7 มิ.ย. 2023 เวลา 02:37 • การเมือง

ถอดสูตรสำเร็จ-ล้มเหลว ต้นฉบับ ‘บัตรทองอัปเกรด’ จากอังกฤษ

นโยบาย’ 30 บาทรักษาทุกโรค’ เป็นหนึ่งในนโยบายด้านสุขภาพที่อยู่คู่สังคมไทยและประสบความสำเร็จมานานกว่า 20 ปี จนหลายพรรคการเมืองหยิบยกเอานโยบายที่เกี่ยวกับสุขภาพคนไทยมาใช้หาเสียง ในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมา
1
ความจริงแล้ว นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลพรรคไทยรักไทย รวมไปถึงนโยบายด้านสุขภาพของพรรคก้าวไกล แกนนำการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ มีต้นแบบบางส่วนมาจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service; NHS) ของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเผชิญปัญหาในการบริหารงบประมาณและบุคลากรทางแพทย์ จนผู้เชี่ยวชาญในวงการสาธารณสุขของไทยมักจะหยิบยกทั้งสองกรณีมาเปรียบเทียบกันอยู่เสมอ
TODAY ชวนทุกคนตั้งข้อสังเกตร่วมกันว่า ประเทศไทยจะสามารถเรียนรู้อะไรจากสหราชอาณาจักรได้บ้าง และนโยบายสาธารณสุขที่บรรดาพรรคการเมืองหาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้ง โดยเฉพาะนโยบายจากพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
ระบบสุขภาพจากการปฏิวัติระบบสาธารณสุข
จุดเริ่มต้นของนโยบายสาธารณสุขของไทยและสหราชอาณาจักรมีความใกล้เคียงกันมาก
ย้อนกลับไปในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง สหราชอาณาจักรมีการพัฒนาอุตสาหกรรม เริ่มเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น โดยเฉพาะชนชั้นแรงงานที่ยังมีรายได้อยู่ใต้เส้นความยากจน หากมีอาการเจ็บป่วยก็ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเอง ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ยังเน้นหาประโยชน์ส่วนตนจากการรักษาคนไข้ ตั้งแต่เก็บเงินค่ารักษาแพงลิบลิ่ว ไปจนถึงการผ่าตัดโดยไม่จำเป็น
เมื่อประเทศเข้าสู่ภาวะสงคราม ทรัพยากรขาดแคลนโรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมรองรับผู้ป่วยจากภัยสงครามโดยไม่มีค่าใช้จ่าย นั่นเป็นครั้งแรกที่ประชาชนทุกคนได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมกัน ทำให้นโยบายแบบรัฐสวัสดิการเริ่มมีบทบาทในประเทศแถบยุโรปหลายประเทศ รวมถึงประเทศสหราชอาณาจักรด้วย
หลังจาก เคลเมนต์ แอตลี หัวหน้าพรรคแรงงานชนะ วินสตัน เชอร์ชิลในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2488 ได้ รัฐบาลของแอตลีร่วมมือกับบุคลากรทางการแพทย์บางส่วน เริ่มต้นนโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ NHS แต่มีเสียงคัดค้านจากบุคลากรทางการแพทย์อีกกลุ่ม จากเดิมที่พวกเขาสามารถเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลได้เอง กลายเป็นต้องรับเงินเดือนจากรัฐบาลแทน และที่สำคัญคือคนไข้หลั่งไหลเข้ามาที่โรงพยาบาลมากขึ้น เพราะคนอังกฤษทุกคนจะได้รับการรักษา โดยไม่ต้องเสียค่าบริการอีกต่อไป
ในส่วนของประเทศไทยนั้น ก่อนจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนไทยก็ต้องออกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเอง แต่คนไทยส่วนใหญ่เป็นคนยากจน ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ หากต้องการรักษาพยาบาลจริง ๆ จะต้องรอให้โรงพยาบาลอนุมัติเป็น “ผู้ป่วยอนาถา” เสียก่อน
ในปีพ.ศ. 2518 รัฐบาลของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จัดสรรงบประมาณสำหรับทำ ‘โครงการสงเคราะห์ประชาชนผู้มีรายได้น้อย’ หรือ สปน. ให้ผู้มีรายได้น้อยกว่า 1,000 บาทต่อเดือน สามารถเข้าถึงระบบประกันสุขภาพของประเทศไทยได้ แต่ผู้ใช้บริการก็ถูกมองเป็นพลเมืองชั้นสอง
จนกระทั่ง นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้รับทุนการศึกษาต่อที่ประเทศเบลเยียมและอังกฤษมีโอกาสได้ศึกษาระบบหลักประกันสุขภาพของยุโรป จากนั้นจึงได้ทุนจากสหภาพยุโรปให้ทดลองทำ ‘โครงการอยุธยา’ หรือ ‘70 บาทรักษาทุกโรค’ ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ด้วยการเก็บค่ารักษาพยาบาลรายโรคครั้งเดียว 70 บาทก่อน
แล้วทางโครงการจะสมทบเงินส่วนที่เหลือในการรักษาจนหายขาด ระหว่างนั้นก็ได้นำโครงการนี้ไปเสนอให้กับพรรคการเมืองต่างๆ แต่ได้รับการปฏิเสธว่าเกิดขึ้นได้ยาก มีเพียงพรรคการเมืองเดียวที่ตอบรับโครงการนี้คือพรรคไทยรักไทย
