Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
9 มิ.ย. 2023 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
สภาพัฒน์ประกาศ GDP โตดีกว่าคาด แต่ยังกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง
GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ของไทยประกาศออกมาสูงกว่าที่คาดกันไว้ โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ปรับตัวดีขึ้น 2.7% โดยได้ปัจจัยสนับสนุนมากจากการบริโภคเอกชนที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง และภาคการบริการที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
ในไตรมาสแรกที่ผ่านมาภาคบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้น 5.4% YoY เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกัน ซึ่งการปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องไปกับความเชื่อมั่นและดัชนีการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ การบริโภคเอกชนยังได้รับอานิสงค์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างแรงงานจำนวนหลัก 10 ล้านคน การที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวก็หมายถึง ภาคการจ้างแรงงานที่ฟื้นตัวด้วย ซึ่งทำให้คนมีความสามารถใช้จ่ายมากขึ้น
โดยตัวเลขการเติบโตภาคการส่งออกบริการในไตรมาสแรกซึ่งมีส่วนหลักคือการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปรับตัวดีขึ้นสูงถึง 87.8% YoY และข้อมูลล่าสุดจนถึงสิ้นเดือนเมษายน ไทยรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 8.6 ล้านคนแล้ว
อันดับสัญชาตินักท่องเที่ยวหลัก 5 ชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวไทยมากที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี คือ มาเลเซีย จีน รัสเซีย เกาหลีใต้ และ อินเดีย โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวจาก 5 ชาติดังกล่าวคิดเป็นราว 50% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด
ปัจจัยที่ต้องจับตามองในช่วงถัดไปของภาคการท่องเที่ยวคือ จำนวนนักท่องเที่ยวสัญชาติจีน ที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่า ทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยกว่า 5 ล้านคน
หากนับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา จำนวนนักท่องเที่ยวจีนก็มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจริง โดยในเดือนเมษายนมีราว 3.3 แสนคน และรวม 4 เดือนแรกมีนักท่องเที่ยวจีนราว 8.5 แสนคน ดังนั้น หากอ้างอิงจากคาดการณ์ ททท. ในช่วงอีก 8 เดือนที่เหลือ จะมีนักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางเข้าไทยเฉลี่ยเดือนละราว 5 แสนคน
แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่คาดหวังจะมาเร่งเพิ่มขึ้นสูงในช่วงค่อนไปทางท้ายปี ซึ่งเป็นช่วง High Season ของการท่องเที่ยวไทย
ภาคเครื่องยนต์เศรษฐกิจสำคัญที่ชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมาคือ ภาคการส่งออกสินค้า (หดตัว 6.4% ในไตรมาสแรก) ซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนที่เกิดขึ้นภายนอกจากหลายปัจจัย
โดยอ้างอิงข้อมูลมูลค่าการส่งออกจากกระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรมส่งออกสำคัญที่ได้รับผลกระทบในไตรมาสแรกที่ผ่านมา* ได้แก่ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก (-22.8%) ผลิตภัณฑ์ยาง (-4.6%) คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน (-15%) อัญมนีและเครื่องประดับ(-22.8%) เคมีภัณฑ์ (-18.9%)
*ข้อมูลข้างต้นเป็นข้อมูลสามเดือนแรกของปี ไม่รวมข้อมูลล่าสุดในเดือนเมษายน
ในส่วนของข้อมูลการส่งออกสินค้าล่าสุดในเดือนเมษายน ก็ยังหดตัวอยู่ที่ 7.6% อย่างไรก็ดี มีตัวเลขที่น่าสนใจคือการส่งออกไปที่ประเทศจีนที่ปรับตัวดีขึ้นสูงถึง 23% สร้างมูลค่ากว่า 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากเศรษฐกิจจีนสามารถฟื้นตัวจากการนโยบายการเปิดเมืองได้ดี ก็จะเป็นปัจจัยบวกสนับสนุนภาคการส่งออกสินค้าไทยในช่วงที่เศรษฐกิจโลกซบเซาได้
ปัจจัยบวกอีกข้อสำคัญของเศรษฐกิจไทยมาจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ปรับตัวเข้าสู่กรอบเป้าหมายแล้ว ซึ่งรวมถึงอัตราเงินเฟ้อของผู้ผลิตที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ปัจจัยด้านนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันทางด้านค่าครองชีพของประชาชน และช่วยลดแรงกดดันต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ทำอาจจะไม่จำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปสูงมากมื่อเทียบกับประเทศที่ยังจัดการปัญหาอัตราเงินเฟ้อไม่ได้
📌 หนี้ครัวเรือนยังเป็นจุดเปราะบาง
ทั้งนี้แม้ GDP จะปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์กันไว้ แต่สภาพัฒน์ยังได้แสดงความกังวลต่อสภาวะหนี้ครัวเรือน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดเปราะบางของเศรษฐกิจไทย
อ้างอิงข้อมูลจากสถาบันวิจัยป๋วยฯ และธนาคารแห่งประเทศไทยหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 86.9% ต่อ GDP ซึ่งถือว่าเป็นระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงใกล้เคียงกับลักษณะของประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว
แต่ที่น่ากังวลใจยิ่งกว่าปริมาณหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่สูง คือ สัดส่วนของประเภทหนี้ที่คนไทยก่อขึ้น ซึ่งบัญชีสินเชื่อสัดส่วนกว่า 2 ใน 3 เป็นสินเชื่อประเภทบุคคลและหนี้บัตรเครดิต ที่อาจจะไม่ก่อให้เกิดรายได้
ในขณะที่บัญชีสินเชื่อที่มีเพื่อทำธุรกิจและสินเชื่อบ้านต่างมีจำนวนบัญชีแต่ละประเภทแค่อย่างละ 4% เท่านั้น (จำนวนบัญชีสินเชื่อไม่ได้สะท้อนมูลค่าของสินเชื่อประเภทนั้นทั้งหมด)
ซึ่งปัญหานี้เป็นโจทย์ใหญ่ในระยะยาวที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันจัดการ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวต่อไป
📌 ความเสี่ยงจากความผันผวน
เรายังต้องจับตามองคือเรื่องความผันผวนในสภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาตลอดในปีนี้ จากการดำเนินนโยบายเพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้อและการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ เช่น การแก้ปัญหาภาคธนาคารที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และการแก้ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นในจีน
ในช่วงถัดไปความผันผวนในเศรษฐกิจก็ยังมีโอกาสจะเกิดขึ้นได้อีก ความเสี่ยงที่สำคัญนอกจากปัญหาที่กล่าวข้างต้น ก็เช่น ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ ภาวะหนี้ในประเทศกำลังพัฒนาที่ยังต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม เป็นต้น
นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ต้องจับตามองคือ สถานการณ์ด้านนโยบายและเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย ซึ่งก็จะมีความชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วงหลังมีการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
●
https://www.bot.or.th/content/bot/th/news-and-media/news/news-20230531.html
●
https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-05-30/imf-aims-for-pakistan-6-7-billion-loan-decision-by-end-june#xj4y7vzkg
●
https://projects.pier.or.th/household-debt/
●
https://www.price.moc.go.th/price/fileuploader/file_admin_sum/indices_all.pdf
●
https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=QGDP_report
●
https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230509134152000
gdp
เศรษฐกิจไทย
ธนาคารกรุงเทพ
บันทึก
8
5
8
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย