7 มิ.ย. 2023 เวลา 08:34 • การเมือง
อธิบายยากมากเลยค่ะเรื่องนี้ ขนาดในการเรียนการสอนยังใช้เวลากันเป็นเทอมเลยกว่าจะเข้าใจกัน แต่จะลองอธิบายคร่าวๆนะคะ
การตีความตามตัวบทกฎหมาย คือ การตีความตามตัวอักษรเป็นหลักค่ะ ตัวอย่างมาตรา 217 ประมวลอาญา ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นต้องระวางโทษ... ดังนั้นเมื่อตีความคำว่า ผู้อื่น ตามตัวบทกฎหมายแล้ว การเผาทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันของคนหลายคนจะไม่ผิดฐานวางเพลิงค่ะ เช่น A และ B เป็นเจ้าของรถร่วมกัน ต่อมา A เผารถทิ้ง A ก็ย่อมไม่ผิดฐานวางเพลิงตามมาตรา 217 ค่ะ เพราะรถเป็นของ A ด้วย ไม่ได้เป็นของ B (ผู้อื่น) โดยแท้
ส่วนการตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายมักใช้ในกรณีตีความตามตัวบทไม่ได้ ต้องการอุดช่องว่างของกฎหมายหรือเพื่ออำนวยความยุติธรรมมากกว่าค่ะ ตัวอย่างมาตรา 334 ประมวลอาญา ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น...ไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ เมื่อทรัพย์ตามบทนิยามกฎหมาย หมายถึงวัตถุที่มีรูปร่าง การลักเอากระแสไฟฟ้าจากบ้านคนอื่นไปใช้ ตีความโดยตัวบทแล้วไม่ผิดฐานลักทรัพย์ค่ะ
แต่กรณีนี้ศาลเคยอาศัยเอาเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตีความแทนว่า มาตรา 334 ประสงค์จะคุ้มครองการลักเอา "สิ่งที่มีราคาและยึดถือเอาได้ไป" โดยก่อความเสียหายแก่เจ้าของ ผู้ลักกระแสไฟฟ้าไปจึงต้องผิดฐานลักทรัพย์ด้วย (จริงๆในเชิงวิชาการนิติศาสตร์เองก็ยังคงมีข้อถกเถียงกันพอสมควรค่ะ เรื่องนี้อาจทำวิทยานิพนธ์ได้เล่มนึงเลย😅)
โฆษณา