เมื่อพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2544 จึงมีการสนับสนุนโครงการนี้ให้ขยายครอบคลุมไปทั่วประเทศไทย และออก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดตั้งหน่วยงานสปสช. ที่กำกับดูแลด้านการรักษาพยาบาลประชาชนในเวลาต่อมา
เป็นที่น่าสังเกตว่านโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นนโยบายที่มักจะเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองมาก่อน จนนำมาสู่นโยบายปฏิรูประบบสาธารณสุขอย่างแท้จริง แต่นโยบายประชานิยมลักษณะนี้ก็มีความท้าทายในการบริหารจัดการให้มีความต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนานโยบายให้เท่าทันต่อยุคสมัยเหมือนกัน
ความท้าทายที่พบร่วมกัน
นอกจากสหราชอาณาจักรและไทยจะมีจุดเริ่มต้นของนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเหมือนกันแล้ว ยังพบความท้าทายที่เป็นจุดร่วมกันอีกด้วย
1.ปัญหาแรกคือปัญหาสังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging society
ประชากรอังกฤษกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ.2587 ประชากรอังกฤษราว 25% จะมีอายุมากกว่า 65 ปี
ส่วนไทยคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2573 จะมีจำนวนผู้สูงอายุอายุ 60 ปีขึ้นไปมากขึ้นถึง 28% ซึ่งผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะเจ็บป่วยและใช้ค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าคนวัยหนุ่มสาว
2.ปัญหาต่อมาคือเรื่องงบประมาณสูงขึ้น
ในรอบ 60 ปีที่ผ่านมา ระบบหลักประกันสุขภาพของอังกฤษเริ่มต้นใช้งบประมาณจากประมาณ 1 หมื่นล้านปอนด์ และมีการปรับเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี พ.ศ.2566 นี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 แสนล้านปอนด์หรือประมาณ 16 เท่าจากเดิม
ส่วนประเทศไทย ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา งบประมาณของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคในระยะเริ่มต้นอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท และมีการปรับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีวงเงินอยู่ที่ 198,891.79 ล้าน คิดเป็นร้อยละ 6.42 ของงบประมาณประเทศ
3.ปัญหาสุดท้ายคือเรื่องบุคลากรทางการแพทย์
เมื่อปริมาณผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเพิ่มมากขึ้น ความต้องการบุคลากรทางการแพทย์ก็เพิ่มขึ้นตาม แม้ว่ารัฐบาลอังกฤษพยายามผลิตแพทย์ พยาบาล สร้างโรงพยาบาลใหม่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วยที่มากขึ้น ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนักมากและได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้แพทย์และพยาบาลลาออกจากระบบ
พอแพทย์และพยาบาลไม่เพียงพอ ผู้ป่วยต้องรอคิวตรวจนาน จึงกลายเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งทำให้เกิด Brexit หรือออกจากสหภาพยุโรป เพื่อปิดประตูไม่ให้ผู้อพยพจากชาติอื่นมาแย่งใช้บริการสาธารณสุข
ประเทศไทยเกิดปัญหาเช่นเดียวกับอังกฤษ โดยเฉพาะในกรณีล่าสุดที่ พญ.นภสร วีระยุทธวิไล หรือหมอปุยเมฆ นักร้อง นักแสดงและแพทย์ ยื่นหนังสือลาออกจากราชการ จนเกิดกระแสที่บรรดาบุคลากรทางการแพทย์ร่วมออกมาสะท้อนปัญหาผ่านโลกออนไลน์ว่า ปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล และเภสัชกรของไทยเกิดจากภาระงานที่มากเกินไป ค่าตอบแทนที่ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ และการจัดสรรบุคลากรด้านสาธารณสุขที่ไม่เพียงพอและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
ส่วนความแตกต่างของนโยบายหลักประกันสุขภาพของทั้ง 2 ประเทศ คือประชาชนทุกคนในสหราชอาณาจักรรักษาพยาบาลภายใต้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าระบบเดียวคือ NHS ส่วนประเทศไทยมีการแบ่งระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าออกเป็น 3 ระบบ ได้แก่ ระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค
นอกจากนี้ งบประมาณ NHS ของอังกฤษครอบคลุมค่าเดินทางในการรักษาพยาบาล รวมไปถึงนโยบายตัดแว่นฟรีด้วย ซึ่งงบประมาณบัตรทองของไทยยังไม่ครอบคลุมในส่วนนี้
นโยบายก้าวไกล-เพื่อไทย เปลี่ยนไทยให้เหมือนอังกฤษได้จริงไหม
ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคการเมืองหลายพรรคชูนโยบายด้านสาธารณสุขในการหาเสียงมากมาย โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยที่กำลังเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
เริ่มต้นที่พรรคเพื่อไทยที่เสนอนโยบายยกระดับ’ 30 บาทรักษาทุกโรค’ ด้วยการรักษา จ่ายยาออนไลน์ ปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาผ่านระบบ Telemedicine นโยบายรักษาใกล้บ้าน และระบบช่วยจัดตารางงานบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อไม่ให้ประชาชนรอคิวการรักษานาน
ขณะที่พรรคก้าวไกลบอกว่า “สิทธิประโยชน์ในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังไม่ครอบคลุมสิทธิประโยชน์บางประการที่มีความจำเป็นต่อสุขภาพของคนไทย” จึงเสนอนโยบายทางการแพทย์ 25 นโยบาย ซึ่งมีหลายนโยบายที่คล้ายกับระบบ NHS ของอังกฤษ เช่น
ตรวจสุขภาพประจำปี ฟรีทั้งค่าตรวจและค่าเดินทาง : NHS มีระบบจ่ายค่าเดินทางสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้ป่วยที่ต้องย้ายสถานพยาบาล ผู้ที่อยู่ในเรือนจำ และสำหรับผู้ดูแล (ในกรณีที่แพทย์มีดุลยพินิจเห็นสมควร) โดยระบบจะคำนวณค่าโดยสารที่เหมาะสมในราคาที่ต่ำที่สุด
แว่นตาฟรีถึง 18 ปี : NHS ในยุคแรกเริ่มมีการรวมค่าวัดสายตาและค่าตัดแว่นฟรีให้ประชาชนด้วย แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้ป่วยต้องรอคิวยาวไปจนถึง 18 เดือนและใช้งบประมาณสูงหลักสิบล้านปอนด์ ภัายหลังจึงมีการเสนอให้เก็บค่าแว่นสายตา ปัจจุบัน NHS มีระบบจ่ายค่าตรวจสายตา ค่าแว่นตาและคอนแทกเลนส์ สำหรับนักเรียนนักศึกษาเต็มเวลา ผู้สูงอายุ ผู้พิการทางสายตา ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่มีปัญหาต้อหิน ผู้ที่อยู่ในเรือนจำ และผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่ได้รับสิทธิ์ในระบบ
การสงวนการตรวจในห้องฉุกเฉิน (ER) ไว้สำหรับอาการฉุกเฉิน : เป็นที่น่าสนใจตรงที่สถิติบอกว่าจริง ๆ แล้วผู้ป่วยไทยในห้องฉุกเฉินกว่า 60% ไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่ในอังกฤษ ห้องฉุกเฉินมีไว้สำหรับรักษาอาการที่อันตรายถึงแก่ชีวิตเท่านั้น หากอาการไม่เร่งด่วนจะได้รับคำแนะนำให้ตรวจกับแพทย์ในคลินิคแทน เพื่อให้ห้องฉุกเฉินได้รักษาผู้ป่วยฉุกเฉินจริง ๆ
นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยังเสนอนโยบายที่ครอบคลุมนโยบายการรักษาและพยาบาลผู้สูงอายุ นโยบายลดชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และปรับค่าตอบแทนให้เหมาะสม เปลี่ยนอาสากู้ชีพให้เป็นอาชีพ นโยบายสุขภาพท้องถิ่น ไปจนถึงนโยบายการดูแลผู้สูงอายุ
หากทั้ง 2 พรรคการเมืองต้องการเพิ่มสวัสดิการรักษาพยาบาลที่มากขึ้น แน่นอนว่างบประมาณในส่วนของการดูแลสุขภาพประชาชนจะเพิ่มสูงขึ้นตาม
แต่ปัจจุบันคนไทยเสียภาษีอยู่ในอัตรา 16-17% ของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ หรือ GDP ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการจัดสรรนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าในประเทศ ในวงการสาธารณสุขของไทยจึงมีการพูดถึงแนวคิดที่จะให้ประชาชนร่วมจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล (co-payment) เหมือนในญี่ปุ่น ที่รัฐบาลไม่ได้ออกเงินให้ทั้งหมด เพื่อลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐและทำให้ประชาชนหันกลับมาป้องกันและดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น แต่ก็มีเสียงคัดค้านจนบรรดาพรรคการเมืองไม่กล้าแตะต้องเสมอ
1
นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคและระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษเริ่มต้นด้วยจุดประสงค์เดียวกันคือ ‘เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข’ ให้คนในประเทศได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งวันนี้นโยบายสุขภาพของไทยยังพื้นที่ให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามายกระดับสาธารณสุขให้ดีและเท่าเทียมมากกว่าเดิมได้อีก
ต้องรอดูต่อไปว่าพรรคการเมืองที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลในอนาคตจะเริ่มต้นพัฒนาระบบสาธารณสุขของไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร
#สำนักข่าวทูเดย์
#MakeTomorrowTODAY
โฆษณา