8 มิ.ย. 2023 เวลา 01:00 • สิ่งแวดล้อม

World Ocean Day

[#WorldOceanDay], [#CarbonSink]: มหาสมุทรไม่ได้เป็นเพียงน้ำเค็มปริมาณมหาศาลที่ครอบคลุมพื้นที่ 71% ของผิวโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตมากกว่า 2.2 ล้านสายพันธุ์ และเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน (Carbon sink) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
มหาสมุทรมีบทบาทสำคัญในการช่วยโลกถึง 90% ในการดูดซับความร้อนและพลังงานจากก๊าซเรือนกระจก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณคาร์บอนที่มากกว่าที่มีในบรรยากาศถึง 50 เท่า ผ่านกระบวนการจัดเก็บและจัดการทางชีวภาพ เช่น การสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืช (Phytoplankton) เป็นต้น
ทำให้สภาพแวดล้อมของโลกยังคงดำเนินต่อไปได้ ในขณะเดียวกันก็เกิดเป็นผลข้างเคียงทางลบกับมหาสมุทรเอง เช่น ปรากฎการณ์น้ำทะเลอุ่นขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เกิดคลื่นความร้อนทางทะเล ภาวะน้ำทะเลเป็นกรด เป็นต้น โดยปรากฏการณ์เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และชีวิตมนุษย์ในระยะยาว
มีการคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2100 พื้นที่ที่อยู่อาศัยสุทธิถึง 50% ของสิ่งมีชีวิตในทะเลจะหายไป และระดับน้ำทะเลที่จะสูงขึ้นอย่างน้อย 50 เซนติเมตรภายในปี ค.ศ. 2050 จะทำให้ประชากรมากกว่า 8 ร้อยล้านคนใน 570 เมืองตามแนวชายฝั่งทะเลตกอยู่ในความเสี่ยงจากน้ำไปจนถึงต้องประสบภัยน้ำท่วม สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจโลกสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามทำความเข้าใจว่ามหาสมุทรและสภาพภูมิอากาศมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งอย่างไร มีความพยายามที่จะศึกษาว่าแท้จริงแล้วการใช้มหาสมุทรเป็นแหล่งเก็บคาร์บอนต่อไปยังเป็นทางเลือกที่สมควรหรือไม่ เพราะมีการพบว่าวิกฤติสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น อาจมีส่วนทำให้มหาสมุทรไม่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกต่อไป และจะยิ่งทำให้ภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่า ความพยายามที่จะกำจัดมลพิษคาร์บอนออกไปจากแผ่นดินและมหาสมุทรจะส่งผลกระทบต่อวัฏจักรคาร์บอนและระบบนิเวศในมหาสมุทรอย่างไร และจะมีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใดบ้างที่จะมาช่วยรับมือกับความเสี่ยงเกี่ยวกับคาร์บอนในมหาสมุทรทั้งในระยะกลางและระยะยาว การหาสมดุลที่ชัดเจนระหว่างการปกป้องและการใช้มหาสมุทรเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนจึงเป็นวาระสำคัญทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ
โดยเมื่อปี ค.ศ. 2021 สมัชชาสหประชาชาติได้ประกาศให้มีการดำเนินการทศวรรษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ทางมหาสมุทรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี ค.ศ. 2021 - 2030 (The UN Ocean Decade Kickoff Conference for Western Pacific and its Adjacent Areas 2021-2030) หรือ ทศวรรษแห่งมหาสมุทร (Ocean Decade) เพื่อศึกษา ทำความเข้าใจ และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- การชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) รวมถึงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon credit) หรือ “สิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” จากโครงการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การสนับสนุนโครงการพลังงานสะอาด การปลูกป่า เป็นต้น เพื่อหักล้างปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาหรือค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon footprint) ของผู้ประกอบการเพื่อคืนสมดุลให้กับสภาพภูมิอากาศโลกจะเป็นกลไกและโมเดลธุรกิจที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในอนาคต
- การกำหนดเพดานการลดและจัดสรรสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Cap and trade) จะถูกหยิบยกมาพูดถึงมากขึ้นเพื่อควบคุมไม่ให้บริษัทขนาดใหญ่หรือประเทศพัฒนาแล้วใช้จ่ายเงินเพื่อชดเชยการปล่อยมลพิษคาร์บอนโดยไม่สนใจการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง
- การบริหารความเสี่ยงและการจัดการมลพิษข้ามพรมแดนจะถูกให้ความสำคัญมากขึ้นในงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอนาคต
- ความรู้ด้านวิศวกรรมธรณี (Geoengineering) จะเป็นที่ต้องการอย่างมากในอนาคต เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤติสภาพภูมิอากาศในระดับมหภาค
อ่านเพิ่มเติม: Tales of the Ocean Color สีน้ำทะเลกำลังบอกอะไรเรา https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC/posts/1281406455997559
อ้างอิงจาก:
- How is climate change impacting the world’s ocean https://www.un.org/en/climatechange/science/climate-issues/ocean-impacts
- Climate change disrupts core habitats of marine species https://doi.org/10.1111/gcb.16612
- Into the Blue: The Role of the Ocean in Climate Policy https://doi.org/10.18449/2023C12
- Ocean surface tipping point could accelerate climate change https://www.sciencedaily.com/releases/2023/03/230303105401.htm
#FutureTalesLAB #FutureofSustainability #FuturePossible #WellBeing #MQDC
โฆษณา