Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
AdminField
•
ติดตาม
13 มิ.ย. 2023 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์
รำพึงถึงพุ่มพวง
“เขยิบ ๆๆๆ เข้ามาซิ กระแซะ ๆๆๆ เข้ามาซิ
เขยิบ ๆๆๆ เข้ามาซิ กระแซะ ๆๆๆ เข้ามาซิ...”
“ถอยห่างไปนิดอีกนิดนั่นแหละ ห่างอีกสักนิดอีกนิดนั่นแหละ
ถอยห่างไปนิดอีกนิดนั่นแหละ ห่างอีกสักนิดอีกนิดนั่นแหละ...”
“...หนูไม่รู้ว่าแฟนมี เห็นหล่อดีหนูก็เลยชอบเขา
หนูไม่รู้เพราะหูเบา เขาบอกเขาชอบหนูคนเดียว...”
“...หนูไม่เอาคนมีแฟน จะควงแขนก็กลัวแฟนเจอ
หนูไม่เอากลัวแฟนเธอ ถ้าแฟนเผลอมาหน่อยก็ดี...”
ไม่ว่าจะผ่านไปนานสักเท่าไร หากได้ยินประโยคเหล่านี้แล้ว ทุกคนก็คงจะจำกันได้ถึงเจ้าของบทเพลง ฉายา “ราชินีลูกทุ่ง” อย่าง “พุ่มพวง ดวงจันทร์” ที่ได้ฝากผลงานต่าง ๆ ไว้ให้แฟนเพลงทั้งหลายได้ร่วมกันชื่นชมยินดีพร้อมกับนึกเสียดายถึงพรสวรรค์ที่มาพร้อมกับพรแสวงอย่างน่าเหลือเชื่อ แต่ต้องจบชีวิตลงเพราะด้วยโรคร้ายที่ยากจะรักษาให้หายขาดได้ รวมถึงมรสุมต่าง ๆ ที่คอยรุมเร้าอย่างไม่หยุดหย่อนตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต
พุ่มพวง ดวงจันทร์ มีชื่อจริงว่า “รำพึง จิตรหาญ” เป็นบุตรสาวคนที่ 5 ในจำนวนพี่น้องชายหญิงท้องเดียวกันรวม 12 คน ของนายสำราญ กับ นางเล็ก หรือชื่อเดิม จรัญ จิตรหาร เกิดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2504 ณ บ้านดอนตำลึง ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งพื้นเพทางครอบครัวเป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี แต่ได้ย้ายไปทำมาหากินอยู่ที่บ้านหนองนกเขา ตำบลไพรนกยูง อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง แล้วก็ย้ายกลับมาอยู่ที่ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ดังเดิม
ชีวิตในวัยเด็กของรำพึง เมื่อโตพอจำความได้ก็ต้องช่วยพ่อแม่เลี้ยงน้อง หลังจากนั้น รำพึงก็ได้เข้าศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดดอนตำลึง ซึ่งรำพึงก็มีทีท่าว่าจะเรียนเก่ง แต่ด้วยฐานะทางครอบครัวที่ยากจน ทำให้ในปี พ.ศ. 2513 รำพึงต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ขณะกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เพราะต้องออกมาช่วยพ่อแม่เลี้ยงดูน้องที่กำลังเล็กและช่วยหารายได้จุนเจือครอบครัวด้วยการรับจ้างตัดจ้างอ้อย เป็นผลให้รำพึงอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้
เมื่อมีอายุได้ 10 ขวบ รำพึงก็ได้ฉายแววการเป็นนักร้องจากใจรักเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ฝึกร้องตามวิทยุบ้าง เวลาทำงานบ้าง ตลอดเวลาที่มีการประกวด แข่งขันร้องเพลง ไม่ว่าจะเวทีไหนก็ต้องมีชื่อของรำพึง จิตรหาร หรือ “น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย” เข้าร่วมและได้รับรางวัลทุกครั้งไป จนมีอยู่หลายครั้งที่ทางกองประกวดขอร้องไม่ให้รำพึงเข้าร่วม
กระทั่งเมื่อไวพจน์ เพชรสุพรรณ ได้นำวงมาทำการแสดงที่วัดทับกระดาน ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี รำพึงจึงได้แสดงความสามารถของตัวเองด้วยการร้องเพลง ด่วนพิศวาส ของผ่องศรี วรนุช ราชินีลูกทุ่งคนแรกของเมืองไทย จนทุกคนที่อยู่ตรงนั้นต้องหันมาแลมองด้วยความสนใจ ราวกับถูกมนต์สะกด เป็นเช่นนั้น ไวพจน์ เพชรสุพรรณ จึงได้รับตัวรำพึงไว้เป็นศิษย์และลูกบุญธรรม
เมื่อเข้าไปอยู่ในวง รำพึงได้พยายามอย่างมากในการที่จะได้เป็นนักร้อง ตั้งแต่การเป็นเด็กวิ่งซื้อน้ำให้นักร้อง หางเครื่อง จนได้มาเป็นหางเครื่องที่มีอายุน้อยและตัวเล็กที่สุดในขณะนั้น จนในช่วงปี พ.ศ. 2518 รำพึงได้มีโอกาสบันทึกแผ่นเสียงเป็นครั้งแรกในเพลง แก้วรอพี่ โดยใช้ชื่อว่า “น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ”
แผ่นเสียงตรากระต่าย (ตัวอย่าง) เพลง แก้วรอพี่ ซึ่งเป็นผลงานแรกในชีวิตการเป็นนักร้องของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ในนาม "น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ" (ภาพ: Youtube คน ฝั่งธน)
จากเพลง แก้วรอพี่ ผลงานของไวพจน์ เพชรสุพรรณ ส่งผลให้ชื่อเสียงของน้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ เริ่มเป็นที่รู้จักของบรรดาแฟนเพลงลูกทุ่งทั่วประเทศ แต่หลังจากนั้น น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณก็ได้ตกลงปลงใจอยู่กินกับธีระพล แสนสุข นักดนตรีและนักแต่งเพลงลูกทุ่งของวงดนตรีไวพจน์ เพชรสุพรรณ แล้วได้แยกตัวออกจากวงไปเช่าบ้านอยู่ต่างหาก
ถึงอย่างไรก็ตามชะตาชีวิตของน้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ ไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ เพราะหลังจากนั้น ในช่วงปี พ.ศ. 2519 น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ ได้มีโอกาสพบกับมนต์ เมืองเหนือ ครูเพลงลูกทุ่งชื่อดัง ซึ่งก็ได้รับน้ำผึ้ง เมืองสุพรรณเป็นลูกศิษย์อีกคนหนึ่ง พร้อมกับตั้งชื่อในวงการเพลงลูกทุ่งให้ใหม่ว่า “พุ่มพวง ดวงจันทร์” แล้วได้เริ่มตั้งวงดนตรีเป็นของตัวเอง ถือได้ว่า พุ่มพวง ดวงจันทร์ เป็นหัวหน้าวงหญิงที่มีอายุน้อยที่สุดในยุคนั้น
ด้วยน้ำเสียงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและลีลาการร้องที่น่าฟัง เพลงของพุ่มพวง ดวงจันทร์จึงได้รับความนิยม แพร่หลายอย่างรวดเร็ว เฉกเช่นในปี พ.ศ. 2521 ได้รับพระราชทานเสาอากาศทองคำจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) จากบทเพลง อกสาวเหนือสะอื้น ผลงานของธีระพล แสนสุข
เพลงแล้วเพลงเล่า ถ้าเป็นเสียงของพุ่มพวงแล้ว แฟนเพลงก็จะให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นที่สุด ซึ่งไม่ว่าจะเพลงไหนที่ครูท่านใดแต่งให้ พุ่มพวงก็สามารถที่จะถ่ายทอดจินตนาการในการฟังออกมาได้อย่างดีที่สุด แม้ว่าพุ่มพวงจะไม่แตกฉานในการอ่านหนังสือ แต่พุ่มพวงกลับมีมันสมองด้านความจำที่เป็นเลิศ พุ่มพวงจึงใช้ความจำทั้งหมดเท่าที่มีในการจดจำเนื้อเพลงต่าง ๆ เหล่านั้นแทน รวมถึงการออกอักขระก็ออกได้อย่างถูกต้องและชัดเจนถูกหลักภาษาไทย
ในปี พ.ศ. 2525 พุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้มีโอกาสร่วมงานกับครูเพลงอีกท่านหนึ่ง คือ ลพ บุรีรัตน์ หรือวิเชียร คำเจริญ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดทั้งในด้านชื่อเสียงและรายได้ เพราะลพ บุรีรัตน์ สามารถมองแนวทางการแต่งเพลงจากบุคลิกของพุ่มพวงได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ในขณะเดียวกัน ตัวของพุ่มพวงเองก็สามารถนำเอาคำร้องเหล่านั้น มาร้องได้อย่างดีเยี่ยม ฟังแล้วมองเห็นภาพพจน์ได้ตั้งแต่ต้นจนจบเพลง
ซึ่งเพลงดังตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา ได้แก่ จะให้รอ พ.ศ. ไหน บทเรียนราคาแพง ดาวเรืองดาวโรย ดวงตา ดวงใจ ฯลฯ ทำให้พุ่มพวงกลายเป็นขวัญใจของแฟนเพลง มีงานแสดงตลอดปี งานทุกแห่งทุกที่ต้องมีพุ่มพวง ดวงจันทร์ ตามคำเรียกร้องและแรงศรัทธามหาชน
ภาพปกเทปคาสเซ็ท อัลบั้ม ชุด ดวงตา ดวงใจ ของพุ่มพวง ดวงจันทร์ โดยบริษัท อโซน่า โปรโมชั่น จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2525 (ภาพ: Discogs)
เพลงที่พุ่มพวง ดวงจันทร์ขับร้อง ส่วนมากเข้าถึงผู้ฟังและเป็นภาพแทนของสาวชนบทได้อย่างดี ให้กำลังใจและยืนข้างเคียงด้วยคำร้องที่ตัดพ้อต่อว่าได้อย่างน่ารัก ดังจะเห็นได้จากเพลง สาวนาสั่งแฟน นัดพบหน้าอำเภอ
ภาพปกเทปคาสเซ็ท อัลบั้ม ชุด สาวนาสั่งแฟน ของพุ่มพวง ดวงจันทร์ โดยบริษัท อโซน่า โปรโมชั่น จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2526 (ภาพ: Discogs)
จนมาถึงช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางดนตรี โดยเฉพาะแนวเพลงที่วงสตริงเข้ามามีบทบาทแบ่งตลาดผู้ฟังอย่างเด่นชัด ที่ส่งผลให้วงการเพลงลูกทุ่งซบเซา มาตั้งแต่ปี 2525 จึงทำให้ในช่วงปี พ.ศ. 2528 พุ่มพวงต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการร้องเพลงมาเป็นลักษณะของลูกทุ่งกึ่งสตริง
รวมถึงเนื้อหาเพลงลูกทุ่งที่กล่าวถึงความรักของหนุ่มสาว ที่ส่วนใหญ่เน้นไปในบทบาทของผู้ชายที่ต้องเป็นฝ่ายแสดงความรู้สึกให้กับผู้หญิง มาเป็นในลักษณะของการที่ผู้หญิงสามารถที่จะแสดงออกทางความรู้สึกที่มีต่อผู้ชายบ้าง จึงทำให้เกิดเป็นเพลงลูกทุ่งแนว “ผู้หญิงจีบผู้ชาย” ขึ้นอย่างแพร่หลาย มีเพลงที่สร้างชื่อเป็นอย่างมากในช่วงนี้ ได้แก่ อื้อฮือ…หล่อจัง กระแซะเข้ามาซิ ห่างหน่อยถอยนิด เป็นต้น
ภาพปกเทปคาสเซ็ท อัลบั้ม ชุด อื้อฮื้อ!...หล่อจัง ของพุ่มพวง ดวงจันทร์ โดยบริษัท อโซน่า โปรโมชั่น จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2528 (ภาพ: Discogs)
พร้อมกันนั้นได้มีการปรับรูปแบบการแสดง ตั้งแต่การแต่งกาย ซึ่งส่วนใหญ่ได้แรงบันดาลมาจากซูเปอร์สตาร์คนดังระดับโลกอย่าง “มาร์ดอนน่า” ไม่ก็ “เติ้ง ลี่ จวิน” รวมถึงการผสมผสานระหว่างการร้องและการเต้นเข้าด้วยกัน มีการนำหางเครื่องมาประกอบการแสดง หรือที่เรียกว่า “การแสดงรีวิว” บางครั้งก็มีการนำศิลปะพื้นบ้านมาร่วมแสดง เช่น ลิเก พาให้เพลงลูกทุ่งในยุคนี้ส่วนใหญ่มีจังหวะที่สนุกสนาน เร้าใจ และมีสีสัน สามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมและผู้ฟังได้ทั่วประเทศ
แล้วพุ่มพวง ดวงจันทร์เองยังถือเป็นนักร้องรายแรก ๆ ที่ได้ร้องและแสดงมิวสิกวิดีโอสำหรับเพลงลูกทุ่งด้วยตัวเอง รวมถึงได้มีโอกาสไปทำการแสดงยังต่างประเทศอีกด้วย จึงทำให้แต่ละบทเพลงและการแสดงของพุ่มพวงเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดให้คนมาติดตามและร้องตามได้แทบทุกคน
นอกจากนั้น พุ่มพวง ดวงจันทร์ ยังเป็นนักร้องลูกทุ่งหญิงคนแรกที่ได้มีโอกาสแสดงคอนเสิร์ต ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงแรมดุสิตธานี เมื่อปี พ.ศ. 2529 จึงทำให้เป็นที่รับรู้โดยทั่วกันว่าแฟนเพลงของพุ่มพวงมีอยู่ทุกระดับ
พุ่มพวง ดวงจันทร์ ขณะทำการแสดงสดที่โรงแรมดุสิตธานี เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2529 (ภาพ: เพจ พุ่มพวง ดวงจันทร์)
รวมถึงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 – ประมาณปี พ.ศ. 2533 พุ่มพวงยังเป็นนักร้องลูกทุ่งคนแรกที่ได้รับเกียรติจากรายการ โลกดนตรี ซึ่งปกติจะมีแต่วงสตริงและแฟนเพลงวัยรุ่นที่ชอบเพลงประเภทสตริงเท่านั้น แต่ทุกครั้งที่พุ่มพวงได้มาทำการแสดงทีไร มีผู้ชมเข้าชมกันอย่างแน่นขนัดมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ตลอดผู้ชมทางบ้านที่ติตตามชมผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง 5) ทั่วประเทศ ต่างใจจดใจจ่อดูกันทุกภาคไป
พุ่มพวง ดวงจันทร์ ขณะทำการแสดงสดที่ลานโลกดนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2529 (ภาพ: เพจ พุ่มพวง ดวงจันทร์)
ด้วยความนิยมที่มีมาตลอดในเส้นทางสายลูกทุ่ง ทำให้พุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้รับการประกาศเกียรติคุณในแต่และโอกาสด้วยกัน อย่างในปี พ.ศ. 2532 ได้รับรางวัลกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย จากผลงานเพลง สาวนาสั่งแฟน
พุ่มพวง ดวงจันทร์ ขณะทำการแสดงสดกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2532 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (ภาพ: Youtube Thairath Online)
และในปี พ.ศ. 2534 รางวัลกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 2 จากผลงานเพลง สยามเมืองยิ้ม ซึ่งทั้ง 2 บทเพลงนั้นแต่งโดยครูลพ บุรีรัตน์ แล้วในปีเดียวกันนั้น พุ่มพวงก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ ส้มตำ สำหรับเปิดการแสดงกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2 โดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ แม้ว่าพุ่มพวงจะไม่ใช่นักร้องคนแรกที่ได้ขับร้องบทเพลงดังกล่าวก็ตาม อีกด้วย
พุ่มพวง ดวงจันทร์ ขณะทำการแสดงสดกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (ซ้าย) เพลงพระราชนิพนธ์ ส้มตำ (ขวา) เพลงสยามเมืองยิ้ม (ภาพ: Youtube Siammelodies)
รวมถึงสมญานาม “ราชินีลูกทุ่ง” สืบต่อจากผ่องศรี วรนุช ซึ่งจนถึงทุกวันนี้แล้วยังไม่มีนักร้องคนไหนสามารถที่จะแทนที่พุ่มพวงในตำแหน่งนี้ได้เลยสักคนเดียว
นอกจากความสามารถทางการร้องเพลงแล้ว พุ่มพวง ดวงจันทร์ก็ได้มีโอกาสร่วมแสดงในภาพยนตร์และละครโทรทัศน์เรื่องต่าง ๆ ด้วยกัน เริ่มจากภาพยนตร์เรื่อง สงครามเพลง ผลงานการกำกับโดยผู้กำกับระเบิดภูเขา เผากระท่อมในตำนานอย่างฉลอง ภักดีวิจิตร ในปี พ.ศ. 2526 จนมาถึงเรื่องสุดท้ายที่พุ่มพวงได้โลดแล่นอยู่บนจอเงิน นั่นก็คือเรื่อง เพชรพยัคฆราช ผลงานการกำกับของชาติ เหมราช เมื่อปี พ.ศ. 2531
(ซ้าย) ใบปิดภาพยนตร์เรื่อง สงครามเพลง ปี พ.ศ. 2526 (ขวา) ใบปิดภาพยนตร์เรื่อง เพชรพยัคฆราช ปี พ.ศ. 2531 (ภาพ: เพจ Thai Movie Posters)
และละครโทรทัศน์เรื่องแรกและเรื่องสุดท้าย ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เมื่อปี พ.ศ. 2532 เรื่อง นางสาวยี่ส่าย กำกับการแสดงโดย มนูญ แสงพุฒ
(ภาพ: MGR Online)
ด้านชีวิตครอบครัว หลังจากที่ได้เลิกรากับธีระพล แสนสุขแล้ว ก็ได้มีโอกาสพบกับไกรสร แสงอนันต์ หรือไกรสร ลีละเมฆินทร์ พระเอกแห่งวงการภาพยนตร์ไทยในกองถ่ายภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักนักเพลง เมื่อปี พ.ศ. 2527 และตกลงครองรักร่วมกัน
แล้วไกรสร แสงอนันต์ ได้ออกจากวงการภาพยนตร์ในเวลาต่อมา เพื่อมาดูแลและเป็นผู้จัดการส่วนตัวให้แก่พุ่มพวง ดวงจันทร์ ซึ่งต่อมาพุ่มพวงได้หัดเขียนหนังสือจนสามารถเขียนชื่อตัวเองได้ เพื่อประโยชน์ในการทำนิติกรรมต่าง ๆ หลังจากนั้น ได้ให้กำเนิดบุตรชายเพียงคนเดียวในปี พ.ศ. 2530 คือ “ลูกเพชร” “เพชร พุ่มพวง” ภัควรรธน์ พิสิษวุฒิรัชต์ หรือสรภพ ลีละเมฆินทร์ โดยแรกเกิดชื่อ สันติภาพ ลีละเมฆินทร์
ไกรสร แสงอนันต์ พุ่มพวง ดวงจันทร์ และเพชร พุ่มพวง หรือภัควรรธน์ พิสิษวุฒิรัชต์ เมื่อแรกเกิด (ภาพ: เพจ พุ่มพวง ดวงจันทร์)
ในช่วงปี พ.ศ. 2535 พุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้ประสบกับมรสุมชีวิต ทั้งในด้านชีวิตคู่ที่มีปัญหา ครอบครัว และการล้มป่วย โดยพุ่มพวงได้ล้มป่วยด้วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ เอสแอลอี ซึ่งเป็นโรคหายากในสมัยนั้น แล้วยังไม่สามารถหาวิธีการรักษาได้
จนวันที่ 13 มิถุนายน 2535 ขณะที่พุ่มพวงกำลังเดินทางออกจากบ้านย่านพุทธมณฑล พร้อมด้วยนางจรัญ จิตรหาร ผู้เป็นมารดาเเละพี่น้องไปพบสามีและลูกที่บ้านจังหวัดเชียงใหม่ แต่สภาพร่างกายโดยรวมของพุ่มพวงไม่ค่อยสู้ดีเท่าไรนัก กระทั่งเวลาประมาณเที่ยง พุ่มพวงเกิดอาการช็อกหมดสติบนรถยนต์ ครอบครัวจึงนำพุ่มพวง ดวงจันทร์ เข้ารักษาที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลกทันที เเละได้เข้ารับการรักษาในเวลาประมาณ 12.55 น.
ต่อไปนี้เป็นอาการของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ก่อนเสียชีวิต ระหว่างได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก ตามลำดับเวลา ดังนี้
เวลา 12.55 น. พุ่มพวง ดวงจันทร์ มีอาการหมดสติ ไม่รู้สึกตัว แพทย์จึงให้ออกซิเจนผ่านสายยางทางจมูก (Oxygen Canula)
เวลา 13.30 น. แพทย์ได้ย้าย พุ่มพวง ดวงจันทร์ ออกจากห้องฉุกเฉินมายังหอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง 1 โดยได้รับยาควบคุมความดันโลหิต เเละมีการผ่าตัดเจาะเส้นเลือดดำเพื่อวัดความดันโลหิตในหัวใจห้องขวา
เวลา 15.00 น. แพทย์ไม่สามารถวัดความดันโลหิตได้
เวลา 15.45 – 17.00 น. แพทย์สามารถกลับมาวัดความดันโลหิตได้
เวลา 17.10 น. แพทย์ไม่สามารถวัดความดันโลหิตได้อีกครั้ง
เวลา 18.00 – 20.00 น. แพทย์ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจให้พุ่มพวง ดวงจันทร์ เเละยังคงไม่สามารถวัดความดันโลหิตได้
เวลา 20.45 น. พุ่มพวง ดวงจันทร์ มีอาการหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน โดยแพทย์ได้ปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพด้วยวิธีปั๊มหัวใจ (Cardiopulmonary Resuscitation) ให้แก่พุ่มพวงเเต่ไม่สำเร็จผล
เวลา 20.55 น. พุ่มพวง ดวงจันทร์ เสียชีวิตลงอย่างสงบ ด้วยวัย 31 ปี
หลังจากนั้น นางจรัญได้โทรศัพท์แจ้งข่าวการเสียชีวิตของพุ่มพวง ดวงจันทร์ให้ไกรสร แสงอนันต์ ซึ่งอยู่บ้านที่จังหวัดเชียงใหม่ทราบในเวลาประมาณ 21.00 น.
วันรุ่งขึ้น 14 มิถุนายน 2535 ได้ทำการเคลื่อนศพของพุ่มพวง ดวงจันทร์ มาตั้งไว้ที่พลับพลาพิมพวดี วัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร เพื่อประกอบพิธีรดน้ำศพ และบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมเป็นเวลาถึง 9 วัน ตั้งแต่วันที่ 14 – 22 มิถุนายน 2535 หลังจากนั้นได้มีการบรรจุศพเพื่อรอฌาปนกิจในวันที่ 23 มิถุนายน 2535
รูปและสแตนดี้ไดคัทหน้าหีบศพของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ภายในพลับพลาพิมพวดี วัดมกุฏกษัตริยาราม ระหว่างงานสวดพระอภิธรรมศพ (ภาพ: เพจ พุ่มพวง ดวงจันทร์)
ซึ่งปรากฏว่าในระหว่างงานศพนั้นเอง ได้มีบรรดาแฟนเพลงจำนวนมากไปร่วมแสดงความอาลัยกันจนแน่นวัด รวมถึงพื้นที่ในการนำเสนอข่าว ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะแต่หนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะฉบับใด หน้าไหนก็ตาม ต้องมีบรรยากาศความโศกเศร้าจากงานศพของพุ่มพวงที่วัดมกุฏกษัตริยารามรวมอยู่ด้วย
หรือแม้แต่ความขัดแย้งระหว่างญาติของพุ่มพวง ดวงจันทร์ กับไกรสร แสงอนันต์ ผู้เป็นสามีที่สืบเนื่องมาจากการที่พุ่มพวงซึ่งเขียนหนังสือไม่เป็น ได้เล่าถึงเหตุการณ์และความรู้สึกที่ถูกบีบคั้น โดยเฉพาะในเรื่องของชีวิตครอบครัวลงในเทปตลับหนึ่ง ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อของ “บันทึกลับพุ่มพวง”
ที่มีเนื้อหาพาดพิงถึงไกรสร แสงอนันต์ รวมถึงการขอเป็นผู้จัดการมรดกที่มีอยู่ประมาณ 80 ล้านบาทของพุ่มพวง จนกลายเป็นเรื่องที่ยืดเยื้อกันมานานหลายสิบปี ส่งผลให้เกิดเป็นความแตกแยกระหว่างญาติของพุ่มพวง ไกรสร แสงอนันต์ รวมถึงสรภพ ลีละเมฆินทร์ ผู้เป็นลูก จนเรื่องราวทั้งหมดก็ค่อย ๆ มาคลี่คลายลงบ้างในช่วงปี พ.ศ. 2559
หลังจากที่ได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดมกุฏกษัตริยารามครบตามกำหนดแล้ว วันที่ 23 กรกฎาคม 2535 ได้มีการเคลื่อนศพของพุ่มพวง ดวงจันทร์ไปยังวัดทับกระดาน ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อรับการพระราชทานเพลิง ซึ่งวัดทับกระดานแห่งนี้เอง เป็นวัดที่พุ่มพวงเคยพิสูจน์ความสามารถของตนเอง กระทั่งได้สู่วงการ
ในการนี้ ได้มีบรรดาแฟนเพลงทั่วสารทิศได้หลั่งไหลกันมารับศพจนเนืองแน่นวัดทับกระดาน พร้อมกับได้มีการนำเมรุลอย 9 ยอด สกุลช่างวัดประดิษฐ์วนาราม จังหวัดเพชรบุรีมาทำการติดตั้ง และประดับประดาตกแต่งด้วยประทีปโคมไฟต่าง ๆ เพื่อเป็นที่ตั้งศพให้กับพุ่มพวง ดวงจันทร์ อย่างสมเกียรติเป็นครั้งสุดท้าย
แล้วศพของพุ่มพวง ดวงจันทร์ก็ได้รับการพระราชทานเพลิง โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในวันที่ 25 กรกฎาคม 2535 ท่ามกลางประชาชนทั่วประเทศที่เข้าร่วมงานนี้เป็นจำนวนถึง 150,000 คนเต็มบริเวณลานวัดทับกระดาน รวมถึงที่ได้มีการติดตามผ่านทางโทรทัศน์และวิทยุต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
การนำศพของพุ่มพวง ดวงจันทร์ แห่เวียนรอบเมรุลอย ก่อนเชิญศพขึ้นตั้งบนจิตกาธานภายในเมรุลอย ณ วัดทับกระดาน ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 (ภาพ: เพจ พุ่มพวง ดวงจันทร์)
ประชาชนนับหลายหมื่นหลายแสนรายล้อมอยู่บริเวณลานวัดทับกระดาน ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ พุ่มพวง ดวงจันทร์ (ภาพ: Youtube Thairath Online)
หลังจากนั้นก็เป็นการแสดงคอนเสิร์ต มหกรรมเพลง พุ่มพวง ดวงจันทร์ โดยทางคณะกรรมการจัดงานพระราชทานเพลิงศพและอาลัย “พุ่มพวง ดวงจันทร์” จัดขึ้น พร้อมกับมีการถ่ายทอดผ่านทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท.
แล้วในโอกาสเดียวกันนั้น ทางคณะกรรมการฯ ได้ประเดิมทุนเพื่อเป็นรายได้ในการจัดตั้งเป็น “มูลนิธิพุ่มพวง ดวงจันทร์” เพื่อการศึกษา ตามปณิธานของพุ่มพวงขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย เมื่อเวลาผ่านไป ก็ได้มีการเคลื่อนย้ายศพของพุ่มพวงจากเมรุลอยไปทำการฌาปนกิจที่เมรุของทางวัดทับกระดาน
นับแต่นั้นเป็นต้นมา กายสังขารของพุ่มพวง ดวงจันทร์ก็ได้มอดไหม้ไปกับเปลวเพลิงเหลือเพียงอัฐิและอังคาร เสมือนหนึ่งเครื่องเตือนใจให้ชนทั้งหลายพึงสังวรว่า ต่อให้สูงส่งเป็นดาวค้างฟ้ามากเพียงไร แต่สุดท้ายคนเราเหลือเพียงเท่านั้นจริง ๆ
รวมถึงเป็นต้นกำเนิดแห่งอนุสรณ์ต่าง ๆ เช่น หุ่นแต่ละหุ่นที่ตั้งไว้ตามจุดต่าง ๆ ณ วัดทับกระดาน วัดภาษี เขตวัฒนา และพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุซโซ ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ดังภาพสะท้อนถึงความนิยมชมชอบของมหาชนในผลงานและคุณูปการต่าง ๆ ที่พุ่มพวงได้เคยสร้างไว้ให้กับสังคมไทย ซึ่งเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงแล้ว อย่างปฏิเสธไม่ได้
หนึ่งในจำนวนหุ่นพุ่มพวง ดวงจันทร์ ภายในวัดทับกระดาน ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี (ภาพ: PPTV HD 36)
หุ่นพุ่มพวง ดวงจันทร์ ภายในพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุซโซ ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร (ภาพ: Undub Zapp)
หุ่นพุ่มพวง ดวงจันทร์ ภายในวัดภาษี เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร (ภาพ: TNN Online)
ตั้งแต่วันที่พุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้เกิดมาลืมตาดูโลกจนกระทั่งได้จากโลกนี้ไป ไม่มีวันไหนเลยที่ผลงานเพลงมากกว่า 500 บทเพลง ตลอดจนลีลาท่าทางต่าง ๆ ของพุ่มพวงจะเป็นสิ่งที่ล่าสมัย หากแต่ยังมีศิลปินรุ่นต่อ ๆ มาคอยสืบสาน อนุรักษ์ และนำไปประยุกต์เป็นแนวทางต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์ เพราะทุกเพลงของพุ่มพวงยึดมั่นในความเป็นไทย เข้าใจง่าย คำร้อง ทำนองที่ถูกกำหนดขึ้นมา แม้บางช่วงจะยาก แต่พุ่มพวงก็สามารถร้องได้ดี ด้วยพรสวรรค์อันเหลือเฟือสมกับตำแหน่ง “ราชินีลูกทุ่ง” โดยแท้
และเชื่อเหลือเกินว่า ชื่อของพุ่มพวง ดวงจันทร์จะยังคงได้รับการกล่าวขานสืบต่อไปอีกนาน ไม่เพียงแต่ในฐานะราชินีลูกทุ่งเท่านั้น แต่พุ่มพวงยังถือเป็น “ปริยศิลปิน” หรือศิลปินอันเป็นที่รักยิ่งของประชาชนคนหนึ่ง ดังที่ได้มีมติยกย่องเชิดชูเกียรติ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ด้วย
.…อยากจะฝากบอกถึงแฟน ๆ ว่า อย่างน้อย…เพลงลูกทุ่งอาจจะเชยสักนิดนึง ในสายตายุคที่มีเพลงสตริงหันเหเข้ามามาก แต่ก็เป็นอะไรที่จริงใจนะคะ อยากจะฝากไว้ว่า ช่วย ๆ กันอนุรักษ์กันไว้ด้วย ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มาก แต่นิด ๆ หน่อย ๆ ก็ยังดี...
พุ่มพวง ดวงจันทร์ สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2534
อ้างอิง:
●
24 ปี ยุติความขัดแย้งครอบครัว "พุ่มพวง ดวงจันทร์" โดย TNN Online (
https://www.youtube.com/watch?v=8SOWqfFajOM
)
●
ไกรสร แสงอนันต์ โดย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) (
https://web.archive.org/web/20181007002011/http://www.fapot.org/th/dara_detail.php?id=190
)
●
ขอเชิดชูเกียรติ คนดีศรีสุพรรณ โดย
Suphan.Biz
(
http://www.suphan.biz/wadtubkradan.htm
)
●
คำบรรยายเกียรติประวัติ พุ่มพวง ดวงจันทร์ โดย เทวัญ ขวัญปราการ (
https://www.youtube.com/watch?v=2rEN6gtnAKk&t=4s
)
●
คำบรรยายเกียรติประวัติ พุ่มพวง ดวงจันทร์ โดย อำรุง เกาไศยนันท์ ในคาสเซ็ตและวิดีโอเทป ชุด อาลัย พุ่มพวง จัดทำโดย คณะกรรมการจัดงานพระราชทานเพลิงศพและอาลัย “พุ่มพวง ดวงจันทร์” (
https://www.youtube.com/watch?v=2u51nqmFzSc
)
●
ชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำพิธีบรรจุศพพุ่มพวง ดวงจันทร์* ที่วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร | กรุงเทพฯ โดย เพจ เมืองเก่าเล่าใหม่ (
https://www.facebook.com/RetroCityStoryTelling/photos/a.113313526945482/314784633465036/
)
●
เช้าวันนี้ : พุ่มพวง ดวงจันทร์ (2535) โดย Domodarken-TV (
https://youtu.be/WeUBx3bC6I0
)
●
ที่มาของเพลงลูกทุ่ง โดย สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ (
https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=33&chap=2&page=t33-2-infodetail01.html
)
●
นวนิยายชีวประวัติ เรื่อง ดวงจันทร์ที่จากไป ของ บินหลา สันกาลาคีรี (2549)
●
บทความเรื่อง พุ่มพวง ดวงจันทร์ กับการเปลี่ยน (ไม่) ผ่านของเพลงลูกทุ่ง (กลางทศวรรษ 2520 - กลางทศวรรษ 2540) โดย ปรกเกศ ใจสุวรรณ์ (
https://so05.tci-thaijo.org/index.php/thammasat_history/article/view/254846
)
●
พุ่มพวง ดวงจันทร์ ก้มกราบพระพุทธชินราช 'ก่อนเสียชีวิต' จริงหรือไม่ ? โดย เพจ พิพิธภัณฑ์ พุ่มพวง ดวงจันทร์ (
https://www.facebook.com/PoompuangDuangjunMuseum/photos/a.1037636069629600/4375766855816488/
)
●
ยกย่อง “พุ่มพวง-สุรพล” ปริยศิลปินอันเป็นที่รักของประชาชน โดย MGR Online (
https://mgronline.com/qol/detail/9520000092851
)
●
วิทยานิพนธ์ เรื่อง เมรุลอยสกุลช่างเพชรบุรี : รูปแบบศิลปกรรม แนวคิดและคติการสร้าง โดย กมลรัตน์ ชวนสบาย ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร (2560)
●
หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ นางรำพึง ลีละเมฆินทร์ (พุ่มพวง ดวงจันทร์) 25 กรกฎาคม 2535
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
#พุ่มพวงดวงจันทร์
พุ่มพวงดวงจันทร์
1 บันทึก
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย