9 มิ.ย. 2023 เวลา 18:04 • ไลฟ์สไตล์

"ดวงชะตา หรือ โชคชะตา" คืออะไรสำคัญมั๊ยที่จะรู้

แล้วถ้ารู้จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้มั๊ย
ถึงรู้คำทำนาย แล้วจะเกิดขึ้นจริงๆเหรอ
ต่อให้รู้ว่าอะไรจะเกิด เรารับมือได้แค่ไหน
คำถามเหล่านี้จะสำคัญต่อชีวิตมั๊ยถ้าคุณแค่ "เชื่อมั่นในตัวเอง"
ผมเชื่อว่า.. ทันทีที่อ่านคำถามเหล่านี้จบลงบางคนได้คำตอบในทันที บางคนหยุดที่ข้อต่างๆแล้วคิด และบางคนเลิกอ่านต่อ และเลิกสนใจตั้งแต่เห็นคำว่า "ดวง" จากนั้นก็ตามด้วยการประเมินคุณค่าของกระทู้นี้โดยที่ยังไม่ต้องอ่านเนื้อหาทั้งหมด
ไม่ว่าใครจะตอบรับอย่างไร นี่คือความหลากหลายทางความคิดครับ เป็นความสวยงามบนความต่างของความเป็นมนุษย์โดยธรรมชาติ ที่ไม่มีสถิติใด ศาสตร์ใด ความเชื่อใดและ ปรัชญาข้อไหน อธิบายได้หมดว่าทำไมถึงเห็นต่างกัน ถึงอธิบายได้ก็ได้แค่ระดับผิวเผินเท่านั้น
ผมเองต้องยอมรับกับตัวเองว่าถ้าก่อนหน้านี้ หรือเร็วกว่านี้ผมก็ไม่อาจจะตั้งกระทู้นี้ได้เพราะต้องใช้เวลาในชีวิตยาวนานพอสมควร ใช้การสังเกต การทดลอง การตีความ การทำความเข้าใจ การอ่าน การต่อสู้กับความเชื่อที่มีมาแต่เดิม และใช้ความไม่รู้ เป็นเครื่องนำทางสู่ความรู้
"ศาสตร์แห่งการไปต่อ" ของชีวิต คืออะไร ผมขอเรียกศาสตร์ ทั้ง4รวมเป็นคำคำเดียว
ที่ผมคิดว่าเกี่ยวข้องกับตัวผม และอีกหลายๆคน ในยุคปัจจุบัน ที่จริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เชื่อไหมว่าบางคนอาจมีทัศนคติที่ต่างออกไปว่าไม่ได้ใช้ทั้ง 4 ศาสตร์นี้ ก็สามารถดำรงชีวิตได้เป็นปกติ
ทุกชาติศาสนา มีศาสตร์เหล่านี้อยู่ในชีวิตคนทุกยุคทุกสมัยอยู่แล้ว เพียงแต่ในโลกแห่งยุคทุนนิยม ยุคปัจจุบันนี้ อาจมีการขับเคลื่อนด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจในยุคดิจิตอล และวิถีชีวิตของคนที่แตกต่างทางด้านความรู้สึกนึกคิด
และมีความเป็น “ปัจเจกนิยม” มากขึ้น ซึ่งหมายถึง แนวคิดที่บุคคลให้ความสำคัญกับความเป็นตัวตนที่แท้จริงกับเป้าหมายของตนเองมากกว่าเป้าหมายของกลุ่ม มีความเป็นอิสระทางความคิด และไม่ต้องการถูกชี้นำจากผู้อื่นมากนัก พูดง่ายๆก็คือ “ทางใครทางมัน”
การมีเหตุมีผลคือสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิต ความเชื่อเรื่องของดวงชะตาหรือโชคชะตารวมถึงคำทำนายและการพยากรณ์ต่างๆล้วนเป็นส่วนนึงของหลายๆวัฒนธรรม และมีเหตุผลอะไร
มารองรับในวิชาความรู้เหล่านี้ อะไรคือเหตุ อะไรคือ ผล เราอยู่ในยุคที่แม้แต่ AI อาจเป็นผู้เชี่ยวชาญช่วยวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในทุกๆเรื่องให้เราได้อยู่แล้ว ความเสี่ยงในหลายๆเรื่องอาจมีค่าใกล้กับศูนย์ในเชิงตรรกะ
บทความนี้ขอเป็นส่วนนึงกับวัฒนธรรมทางความคิดสำหรับคนยุคใหม่ ที่ไม่ได้เชื่อเพียงเพราะว่าเชื่อต่อๆกันมา หากแต่ขอให้ผู้อ่านเชื่อเพราะควรเชื่อ หรือถ้าไม่เชื่อเพราะยังไม่ได้ข้อสรุปที่เพียงพอ ซึ่งคำว่า พอเพียง หรือ เพียงพอ นั้น สำหรับแต่ละบุคคลนั้นมีระดับที่แตกต่างกัน
สุดแล้วแต่ประสบการณ์และจริตของแต่ละคนจะให้ค่า กับข้อมูลที่ เพจชะตาคน นำมาเสนอให้ผู้อ่านด้วยตนเอง
ลบคำว่าชี้นำออกไป และใส่คำว่า
"เครื่องปรุงชีวิต"น่าจะเหมาะกว่า
"ศาสตร์แห่งการไปต่อ" ได้ทำหน้าที่ของมันมาจนถึงวันนี้แล้วไม่ว่าคุณจะรับรู้หรือไม่ก็ตาม
ก่อนอื่นเราควรแยกทำความเข้าใจคำว่า โหราศาสตร์, วิทยาศาสตร์, ปรัชญา และ ไสยศาสตร์ ทั้งหมดนี้ผมขอรวมเรียกว่า "ศาสตร์แห่งการไปต่อ" จับแนวคิดของศาสตร์ทั้งสี่นี้ออกจากกันให้ชัดเจนก่อนเพราะ ความรู้ที่ได้จากศาสตร์เหล่านี้ล้วนมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
โหราศาสตร์ ( astrology) (占星術)
เป็นวิชาหรือภูมิปัญญาที่สอดแทรกในหลายๆวัฒนธรรมมาอย่างยาวนานนับพันปี โดยหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่พบเจอมีอายุกว่าห้าพันปีมาแล้ว ซึ่งถือเป็นวิชาเก่าแก่ของโลกมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยุคเมโสโปเตเมีย( ราว 3100 ปีก่อนคริสตกาล ) ซึ่งอยู่ในช่วง ยุคหินใหม่ โดยอิงหลักการเฝ้าสังเกตดวงดาวบนท้องฟ้าและวัฏจักรการเปลี่ยนแปลงต่างๆทั้งบนท้องฟ้า ที่ส่งผลต่อโลกและธรรมชาติรอบตัว และมีรากฐานมาจากประเพณีของระบบปฏิทิน
จนได้ค่าเชิงสถิติรวบรวมเป็นข้อมูลและใช้ในการทำนาย ซึ่งค่าทางสถิตินี้ถูกนำมาใช้ต่อยอดในวิชาดาราศาสตร์ โดยในยุคแรกวิชาโหราศาสตร์จะถูกใช้เกี่ยวกับการทำนายการเมืองการปกครองของกษัตริย์และผู้ปกครองแว่นแคว้นเป็นหลัก ข้อมูลที่ถูกรวบรวมเหล่านี้ถูกใช้ในการตีความโดยโหรและผู้ที่ทำความเข้าใจกับสถิติที่เกิดขึ้นจนเกิดคำพยากรณ์ในเรื่องต่างๆ
วิทยาศาสตร์ (Science) (科學)
เป็นวิชาหรือภูมิปัญญาที่เริ่มต้นจากการสังเกตการณ์เช่นกันแต่วิทยาศาสตร์จะมุ่งเน้นสิ่งที่อยู่รอบตัวที่มีผลโดยทางตรงและทางอ้อมต่อการดำรงอยู่ในชีวิต มุ่งเน้นเหตุและผล จากหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุด ของวิทยาศาสตร์สามารถโยงไปถึงอียิปต์โบราณและเมโสโปเตเมียประมาณ 3,000 ถึง 1,200 ปี ก่อนคริสต์ศักราช โดยเกี่ยวข้องกับวิชาคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์
ซึ่งในช่วงแรกของวิทยาศาสตร์จะเป็น
เรื่องของปรัชญาธรรมชาติ และมีการต่อยอดในวิชาแขนงนี้อยู่ตลอดมาจนเกิดองค์ความรู้ใหม่ๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามความเจริญของอารยธรรม และมีจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดจนมาถึงช่วง ศตวรรษที่ 16 ถึงศตวรรษที่ 17 วิทยาศาสตร์ใหม่ที่เกิดขึ้นมีกลไก มากขึ้น ในโลกทัศน์ของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ผสมผสานกับคณิตศาสตร์มากขึ้น
เกิดวิชาใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องคือ เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา ซึ่งรากเหง้าของวิชาเหล่านี้
ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาจนเป็นที่ประจักษ์แก่สังคมและมวลมนุษยชาติ
ปรัชญา (philosophy) (哲學)
เป็นวิชาหรือการศึกษาที่เริ่มต้นจากการดำรงชีวิต การตกผลึกทางความคิดซึ่งส่งผลมาจากความเจริญก้าวหน้าทางอารยธรรมและความรุ่งเรืองของการศึกษาในด้านต่างๆ และการมีชีวิตตามกลไกทางธรรมชาติ ที่ส่งผลทั้งที่เป็นและไม่เป็นรูปธรรมต่อชีวิตของคน ทั้งส่งผลต่อจิตใจและความรู้สึกนึกคิด กลั่นกรองออกมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ให้ความสำคัญกับเหตุและผล อารยธรรมกรีกถือเป็นอารยธรรมที่เก่าแก่และมีความรุ่งเรืองในเรื่องของปรัชญาทางความคิดมากมาย มีการเปรียบเทียบว่า
ปรัชญา คือตัวอ่อนของวิทยาศาสตร์ หรือเป็นวิทยาศาสตร์ชั่วคราว ซึ่งถือเป็นแนวทางของการเกิดวิทยาศาสตร์ในยุคแรก บทบาทของปรัชญามุ่งเน้นเกี่ยวกับการตีความ การใช้ภาษาศาสตร์ในการสื่อสารในเชิงความหมาย ส่งผลต่อความรู้สึกและการกระทำ ในเชิงภววิทยา ที่เข้าใจได้ด้วยเหตุและผลรวมถึงแนวคิดของความเป็นไปได้จากประสบการณ์ของชีวิต ซึ่งเป็นแนวทางของการเกิด "ศาสนา" ที่เป็นศูนย์รวมและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์ ปรัชญาและศาสนาจึงมักจัดอยู่ในหมวดเดียวกัน
ไสยศาสตร์ (superstition) (迷信)
เป็นศาสตร์ที่ไม่พึ่งพาเหตุและผล เป็นเรื่องของความเชื่อความศรัทธาโดยไม่เน้นเรื่องของรูปธรรม ซึ่งในยุคโบราณมีการบูชาเทพเจ้า โดยอาจเกี่ยวพันกับโหราศาสตร์ ในเชิงของการพยากรณ์และตีความ ให้ความสำคัญกับเรื่องของคาถาอาคมต่างๆ ความเชื่อเรื่องโชค ลางบอกเหตจากการสังเกตุธรรมชาติ เช่น เสียงร้องของสัตว์ ปรากฎการแปลกๆที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยตามธรรมชาติ
เชื่อในเรื่องของอำนาจเหนือธรรมชาติ มีเรื่องของพิธีกรรมเป็นแนวทางปฏิบัติสืบต่อกันมา และมีเรื่องของวัตถุและการปลุกเสกโดยคาถาอาคม ซึ่งแต่ละภูมิภาคในโลกนี้ ล้วนมีพิธีกรรมและความเชื่อเฉพาะแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกัน ซึ่งมักเกี่ยวพันกับศาสนา แต่ในบางศาสนาก็ไม่ได้รับการยอมรับหรือถือเป็นข้อห้าม ผู้คนมักมีการรับรู้เชิงอัตวิสัยของแต่ละบุคคลโดยระดับของความเชื่อและศรัทธาที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องลึกลับที่ไม่สามารถมีบทสรุปที่ชัดเจนและแน่นอน และไม่จำเป็นต้องมีการทำความเข้าใจในเรื่องถูกผิด
หลายภูมิภาคในโลกนี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้มาอย่างเนิ่นนาน โดยบทบาทที่สำคัญของศาสตร์ต่างๆขับเคลื่อนสังคมของโลกใบนี้อยู่ตลอดเวลา
เกี่ยวพันกับชีวิตมนุษย์เรามาอย่างยาวนาน เกินกว่าที่จะถูกลืมว่าเราควรเลือกที่จะเชื่อเฉพาะศาสตร์ใดบ้าง เพราะสุดท้ายมนุษย์ก็ต้องการทั้งกำลังใจ กำลังความคิดและสติปัญญา และ รวมถึงความศรัทธา ทั้งต่อตนเองและความเชื่อ ที่สร้างตัวตนของแต่ละคนขึ้นมา
มนุษย์ต้องการเชื่อในสิ่งที่รู้ และมักกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ เมื่อรู้และตรงกับความเชื่อเดิมหรือถูกจริตก็จะเกิดความหลงใหลศรัทธา เมื่อไม่เข้าใจและไม่ถูกจริตก็มักคิดต่อต้านผลักไส
บางเรื่องที่เกิดขึ้น
แม้จะมีแนวคิดทางปรัชญา งดงามเพียงใด เป็นแรงบันดาลใจแห่งชีวิต ก็มิอาจยับยังความเสื่อมจากจิตใจของคนได้
บางเรื่องที่เกิดขึ้น
จริงเท็จอย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดวิปริตผิดแปลกจนน่าแปลกใจ ที่วิทยาศาสตร์ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ มากมายเกินกว่าที่คนเราจะจดจำได้หมด
บางเรื่องที่เกิดขึ้น
ดีกลายเป็นเลว เลวกลับเป็นดี ถึงเวลาที่ดี จังหวะที่ดีของชีวิต แต่ทำไมบางครั้งเหมือนมีอะไรมาฉุดรั้งไว้ไม่สามารถอธิบายด้วยโหราศาสตร์ได้ ถึงได้ก็ไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะยอมรับหรือหลบเลี่ยงได้ทั้งหมด
บางเรื่องที่เกิดขึ้น
จะมีตัวช่วย มีของดีเพียงใด มีมนต์ขลังแค่ไหน เร้นลับเพียงใด ศักดิ์สิทธิ์และมีศรัทธาตั่งมั่นมากขนาดไหน แกร่งกล้าพระมหาอุตม์ ก็มีวันเสื่อมถอยและหมดคุณค่าไม่จีรังยั่งยืน เช่นกัน
แต่ศาสตร์ทั้งหมดนี้ขับเคลื่อนวัฒนธรรมให้กับโลกใบนี้มาย่างยาวนาน คุณค่าย่อมมีอยู่ในตัวเอง "ถ้าไม่มียาวิเศษที่กินแล้วรักษาได้ทุกโรคที่เกิดขึ้นกับเรา ก็คงไม่ศาสตร์ใดศาสตร์นึงอธิบายทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลกได้เช่นกัน" อยู่ที่ใครจะวางแผนการไปต่อของชีวิตยังไง ตอนไหนควรใช้ศาสตร์ใด ระดับการใช้แค่ไหน ทุกสิ่งมีสองด้านเสมอ คนมีปัญญามักจะมองเห็นโอกาสในเรื่องต่างๆ
เราอยู่ในโลกยุคที่มนุษย์กำลังท้าทายทุกสิ่งอย่างทั้งด้วยความเข้าใจและไม่เข้าใจ กับการหลุดพ้นจากความเชื่อและความหวังเดิมๆเพื่อไปต่อ โดยพึ่ง ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอที่เป็นจักรวาลแห่งข้อมูลกับเรื่องที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ มีข้อมูลที่สังเคราะห์โดยปัญญาประดิษฐ์ ได้มากกว่าใครในโลกนี้จะมีได้ เป็นผู้ช่วยแห่งมนุษยชาติ โดยการใช้ "เหตุ" และ "ผล" เชื่อมโยมกันอย่างมีศิลป และเหมือนจะมีหัวใจแบบมนุษย์แต่ไม่เหมือนมนุษย์ สามารถเรียนรู้ได้แบบมนุษย์ หรืออาจเหนือกว่ามนุษย์ในอนาคต ก็เป็นได้
บทความโดย เลิศ แก้วเจริญผล
ภาพปก freepik.com
บทความตอนต่อไปจะลงลึกในเรื่องราวของศาสตร์ต่างๆที่ผสมผสานกัน และบุคคลสำคัญของโลกกับการใช้ศาสตร์เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในชีวิต กับ "ศาสตร์แห่งการไปต่อ" ตอนที่2 ครับ
#ศาสตร์แห่งการไปต่อ #โหราศาสตร์ #วิทยาศาสตร์ #ปรัชญา #ไสยศาสตร์ #ดวงชะตา #ชะตาคน #เครื่องปรุงชีวิต
โฆษณา