที่เคยปฏิบัติกันมาของทีมทั้งหมด
ไล่ตั้งแต่ การห้ามพบหน้าแฟน ภรรยา หรือลูก ๆ หากการแข่งขันยังไม่จบลง ต้องมีการเข้าแคมป์ฝึกซ้อมอย่างหนัก รวมถึงมีการควบคุมโภชนาการ เน้นเข้ายิมเสริมพลังกาย หรือก็คือ โมลนาร์พยายามนำแนวคิด “มืออาชีพ” หรือฟุตบอลในฐานะ “อาชีพ (Professionism)” เข้ามาใช้กับอันท์เวิร์ป
รวมไปถึงเรื่องแทคติกที่เน้นการยืนแบบ “W-M” ซึ่งตอนนั้นถือว่าชวนงงอย่างมากว่านี่มันแผนอะไร ? แต่การเล่นในลักษณะนี้ กลับทำให้ทีมคู่ต่อสู้จับทางไม่ถูก คาดเดาไม่ได้ และส่งผลให้อันท์เวิร์ปถล่มประตูได้เป็นว่าเล่น โดยแมตช์ที่ถูกกล่าวขวัญถึงบ่อยที่สุดคือการไล่ถลุง สตองดาร์ ลีแอช ไป 7-1 ในฤดูกาล 1935-36
แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า วลี “เล่นดีไม่มีถ้วย” นั้นมีมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว อันท์เวิร์ปก็เข้าข่ายนี้เช่นกัน เพราะเล่นให้ดีแทบตาย สุดท้ายก็ทำได้เพียงยิงเยอะ เล่นสนุก เอ็นเตอร์เทนแฟนบอล แต่ทีมอื่น ๆ ที่เริ่มตั้งไข่ขึ้นมาอย่าง อันเดอร์เลช เมเคเลน หรือ สตองดาร์ ลีแอช ต่างผลัดกันคว้าแชมป์เป็นว่าเล่น
ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะอุบัติขึ้น แต่ใครเลยจะรู้ว่าสงครามครั้งนี้ได้พรากความเกรียงไกรไปจากอ้อมอกของอันท์เวิร์ปอีกครั้ง แต่ที่เคราะห์ซ้ำกรรมซัดคือพรากไปอย่างยาวนานเลยทีเดียว
ตะเกียกตะกาย ตายแหล่ไม่ตายแหล่
แม้จะมีช่วงที่ฟอร์มพีกและคว้าแชมป์ลีกในฤดูกาล 1956-57 แต่โดยส่วนมากอันท์เวิร์ปมักจะเป็นทีมแบบ “ขึ้น ๆ ลง ๆ” ไม่อยู่ในกลางค่อนท้ายตารางลีกสูงสุดก็ตกชั้นลงไปเล่นยังลีกรอง และเป็นเช่นนี้บ่อยครั้งอย่างมาก
เรียกได้ว่ายุค 60s-80s ถือเป็น “ยุคมืด” ของสโมสรอย่างแท้จริง
แต่ก็ยังมีความชื่นอกชื่นใจต่อแฟนบอลอย่างหนึ่ง นั่นคือในเมื่อสโมสรไม่อาจกลับไปยังจุดเดิมที่เคยยืนได้จึงทำการเปลี่ยนแปลงแนวทางของทีม จากที่เน้นเสริมนักเตะเพื่อความเป็นเลิศ มาเป็น “เน้นปั้นดาวรุ่ง” เพื่อเป็นบันไดไปสู่จุดที่สูงกว่า รวมถึงทำกำไรให้กับสโมสร
ลีโอ ฟาน เดอร์ เอลส์ต (Leo Van der Elst), ดานนี โบนน์ (Danny Bonne), เธโอ คัสเตอร์ส (Theo Custers), วิลลี เกิร์ตส (Willy Geurts), ซานดอร์ สมิช (Sandor Müller Smich) และ อเล็กซ์ ชเนียตซกี (Alexandre Czerniatynski) เหล่านี้คือดาวจรัสแสงในทีมชาติเบลเยียมชุดเยาวชนทั้งสิ้น อาจรวมถึง ลาซโล ฟาซกาส (László Fazekas) และ รัตโก สวิยาร์ (Ratko Svilar) เยาวชนต่างชาติที่อันท์เวิร์ปนำมาปลุกปั้นเข้าไปด้วย
แต่นักเตะที่เป็นหัวเรือล่มหัวจมท้ายอยู่กับทีมมาอย่างยาวนานจนแทบจะเป็นไอคอนของสโมสรในยุค 70s มีชื่อว่า "เรอเน เดแซเยียร์ (René Desaeyere)" ที่ลงสนามไปกว่า 8 ฤดูกาลให้กับพลพรรคเฒ่าทรนง และแน่นอนว่าเมื่อเอ่ยชื่อนี้ แฟนบอลชาวไทยโดยเฉพาะที่ติดตามไทยลีกตั้งแต่ยุคเฟื่องฟูย่อมคุ้นหูเป็นอย่างดี เพราะเขาเป็นโค้ชที่พา เมืองทอง ยูไนเต็ด เถลิงบัลลังก์แชมป์ ไทยลีก 2010 ก่อนจะกลายเป็นมหาอำนาจลูกหนังแห่งแดนขวานทองจนถึงปัจจุบัน
ก่อนที่จะเดินทางเข้าสู่ยุค 90s ที่สโมสรมีความทะเยอทะยานในการ “ตะเกียกตะกาย” กลับมาอีกครั้ง โดยครั้งนี้ตั้งต้นว่าหากไม่สามารถยืนหยัดกลับมายิ่งใหญ่ด้วยตนเองได้ “ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ” ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย
นั่นจึงทำให้การตกลงร่วมเป็น “พาร์ตเนอร์สโมสร” กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เกิดขึ้นในปี 1997 โดยมีพันธะผูกพันโดยสรุปความได้ว่า หากสโมสรคู่เจรจามีนักเตะดาวรุ่งที่ฝีเท้าดีเยี่ยมแต่ไม่มีประสงค์จะดันขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ในเร็ววัน อย่างน้อยที่สุดต้องส่งโปรไฟล์มาให้อันท์เวิร์ปพิจารณาในการยืมตัวเข้ามาสู่ทีม หรือกล่าวอย่างง่ายคือ “พี่ไม่ใช้ ก็ส่งมาให้ผมใช้”
โดยข้อตกลงดังกล่าวนี้เซ็นกันทั้งที่อันท์เวิร์ปยังอยู่ในลีกรองของประเทศเสียด้วยซ้ำ แน่นอนว่าสิ่งนี้ส่งผลดีต่อการบริหารจัดการทีมของอันท์เวิร์ป เพราะการันตีได้ว่าจะมีดาวรุ่งที่กรองมาระดับหนึ่งว่าเจ๋งจริงเข้ามาสู่ทีมแน่ ๆ แม้จะเป็นการชั่วคราวแต่ก็มาเรื่อย ๆ ทุกฤดูกาล จนกว่าจะยกเลิกสัญญานั้นไป
แต่นักเตะคนแรกที่ปีศาจแดงส่งให้ก็ได้เรื่องเลย เพราะ แดนนี่ ฮิกกินบอตแธม (Danny Higginbotham) ดันไปโชว์เหวอให้ทีมแพ้ยับคาบ้าน 0-5 จนแฟนบอลตะโกนด่ากราดว่า “ไอ้***เอ้ย กลับแมนเชสเตอร์บ้านมึงไป” จนถึงขนาดน้อยใจอยากกลับบ้านก่อนกำหนด ก่อนที่จะสลัดความเหวอทิ้งเป็นส่วนสำคัญให้ทีมชนะ 15 แมตช์รวด จากอะมีบาก็กลายเป็นเทพเจ้าในทันใด
ลุค แชดวิค (Luke Chadwick) ก็เป็นอีกคนที่ตามมาสร้างชื่อที่อันท์เวิร์ป โดยเขาทำไปถึง 7 ประตู จาก 26 แมตช์ เรียกได้ว่า เป็นผลงานที่แทบจะดีที่สุดในอาชีพการค้าแข้งของเขาเลยทีเดียว โดยเขาย้อนรำลึกถึงช่วงเวลานั้น ความว่า "บรรยากาศโคตรเจ๋งเลยครับ แฟนบอลเปี่ยมแพสชั่นมาก ๆ พอผมประเดิมสกอร์ได้แฟน ๆ ก็ตะโกนชื่อผมสุดเสียงเลย … หลังจากนั้นผมก็ไม่เคยได้รับประสบการณ์แบบนั้นอีกเลย คือทำผมอะเมซิงมาก ๆ มันตราตรึงหัวใจสุด ๆ"
เฟร์เซอร์ แคมป์เบลล์ (Fraizer Campbell) คือนักเตะที่ประสบความสำเร็จกับอันท์เวิร์ปมากที่สุดจากการลงสนาม 31 แมตช์ ยิง 20 ประตู ในฤดูกาล 2006-07
ซึ่งเขาได้เปิดเผยถึงเคล็ดลับไว้ว่า “วันหนึ่งผมกับเพื่อน ๆ ในทีมเกิดเบื่อ ๆ เลยพากันยกโขยงไปร้าน Toys r Us (ร้านของเล่นเด็ก) เล่นยิงปืนลูกโป่งฟองสบู่ ปาลูกโป่งน้ำ และพากันขับรถไปใจกลางเมือง แล้วไปไล่ยิงปืนฉีดน้ำใส่ชาวเมืองอย่างเมามัน … จากนั้นผู้จัดการทีมก็มาตามแล้วบ่นอุบว่า พวกมึงทำ***อะไรวะเนี่ย ? เพราะเราทำแบบนี้กันโดยใส่เสื้อซ้อมติดตราสโมสรของเราอยู่เลย … แต่ไม่ได้พูดไปเพื่อตลกอย่างเดียว เพราะสิ่งนี้คือการใช้ชีวิตที่สอนผมในสนามด้วย ผมไม่เคยได้ผ่อนคลายแบบนี้ (เหมือนตอนอยู่แคร์ริงตัน) เลยครับ”
แต่ที่ปีศาจแดงทำน่าเกลียดที่สุดเห็นจะเป็นกรณีของ ตง ตง ฟางโจว (Dong Fangzhuo) ศูนย์หน้าสตาร์ชาวจีน ที่ตอนนั้นไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ดาวรุ่ง แต่ต้องจำใจมาอยู่กับอันท์เวิร์ปเพราะไม่สามารถขอในอนุญาตทำงานเพื่อลงสนามในพรีเมียร์ลีกได้ พร้อมกับพ่อประโยคเปิดตัวสุดเหวอ ความว่า “ผมไม่รู้*****อะไรเกี่ยวกับอันท์เวิร์ปหรือลีกเบลเยียมเลยครับ แต่ก็ไม่ได้ฟูมฟายอะไรมากมายนัก”
1
กระนั้นกลุ่มคนที่กลับมาแล้วประสบความสำเร็จในพรีเมียร์ลีกกลับเป็นคนที่ไม่ค่อยมีสตอรี่กับอันท์เวิร์ป อย่าง ทอม ฮีตัน (Tom Heaton), ดาร์รอน กิ๊บสัน (Darron Gibson), ฟิล แบรดสลีย์ (Phil Bardsley), จอนนี่ อีแวนส์ (Jonny Evans) และ จอห์น โอเช (John O’Shea)
ก่อนที่ในปี 2007 ข้อตกลงที่ว่าจะเป็นอันสิ้นสุดลง อันท์เวิร์ปต้องกลับมา “ช่วยตนเอง” อีกครั้ง
และเมื่อไม่มีแบ็กหนุนหลัง แน่นอนว่าทีมก็ไปกันใหญ่ นับตั้งแต่ตกชั้นไปในฤดูกาล 2003-04 อันท์เวิร์ปไม่ได้โงหัวขึ้นมาสูดอากาศบนลีกสูงสุดอีกเลย โดยต้องรอนานกว่า 13 ปี ถึงจะหวนคืนมาอีกครั้งด้วยการคว้าแชมป์ลีกรอง จากการชนะเพลย์ออฟ โรเซแลร์ (Koninklijke Sport Vereniging Roeselare) ด้วยสกอร์รวม 5-2
และการขึ้นมาครั้งนี้ พลพรรคเฒ่าทรนง จะไม่หันหลังไปมองที่ที่จากมาอีกเลย และพร้อมไปข้างหน้าอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูอย่างน่าเหลือเชื่อ
สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ นาทีสุดท้ายตัดสินชะตา
เมื่อขึ้นมาอยู่ลีกสูงสุด ในช่วง 2-3 ฤดูกาลแรกคือช่วงแห่งการตั้งไข่ พวกเขาพยายามปรับเปลี่ยนวิธีการเล่น รวมไปถึงยกระดับการบริหารจัดการให้อยู่รอดให้ได้อย่างมั่นคง โดยหนึ่งในกลยุทธ์ที่ทีมเลือกใช้ที่ไม่แตกต่างจากทีมอื่น ๆ ในลีก นั่นคือการพยายามเป็น “บ้านบางแค” ยินดีต้อนรับนักเตะวัยไม้ใกล้ฝั่งที่ยังพอมีกำลังวังชาให้มีโอกาสได้ลงสนามครบ 90 นาที
1
โดยพวกแรก ๆ ที่เข้ามาสู่ทีมคือ สตีเวน เดโฟร์ (Steven Defour), ริตชี เดอ ลาแอต (Ritchie De Laet) ซึ่งถือว่าช่วยทีมได้อย่างมาก ประกอบกับการมีแข้งจอมเก๋าอย่าง ฟาริส ฮารูน (Faris Haroun) เป็นกัปตันทีม นักเตะเยาวชนที่ทีมใหญ่ ๆ โละ อย่าง มานูเอล แบ็งซง (Manuel Benson), แฟรงค์ โบญา (Frank Boya), ซงแดร์ คูปม็อง (Sander Coopman), โจนาธาน โบลิงกิ (Jonathan Bolingi) ที่แฟนบอลไทยลีกรู้จักกันดี
หรือการซื้อสุดชาญฉลาดจากแดนอาทิตย์อุทัยอย่าง โคจิ มิโยชิ (Koji Miyoshi) ที่กลายเป็นขุมกำลังที่ลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ
ในฤดูกาล 2019-20 ทีมคว้าโทรฟี่ เบลเยียน คัพ ได้เป็นผลสำเร็จ พร้อมจบอันดับ 4 ได้สิทธิ์ไปแข่งขัน ยูฟ่า ยูโรป้า ลีก รอบแบ่งกลุ่มแบบอัตโนมัติ
แน่นอนว่าฤดูกาลต่อมา (2020-21) ใครเห็นก็ว่าตาย เพราะทีมต้องลงแข่งขันทั้ง 2 รายการ โดยเฉพาะยูโรป้า ลีก ที่อยู่กลุ่มเดียวกับ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์, ลาสค์ ลินซ์ และ ลูโดโกเรตส์ แต่สิ่งที่เหลือจะเชื่อคือ พลพรรคเฒ่าทรนงกลับน็อก สเปอร์ส ที่คุมทีมโดย โชเซ่ มูรินโญ่ ไปแบบสุดช็อก 1-0 แถมยังผ่านเข้าสู่รอบน็อกเอาต์ได้อีกด้วย แม้จะแพ้ กลาสโกว์ เรนเจอร์ส ไปแบบเละเทะด้วยสกอร์รวม 5-9 ก็ตาม แต่ทีมก็จบอันดับ 3 ในลีกเป็นรางวัลปลอบใจ
ฤดูกาลต่อมา แม้ทีมจะได้แข้งสายเก๋าอย่าง รัดยา เนียงโกลัน (Radja Nainggolan) ห้องเครื่องสายสิงห์อมควัน รวมถึง บยอร์น แอ็งเกลส์ (Björn Engels) และ ไมเคิล เฟรย์ (Michael Frey) เข้ามาสู่ทีม แต่ผลงานกลับไม่กระเตื้องขึ้นเท่าไรนัก ก่อนจะจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ 4 ในลีก แถมยูโรป้า ลีก ก็หมดลุ้นเข้ารอบตั้งแต่ไก่โห่
ก่อนที่ฤดูกาล 2022-23 จะเป็นฤดูกาลที่พระเจ้าเสกสรรขึ้นมาว่าเป็นของอันท์เวิร์ป
เริ่มด้วยการเติมแข้งจอมเก๋าไปอีก 2 คน นั่นคือ วินเซนต์ แยนเซน (Vincent Janssen) ศูนย์หน้าร่างโย่งที่เคยมานั่งตบยุงที่สเปอร์ส และ โทบี อัลเดอร์ไวเรลด์ (Toby Alderweireld) ว่าที่ตำนานสเปอร์สที่โรยราไปตามวัย ก่อนจะเลือกปล่อยเนียงโกลัน รวมถึงแข้งคนสำคัญของทีมอย่างแบ็งซงและคูปม็องออกไป
แต่ทีมกลับทำผลงานได้อย่างเหลือเชื่อ เริ่มด้วยเปิดฤดูกาลด้วยการชนะ 9 แมตช์รวด แถมเป็นคลีนชีตถึง 5 แมตช์ ก่อนจะมีหลุดแพ้หลุดเสมอไปเล็กน้อย แต่ก็ประคองตนเองให้จบในอันดับที่ 3 ในฤดูกาลปกติได้ และไปว่ากันต่อในรอบ “เพลย์ออฟหาแชมป์ (Play-Off I)” อีกทอดหนึ่ง
ก่อนจะไปกันต่อต้องอธิบายถึง “ระบบลีกเบลเยียม” ที่มีความซับซ้อนแทบจะมากที่สุดในโลกเสียก่อน นั่นเพราะสำหรับฟุตบอลลีกเบลเยียม หลังจบฤดูกาลปกติจะมีการเพลย์ออฟหาแชมป์โดยคัด 4 ทีมหัวตารางในฤดูกาลปกติมาแข่งขันแบบพบกันหมดอีกทีมละ 6 แมตช์ แต่ไม่ได้นับคะแนนจาก 0 แต่จะนับจาก “มินิลีก” ที่ทั้ง 4 ทีมเจอกันในฤดูกาลปกติ หรือก็คือ 4 แมตช์การแข่งขันของแต่ละทีม รวมเป็น 12 แมตช์ โดยจะมีคะแนนเต็ม 48 คะแนน เจอกันได้เท่าไรให้ตั้งไว้ก่อน และจะนับรวมอีก 6 แมตช์ที่เต็ม 18 คะแนนเข้ามาเพิ่มเติม
หรือก็คือ ในรอบเพลย์ออฟหาแชมป์นี้จะมีคะแนนเต็ม 56 คะแนน แต่ไม่มีทางที่ทีมใดจะทำถึง เพราะส่วนมากในฤดูกาลปกติที่เจอกัน 4 แมตช์ มักจะมีการผลัดกันแพ้ ชนะ หรือออกเสมอบ่อย ๆ เป็นการตัดแต้มกันเอง และที่สำคัญการนับผลต่างประตูจะเป็นการนับใหม่ใน 6 แมตช์ ไม่คิดรวมกับ 12 แมตช์ก่อนหน้านั้น
ได้แต่คิดแล้วก็สงสัยว่าแฟนบอลเบลเยียมนอกจากต้องแหกปากในสนามและตะโกนเอาใจช่วยทีมรักแล้ว ยังต้องเก่งคณิตศาสตร์อย่างแน่แท้
โดยตารางคะแนนก่อนแมตช์สุดท้าย อันท์เวิร์ป มีคะแนนเท่ากับ อูแอสเช ที่ 46 คะแนน ผลต่างประตูเท่ากันที่ +2 แต่ อันท์เวิร์ป มีลูกยิงได้ที่มากกว่า (8 ต่อ 7) และทั้งสองทีมนำ ราซิง เกงค์ อยู่เล็กน้อยที่ 1 คะแนน (เกงค์มี 45 คะแนน) แถม อันท์เวิร์ป มีเฮดทูเฮดดีกว่าทุกทีม ส่วน คลับ บรูจจ์ ไม่อยู่ในสมการนี้เพราะหมดลุ้นไปแล้ว
ตรงนี้ขอเพียงอันท์เวิร์ปชนะหรือยันเสมอ แล้วอูแอสเชเสมอหรือแพ้ จะเป็นอันว่าคว้าแชมป์ทันที
แต่แล้วเหมือนว่าแมตช์นี้พระเจ้าอยากให้แฟนบอลบริหารสมองด้วยการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะการต้องมานั่งเกาหัวแกรก ๆ กดเครื่องคิดเลขในช่วงใกล้ต่อเวลาพิเศษ
1
นั่นเพราะ ราซิง เกงค์ ดันทะลึ่งยิงนำ อันท์เวิร์ป ไป 2-1 ส่วน อูแอสเช นำ คลับ บรูจจ์ ตั้งแต่ต้นครึ่งหลัง 1-0 และกำลังเข้าสู่ช่วงทดเวลา
เมื่อเป็นเช่นนี้ อันท์เวิร์ป จะร่วงลงไปอยู่ที่ 3 ในทันทีที่ 46 คะแนนเท่าเดิม ส่วน ราซิง เกงค์ จะแซงขึ้นที่ 2 ที่ 48 คะแนน ส่วน อูแอสเช จะคว้าแชมป์ไปที่ 49 คะแนน
และเวลาได้ย่างเข้าสู่นาทีที่ 89 ต่อ 90 ชิอง ฮอมมะ (Shion Homma) นักเตะเลือดซามูไร มายิงประตูตีเสมอให้กับ คลับ บรูจจ์ เป็น 1-1 ตรงนี้ อูแอสเช จะร่วงลงมาเป็นที่ 2 ที่ 47 คะแนน และส่ง ราซิง เกงค์ ขึ้นเป็นที่ 1 ที่ 48 คะแนน ส่วน อันท์เวิร์ป จะยังอยู่ที่เดิม
แต่แล้วในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน โนอา แล็ง (Noa Lang) มายิงประตูขึ้นนำให้กับ คลับ บรูจจ์ พร้อม ๆ กับที่ “โทบี อัลเดอร์ไวเรลด์” จะตะบันด้วยขวาสุดสวยเสียบสามเหลี่ยมให้ อันท์เวิร์ป ตีเสมอไปได้
"และที่สำคัญอันท์เวิร์ปพลิกกลับขึ้นมาเป็นจ่าฝูงไปอย่างน่าเหลือเชื่อ"
ก่อนที่เสียงนกหวีดหมดเวลาการแข่งขันจะดังขึ้นที่ เชเกคา อารีนา (Cegeka Arena) ไปด้วยสกอร์ 2-2 พร้อมกับรอลุ้นผลอีกคู่หนึ่งที่ขอแค่อูแอสเชแพ้ ทุกอย่างจะเป็นของอันท์เวิร์ปทันที
แล้วก็เป็นเช่นนั้น เมื่อ อูแอสเช เมาหมัด โดน คลับ บรูจจ์ ไปอีกลูก จบที่แพ้ 1-3
นั่นหมายความว่าตำแหน่งแชมป์เป็นของ รอยัล อันท์เวิร์ป ไปแบบหายใจหายคอแทบไม่ทัน ทั้งยังเป็นการ “สุดทาง” 66 ปีที่รอคอยแชมป์ลีกสูงสุดของเบลเยียมอีกด้วย
“ผมพูดไม่ออกจริงๆ ครับ … ใคร ๆ ต่างก็พยายามที่จะเขี่ยเราให้พ้นทางแชมป์ [หมายถึงตัดออกจากทีมลุ้นแชมป์ - เสริมโดยคนเขียน] เราทำงานกันอย่างหนักเพื่อการนี้ ใครอยากเห่าหอนอะไรก็ทำไป แต่พวกเราทำสำเร็จแล้ว!” อัลเดอร์ไวเรลด์ กล่าวกับสื่อในเบลเยียม
เมื่อถึงตรงนี้ ต้องยอมรับว่าหากใครเป็นแฟนบอลอันท์เวิร์ปแล้วอยู่ทันชุดที่คว้าแชมป์ลีกฤดูกาล 1956-57 แล้วยังมีชีวิตอยู่จนถึง ณ ตอนนี้ ย่อมมีความปีติไม่น้อยที่ได้เห็นทีมรักปลดล็อกสิ่งที่รอคอยมานาน หรือกระทั่งชาวเมืองอันท์เวิร์ปที่ไม่ได้เชยชมความสำเร็จใด ๆ มานานนม ปล่อยให้บรรดาเพื่อนบ้านอย่างเมืองบรัสเซลส์, บรูจจ์, ลีแอซ หรือ เกงค์ ฉลองกันอย่างเมามันมาแรมปี ครั้งนี้อาจได้โห่ร้องอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อนเป็นแน่
ต้องยอมรับทีเดียวว่าจะหาอะไรในฤดูกาล 2022-23 ที่ “อีปิก” กว่านี้ไม่มีอีกแล้ว
บทความโดย วิศรุต หล่าสกุล
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา